ก่อนที่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "น้องสาวของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ถ้า น้องสาวสุดเลิฟ ได้ย้อนดูบทเรียนของ พี่ชาย อย่างเจาะลึก บางที ยิ่งลักษณ์ อาจไม่พบจุดจบทางการเมืองแบบ ทักษิณ ในปี 2549
บุคคลที่บันทึกเรื่องราว ความสำเร็จ และความล้มเหลว ของทักษิณ ได้อย่างตรงไปตรงมา และค่อนข้างละเอียด ทุกช่วงนาทีสำคัญที่สุดก็คือ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี
มติชนออนไลน์ นำเรื่องเล่า "วิษณุ เครืองาม" เนติบริกรชั้นหนึ่ง จากหนังสือ โลกนี้คือละคร ของสำนักพิมพ์มติชน มานำเสนอ บางส่วน ดังนี้...
ดร.วิษณุ เครืองาม เล่าไว้ในบทที่ว่าด้วย เป็นรองนายกรัฐมนตรี ตอนหนึ่งว่า
.... ผมเคยได้ยินชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ พอๆ กับที่ใครต่อใครได้ยิน โดยไม่เคยเห็นตัวจริงซึ่งกันและกัน
วันหนึ่งมีคดีระหว่างองค์การโทรศัพท์กับบริษัทของคุณทักษิณ ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นซีอีโอ พิพาทกันเป็นเงินนับร้อยล้าน เรื่องต้องส่งให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ทางองค์การตั้งคุณชัยเกษม นิติสิริ เป็นอนุญาโตตุลาการ บริษัทตั้งอัยการเก่าอีกคนหนึ่ง
ทั้งสองคนเลือกผมมาเป็นประธาน อนุญาโตฯ แต่ละคนตัดสินให้แต่ละฝ่ายชนะ
ผมกลายเป็นคนต้องชี้ขาดโดยเห็นด้วยกับฝ่ายองค์การ ให้องค์การชนะสองต่อหนึ่งดังนั้น
เมื่ออีกหลายปีต่อมา คุณทักษิณมาเป็นนายกฯ มีลูกน้องคุณทักษิณมาชี้หน้าผมเหมือนกันว่าคนนี้แหละที่ตัดสินให้เราแพ้องค์การโทรศัพท์
ผมชักหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนกัน แต่ใจนึกว่าเอาไงก็เอากันวะ
วันหนึ่ง คุณทักษิณเรียกผมไปประชุมอะไรอย่างหนึ่งที่ห้องทำงานนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า
ตอนนั้นมีประเด็นว่าถ้าเรื่องขอกระทรวงหนึ่งที่กำลังอยู่ในชั้น อนุญาโตตุลาการแพ้ รัฐบาลจะทำอย่างไร พูดกันไปพูดกันมาคุณทักษิณก็นึกได้ บอกคนในห้องว่าเลขาฯ วิษณุเคยชี้ขาดให้ผมแพ้ต้องจ่ายเงินหรือขาดกำไรไปหลายสิบล้าน แต่เขาทำถูกแล้ว ถ้ามาเอาใจผมในวันนั้น วันนี้ผมก็ไม่กล้าใช้คนอย่างนี้!
คุณทักษิณจะพูดจริงหรือพูดเล่น จะชมหรือประชดก็ตาม แต่ผมรู้สึกดีๆ ต่อคุณทักษิณขึ้นเยอะ!
ผมเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณอีกเรื่องในสมัยรัฐบาลชวน 1 เมื่อพรรคพลังธรรมซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ได้ขอปรับคณะรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเอง เลยพลอยให้รัฐบาลกระเพื่อมไปด้วย เพราะทุกพรรคก็จะขอปรับตามเช่นกัน พรรคพลังธรรมปรับเอาคุณประสงค์ สุ่นศิริออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และจะเอาคุณทักษิณ ชินวัตรเข้ามาเป็นแทน
บัดนั้นก็มีเสียงกระหึ่มคัดค้านคุณทักษิณในทำนองว่าน่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะไปมีหุ้นในกิจการสัมปทานกับรัฐ รวมทั้งข่าวว่าคุณทักษิณมีส่วนพัวพันกับการพยายามยึดอำนาจในกัมพูชา สำหรับกรณีหลังนั้นไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติ แต่เป็นเรื่องความเหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาเอง
สิ่งที่พอทำได้คือผมหาข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติส่งให้นายกฯ ชวนประกอบการพิจารณา แต่กรณีแรกนั้นเป็นเรื่องคุณสมบัติโดยตรง จากการตรวจสอบในทางลับโดยใช้กระบวนการหลายอย่างเช่น ตรวจสอบกับทางกระทรวงพาณิชย์ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏว่าคุณทักษิณขาดคุณสมบัติ
ผมจึงรายงานนายกรัฐมนตรีซึ่งท่านก็อนุญาตให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งได้
แต่กระบวนการก็ยังล่าช้าเพราะติดอยู่ที่โควต้ารัฐมนตรีของพรรคความหวัง ใหม่ ซึ่ง ณ วันนั้นยังแต่งตั้งไม่ได้เพราะติดขัดที่คุณสมบัติของบุคคลบางคนแต่ถ้ารออีก สองสามวันจะเรียบร้อยเพราะเคลียร์เสร็จแล้ว
ระหว่างนั้นข่าวก็ออกไปทุกวันว่าที่ล่าช้าอยู่เพราะติดขัดที่คุณสมบัติ คุณทักษิณเรื่องนี้ดูท่านจะเดือดร้อนอยู่มาก มีการตัดพ้อต่อว่าทำนองว่าถ้าเลขาฯ วิษณุไม่รับใช้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกันท่าท่าน ก็คงเป็นเพราะรู้เห็นเป็นใจกับคุณประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งยังไม่อยากพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ
ความจริงเป็นเวรเป็นกรรมไปซัดทอดพรรคประชาธิปัตย์และคุณประสงค์ซึ่งนอนหลับ ไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ขนาดนายกฯ ชวนยังโทร.มาถามผมว่าติดขัดอะไร ผมต้องกราบเรียนว่าติดที่อีกพรรค คุณสุขวิช รังสิตพลกำลังจะลาออกจากตำแหน่งในการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แต่ขณะนี้ยังไม่ออก ครั้นจะทำไปก่อนทีละขยักก็จะเป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาทหลายหน
คนสนิทคนหนึ่งของคุณทักษิณโทร.มาตามให้ผมไปอธิบายให้คุณทักษิณฟังที่บ้าน ดูเหมือนตอนนั้นจะอยู่ซอยลือชาว่าที่ช้าเป็นเพราะอะไร
ผมตอบปฏิเสธว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะต้องวิ่งไปเที่ยวอธิบายเพราะคุณทักษิณ ยังไม่ได้มีสถานะอะไร รัฐมนตรีก็ยังไม่ได้เป็น แต่ขอโทร.ไปเรียนให้พลตรีจำลอง ศรีเมืองทราบแทน ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังธรรมที่ร่วมรัฐบาล คนสนิทคนนั้นเคืองผมต่อมาอีกนาน
เมื่อแต่งตั้งคุณทักษิณเรียบร้อยแล้ว วันหนึ่งมีการแพร่ข่าวอีกว่าคุณทักษิณขาดคุณสมบัติและลืออีกว่าเรื่องนี้ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีคือตัวผมเองทราบเรื่องดีแต่แรก แต่นายกฯ กลัวพรรคพลังธรรมจึงเสนอชื่อคุณทักษิณอยู่ดี ผมจึงทำบันทึกอีกฉบับยืนยันถึงนายกรัฐมนตรีและนำเรียนราชเลขาธิการด้วย
วันหนึ่งมีคนไปถามรัฐมนตรีทักษิณที่กระทรวงการต่างประเทศทำนองว่า เขาว่าตอนนั้นท่านขาดคุณสมบัติ เท่านั้นเอง รัฐมนตรีทักษิณก็ออกอาการน็อตหลุด เอ็ดตะโร ลั่นว่าเขาไหน...เขาเลขา ครม. ใช่ไหม เป็นแผนการที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรียอมตกเป็นเครื่องมือปล่อยข่าว ถ้าเขารู้ว่าผมขาดคุณสมบัติแล้วทำไมจึงไปรายงานตอนแรกว่าผมมีคุณสมบัติครบ ถ้วน เสร็จแล้วแอบมาแทงผมข้างหลัง ข้าราชการอย่างนี้แย่มาก!
คราวนี้เรื่องท่าจะไปกันใหญ่ หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวทำนองว่าวิษณุแทงข้างหลังทักษิณ
ผมจึงขออนุญาตนายกฯชวนไปพบคุณทักษิณโดยนำสำเนาบันทึกที่ผมทำถึงนายกฯ และสำเนาหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาก่อนหน้านี้ไปให้ท่านดู เพื่อแสดงว่าผมไม่เคยแสดงสัญญาณใดกับใครว่าคุณทักษิณขาดคุณสมบัติ ตรงกันข้ามเคยรับรองด้วยซ้ำว่าเท่าที่ตรวจได้ ไม่พบว่าขาดคุณสมบัติคุณทักษิณอ่านแล้วตบหลังตบไหล่ทำนองว่าขอโทษขอโพย ตอนนี้รู้แล้วว่าใครแทงข้างหลัง
ว่าแล้วก็ชวนผมคุยเรื่องลมฟ้าอากาศดูหนังฟังเพลงอะไรไปตามเรื่อง วันนั้นผมนึกในใจว่า คนจะทำงานใหญ่ไม่ควรปากไวใจเร็ว แต่เมื่อกล้าออกปากขอโทษก็เป็นลูกผู้ชาย ยังอยู่ในวิสัยน่าจะทำงานใหญ่ได้!
