ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 30 July 2011

มองการเมืองเรื่อง ‘เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย’ และ ‘กิน-ขี้-ปี้-นอน’ ผ่านตรรกะสังสรรค์

ที่มา ประชาไท

ภาวะแห่งการ ‘เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย’ หรือกิริยา ‘กิน-ขี้-ปี้-นอน’ ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ แต่เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ส่งผลให้การตีความหรือให้คุณค่า รวมถึงการนิยามความหมายแตกต่างกันไปตามแต่วิธีคิดและการมองโลกของแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้จัดนิทรรศการศิลปะขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในสังคม เล็กๆ ได้ถกเถียงกันเกี่ยวกับการเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-กิน-ขี้-ปี้-นอน โดยหวังว่าการวิเคราะห์และตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของมนุษย์ในแต่ละแง่มุม จะนำไปสู่การ ‘เรียนรู้ตัวตน’ และ ‘ผู้คนรอบข้าง’ ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

นิทรรศการศิลปะ ‘ตรรกะสังสรรค์’ หรือ Dialogic เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2554 ที่ผ่านมา ที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน โดยมีผู้คนจากหลากหลายแวดวงเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและตีความการเกิด-แก่-เจ็บ- ตาย-กิน-ขี้-ปี้-นอน โดยยึดโยงกับผลงานวรรณกรรมของ ‘เสถียรโกเศศ’ หรือ ‘พระยาอนุมานราชธน’ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปัญญาชนคนสำคัญคนหนึ่งของสังคมไทยตั้งแต่สมัย เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา

ด้าน ‘กิตติพล สรัคคานนท์’ ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ให้กับนิทรรศการตรรกะสังสรรค์ กล่าวโดยสรุปว่า “เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-กิน-ขี้-ปี้-นอน” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ วัตถุประสงค์หลักของการจัดนิทรรศการ ‘ตรรกะสังสรรค์’ จึงเป็นความพยายามนำเสนอเรื่องพื้นฐานของมนุษย์อย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่จะนำเราไปสู่การรู้จักคนอื่นและการรู้จักตัวเอง

“หัวข้อ เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย-กิน-ขี้-ปี้-นอน ถ้าเรามองแบบแยกส่วน เราอาจจะมองว่านี่เป็นเรื่องของปัจเจก อันนี้เป็นเรื่องของกลุ่ม ของสังคม หรือเป็นลักษณะอัตวิสัยกับภาวะวิสัย แต่สำหรับผม ผมมองชีวิตในฐานะที่มันไม่ใช่กระบวนการที่โดดเดี่ยว เกิดแก่เจ็บตาย กินขี้ปี้นอน มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ เพราะฉะนั้นถ้าถามผม ตรรกะสังสรรค์เป็นสิ่งที่เราพยายามจะนำเสนอ เพื่อนำเราไปสู่การรู้จักคนอื่น เพื่อที่จะรู้จักตัวเอง”

“การยอมรับคนอื่นอาจจะเป็นประโยชน์ใช้สอยของการรู้จักคนอื่น แต่มันมีส่วนที่เป็นประโยชน์กับสังคมที่เป็นอยู่ เพราะสังคมที่ไม่รู้จักการยอมรับหรือเคารพความคิดเห็นของคนอื่น หรือความแตกต่าง ตรงนี้ต่างหากที่เป็นเรื่องที่อันตราย”

“ถ้าเราไม่แลกเปลี่ยน เราไม่ถกเถียง เราไม่ทะเลาะกัน ผมคิดว่าเราก็จะใช้แต่กำลัง เราก็จะใช้แต่อำนาจ แล้วก็จะห้ามไม่ให้คนพูด ห้ามไม่ให้คนตั้งคำถาม ซึ่งสิ่งนี้มันเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเราเห็นอยู่ในปัจจุบัน เราเห็นอยู่ในหลายๆ พื้นที่ เห็นอยู่ในหลายๆ วาระโอกาส มันถึงต้องมีคนชี้นำ มีคนส่วนหนึ่งที่คอยบอกว่าเราควรจะทำอะไร และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งมันก็กลับไปสู่อีกด้าน คือการให้เรารู้จักตั้งคำถามกับตัวเอง ให้เราตั้งคำถามกับคนอื่น รวมถึงให้เราตั้งคำถามกับหลักการของตัวเราเองด้วย”

