หลังจากที่พรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 5 พรรคได้สำเร็จเป็นที่ลุล่วง ดูเหมือนว่าบนผิวหน้าแล้ว การเมืองไทยจะเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศยังคงมองว่า ภายใต้ผิวหน้าที่ดูเรียบร้อยนี้ ยังคงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดความไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะจากทหารและชนชั้นนำ
นิโคลัส ฟาร์เรลลี่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียแห่งชาติ เขียนบทวิเคราะห์การเมืองไทยใน The Age หนังสือพิมพ์รายวันของออสเตรเลียว่า ในการที่ยิ่งลักษณ์จะสามารถนำพาประเทศไปข้างหน้าและหลีกเลี่ยงความรุนแรงจาก ความขัดแย้งจากฝ่ายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นนั้น เธอจำเป็นจะต้องใช้วิธีการทางทูตที่ชาญฉลาดในการเจรจาระหว่างชนชั้นนำ ทหาร และรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝ่ายชนชั้นนำพยายามรักษาอำนาจให้ได้มากที่สุดในระหว่าง ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชทายาท และชี้ว่า การพยายามเข้าไปมีส่วนแทรกแซงในกระบวนการดังกล่าวของอดีตนายกฯ ทักษิณเมื่อ 5 ปีก่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำรัฐประหารในปี 2549 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของพรรคและผลประโยชน์ของชาติให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น
ทางสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แสดงความคิดเห็นต่อบทความดังกล่าวในเว็บไซต์ นิว แมนดาลาว่า ความพยายามในการเข้าไปแทรกแซงการสืบรัชทายาทของฝ่ายทักษิณ มิใช่เป็นปัญหาหลักของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายราชวงศ์และทักษิณ แต่มองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่กว้างกว่า คือปัญหาระหว่างทักษิณ ในฐานะการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้นำทางการเมือง กับ วัง-ทหารในฐานะกลุ่มอำนาจที่มาจากประเพณี และถ้าหากมองตามสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ฝ่ายทักษิณอาจจะพยายามแสดงความจงรักภักดี เพื่อแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตนจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสืบทอดรัชทายาท โดยการจัดงานเฉลิมฉลองพระชนมพรรษาครบรอบ 84 ปีอย่างยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่การไม่แตะต้องเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมไปถึงการพยายามควบคุมส่วนของเสื้อแดงที่มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน กษัตริย์ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ การเพิกเฉยต่อผู้ต้องหาในคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำ
ในขณะเดียวกัน ทางฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ได้เขียนบทความวิเคราะห์ในเดอะ การ์เดียนของ อังกฤษว่า หากจะรักษาเสถียรภาพในช่วงแรกนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุด ยิ่งลักษณ์จำเป็นต้องทิ้งระยะห่างจากพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร และยั้งเรื่องการพูดถึงนิรโทษกรรมให้แก่ทักษิณ ในขณะเดียวกัน ทักษิณเองจะต้องยอมให้น้องสาวของตนเองบริหารบ้านเมือง และทำการประนีประนอมกับฝ่ายศัตรูของตนเอง เพื่อให้ความสันติสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ฝั่งชนชั้นนำเองจำเป็นจะต้องยินยอมและยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
นอกจากนี้ ทางหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้ชี้ว่าการเมืองไทยยังคงมีองค์ประกอบที่ยังทำให้อาจเกิดการชุมนุมจากฝ่าย ต่างๆ อีก เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้ “โหวตโน” กลุ่ม “เสื้อหลากสี” และกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ นำโดยนายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าววอลล์สตรีท เจอร์นัลว่า จะออกมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 12 กรกฎาคม บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยนพ. ตุลย์ กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเพื่อไทยจะชนะขาดลอย ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และบางทีอาจจะรู้สึกว่ามีอำนาจมากในตอนนี้ แต่เราอยากจะเตือนว่า พวกเขาไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ตามใจอยาก”