เมื่อรัฐบาลนายกฯ ชวนยุบสภา คุณทักษิณตั้งพรรคแล้วและกำลังเตรียมจะลงเลือกตั้งในปี 2543 ผมยังได้พบท่านอีกหลายครั้งแต่ไม่ได้คุยกันเรื่องการเมือง ครั้นเมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งทั่วไปจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
คุณทักษิณจึงให้ผมไปพบที่บ้านจันทร์ส่องหล้าเพื่อซักซ้อมกระบวนการ จัดตั้งรัฐบาลและการที่รัฐบาลจะเข้าทำงาน หลังจากนั้นก็เคยเชิญผมและครอบครัวไปรับประทานอาหารค่ำที่บ้านร่วมกับแขกคน อื่นๆ อีกหลายครั้ง
คนที่น่าประทับใจคนหนึ่งคือคุณหญิงพจมาน ผมได้เห็นการวางตัวที่ดี ไม่พูดเรื่องการเมืองเลยแต่โอภาปราศรัยกับแขกอย่างอ่อนโยน เป็นกันเอง แสดงความเอาใจใส่ในสารทุกข์สุกดิบ เมื่อรู้ว่าภริยาของผมป่วยเป็นโรคไตต้องเข้ารับการผ่าตัด ก็กุลีกุจอปวารณาตัวว่าจะฝากฝังหมอที่โรงพยาบาลของท่านให้ เอาใจใส่ดูแลแม้แต่อาหารการกิน การเดินการเหิน จนภริยาผมบอกว่าทีหลังอย่ามาชวนไปอีกเพราะเกรงใจคุณหญิงเหลือกำลัง
ปี 2544 เป็นปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรประสบปัญหาคดีไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งกลายเป็นคดีใหญ่ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลและเรื่องอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อคดียุติลงด้วยการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายกฯ ทักษิณไม่ผิด
คุณทักษิณก็ดูจะมุมานะทำงานมากขึ้น กระฉับกระเฉงขึ้น ไวขึ้น และเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ตัวท่านเองเปรยว่าช่วงแรกยังต้องเบรกๆ บ้าง กลัวศาลตัดสินให้พ้นตำแหน่ง แต่ต่อไปนี้ ต้องเร่งกำลังสองเท่า พวกข้าราชการได้ฟังพากันตาเหลือก เพราะขนาดเบรกๆ ยังตามกันไม่ค่อยทัน
จุดเปลี่ยนแปลง
กลางปี 2545 คุณทักษิณเป็นนายกฯ มาได้ปีเศษ วันหนึ่งนายกฯ ทักษิณอารมณ์ดีถามขึ้นว่า คุณอยู่มาครบ 4 ปีจนต่ออายุฯ แล้วหนึ่งหนหนนี้ถ้าผมไม่ต่อให้ คุณจะไปทำอะไร ผมเรียนไปว่ากำลังอยากกลับ ไปอยู่จุฬาฯ แต่ว่าไม่ได้ ปีหน้าลูกผมเรียนจบกฎหมายที่จุฬาฯ คงไปเรียนต่อที่เมืองนอก ผมอาจขอลาออกไปสอนหนังสืออยู่เมืองนอกและอยู่กับลูกก็ได้ โดยเฉพาะถ้าได้สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับที่ลูกเรียน
นายกฯ ทักษิณเปรยว่ามีคนบอกว่าน่าจะให้คุณไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้ตอบอะไร เพราะอันที่จริงตอนนั้นผมก็รักษาการในตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีอีก ตำแหน่งหนึ่งอยู่แล้ว
วันหนึ่งในราวเดือนสิงหาคม 2545 ผู้ใหญ่ที่ผมคุ้นเคยและเคารพนับถือคนหนึ่งคือคุณชัชวาล อภิบาลศรีและเพื่อนเรียน วปอ.รุ่น 399 รุ่นเดียวกับผมอีกคนชื่อคุณบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นญาติกับคุณหญิงพจมาน ได้ชวนผมไปรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านอาหาร ส.บ.ล. วังบูรพา
