ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 28 July 2011

รายงานพิเศษ : โวหารแบ่ง 'ขาวกับดำ' คือชนวนระเบิดตัวจริงของเหตุร้ายในนอร์เวย์

ที่มา ประชาไท

เหตุการณ์สะเทือนขวัญในประเทศอย่างนอร์เวย์ กลายเป็นตราประทับของความโหดร้ายอีกกรณีหนึ่งที่มนุษย์กระทำต่อกัน ทั้งเหตุระเบิดสถานที่ราชการและการกระหน่ำยิงเยาวชนในค่ายของพรรคแรงงาน

สิ่งที่ตามมาหลังเหตุร้ายคือการเสาะหาบางสิ่งบางอย่างเพื่อที่จะประณาม และสิ่งที่สื่ออเมริกันจะยกมาประณามนั้นก็ไม่พ้นต้องเป็นกลุ่มก่อการร้ายชาวมุสลิมหรืออะไรที่ใกล้เคียงกัน และพวกเขาคงช็อคมากเมื่อพบว่าผู้ก่อเหตุที่ยอมรับสารภาพ จริงๆ แล้วเป็นฝ่ายขวาที่เกลียดชังนโยบายพหุวัฒนธรรมเสียอีก

รายงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการเจาะจงว่าแนวคิดการเมืองหรือศาสนาใดที่ทำให้เกิดความรุนแรง แนวคิดทางการเมืองและศาสนาเพียงอย่างเดียวไม่เคยทำให้ความรุนแรงหากมีความอดกลั้นและยอมรับความต่าง เพียงแต่รายงานชิ้นนี้ต้องการสะท้อนให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งจากการเมืองฝั่งตะวันตก และการใช้สื่อในการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังผู้มีความคิดทางการเมืองตรงกันข้ามหรือมีความเชื่อต่างกัน

อาการตื่นกลัวเกินเหตุของสื่อโลกตะวันตก
ทันทีที่เกิดเหตุ ทอม ลิสเตอร์ จากสำนักข่าว CNN ผู้ท่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ก่อการอุกฉกรรจ์เช่นนี้ เขาก็เริ่มกล่าวหาโดยโยงถึงกลุ่มมุสลิมเสียแล้ว "มันอาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกว้างๆ แต่ประเด็นคือ อัล-เคด้า ในตอนนี้ไม่ได้มีความเป็นองค์กรสักเท่าใดแล้ว มันน่าจะเป็นจิตวิญญาณของคนกลุ่มนี้มากกว่า ที่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน" ลิสเตอร์ถึงขั้นสัญนิษฐานถึงแรงจูงใจของพวกเขาอย่างมั่นใจ

"พวกคุณต้องลองดูที่เป้าหมายที่เป็นที่ทำการนายกรัฐมนตรี และสำนักงานของหนังสือพิมพ์ค่ายใหญ่ที่อยู่ติดกัน มันดูเกี่ยวโยงกันยังไงน่ะหรือ ก็เพราะหนังสือพิมพ์ของนอร์เวย์ได้ตีพิมพ์การ์ตูนล้อพระศาสดามูฮัมหมัดที่ถือเป็นการลบหลู่สำหรับโลกมุสลิม... นี่คือประเด็นที่สร้างความคับแค้นให้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก"

ขณะที่ พอล ครุกแชง นักวิเคราะห์ด้านการก่อการร้ายของ CNN ก็กล่าวออกอากาศในวันเดียวกันว่า "นอร์เวย์ตกเป็นเป้าหมายของ อัล-เคด้า มาระยะหนึ่งแล้ว" เขาบอกด้วยว่าเหตุระเบิดนี้ "เป็นตราประทับขององค์กรก่อการร้าย อัล-เคด้า ในตอนนี้" ถึงค่อยพูดเสริมว่า "พวกเราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กระทำ"

ในรายการโอ รีลลี่ส์ แฟกเตอร์ ของช่อง Fox News Channel ผู้ร่วมรายการที่ชื่อ ลอร่า อินกราแฮม ประกาศว่า "การก่อการร้ายในนอร์เวย์ น่าจะเป็นผลงานของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงอีกแล้ว"