ผลงานในห้วข้อแรก คือ ‘เกิด’ ถูกสะท้อนผ่านมุมมองของ ‘ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา’ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ ‘ล้อม เพ็งแก้ว’ นักวิชาการคนสำคัญของไทยซึ่งศึกษาและสร้างสรรค์วรรณกรรมจำนวนมากที่เชื่อม โยงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยเข้าด้วยกัน และภิญโญได้นำเสนอวิธีคิดของคนไทยในชุมชนท้องถิ่นที่มีต่อการเกิด ซึ่งถูกผูกโยงกับประเพณีเก่าแก่ตามความเชื่อในเชิงวัฒนธรรมและสังคมวิทยาอัน แตกต่างจากการเกิดซึ่งถูกนิยามในเชิงวิทยาศาสตร์ดังที่ได้ปรากฎในสังคมไทย สมัยใหม่

งานแสดงหัวข้อถัดมา คือ ‘แก่’ เป็นผลงานออกแบบกราฟิกของ ‘ประชา สุวีรานนท์’ นักออกแบบกราฟิกซึ่งมีผลงานด้านการสื่อสารโฆษณาจำนวนมาก และเป็นผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ เมื่อปี 2553 นำเสนอ ‘ความแก่’ ในความหมายของการเสื่อมถอยในด้านต่างๆ ของมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ความคิด’ ที่เก่าแก่และมีรากฐานมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ยังคงหมุนเวียนอยู่ในสังคมปัจจุบันได้ประดุจว่าเป็นของใหม่ เพราะเป็นความคิดที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางประการในปัจจุบัน

ประชาได้นำแนวคิดเชิงอุดมคติของ ‘ไตรภูมิพระร่วง’ มาถ่ายทอดในรูปแบบงานกราฟิก โดยมีเนื้อหายั่วล้อและเสียดสีวิธีคิดที่แทรกอยู่ในไตรภูมิพระร่วงกับการ รณรงค์เรื่องการมองโลกในแง่บวก หรือ Positive Thinking ของสังคมไทยในยุคไม่กี่ปีหลังๆ ซึ่งเขาระบุว่าแนวคิด Positive Thinking เป็นกระแสใหญ่ในสังคมไทยช่วง 5 ปีหลัง ทั้งยังแพร่กระจายอยู่ในวัฒนธรรมป๊อบทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่การรักษาเยียวยาอาการต่างๆ แต่กระแสพลังบวกส่งผลต่อสังคมอย่างมากเมื่อมันถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ ด้าน ‘การเมือง’

“งานของผมไม่ใช่ art มันคืองานเล่าเรื่อง มีตัวละคร มีการเสียดสี และต้องการพูดถึงกระแส positive thinking ที่ถูกนำมาใช้ทางการเมือง หลังเหตุการปราบปรามในเดือนเมษาฯ และพฤษภาฯ ปีที่แล้ว มันชัดเจนถึงขนาดว่ามีการทำหนังโฆษณาในนามของรัฐบาล ถ้าเข้าใจไม่ผิดใช้ชื่อว่า ‘เปลี่ยนประเทศไทย’ ทีมที่ทำก็ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายพลังบวก’ ผมก็เลยใช้วิธีการที่ตรงไปตรงมาคือการเสียดสีกันไปเลยตรงๆ ว่าเรากำลังล้อเลียนผ่านไตรภูมิฯ โดยมีเหตุผลว่า positive thinking ใช้ในการกล่อมเกลาสังคม และไตรภูมิฯ ก็ใช้ในการกล่อมเกลาคนและสังคมมาตั้งแต่ยุคโบราณ มันก็น่าจะ match กันได้”

ด้าน ‘สุรสีห์ กุศลวงศ์’ ศิลปินด้านทัศนศิลป์ของไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ นำเสนอผลงานในหัวข้อ ‘เจ็บ’ โดยใช้รูปแบบศิลปะการจัดวางเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์กว่า 4 ตันวางกองอยู่ในห้องจัดนิทรรศการ และเปิดให้ผู้เข้าชมผลงานมีส่วนร่วมในการตามหา ‘สร้อยทอง’ ซึ่งถูกซุกซ่อนในกองเส้นใยมหึมา และนำเสนอแนวคิดเรื่องการค้นหาด้านดีของความเจ็บปวดของมนุษย์ผ่านทางบทสนทนา ของตัวละครสมมติ คือ ‘เบบี้โกลด์’ และ ‘ผี’ เพื่อยืนยันว่ามนุษย์ไม่อาจหนีพ้นจากความเจ็บปวด และสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการตระหนักรู้ว่าจะผ่านพ้นภาวะแห่งความเจ็บปวดไป ได้อย่างไร

