ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 7 July 2011

สุรพศ ทวีศักดิ์: “กรรมแบบพุทธ” (ตามความเข้าใจของผม)

ที่มา ประชาไท

ตามที่อ่านใน “อัคคัญญสูตร” (พระไตรปิฏกเล่ม 11) ผมเข้าใจว่าพุทธศาสนาพูดเรื่องกรรมในสองความหมายหลักๆ คือ อย่างแรกกรรมในความหมายเชิง “ข้อเท็จจริง” (fact) อย่างที่สองกรรมในความหมายทางศีลธรรม หรือความหมายเชิง “คุณค่า” (value)

กรรมในความหมายเชิงข้อเท็จจริง เช่นที่พุทธศาสนาพูดถึงว่า คนมีสถานะต่างกันเพราะ “กรรม” หรือการกระทำการงาน อาชีพ หรือมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน เช่น คนทำโครักขกรรม ก็คือคนมีอาชีพเลี้ยงโค คนทำเกษตรกรรม ก็คือคนมีอาชีพเป็นเกษตรกร หรือคนใช้แรงงานคือศูทร ค้าขายคือแพศย์ สอนศาสนาคือพราหมณ์ เป็นนักรบคือกษัตริย์ ฉะนั้น สถานะทางสังคมที่ต่างกัน จึงเกิดจาก “กรรมเชิงข้อเท็จจริง” หรือการทำอาชีพการงาน หรือทำบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ไมใช่เกิดจากการกำหนดโดยพระพรหม (หรือ “กรรมทางศีลธรรม”)
พุทธศาสนาโต้แย้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์เกิดจากพระพรหมโดยอ้างข้อเท็จ จริงตรงๆ และ “แรง” ว่า “คนทุกวรรณะล้วนแต่เกิดจากโยนีของมารดา” นี่มันเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่ตรงไปตรงมาง่ายๆ เหมือนกับบอกว่า คนเรามีสถานะทางสังคมต่างกันเพราะทำกรรมหรือการงานต่างกัน ฉะนั้นการเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นข้อเท็จจริงทางชีวภาพ และความแตกต่างของสถานะทางสังคมก็เป็นข้อเท็จจริงทางสังคม (เช่นอาชีพการงาน ระบบ ฯลฯ) ไม่เกี่ยวกับ “สิ่งที่อยู่นอกเหนือข้อเท็จจริง” เช่น พระพรหม เป็นต้น
ส่วนกรรมในความหมายทางศีลธรรมหรือความหมายเชิงคุณค่า คือการกระทำที่มีความหมาย “ดี-ชั่ว” ตามเกณฑ์ทางศีลธรรมบางอย่าง เช่น พุทธศาสนาพูดถึงการกระทำที่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตว่าเป็นการกระทำที่ดี เรียกกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตว่าเป็นการกระทำที่ชั่ว
จะเห็นว่าความหมายของ “ดี-ชั่ว” ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จับต้องมองเห็นได้ แต่เป็นคุณค่าเชิงนามธรรมที่จับต้องมองเห็น หรือพิสูจน์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การตัดสินดี-ชั่วทางศีลธรรม จึงไม่อาจใช้วิธีอ้างอิงข้อเท็จจริงเชิงรูปธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินได้อย่างสม เหตุสมผล
เช่น เราไม่อาจอ้างอิง “ข้อเท็จจริง” ว่า จน รวย ความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมเป็นต้นเกิดจากกรรมในความหมายทางศีลธรรม เพราะโดยทางศีลธรรมแล้วพุทธศาสนาพูดไว้ชัดว่า กษัตริย์ทำชั่วก็เป็นคนชั่ว พราหมณ์ทำชั่วก็เป็นคนชั่ว แพศย์ ศูทรทำชั่วก็เป็นคนชั่ว ในทางตรงข้ามถ้าคนในวรรณะต่างกันเหล่านี้ทำดีเขาก็เป็นคนดีเสมอเหมือนกัน ดี-ชั่วในทางศีลธรรมจึงไม่เกี่ยวกับสถานะทางสังคม
ฉะนั้น กรรมในความหมายเชิงข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสะท้อนความแตกต่างทางสังคมของมนุษย์ แต่กรรมในความหมายทางศีลธรรมสะท้อน “ความเท่าเทียมทางศีลธรรม” ของมนุษย์ คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีสถานะทางสังคมเช่นไร เมื่อทำดีการกระทำของคุณก็มีความหมายเป็นความดี เมื่อทำชั่ว การกระทำของคุณก็มีความหมายเป็นความชั่ว หรือทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่วเสมอภาคกัน เช่นกษัตริย์ฆ่าคนและกรรมกรฆ่าคนก็ผิดศีลห้าข้อที่ 1 เสมอภาคกัน เป็นต้น
ความเสมอภาคทางศีลธรรมดังกล่าวนี้สะท้อนถึง “ความเสมอภาคในความเป็นคน” สองความหมาย คือ 1) ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกการกระทำทางศีลธรรม 2) ทุกคนมีธรรมชาติที่ดีงามหรือ “โพธิปัญญา” หรือที่เรียกกันว่า “พุทธภาวะ” อยู่ในตัวเอง หมายถึงทุกคนมีศักยภาพพ้นทุกข์ในตัวเอง ฉะนั้น จากความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมนี้ จึงทำให้มนุษย์มีความเท่าเทียมทางศีลธรรม
