การได้รัฐบาลใหม่เป็นความหวังของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางตรง ในขณะที่ความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองของประชาชนเองก็ แสดงออกด้วยการเฝ้าจับตามองนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็น แกนนำ รวมทั้งการเป็นนายกรัฐมนตรี การมีรัฐมนตรีในกระทรวงที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเมือง และด้านสังคม
แต่สิ่งที่สื่อกระแสหลักเฝ้าติดตามกันทุกวันเกี่ยวกับนโยบายด้านสังคม มีเพียงเรื่องเดียวคือ “คุณภาพชีวิตแรงงาน” และเพียงเสี้ยวเดียวของการดำรงชีวิตคือ “ค่าแรงวันละ 300 บาท” แม้จะได้ค่าแรงวันละ 300 บาทก็ไม่ทำให้ชีวิตแรงงานมีคุณภาพขึ้นมาได้ เนื่องจากยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และรายจ่ายได้ ค่าแรงที่ได้พอแค่มีอาหารกิน มีที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายเพื่อมีชีวิตรอดได้ในแต่ละเดือน ไม่สามารถพูดถึงการได้รับโอกาสอื่นๆ การเลี้ยงดูลูกให้ได้รับการศึกษาเพื่อยกระดับฐานะ การพักผ่อนหย่อนใจ การมีสุนทรียในการดำรงชีวิต การมีความมั่นคงในชีวิตยามแก่ชรา การมีหลักประกันเรื่องที่อยู่อาศัยของตนเองที่เหมาะสม มีหลักประกันรายได้พื้นฐานของประชาชนทุกคน
พรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลใหม่ควรมีนโยบายด้านสังคมที่เป็นหลักประกันการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและให้ความสำคัญเท่าเทียมกับนโยบาย เศรษฐกิจ การเมือง การต่างประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างแท้จริง
นโยบายรัฐสวัสดิการ เป็นนโยบายที่สำคัญในการสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างทั่ว ถึง เท่าเทียม เป็นธรรม นโยบายพื้นฐานเเกี่ยวกับ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วคือ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบหลักประกันการศึกษา ระบบบำนาญชราภาพ เพียงแต่รัฐบาลใหม่หรือพรรคเพื่อไทยจะส่งเสริมและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น
อย่าหลงทาง กลับหลังหันเรื่องรื้อฟื้น “30 บาทรักษาทุกโรค “ ในขณะที่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรทำ คือต่อยอดความสำเร็จที่ตนเองได้สร้างขึ้นมาแล้วกับโครงการ 30 บาทที่ได้กลายเป็น “ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีกฎหมายรองรับและได้พิสูจน์ว่า ประเทศไทยจัดระบบรัฐสวัสดิการได้จริง ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้ เพราะลดการเป็นหนี้สิน ลดการล้มละลายของประชาชนจากการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ (ดูงานวิจัยของ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ทีดีอาร์ไอ)
นั่นคือ ต้องรวมระบบหลักประกันสุขภาพที่มีหลายระบบให้เป็นระบบเดียว โดยเฉพาะระหว่าง สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของแรงงานที่เป็นลูกจ้างในกฎหมายประกันสังคม กับระบบบัตรทอง (ไม่ต้องจ่าย 30 บาทที่หน่วยบริการ เพราะประชาชนจ่ายเป็นภาษีทางตรงทางอ้อมแล้ว) และการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายของข้าราชการ และค่อยๆ ปรับนิสัยความฟุ่มเฟือยในการรักษาของทั้งตัวข้าราชการและหมอให้อยู่กับความ เป็นจริง ไม่ใช่ยอมเป็นหนูทดลองยาใหม่ๆ ยาที่ถอนทะเบียนออกจากตลาดแล้วก็ยังดื้อใช้กันอยู่ ยาที่ไม่ใช่ยาและมีผลข้างเคียงสูง ทำให้ประเทศชาติสูญเสียเงินไปมหาศาล (กรณีกลูโคซามีน[1])
สิ่งที่นโยบายรัฐบาลต้องระบุไว้คือ “การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ ให้เป็นระบบที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพระบบเดียวกันทั้งประเทศ” มากกว่าจะมาพูดว่า จะเก็บเงิน 30 บาท เนื่องจากการคำนวนการเก็บเงิน 30 บาทตามเดิมนั้น มีข้อยกเว้นคือ คนแก่อายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ต้องจ่าย คนจน คนพิการ ก็ไม่ต้องจ่าย เอาเข้าจริงที่สถานีอนามัยแห่งหนึ่งๆ ในชุมชน รักษาคนวันละ 30 คน อาจได้เงินจากคนไม่ถึง 10 คน/วัน ไม่ควรเสียเวลามาคอยจัดว่า ใครคือคนจน ใครคือคนควรได้รับการสงเคราะห์ แต่ควรใช้ภาษีประชาชนทั้งหมดในการจัดระบบ หลักประกันสุขภาพอย่างสมศักดิ์ศรีไม่ดีกว่าหรือ รวมทั้งขยายผลการคุ้มครอง สิทธิประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการับบริการสาธารณสุขให้ได้รับการชดเชย
ทั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ การทำธุรกิจโรงพยาบาล ก็ต้องแสดงให้เห็นความรับผิดชอบและโปร่งใสต่อสังคม ด้วย (Accountability) การคืนกำไรให้สังคมโดยการจัดตั้ง “กองทุนชดเชยความเสียหายแก่ผู้รับบริการสาธารณสุข” ที่ร่างกฎหมายกำลังรอการรับรองจากรัฐสภา ซึ่งต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาลใหม่