การสนทนาแกล้มอาหารมื้อนั้นในระยะแรกๆก็ยังเป็น เรื่องสัพเพเหระ หนักเข้าก็เป็นเรื่องการบ้านการเมือง ผมได้ปรารภจุดแข็ง จุดอ่อนของนายกฯ ทักษิณให้คุณบรรณพจน์ฟังตาม ประสาคนรู้จักกัน และวิตกว่าคุณทักษิณหลังคดีซุกหุ้นไม่เหมือนกับเมื่อก่อน เพราะท่านมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เหมือนคนไม่มีอะไรมายื้อยุดฉุดยั้งอีกแล้วจึงอาจระมัดระวังน้อยลง ฟังคนน้อยลงเหมือนอั้นมานาน และให้ความสำคัญแก่เป้าหมายปลายทางมากกว่าวิธีการจนอาจพลาดได้ง่าย
เช่น มักคิดว่าถ้าเจตนาดีจะช่วยคนจน จะปราบยาเสพติด จะทำให้ประเทศเจริญแล้ว วิธีการอะไรก็ช่างมัน ไหนจะมีเงิน ไหนจะมีสติปัญญา ไหนจะมีพวกพ้องเสียงเชียร์มาก ไหนจะมีเสียงในสภาท่วมท้น ไหนจะหมดชนักปักหลัง
คนอย่างนี้ผมเห็นมามากแล้วว่าจะคึกคะนองดุจอินทรชิตที่ได้ฤทธิ์จากพระเป็นเจ้าจนบิดเบือนกายินทร์เหมือนองค์อมรินทร์ทรงคชเอราวัณได้
ข้อสำคัญคือเกรงว่ารูปโฉมประเทศไทยจากนี้ไปจะเป็นรัฐตำรวจมากกว่านิติรัฐ
สาเหตุหนึ่งคือนายกฯ ฟังคนอื่นน้อยลง อีกสาเหตุคือ คนจะทักท้วงที่พอมีอยู่บ้างดูจะระอาหรือเกียจคร้านกันไปหมดแล้วเช่น คุณปุระชัย คุณสมคิด บางทีเป็นคนร่วมตั้งพรรคด้วยกัน เป็นมิตรกันมา รัฐบาลก็เห็นเขาเป็นศัตรู
และข้อสำคัญคือรัฐบาลขาด มือกฎหมาย ผมไม่ได้แนะให้ตั้งใครมาเป็นมือกฎหมาย แต่แนะไปว่ารัฐบาลควรพึ่งพาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มาก ขยันหารือเข้าไว้ขณะนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ พ.ศ. 2540 เพิ่งมีผลใช้บังคับเต็มอัตรากับรัฐบาลชุดนี้เป็นชุดแรก จึงควรระวังอิทธิฤทธิ์ ซึ่งผมเชื่อว่าจะพลาดเข้าสักวัน
หากไม่อยากหารือกฤษฎีกาเพราะกลัวช้า ก็อาจทำอย่างที่รัฐบาลอาจารย์สัญญา พลเอกเปรม และพลเอกชาติชายเคยทำ คือตั้งคณะที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลเอาไว้ประจำทำเนียบจะได้เรียกใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา เราได้คุยกันแม้กระทั่งว่าใครน่าจะเป็นที่ปรึกษาบ้าง ผมให้ชื่อไปราวสิบคน ก็คนดังๆ ในเวลานี้แหละครับ แต่มาวันนี้คนเหล่านั้นกลายเป็นอยู่คนละข้างกับคุณทักษิณทั้งนั้น
คุณบรรณพจน์กินไป ฟังไป จดไป ไม่พูดไม่จา ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยของท่านอยู่แล้ว พอลับหลังคุณบรรณพจน์ ผมยังแอบนินทากับคุณชัชวาลว่า ที่คุณบรรณพจน์จดไปคงหายหกตกหล่นกลางทางหมดเหลือไปถึงนายกฯ ทักษิณสักหนึ่งในสิบส่วนกระมัง!
สามวันต่อมา คุณหญิงพจมานเชิญผมไปพบที่บ้าน กระดาษที่คุณบรรณพจน์จดไปวางอยู่ข้างหน้า คุณหญิงให้ผมวิจารณ์รัฐบาลให้ฟังอีกหนว่าใครเป็นอย่างไร นายกฯ เป็นอย่างไร ปัญหาในการทำงานมีอะไรบ้าง ที่ว่าไม่ค่อยฟังใครเช่นเรื่องอะไร ถ้าไม่ฟังแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คณะที่ปรึกษาสิบคนที่ผมเสนอแนะนั้นผมรู้จักไหม ไว้ใจได้ไหมคุณหญิงถามอย่างคนไม่รู้โดยไม่เสริมหรือออกความเห็นเสียเองแม้ แต่ประโยคเดียว
ลงท้ายก็เล่าว่าคุณบรรณพจน์มาเล่าให้ฟังว่าวันนั้นคุยกับผมได้ความว่า อย่างไร ว่าแล้วก็ไต่ถามถึงสุขภาพภริยาผม ตอนเดินออกมาส่งที่หน้าบ้านยังถามด้วยว่า ตกลงจะกลับไปอยู่จุฬาฯหรือจะไปเฝ้าลูกชายที่เมืองนอก! แสดงว่านายกฯ ทักษิณเคยคุยเรื่องนี้กับคุณหญิง!