ส่วนผลงานในหัวข้อ ‘ตาย’ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ‘ภัทรดา อนุมานราชธน’ อาจารย์พิเศษด้านการแสดงของมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นทายาทของพระยาอนุมานราชธน และ ‘มิลลี่ ยัง’ อนิเมเตอร์อิสระ โดยภัทรดาได้จัดวางผลงานในรูปแบบเขาวงกตประดับดอกบัว ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นทางชีวิตมนุษย์ที่ต้องมุ่งหน้าสู่ความตายกันทุกคน และมิลลี่ใช้ภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนที่หรือการเปลี่ยนผ่าน จากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ซึ่งอาจรวมไปถึงการกลับชาติมาเกิดอีกครั้ง

ขณะที่ ‘มหาสมุทร บุณยรักษ์’ และ ‘เศรษฐวัตร อุทธา’ ศิลปินอิสระ รวมตัวกันทำงานสื่อผสมในหัวข้อ ‘กิน’ ผ่านหนังสั้นประกอบบทเพลง โดยมหาสมุทรเป็นผู้แต่งเพลงและแสดงนำ ขณะที่เศรษฐวัตรรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ และการสะท้อนแนวคิดเรื่อง ‘กิน’ ผ่านผลงานของศิลปินรุ่นใหม่เป็นการชี้ให้เห็นว่าการกินมีหลากหลายระดับ ทั้งการกินเพื่อให้อิ่มท้อง ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ รวมถึง ‘การเสพ’ สรรพสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เพื่อตอบสนองความต้องการเชิงนามธรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งความแปลกแยก ความผิดหวัง หรือความโหยหา

ด้าน ‘ตุล ไวฑูรเกียรติ’ นักดนตรีและนักร้องนำวงอพาร์ทเมนท์คุณป้า ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแต่งเพลงที่ใช้ภาษาคล้ายคลึงบทกวี แสดงผลงานในหัวข้อ ‘ขี้’ และจัดตั้ง ‘สถานีถ่ายอารมณ์’ อันเป็นพื้นที่เปิดให้ผู้เข้าชมงานได้เข้ามาอ่านหนังสือซึ่งเป็นสมบัติส่วน ตัวของเขา ทั้งยังเปรียบเทียบว่าผลงานทางวรรณกรรมและทางดนตรีที่เขาเป็นผู้สร้าง ไม่ต่างจาก ‘ขี้’ ซึ่งเป็นผลจากข้อมูลข่าวสารหรืองานวรรณกรรมที่เสพเข้าไป ก่อนจะผ่านการกลั่นกรอง และ ‘ขับถ่าย’ ออกมาเป็นผลงานแต่ละชิ้น และพื้นที่จัดแสดงงานของตุลเปิดโอกาสให้ผู้ชมนิทรรศการมีส่วนร่วมด้วยการแลก เปลี่ยนหนังสือ รวมถึงเขียนและอ่านบทกวีร่วมกันแบบสดๆ ด้วย

ขณะที่ ‘ธัญสก พันสิทธิวรกุล’ ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ นำเสนอผลงานในหัวข้อ ‘ปี้’ ซึ่งมีทั้งการแสดงภาพถ่ายผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ เป็นผลจากการสั่งสลายการชุมนุมของรัฐบาลในปี 2553 ที่ผ่านมา และวิดีโออินสตอลเลชั่นชื่อว่า ‘จูบอันเป็นนิรันดร์’ ซึ่งเป็นการฉายภาพเคลื่อนไหวของชาย 2 คนจูบกันท่ามกลางทุ่งหญ้า และธัญสกกล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจในการสื่อสารผลงานชิ้นนี้จากอนุสาวรีย์ใน กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง ‘ชาวเกย์’ ซึ่งถูกสังหารหมู่ในสมัยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และกองทัพนาซีครองเมือง

ด้วยเหตุนี้ การสื่อความหมายถึงการ ‘ปี้’ ในผลงาน ‘จูบอันเป็นนิรันดร์’ ของธัญสกจึงถูกขยายความเพิ่มเติมว่าหมายถึง ‘ความป่นปี้’ ก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะการที่ชาวเกย์ในเยอรมนีเมื่อครั้งอดีตตกเป็นเป้าหมายในการเข่นฆ่า แสดงให้เห็นว่ารสนิยมทางเพศหรือสิทธิในการ ‘ปี้’ ของคนกลุ่มหนึ่ง ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและกลายเป็นเรื่องต้องห้าม จนนำไปสู่การออกคำสั่งกวาดล้างชาวเกย์ออกไปจากสังคมอย่างเลือดเย็น และธัญสกนำเสนอผลงานนี้ในตรรกะสังสรรค์เพื่อไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตใน เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเดือน เม.ย.และ พ.ค.ปีที่แล้ว รวมถึงตั้งคำถามว่าขณะที่สังคมเยอรมนีสร้างอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกว่าพวกเขา เคยทำอะไรไว้บ้างในอดีต แต่สังคม ‘บ้านเรา’ กลับบอกให้ปรองดองและบอกให้ลืม