กรรมในความหมายทางศีลธรรมจึงเป็นสิ่งบ่งบอกความเท่าเทียมทางศีลธรรม และความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์
คำถามคือ เราจะเข้าในความสัมพันธ์ระหว่างกรรมในความหมายทางศีลธรรมกับข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างไร?
ผมคิดว่ามีวิธีอธิบายได้สองแบบคือ 1) นำหลักคิดเรื่องความเท่าเทียมทางศีลธรรมและความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ตามความหมายของกรรมทางศีลธรรมไปเป็นพื้นฐานของการออกแบบกติกาทางสังคม เราก็จะเห็นข้อเท็จจริงทางสังคมที่คนอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาที่ยุติธรรมซึ่ง ยึดเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นหลัก 2) อธิบายว่าข้อเท็จจริงที่เป็นความแตกต่างทางสังคมเป็นผลของการกระทำกรรมใน ความหมายทางศีลธรรม
จะเห็นว่า วิธีอธิบายแบบข้อ 2) ทำให้ความคิดเรื่องกรรมในพุทธศาสนาเป็นเรื่องไร้เหตุผล น่าหัวเราะขึ้นมาทันที เพราะเมื่อเราอ้าง “ข้อเท็จจริง” อย่างเช่น จน รวย สวย ไม่สวย โง่ ฉลาด สถานะสูง-ต่ำทางสังคม อกหัก ถูกหวย ทำธุรกิจรุ่ง ไม่รุ่ง ฯลฯ ว่า เป็นผลของกรรมดี กรรมชั่วในอดีต มันจะเกิดปัญหาตามมาว่า ความคิดเรื่องกรรมในความหมายทางศีลธรรมของพุทธศาสนามีเป้าหมายอย่างไรกันแน่ หรือการกระทำดี-ชั่ว ตามทัศนะของพุทธศาสนามีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนความดีงามทางสังคม สันติภาพ ความพ้นทุกข์ หรือมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนแม้กระทั่งเรื่องสวย หล่อ รวย ทำธุรกิจรุ่งเรือง บริโภคนิยม วัตถุนิยม ฯลฯ
กลายเป็นว่า แม้แต่สิ่งซึ่งอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อความดีงามทางสังคม สันติภาพ และความพ้นทุกข์ก็ยังถือเป็นผลของกรรมดี หรือผลของการกระทำที่ดีทางศีลธรรมได้ด้วย
เพราะเราอ้างข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิตของปัจเจกบุคคล และความเป็นไปทางสังคมโดยโยงไปหากรรมที่เป็นการกระทำทางศีลธรรม จึงเกิดข้อสรุปประเภท “เกิดแต่กรรม” หรือเกิด “ลัทธิแก้กรรม” ที่ตอบโจทย์ความเป็นไปในชีวิตและสังคมได้ทุกเรื่องด้วยการประกอบพิธีกรรม เชิงไสยศาสตร์ต่างๆ ทำให้ความคิดเรื่องกรรมในพุทธศาสนาไม่เกี่ยวอะไรเลยมิติทางสังคม หรือไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความคิดเรื่องความเป็นธรรม การสร้างกติกาที่ยุติธรรมทางสังคม
ยิ่งกว่านั้นความเชื่อเรื่องกรรมแบบนี้ยังทำให้คนเราขาดจิตสำนึกรับผิด ชอบต่อการกระทำทางศีลธรรมของตนเอง เพราะถึงคุณจะทำผิดศีลธรรมลงไป คุณก็สามารถแก้ความผิดนั้นๆ ได้ด้วยการทำพิธีกรรมบางอย่าง หรือทำให้คนยอมจำนนต่อต่อชะตากรรมเช่น ที่เกิดมาจน ที่ทำอะไรๆ ไม่ประสบผลสำเร็จเป็นต้น เพราะกรรมเก่า หรือทำให้สยบยอมต่อความไม่เท่าเทียมทางสังคมเช่น ยอมจำนนต่ออำนาจของอภิสิทธิชนเพราะเชื่อว่าคนเราทำกรรมาไม่เท่ากัน ฯลฯ
แต่หากมองตามทัศนะของพุทธศาสนาที่ว่า ข้อเท็จจริงในชีวิตและข้อเท็จจริงที่เป็นความแตกต่างทางสังคมเกิดจากกรรมใน ความหมายเชิงข้อเท็จจริง ส่วนเรื่องเป็นคนดี คนชั่วเกิดจากกรรมในความหมายทางศีลธรรม เราจะเห็นความมีเหตุผลตรงไปตรงมาของหลักคิดเรื่องกรรมที่ว่า “ทำดีได้ (ความ) ดี ทำชั่วได้ (ความ) ชั่ว” อย่างชัดเจน
หากจะนำความหมายของกรรมในทางศีลธรรมมา “ปรับใช้” ให้เกิดข้อเท็จจริงในชีวิตและข้อเท็จจริงทางสังคมที่พึงประสงค์ ก็สามารถทำได้ด้วยการนำหลักคิดเรื่องความเสมอภาคทางศีลธรรมและความเสมอภาคใน ความเป็นคนมาสนับสนุนหลักการ กติกาในการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่ส่งเสริมเสรีภาพและความเสมอภาคในด้านต่างๆ
แต่มันน่าเศร้าไหมครับ ที่ชาวพุทธบ้านเราดันไปนำหลักกรรมในความหมายทางศีลธรรมมาสนับสนุนให้เกิดข้อ เท็จจริงทางสังคม หรือกติกาการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่ยอมรับระบบชนชั้น และ/หรือระบบซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการมีเสรีภาพและความเสมอภาคในด้านต่างๆ มาตลอด