ไม่กี่วันหลังจากนั้นราวเดือนกันยายน 2545 นายกฯ มีภารกิจเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่วังไกลกังวล หัวหิน ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีผมได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ด้วยนายกฯ ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานข้อราชการตามปกติซึ่งถือเป็นพระราชสิทธิที่จะทรง ได้รับการกราบบังคมทูลถวายรายงานจากรัฐบาลเรื่องใหญ่ของรัฐบาลเวลานั้นคือ การจะปฏิรูประบบราชการ
ตอนหนึ่งรับสั่งถามอย่างเป็นห่วงว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ของทำเล่นใครจะดูแล นายกฯกราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า รับสั่งถามว่าแล้วที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน การพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ดิน ที่ทำกินซึ่งยืดเยื้อมานานซึ่งทรงเป็นห่วงมาก เป็นภารกิจหลักของรัฐบาลใครจะดูแลนายกฯ ก็กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า รับสั่งถามถึงกี่เรื่อง นายกฯก็กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า ลงท้ายรับสั่งว่า เรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องใหญ่ละเอียดอ่อนเวลานี้มีปัญหา ใครจะดูแล
นายกฯ ก็กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า กลับออกมาจากเข้าเฝ้าฯ คืนนั้น ยังไม่ทันพ้นประตูวังไกลกังวลนายกฯ ก็จ้องหน้าผม ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดว่าผมมาคิดดูแล้ว นี่เป็นเรื่องบ้านเมืองนะ ไม่ใช่เรื่องการเมือง!
เอ! ที่กราบบังคมทูลว่าข้าพระพุทธเจ้าน่ะ ผมว่าผมทำไม่ไหวหรอก ต้องหาคนมาช่วย คุณต้องมาช่วยเสียแล้ว ผมตอบไปว่า อ้าว! ก็ช่วยอยู่แล้วนี่ครับ
หลังจากนั้นพบกันอีกกี่หน นายกฯ ก็ไม่เคยปริปากพูดเรื่องทำนองนี้อีก ผมก็เงียบเสียเพราะไม่รู้ว่าคำพูดของท่านเป็นการชี้ชวน หรือโยนหินถามทาง
เย็นวันหนึ่งฝนตกหนัก ผมกำลังจะกลับบ้าน ท่านนายกฯ โทร.มาชวนว่าอย่าเพิ่งกลับเลย ท่านนัดนักธุรกิจชั้นนำของประเทศคุยกันที่บางกอกคลับ ถนนสาทร ขอให้ผมไปเป็นเพื่อน เราไปกันแค่สองคนพอโผล่เข้าไปที่ห้องส่วนตัวในบางกอกคลับก็พบว่ามีคุณชาตรี โสภณพนิช คุณธนินท์ เจียรวนนท์ คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี คุณบุญสิทธิ์โชควัฒนา และคุณสถาพร กวิตานนท์นั่งรออยู่ พอรวมคุณทักษิณชินวัตรเข้าไปด้วย ผมว่าถ้าเทสมบัติออกมานับรวมกันเห็นจะเกือบเท่างบประมาณของประเทศ
ท่านเหล่านี้แหละที่ทำให้จีดีพีของประเทศไทยสูง คุณทักษิณแนะนำผมว่าชวนให้มาช่วยจำข้อเสนอของพวกท่าน ว่าแล้วก็คุยกันถึงเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ไขกฎบัตรกฎหมาย ระเบียบ กติกา มารยาท แล้วก็กินข้าวดื่มไวน์ไปตามเรื่อง ขากลับคุณสถาพรยังถามผมว่า คุณไปเดินเตร่อยู่แถวไหนเขาถึงชวนคุณมาด้วย ผมว่าชอบกลแล้วละ เพราะงานอย่างนี้เป็นหน้าที่รองนายกฯ ไม่ใช่หน้าที่เลขาฯ ครม.!
