โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
คง เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง หากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงแค่เป็น "ทางผ่าน" ไปสู่การ "เกี้ยเซี้ย" ของกลุ่มอำนาจจารีตกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองภายใต้ "วาทกรรมปรองดอง" ที่ไม่มีคำตอบเรื่อง "ความยุติธรรม" แก่ 91 ศพ คนบาดเจ็บ พิการ และไม่มีคำตอบต่อ "การเปลี่ยนผ่าน" สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย
เพราะ ผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธรัฐประหารและต้องการประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าประชาชนเลือกรัฐบาลมาแล้วรัฐบาลจะทำอะไร จะขยับซ้าย ขวา ก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังตลอดเวลาว่า "เสียงส่วนน้อย" จะเอาอย่างไร
"เสียงส่วนน้อย" ที่ว่านี้คือ อำนาจพิเศษ กองทัพ นักวิชาการ ราษฎรอาวุโส สื่อที่เสียงดังกว่า เพราะมีอำนาจ มีช่องทางการส่งเสียงมากกว่า และเสียงที่พวกเขาส่งออกมาภายใต้ "วาทกรรมปรองดอง" ก็คือ ข้อเรียกร้องให้ลืมเรื่องเก่า ให้ทำสิ่งที่ดีๆ ใหม่ๆ ให้ทักษิณเสียสละตัวเอง ไม่ต้องกลับประเทศไทย ไม่ต้องพูดถึงการนิรโทษกรรม แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ส่งเสียงออกมาว่า การสลายการชุมนุมด้วย "กระสุนจริง" ที่มีคนตาย 91 ศพ บาดเจ็บร่วมสองพันก็ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
หรือใน อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงจากฝ่ายคุณทักษิณที่ออกมาในท่วงทำนองเดียวกัน คือให้ลืมเรื่องเก่า ให้อภัย กระบวนการหาความจริงก็หาไป แต่ความจริงที่ได้มาอาจไม่จำเป็นต้องให้เอาตัวคนผิดมาลงโทษ หากฝ่ายผิดเขายอมรับผิดสังคมก็ควรให้อภัยเพื่อให้เกิดความปรองดอง ประเทศชาติจะได้เดินหน้าต่อไป
คำถาม คือ
1) ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อทั้งที่ไม่มีคำตอบเรื่องความยุติธรรมแก่คนตาย คนบาดเจ็บจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะถ้าไม่มีคำตอบก็หมายความว่าประชาชนตายฟรีเหมือน 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภา 35 การที่ประชาชนยังตายฟรีอยู่เหมือนเดิมมันมีความหมายว่าประเทศชาติได้ "เดินหน้า" อย่างไรไม่ทราบ
2) ข้อเรียกร้องของ "เสียงส่วนน้อย" ภายใต้ "วาทกรรมปรองดอง" ไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลควรตอบสนองข้อเรียกร้องของเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการความ ยุติธรรมและการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตย เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าประเทศได้ "เดินหน้า" อย่างไร
จริงๆ แล้ว สัญญาณที่บ่งชี้ว่าประเทศกำลังจะเดินหน้าต่อมันน่าจะหมายถึง การที่รัฐบาลใหม่แสดงออกว่าตอบสนองต่อเจตจำนงทั่วไปของประชาชนที่ลงคะแนน เสียงเลือกตั้งอย่างไร นั่นคือ จะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายอย่างไร จะให้ความเป็นธรรมอย่างไรกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ "ถูกขังลืม" ยังไม่ได้รับการประกันตัว
ที่สำคัญคือ เมื่อผลการเลือกตั้งบ่งชัดว่าประชาชนไม่เอารัฐประหารและต้องการ "เปลี่ยนผ่าน" สังคมให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไรที่จะปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร และสร้าง "การเปลี่ยนผ่านเชิงกติกา" ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่ต้องมีความชัดเจนเรื่องการปฏิรูประบบโครงสร้างกองทัพ ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันองคมนตรีและสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค
หากการเลือกตั้งที่แลกมาด้วยชีวิตเลือด เนื้อของประชาชนไม่สามารถนำไปสู่การสร้าง "การเปลี่ยนผ่านเชิงกติกา" ดังกล่าวได้ ก็เท่ากับประชาชนตายฟรีเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มันก็ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าประเทศได้ก้าวไปข้างหน้า!
ฉะนั้น วาทกรรมปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อก็เป็นแค่ "มายาคติ" ที่คนส่วนน้อยไม่กี่กลุ่มซึ่งได้อำนาจมาจาก "ฉันทานุมัติ" ของประชาชนส่วนใหญ่ แล้วก็ฉวยโอกาสใช้ฉันทานุมัตินั้นสร้างความชอบธรรมในการ "เกี้ยเซี้ย" เพื่อแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ให้ลงตัวเหมือนเดิมๆ ที่ผ่านมา
แต่ก็ยังมีปัญหาว่า การเกี้ยเซี้ยดังกล่าวมันจะทำกันได้ง่ายๆ เหมือนในอดีตจริงๆ หรือ อย่าลืมว่าเคยมีการดูถูกประชาชนว่าโง่ ถูกซื้อ ไม่รู้ประชาธิปไตย ไม่มีอุดมการณ์ หมดท่อน้ำเลี้ยงก็หมดน้ำยา ฯลฯ แต่คำดูถูกเหล่านั้นก็ไม่เป็นจริง กว่า 5 ปีมานี้ประชาชนได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจนเกินกว่าที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะ กำหนดให้สังคมไทยกลับไปมีสภาพการณ์จิตสำนึกทางการเมืองเหมือนช่วงเวลาก่อน 19 กันยายน 2549 แล้ว
ทุกวันนี้ประชาชนตาว่างแล้ว รู้ว่าอะไรเป็นอะไร (เพียงแต่จะพูดกันอย่างเป็นสาธารณะได้แค่ไหนเท่านั้น) และพวกเขาก็เห็นความสำคัญมากขึ้นกับการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพที่จะพูดความ จริงในสิ่งที่พวกเขารู้ ซึ่งก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยที่พวกเขาจะต่อสู้เช่นนั้น
ปัญหา อยู่ที่ว่า ชนชั้นนำ หรือพวก "เสียงส่วนน้อย" ที่ชอบส่งเสียงกำหนดทิศทางของประเทศทั้งในที่แจ้งและที่ลับตามทันความก้าว หน้าของประชาชนหรือไม่ ณ วันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ "เสียงส่วนน้อย" จะไปสอน ไปอบรม หรือไปให้ปัญญาแก่ประชาชนแล้ว เพราะประชาชนเขาตื่นแล้ว เขาหวงแหนอำนาจของเขา และประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนผ่านการเลือกตั้งว่าไม่เอารัฐประหาร และต้องการประชาธิปไตย
"เสียงส่วนน้อย" ต่างหากที่ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังและเคารพเจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่หยุดการ ยัดเยียดความคิดเห็นของพวกตนแก่ประชาชน หยุดเบี่ยงเบนเจตจำนงของประชาชน และต้องยอมเสียสละตัวเองบ้าง (จากที่เป็นฝ่ายได้มาตลอด) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปให้สังคมเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ประชาชน เสียสละชีวิตเลือดเนื้อมามากแล้วในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วันนี้จึงเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำหรือ "เสียงส่วนน้อย" ต้องเสียสละตนเองบ้าง หากต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อในความหมายที่การเดินหน้านั้นเป็นความก้าว หน้าของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจเป็นของตนเอง