ขณะที่หัวข้อสุดท้าย ‘นอน’ เป็นผลงานของ ‘สิงห์ อินทรชูโต’ สถาปนิกเจ้าของตำแหน่ง ผศ.ดร.และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการออกแบบจากเศษวัสดุ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกแบบเตียง 2 เตียง ทำด้วยวัสดุแตกต่างกัน โดยเตียงแรกทำจากเหล็ก ปูทับด้วยที่นอนนุ่มๆ สีขาวสะอาดตา ขณะที่อีกเตียงทำจากเหล็กหลากสีซึ่งไม่สามารถลงไปนอนได้อย่างสะดวกสบายตาม ความหมายของเตียงที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ คำบรรยายผลงานของ ผศ.ดร.สิงห์ ซึ่งจัดแสดงพร้อมกับเตียงทั้ง 2 แบบระบุว่าเตียงเป็นสิ่งประดิษซ์ซึ่งไม่ได้มีไว้แค่นอน แต่การสั่นคลอนของเตียงส่งผลต่อการหลับ และส่งผลกระทบถึงการร่วมเรียงเคียงหมอนหรือ ‘ครองเรือน’ อาจถึงขึ้น ‘เตียงหัก’ สะท้อนให้เห็นว่าการนอนและเตียงเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวโยงกับประเด็นทางครอบ ครัวในสังคมไทย อย่างแนบแน่น และสมาชิกของบางครอบครัวอาจต้องหมั่นสำรวจและซ่อมแซม ‘เตียง’ ให้มีสภาพดีพอที่จะรองรับชีวิตและความสัมพันธ์ รวมถึง ‘กิจการภายใน’ ของแต่ละบ้าน

ส่วนบทส่งท้ายของนิทรรศการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ บทความของ ​‘อนรรฆ พิทักษ์ธานิน’ ซึ่งถูกนำมารวบรวมไว้ในสูจิบัตรของงาน เพื่ออธิบายว่า ‘ตรรกะสังสรรค์’ คือ แนวคิด หรือหนทางของความเป็นไปได้ในการนำเอามุมมองทางปรัชญา การเมือง ศาสนา ศิลปะ สังคม เรื่องเพศ ฯลฯ ไปจนถึงการแสดงออกผ่านสื่อกลางต่างๆ มาผสานรวมกันในพื้นที่และเวลาหนึ่งๆ

ทว่า ตรรกะสังสรรค์แตกต่างจากกระบวนการคัดสรรนิยม (Eclecticism) ที่หมายถึงแนวความคิดที่นำเอาฐานคติ และทฤษฎีความรู้หลากหลายมาผสมรวมกัน ตรงที่ตรรกะสังสรรค์ให้ความสำคัญกับเสียงสนทนา หรือการโต้ตอบระหว่างกระบวนทัศน์ อุดมการณ์ต่างๆ ซึ่งใกล้เคียงกับความคิดทฤษฎีเรื่อง Dialogic หรือ Dialogism อันเป็นศัพท์สำคัญที่พัฒนามาจากแนวคิดในเรื่องภาษาและวรรณกรรมของนัก ปรัชญา-นักวรรณคดีศึกษาชาวรัสเซีย ผู้มีนามว่า ‘มิคาอิล บัคติน’ (Mikhail Bakhtin) หรือคล้ายคลึงกับฐานคิดในเรื่อง ‘พื้นที่สาธารณะ’ ของ ‘ฮันส์ ยือร์เกน ฮาร์แบมัส’ (Hans-Jorgen Habermas) นักปรัชญา-นักสังคมวิทยา ซึ่งเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นรากฐานของวิวัฒนาการทางสังคมและเกี่ยวโยง กับการกำเนิดแนวคิดในเรื่อง ‘ประชาธิปไตย’ ในโลกสมัยใหม่

หมายเหตุ : นิทรรศการ ‘ตรรกะสังสรรค์’ จัดแสดงที่ชั้น 8 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

บริเวณสี่แยกปทุมวัน ตั้งแต่ 21 กรกฏาคม - 25 กันยายน 2554 โทรศัพท์ 0-2214 – 6630