เมื่อใกล้เวลาที่รัฐสภาจะผ่านร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเกี่ยวกับ การปฏิรูประบบราชการ ก็เกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นในเวลานั้น ว่าบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งใน กระทรวงซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นฉบับเก่า
ดังนั้น เมื่อกฎหมายจะต้องยกเลิก พ.ร.บ. เก่าทั้งฉบับ รัฐมนตรีเหล่านั้นจะเปลี่ยนมาว่าการหรือช่วยว่าการกระทรวงที่ปรับปรุงใหม่ บางทีก็มีชื่อกระทรวงใหม่ตามพระราชบัญญัติพ.ศ. 2545 ได้โดยอัตโนมัติหรือไม่ อย่างไร เพราะอาจถูกท้วงได้ว่าไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ทั้งที่มาอยู่กระทรวงใหม่
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นปัญหากฎหมายที่จะถกเถียงกันในอนาคตผมจึงแนะนำว่าควรขอให้ รัฐมนตรีเดิมทุกคน ยกเว้นนายกรัฐมนตรีเขียนใบลาออกจากตำแหน่งให้หมด แล้วแต่งตั้งใหม่ทั้งคณะ ซึ่งอาจปรับเอาคนเดิมบางคนออก แต่งตั้งคนใหม่เข้ามา หรือสลับสับเปลี่ยนย้ายกระทรวงก็ได้ ส่วนที่ต้องเก็บนายกรัฐมนตรีคนเดิมไว้เพราะไม่ได้ว่าการกระทรวงใดๆ และจะได้ไม่ต้องแถลงนโยบายใหม่
วันที่ 30 กันยายน 2545 ท่านนายกฯ เรียกผมไปทำบัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า วันนั้นเองที่ท่านได้เริ่มเปรยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่าเลขาฯ อย่าอยู่เลย ที่ สลค.อยู่มานานแล้วไม่เบื่อบ้างหรือไง ทำงานซ้ำๆ ซากๆ อยู่ได้ ออกมาหาอะไรใหม่ๆ ทำเถิด ถ้าอยู่ต่อก็จะขยายเวลาไม่ได้อยู่แล้ว จะย้ายไปอยู่กระทรวงอื่นก็ไม่สนุก ไม่ได้ดูแลนโยบาย ผมมีงานให้ช่วยเป็นหูเป็นตาสองสามเรื่องคือติดตามดูแลการปฏิรูประบบราชการ
ต่อไปเรายังจะต้องทำเรื่องปฏิรูปกฎหมายอีกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ลดขั้นตอนเปลี่ยนแปลงบทบาทจากการควบคุมมาเป็นการออกระเบียบ ที่จริงท่านใช้ภาษาอังกฤษตามสไตล์ของท่านว่า เปลี่ยนจากโอเปอเรเตอร์มาเป็นคอนโทรลเลอร์ และจะฝากให้ดูแลเรื่องศาสนาด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วง ท่านใช้คำว่า ผมเป็นคนเข้าพระเข้าเจ้าไม่ค่อยเป็น เจ้าคุณก็รู้จักอยู่รูปเดียวคือเจ้าคุณใหญ่วัดเจดีย์หลวงอุปัชฌาย์ของผม ผมถามท่านว่าตกลงจะให้ผมทำอะไรครับ เพราะฟังดูราวกับจะให้ไปช่วยเป็นมัคนายกวัด
ท่านตอบว่ามาเป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ผมตกใจและแปลกใจ ถามย้ำอยู่สองสามครั้งว่าทำไมจึงต้องเป็นผม เป็นความต้องการของท่านหรือใครไปเสนอเข้า ท่านตอบว่าฟังมาจากหลายทาง ผมเรียนว่าได้ทำงานให้รัฐบาลมาหลายพรรคตั้งใจว่าจะไม่ไปฝักใฝ่เกินหน้าที่ กับพรรคใด พอฝักใฝ่เข้ามันจะเสียความเป็นกลาง ผมอยู่มาได้หลายรัฐบาลเพราะความเป็นกลาง
ท่านตอบสั้นๆ ว่าก็ไม่ต้องฝักใฝ่ คุณก็เป็นกลางต่อไปตามแบบคุณ ผมก็ทำตามแบบของผม คุณมาเป็นอย่างคุณมีชัยไงล่ะ!
ในที่สุดผมขอเวลาท่านเพื่อปรึกษาผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและครอบครัว เพราะถือว่าการออกจากราชการประจำที่ทำมาถึง 30 ปีเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำว่าตลอดเวลาที่เป็น เลขาฯ ครม.เราทำหน้าที่เป็นกลางให้รัฐบาลอย่างเต็มกำลังถือว่าดีแล้ว แต่นี่เป็นการลาออกมาทำงานใหม่หน้าที่ใหม่หัวโขนใหม่ ถ้ายอมรับทำก็ต้องเล่นบทใหม่ การร่วมรัฐบาลจะเป็นกลางอยู่ไม่ได้หรอกเพราะต้องทำหน้าที่ใหม่ให้สมบูรณ์
เวลานั้นบัญชีรายชื่อรัฐมนตรีก็ยังไม่เรียบร้อย ท่าน นายกฯ เองก็ไม่ได้คาดคั้นคำตอบ มีแต่คุณหญิงพจมานที่เคยถามผมว่านายกฯ ไปพูดอะไรหรือ ที่จริงคุยกับคุณหญิงแล้วรู้สึกได้ว่าท่านจะเห็นอกเห็นใจ ถ้อยทีถ้อยเจรจาช่างหว่านล้อมมากกว่าท่านนายกฯเสียอีก
เช่น บอกว่าคุณวิษณุมาเป็นรัฐมนตรีอย่างเดียว ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค เวลาเขาเลือกตั้งก็ไม่ต้องลงเลือกตั้งกับเขา เราอยู่เป็นกลางอย่างนี้แหละคอยดึงๆ นายกฯ ไม่ให้เป็นอินทรชิต ถ้าอยู่ไปไม่สบายใจอะไรให้มาบอกอ้อ รวมทั้งมธุรสพจมานอีกเป็นอันมากฟังแล้วเกิดความเกรงใจมากกว่านายกฯ เสียอีก
มีคนเคยบอกผมว่าคุณหญิงพจมานเป็นคนฉลาด และที่จริงดุมาก ตอนแต่งงานใหม่ๆ คุณทักษิณทั้งกลัวทั้งเกรงใจ เรื่องพวกนี้จริงหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ถ้าว่าถึงความฉลาดนุ่มนวลแล้วผมว่าจริง!