นโยบายหลักประกันทางการศึกษา ควรเป็นอีกนโยบายด้านรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ นั่นคือประชาชนแต่แรกเกิดได้รับหลักประกันว่า จะได้เข้าถึงการศึกษาทุกคน แม้รัฐธรรมนูญจะประกันว่า ต้องได้รับการศึกษาฟรี 12 ปี แต่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี ปรับ โครงการกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นกองทุนหลักประกันการเข้าถึงการศึกษา แก้ไขระบบดอกเบี้ย ระบบการใช้คืนกองทุน กยศ.ให้มีความเป็นธรรม เป็นไปได้จริง ไม่ต้องมีการมาฟ้องร้องทวงหนี้นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว แต่ยังมีงานทำไม่มั่นคง มีรายได้ไม่ถึงแม้แต่การเสียภาษีรายได้ แต่ต้องมาใช้หนี้กองทุนพร้อมดอกเบี้ย รัฐบาลใหม่จึงต้องอาศัยความกล้าหาญในการจัดทำนโยบายรัฐบาลที่มุ่งมั่นเอา จริงในเรื่องนี้
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเรื่อง “โครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต” และ นโยบาย “ปรับหนี้ กยศ.” ที่ควรเสนอเป็นนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจน มีแผนการดำเนินการเป็นขั้นตอนให้เห็นๆ จะได้เป็นเสาหลักของนโยบายด้านสังคมต่อไป
นโยบายหลักประกันชราภาพพื้นฐาน ควรเป็นนโยบายที่เป็นธงนำของรัฐบาลใหม่ ชุดนี้ เพราะจะเป็นการสร้างหลักประกันสำหรับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม เป็นธรรม อีกครั้งหนึ่งที่จะกล้าทำ กล้าลงทุน เพราะจะแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลใหม่มุ่งมั่นเอาจริงในการคิดใหม่อีกครั้งที่จะไปไกลกว่านโยบาย สงเคราะห์เบี้ยยังชีพคนชราที่พรรคที่เคยเป็นรัฐบาลก่อนหน้าทำไว้ ไม่ต้องเหนียมอายที่จะต่อยอดการจ่ายเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญชราภาพพื้นฐาน และยกระดับจาก 500 บาทต่อเดือน เป็นไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน มีกฎหมายบำนาญชราภาพพื้นฐานรองรับ เพื่อให้ ผู้สูงอายุทุกคนได้รับบำนาญพื้นฐานทันที ซึ่งจะเป็นผลดีต่อคนจนที่เป็นผู้สูงอายุในปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ออมเงินวันละบาทสองบาท เพื่อจะได้บำนาญในอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้า และในจำนวนที่น้อยจนน่าใจหาย แต่ควรเป็นนโยบายทันที เพราะจะพิสูจน์ว่า รัฐบาลใหม่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทันทีเช่นกัน
การกล้าจะมีนโยบายด้านภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีในตลาดหุ้น เพื่อมาใช้ในการจัดรัฐสวัสดิการ เพื่อการกระจายรายได้ การลดช่องว่าง ทั้งนี้ การจัดบำนาญชราภาพพื้นฐานทันที จะทำให้คนจนมีรายได้เป็นเงินสดหมุนเวียนในแต่ละเดือน สามารถจ่ายดำรงชีวิตและเป็นเงินออมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ ทั้งของตนเองและคนในครอบครัวได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ควรทบทวนและพิจารณากฎหมายการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้มีความเหมาะสมในการสมทบของรัฐบาลที่ใช้กระตุ้นให้คนพร้อมจะออมในแต่ละ เดือนตามสัดส่วนการออมของแต่ละคนด้วย เพื่อให้บำนาญจากการออมในอนาคต มีจำนวนที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ ระบบบำนาญชราภาพพื้นฐานเป็นของประชาชนทุกคน สำหรับคนที่เป็นข้าราชการ คนที่อยู่ในกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.) คนที่อยู่ในกองทุนบำนาญชราภาพของประกันสังคม ก็ยังได้รับบำนาญในส่วนนั้นด้วยเหมือนเดิม ต่อยอดจากบำนาญพื้นฐานดังกล่าว สำหรับคนจนที่ไม่เป็นข้าราชการ ไม่อยู่ในประกันสังคม อย่างน้อยก็ได้บำนาญชราภาพพื้นฐานรายเดือนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ที่อาจมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ทุกๆ 3 ปี 5 ปี
รัฐบาลใหม่ควรมีชุดนโยบายด้านสังคมที่ครอบคลุม ไม่ใช่เน้นเรื่องค่าแรงวันละ 300 บาท แต่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำด้านอื่นๆ ควรเพิ่มสวัสดิการที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง คือหลักประกันสุขภาพ หลักประกันการเข้าถึงการศึกษา และหลักประกันชราภาพพื้นฐาน เพื่อให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม บริการ การเกษตร และพลเมืองทุกคน ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกันที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อลดรายจ่ายและใช้รายได้เพื่อคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง
[1] http://www.hisro.or.th/csmbs/download/Glucosamine.pdf