ทางด้าน Graeme Dobell ผู้สื่อข่าวของบล็อก The Interpreter ในเว็บไซต์ The Lowy Institute for International Policy วิเคราะห์ว่า จากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต ได้ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งในการเมืองไทย เป็นมากกว่าแค่ความขัดแย้งระหว่างชนบทกับชนชั้นนำในกรุงเทพฯ โดยหากพิจารณาเอกสารโทรเลขของสถานทูตสหรัฐฯ ที่เปิดเผยโดยวิกิลีกส์ในช่วงเร็วๆ นี้ ประกอบกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอย่างแพร่หลาย ทำให้เห็นชัดว่า ความขัดแย้งดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ของไทยโดยตรง และชี้ว่า การกลับเข้ามาของน้องสาวทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวเร่งหนึ่งที่อาจทำให้เกิด “ฝันร้าย” ขึ้นได้ โดย Dobell ได้อ้างถึงงานของแอนดรูว แมกเกรเกอร์ มาร์แชล ที่ชี้ว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชทายาท อาจเกิดขึ้นอย่างสันติ หรืออย่างรุนแรงก็ได้ ขึ้นอยู่กับการปรับตัวของชนชั้นนำไทย และแรงกดดันจากภายนอก เช่น การตื่นตัวของประชาชน
สำนักข่าวอัลจาซีร่า ได้ทำการสัมภาษณ์ไมเคิล มอนเตซาโน นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ ถึงความสามารถของยิ่งลักษณ์ในการพาประเทศออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง โดยมอนเตซาโนให้ความคิดเห็นว่า จำเป็นจะต้องมีการตกลงกันระหว่างการเมืองในระบบรัฐสภาและนอกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายทักษิณ ทางกองทัพ เครือข่ายสถาบันกษัตริย์ ศาล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ จึงจะสามารถลดความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม ทางพิทยา พุกกะมาน ฝ่ายต่างประเทศพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ในรายการเดียวกันว่า ทางรัฐบาลจะมุ่งดำเนินการปรองดอง โดยจะทำการมุ่งค้นหาความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ปีที่แล้ว ซึ่งมอนเตซาโนมองว่า การพยายามมุ่งสืบค้นข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นการไปจี้กองทัพ ซึ่งทำให้อาจเกิดปัญหาขึ้นได้
ท้ายสุดนี้ ทางบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม มองว่า การชนะของฝ่ายค้านในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการปฏิเสธการปราบปรามประชาชนในปีที่แล้ว และชี้ว่า หากการปรองดองของยิ่งลักษณ์ จะเกิดขึ้นได้สำเร็จ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว และไม่ถูกกีดกันออกจากการเมือง และกล่าวด้วยว่า มีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่พรรคเสียงข้างมาก ที่ได้ที่นั่งจากการเลือกตั้ง 265 เสียง จะต้องจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคร่วมให้ได้ถึง 299 เสียง เพื่อรักษาเสียงข้างมากในรัฐสภาให้ได้ 2 ใน 3 เนื่องจากชนชั้นนำของไทยที่เป็นฝ่ายแพ้ เช่น กองทัพ รอยัลลิสต์ และผู้ใหญ่ คงจะไม่พร้อมมีบทบาทในการเป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์เท่าใดนัก และชี้ด้วยว่า ไม่ทันผลการเลือกตั้งเบื้องต้นจะได้ประกาศ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งของไทย ก็ได้เริ่มสืบสวนการฉ้อโกงแล้ว และอาจส่งผลให้มีการตัดสิทธิผู้สมัครและลดขนาดของพรรคเพื่อไทยลงได้
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
- The Age: Thailand faces precarious political future
- New Mandala: Thailand’s precarious politics
- The Guardian: Yingluck Shinawatra must distance herself from her brother
- Wall Street Journal: Post-Poll Tensions Rise for New Thai Leader
- The Interpreter: The Danger of a Thai Civil War
- Al Jazeera: Can Yingluck lead Thailand out of turmoil?
- The Guardian Editorial: Thailand elections: military crackdown rejected