แม้กระทั่งหลังจากที่บรีวิค คนร้ายตัวจริงถูกทางการจับกุมตัวแล้ว จอห์น โบลตัน อดีตเอกอัครราชฑูตประจำสหประชาชาติในสมัยรัฐบาลบุชก็ยังไม่เชื่อ เขาบอกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ดูไม่น่าจะเป็นฝีมือชาวนอร์เวย์ น่าจะเป็นภัยทางการเมืองในระดับวงกว้างมากกว่าฝีมือของกลุ่มหัวรุนแรงฝ่ายขวา โดยก่อนหน้านี้โบลตันกล่าวว่ามันน่าจะเป็นการก่อการร้ายของชาวมุสลิมเนื่องจากมีกลุ่มผู้อพยพจากตะวันออกกลางเข้ามาในนอร์เวย์อยู่จำนวนหนึ่ง

บทบรรณาธิการของ วอล สตรีท เจอร์นัล ถึงขั้นบอกว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้ เป็นราคาที่ชาวนอร์เวย์ต้องจ่ายให้กับการที่นอร์เวย์ธำรงไว้ซึ่งความอดกลั้นและเสรีภาพ และแม้กระทั่งว่าคนร้ายตัวจริงถูกจับกุมตัวแล้ว บทบรรณาธิการของ วอล สตรีท เจอร์นัล ก็ยังคงแสดงความอคติอย่างไม่ลดรา โดยระบุว่า คนร้ายได้แรงบันดาลใจมาจาก อัล-เคด้า "การก่อการร้ายโดยเจาะจงเป็นลายเซนต์ของพวก อัล-เคด้า แต่พวกลอกเลียนที่มีเป้าหมายต่างกันก็อาศัยวิธีการแบบเดียวกัน"

"ทีโมธี แมคเวจ และ แอนเดอร์ บรีวิค ใช้ระเบิดและกระบอกปืน ส่วนพวกคลั่งลัทธิใช้โวหารและนโยบาย"
ไม่ใช่เรื่องใหม่กับนิสัย 'ด่วนสรุป' โดยเฉพาะเรื่องการประณามว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง เรื่องนี้มีมาตั้งแต่เหตุระเบิดในโอคลาโฮมาเมื่อปี 1995 มาแล้ว มีนักวิจารณ์หลายท่านออกมาให้ความเห็นว่าต้องเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางเป็นแน่ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งเหตุในนอร์เวย์ปี 2011 และในโอคลาโฮมาปี 1995 ล้วนเป็นฝีมือของกลุ่มฝ่ายขวาหัวรุนแรงโดยทั้งสิ้น

ในปี 1995 เหตุระเบิดในโอคลาโฮมาเป็นฝีมือของ ทีโมธี แมคเวจ ทหารผ่านศึกเหรียญตรา ทองแดงจากสงครามอ่าว ขณะที่ในปี 2011 เป็นผลงานของแอนเดอร์ เบอห์ริง บรีวิค ผู้ชิงชังอิสลาม มาร์กซิสม์ และแนวทางพหุวัฒนธรรม ทั้งสองต่างเชื่อว่ารัฐบาลในสมัยของตนกำลังทำลายสิ่งที่พวกตนเชื่อถือ

ปิแอร์ ทริสแทรม บรรณาธิการเว็บข่าว FlagierLive.com เขียนแสดงความเห็นว่าผู้ก่อการทั้งสองรายนี้ต่างก็เป็นผู้มีความคิดเอียงขวาและเป็นคนที่เชื่อว่าเชื้อชาติของคนผิวขาวเหนือกว่าเชื้อชาติอื่น และในขณะที่สื่อของอเมริกันต่างออกความเห็นอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มอิสลาม พวกสื่อเหล่านี้เองก็เผยให้เห็นความคลั่งลัทธิของตนเองอยู่ ส่วนเหล่านักการเมืองและนักวิจารณ์เคร่งลัทธิเหล่านี้เองก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ทั้งที่พวกเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดปีศาจในตัวชายสองคนนี้แท้ๆ