ถ้าคุณทักษิณได้ความนุ่มนวลอย่างนี้มาสักครึ่ง บางทีลงท้ายจะไม่เป็นอย่างนี้
เมื่อทำบัญชี ครม. ชุดใหม่ต่อในวันรุ่งขึ้น ท่านนายกฯ ได้ย้ำอีกครั้งว่าให้มาร่วมรัฐบาลช่วยงาน 2-3 เรื่อง ผมได้ยกเอาเรื่องที่คุณหญิงพจมานเอ่ยถึงมาเป็นเงื่อนไขซึ่งนายกฯ เห็นชอบทุกข้อ แต่ก็มิวายกระเซ้าว่า ถ้าติดใจแล้วอย่ามาขอผมลงสงขลาก็แล้วกัน
ผมเรียนถามท่านว่าได้เคยเห็นมามากเรื่องที่รัฐมนตรีคนนอกมักเป็นข้าวนอก นา ถูกรัฐมนตรีด้วยกันตั้งข้อรังเกียจว่า ไม่ได้เป็นผู้แทน บ้างชุบมือเปิบ บ้าง ไม่อยากเลือกตั้ง แต่อยากนั่งใน ครม. บ้าง ลงท้ายก็เปิดอ้าวไปเสียมากต่อมากแล้ว ท่านคิดว่าผมจะประสบปัญหานี้ไหม ท่านนายกฯ ตอบว่าอยู่ที่ฝีมือของคุณ
อีกอย่างหนึ่งรัฐบาลผมไม่ใช่รัฐบาลผสมหลายพรรค ผมดูแลหมดทั้งรัฐบาล คุณทำงานของคุณไปให้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวใคร กลัวแต่ผมคนเดียวก็พอ! เป็นอันว่าคราวนี้ผมไม่อาจแคล้วคลาดเสียแล้ว แม้ใจไม่อยากเลยแต่ดวงมันคงต้องเป็นอย่างนั้น
เมื่อลงนามในใบลาออกจากราชการในวันที่ 2 ตุลาคม 2545 ก็รู้สึกใจหาย เหมือนจะรู้ว่าปัญหาข้างหน้าที่รออยู่นั้นยิ่งใหญ่นัก และจะไม่ได้กลับมาเข้ารับราชการใหม่อีก ผมกลายเป็นคนไม่รู้จักคำว่าเกษียณอายุราชการเมื่ออายุ 60 ปีแล้วหรือนี่!
อายุ 51 ปีเองต้องกินบำนาญฐานรับราชการนานและออกก่อนเกษียณแล้วหรือนี่!
วันที่นำรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไปทูลเกล้าฯ ถวายในวันที่ 2 ตุลาคม 2545 นั้น ผมยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่เพราะยังไม่มีเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคนใหม่ จึงยังคงติดตามนายกรัฐมนตรีไปเฝ้าฯ ที่หัวหิน ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานกลับคืนมาในวันเดียวกัน หลังจากนั้นอีกวันสองวันนายกรัฐมนตรีก็ได้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณที่ศาลาเริง วังไกลกังวล หัวหิน
วังไกลกังวลเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานหน้าร้อนมาตั้งแต่ครั้งพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ม.จ.อิทธิเทพสรรค์กฤดากร สถาปนิกผู้มีชื่อสมัยนั้นทรงออกแบบอย่างเรียบง่ายตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงปรากฏรูปพระอาทิตย์ซึ่งเป็นคำแปลของคำว่ารำไพพรรณี รูปไก่อันเป็นปีประสูติ และพระนามาภิไธยย่อ รพ. อยู่ทั่วไป
เมื่อวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีก็ประทับแปรพระราช ฐานอยู่ที่นี่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงราชาภิเษกสมรสในปี 2493 ก็ได้เสด็จมาประทับที่นี่และเป็นที่เริ่มต้นโครงการในพระราชดำริเป็นครั้ง แรกด้วย
ความจริงชายหาดและทะเลหน้าวังไกลกังวลไม่ใช่บริเวณที่ดีนักเพราะมีโขดหิน อยู่มากและทะเลค่อนข้างขุ่นด้วยโคลนตม เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 7 มาแต่ต้นว่าจะไม่ทรงเลือกบริเวณที่ดีที่สุดของหัวหินอันจะเป็นการเบียดเบียน ประชาชนและทางราชการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักแปรพระราชฐานมาประทับที่นี่ในหน้าร้อน และปลายปี ว่ากันว่าพอถึงเที่ยงคืน วันที่ 31 ธันวาคมต่อกับรุ่งสางวันที่1 มกราคม ก็จะทรงดนตรีส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่พอย่ำรุ่งพระอาทิตย์ขึ้น แสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า จะทรงเป่าแซก-โซโฟนนำข้าราชบริพารจากศาลาเริงซึ่งเป็นท้องพระโรงใหญ่ ทรงพระดำเนินบ่ายพระพักตร์ลงไปลุยน้ำทะเลเป็นประจำ!