"ทั้งแมคเวจและบรีวิคต่างก็เป็นผู้ที่ย้ำเตือนถึงบาปกำเนิดของวัฒนธรรมตะวันตก คือการเชื่อว่าเชื้อชาติของตนเหนือกว่า ซึ่งบาปนี้ยังคงอยู่และติดตัวคนจำนวนมากจนเป็นชนวนให้เกิดสิ่งต่างๆ" ทริสแทรมกล่าวอีกว่า นอร์เวย์ก็เช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรปและในสหรัฐฯ ที่อยู่ท่ามกลางการฟื้นคืนของผู้คลั่งไคล้ฝ่ายขวา

ในรายงานของ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ เสนอว่าพรรคการเมืองบางกลุ่มมีการพยายามเน้นย้ำความรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของชาติ โดยการพยายามนำการวิพากษ์วิจารณ์ชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพ รวมถึงชาวมุสลิม ตามร้านเหล้าและในอินเตอร์เน็ตเข้ามาสู่นโยบายการเมืองกระแสหลัก ทำให้แม้ว่าพรรคการเมืองอาจจะไม่ได้ลงมือก่อความรุนแรงด้วยตนเอง แต่ก็ทำให้เกิดบรรยากาศของความเกลียดชังในข้อถกเถียงทางการเมือง นำพาให้เกิดความรุนแรงในระดับปัจเจกบุคคล

"สังคมที่เน้นการอยู่ร่วมกัน ความอดกลั้น การเปิดใจกว้าง และแน่นอนว่าแนวคิดพหุวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้กำลังถูกล้อมปราบโดยแนวคิดเคร่งลัทธิซึ่งเกิด ขึ้นในทุกๆ ส่วนของสังคม ทั้งในด้านวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา" ทริสแทรม กล่าวในบทความ "ทีโมธี แมคเวจ และ แอนเดอร์ บรีวิค ใช้ระเบิดและกระบอกปืน ส่วนพวกคลั่งลัทธิใช้โวหารและนโยบาย"

ระวังการมองแบบขาวกับดำ
เหล่าประเทศในสหภาพยุโรปเปิดรับเหล่าผู้อพยพจากภายนอกและการเคลื่อนไหวอย่างอิสระของประชาชน ซึ่งตรงจุดนี้ก็ค่อยๆ ก่อความไม่พอใจให้กับกลุ่มชาตินิยม นโยบายการอพยพอย่างเสรีในกลุ่มประเทศยุโรปทำให้ เกิดผู้อพยพเข้าประเทศจำนวนมาก ทั้งผู้ที่หนีจากภัยต่างๆ และผู้ที่เข้ามาเพื่อหาแหล่งทำมาหากิน และจำนวนมากเป็นชาวมุสลิม ทำให้เหล่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาหยิบยกประเด็นนี้มาเพื่อพยายามเรียกร้องความสนใจ

อย่างไรก็ตามบทความของ ฮวน โคล อาจารย์สอนด้านประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางและเอเชียใต้จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ก็ย้ำเตือนว่าอย่าได้มองอะไรเป็นขาวกับดำ

โคลเขียนระบุในบทความเรื่องมุมมองการอพยพว่า การอพยพนั้นไม่ใช่กระบวนการที่ราบลื่นและจากประวัติศาสตร์ในสหรัฐฯ กลุ่มสังคมผู้อพยพไม่เคยอยู่ในข่ายที่ 'เหนือกว่า' แต่บรีวิค ผู้ก่อเหตุในออสโลกลับมองว่า ผู้อพยพเป็นภัยต่ออัตลักษณ์ของยุโรป เขากลัวว่ายุโรปจะกลายเป็นเพียงอิหร่านขนาดใหญ่หากชาวตะวันออกกลางอพยพเข้ามาเรื่อยๆ

โคลบอกว่าการแบ่งแยกว่าชาวคริสต์คือยุโรปนั่นฟังดูเขลา เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาที่มีอยู่ในยุโรปมากว่า 1,400 ปีแล้ว และเช่นเดียวกับที่ชาวคาโธลิกที่อพยพเข้าไปในสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ชาวมุสลิมในยุโรปก็มีความหลากหลายด้านแนวคิดทางสังคมและการเมือง แต่ขณะเดียวกันมีจำนวนมากที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และที่เหลือก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ฉะนั้นการที่ผู้อพยพจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมยุโรปอย่างที่บรีวิคกลัวนั้นเป้นไปได้ยาก

อาจารย์จากมิชิแกนยังได้พูดถึงความกลัวอีกอย่างหนึ่งของบรีวิค คือเรื่องการมองจุดยืนทางการเมืองของประเทศในยุโรปแบบขาวกับดำ เขามองว่าแนวคิดแบบกลางเอียงซ้าย (Left of Center) ในยุโรปนั้นกำลังเป็นการควบรวมเข้ากับแนวคิดมาร์กซิสม์ ซึ่งในทางตรงกันข้ามแล้วโคลมองว่าพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกับบรีวิคกำลังโตขึ้นในยุโรปด้วยซ้ำ พรรคฝ่ายขวาที่เคยถูกรังเกียจในสวีเดนและฟินแลนด์ ก็เริ่มมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างหน้าจับตา

เช่นพรรคสวีเดนเดโมแครต (SD) ซึ่งเรียกตัวเองว่าพรรคซ้ายจัดก็ได้เสนอนโยบายตัดงบประมาณสำหรับผู้อพยพร้อยละ 90 และหัวหน้าพรรคก็เขียนโจมตีผู้อพยพอย่างเปิดเผย ทำให้ในการเลือกตั้งสวีเดนปี 2010 พรรคสวีเดนเดโมแครตก็ข้ามพ้นกำลังร้อยละ 4 ซึ่งเป็นคะแนนเสียงขั้นต่ำสำหรับการได้มีที่นั่งในสภาได้สำเร็จ

"การเป็นกังวลเรื่องผลกระทบจากผู้อพยพไม่ใช่เรื่องอันตราย การต่อต้านแนวคิดทางการเมืองแบบเอียงซ้ายก็เป้นสิทธิของทุกคนในระบอบประชาธิปไตย การไม่เห็นด้วยในเรื่องศาสนาก็เป็นเรื่องปกติ" โคลกล่าว

"แต่เมื่อคุณได้ยินคนเอาเรื่องพวกนี้มายำรวมกัน เมื่อคุณได้ยินพวกเขาใช้โวหารแบ่งขาวดำชัดเจน เมื่อคุณได้ยินการพูดถึงภัยต่อการดำรงคงอยู่ และเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อคุณเห็นพวกเขาพยายามทำให้เชื่อว่าการเคลื่อนไหวเล็กน้อยที่พวกเขาชิงชังกำลังจะก่อให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงและโดยทันใด เมื่อนั้นแหละที่คุณควรจะกลัว กลัวมากๆ เพราะนั่นคือเวลาที่พวกสุดโต่งเหล่านี้กำลังเรียนรู้ถึงความเกลียดชัง และจะแปลงมันให้กลายเป็นความรุนแรง" โคลกล่าวในบทความ

"สิ่งที่บรีวิคต้องการจะสื่อจริงๆ คือ พวกเราควรจะสูดหายใจลึกๆ และถอยห่างออกมาจากสภาวะที่ล่อแหลมเช่นนี้"

ที่มา
รายงานของกลุ่ม Fairness & Accuracy In Reporting (FAIR), 25-07-2011
http://www.commondreams.org/newswire/2011/07/25-4

The Greater Threat: Christian Extremism From Timothy McVeigh to Anders Breivik, FlagierLive, 24-07-2011
http://flaglerlive.com/25667/pt-mcveigh-breivik

Norway Attacks Put Spotlight on Rise of Right-Wing Sentiment in Europe, The New York times, 23-07-2011
http://www.nytimes.com/2011/07/24/world/europe/24europe.html?_r=1

The bombs in Afghanistan have landed in Norway, Jesse McLaren (blog), 25-07-2011
http://rabble.ca/blogs/bloggers/jesse/2011/07/bombs-afghanistan-have-landed-norway

When Extremism Learns to Blow things Up, Informed Comment, 24-07-2011
http://www.juancole.com/2011/07/when-extremism-learns-to-blow-things-up.html

ข้อมูลประกอบ
http://en.wikipedia.org/wiki/Sweden_general_election,_2010