ระยะหลังมานี้ เมื่อไม่ทรงพระสำราญนัก ได้แปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวลเกือบเป็นการถาวรซึ่งก็เป็นการดีต่อ พระอนามัยการเข้าเฝ้าฯ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจึงกระทำที่นี่เสมอ
ที่จริงนายกฯ ทักษิณได้พยายามจะทำอะไรอยู่มากเพื่อให้เป็นที่ทรงพระสำราญ เช่น ให้กระทรวงคมนาคมปรับปรุงถนนหนทางจากกรุงเทพฯ ไปหัวหินเพื่อย่นเวลาเดินทาง และลดอุบัติเหตุ คงจำกันได้ว่าหมอรุ่งธรรม ลัดพลี หนึ่งในคณะแพทย์ถวายพระอาการก็ประสบอุบัติ เหตุรถชนเสียชีวิตบนเส้นทางสายนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงโรงพยาบาลหัวหินเพื่อให้ข้าราชบริพารได้ใช้และ จะพลอยเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปด้วย
รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กวดขันการรักษาความสะอาดบริเวณชายหาดและในท้อง ทะเลตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่องแปลกว่าอำเภอหัวหินอยู่ใกล้ตัวจังหวัดเพชรบุรี แต่ในทางปกครองขึ้นอยู่กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งไกลออกไปนับร้อย กิโลเมตร
นายกฯ ทักษิณเคยกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้สำนักพระราชวังดำเนินการปรับปรุง วังไกลกังวลให้กว้างใหญ่และมีอุปกรณ์ทรงงานและการถวายพระอาการครบครันเพื่อ ให้ทรงพระสำราญ จะได้เหมาะแก่การเป็นที่ประทับระยะยาวจนถึงขั้นเตรียมออกแบบแล้ว
แต่ไม่โปรดด้วยเหตุว่าจะเป็นการสิ้นเปลือง รับสั่งว่าอย่างนี้ก็พออยู่ พอเพียงแล้ว ส่วนการปรับปรุงถนนหนทางและโรงพยาบาลหัวหินถ้ามีงบก็ควรทำ เพราะเป็นไปเพื่อประชาชนไม่ใช่ของฉัน
ข้อนี้ผมนึกถึงครั้งหนึ่งนายกฯ ชวน กราบบังคมทูลว่าเวลานั้นตกเย็นที่หน้าทำเนียบฯ จะมีคนมาจุดประทัดแก้บนกรมหลวงชุมพรฯ เป็นประจำ บ่อยครั้งเสียงดังรัวเป็นคั่วข้าวตอกจนน่าตกใจ ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าเสียงดังเข้ามาถึงในสวนจิตรฯ บ้างหรือไม่ จะได้ปรามไปทางตำรวจ
รับสั่งว่า อยู่ที่ว่าการจุดประทัดเป็นการผิดกฎหมายหรือไม่หรือเป็นเสรีภาพ
ถ้าถูกกฎหมายและเป็นเสรีภาพ จะดังอย่างไรทุกคนก็ต้องทน ฉันก็ต้องทน คุณชวนก็ต้องทน อย่าห่วงสวนจิตรฯ มากกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ถ้าไม่ใช่เสรีภาพและผิดกฎหมาย แม้ดังมาไม่ถึงสวนจิตรฯ ก็ต้องห้ามหรือปราม อย่าใช้ตัวฉันหรือสวนจิตรฯ เป็นเครื่องวัด
.............
สนใจหาอ่านฉบับสมบูรณ์ จากหนังสือ "โลกนี้คือละคร " สำนักพิมพ์มติชน วางแผงแล้ว