ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 30 July 2011

วังน้ำเขียว-ทับลาน รีสอร์ตการเมือง!

ที่มา มติชน



โดย จำลอง ดอกปิก

(ที่มา คอลัมน์ระหว่างวรรค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2554)

ปฏิบัติ การรุกคืบทวงคืนที่ดินรัฐช่วงรอยต่อการเมือง บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน ครอบคลุมอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วยการบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดิน ส.ป.ก. ถูกตั้งข้อสงสัย การประกาศล้างบางด้วยท่าทีเอาจริงเอาจังอย่างมิเคยปรากฏมาก่อน ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก.ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏปัญหามานาน มีวาระการเมืองซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากปกติแล้ว ช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ฝ่ายข้าราชการประจำมักเข้าเกียร์ว่าง ขอรอดูทิศทางลมก่อน และการไปแตะต้องของร้อนที่เกี่ยวพันอำนาจเงิน ระบบเส้นสาย และอิทธิพลทางการเมืองนั้นมิใช่วิสัยข้าราชการประจำ

กระนั้น ความพยายามปกป้องผืนป่า ที่ดินทำกินเกษตรกรนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง และสมควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพียงแต่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จริงจัง และไม่กระทำการลักษณะลูบหน้าปะจมูก

พื้นที่อำเภอนาดี และโดยเฉพาะวังน้ำเขียวนั้น มีลักษณะการทับซ้อนของปัญหา ทั้งที่เป็นป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ และ ส.ป.ก. มีการกระทำผิดกฎหมายทั้งการบุกรุก ซื้อขายเปลี่ยนมือ

สภาพของวังน้ำเขียววันนี้ เต็มไปด้วยบ้านพักตากอากาศ และรีสอร์ต ที่แปลกประหลาดอย่างยิ่งก็คือ แหล่งท่องเที่ยววังน้ำเขียว ชูธรรมชาติเป็นจุดขาย แต่กลับไร้ต้นไม้ ความเขียวขจี ภูเขาที่เป็นเนินลดหลั่น เล่นระดับสวยงามตามธรรมชาติ ต้นไม้ถูกโค่นล้มไม่เหลือแม้ตอ กลายสภาพเป็นเขาหัวโล้น ปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง บ้านพัก และรีสอร์ต ลักษณะโผล่เป็นแท่งคอนกรีตก็มีปรากฏ การเข้าไปจัดระเบียบใหม่จึงสมควรดำเนินการอย่างยิ่ง

เพียงแต่ต้องหาทางออกให้กับผู้ประกอบการด้วย

เพราะ วันนี้สภาพวังน้ำเขียวเปลี่ยนไปจากอดีต การประกอบอาชีพและสังคมที่นั่นก็เปลี่ยนไป เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาหล่อเลี้ยงพื้นที่มากขึ้น เกิดอาชีพใหม่ของชาวบ้านที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

การ จัดระเบียบใหม่จึงต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างคนกับป่า โดยไม่ละทิ้งหลักการกฎหมาย อย่างการสงวนไว้เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน หรือการอนุรักษ์ผืนป่า ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อการประกอบกิจการ หรือการทำมาหากินของชาวบ้าน เนื่องจากการเพิกเฉยของฝ่ายรัฐเอง ก็เป็นตัวการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาสะสมมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ข้อ เสนอการแก้ปัญหา เชิงรอมชอมจากผู้บริหารจังหวัด และผู้ประกอบการก็น่าสนใจมิใช่น้อย เช่น การจัดแบ่งโซนใหม่ กันพื้นที่ป่าให้ชัดเจน หรือการเพิกถอนกลับมาเป็นของรัฐ จากนั้นจัดให้ผู้ประกอบการรายเดิมเช่าเป็นรีสอร์ต หรือสวนเกษตรธรรมชาติ โดยมีเงื่อนไขผูกมัดต้องปลูกต้นไม้ เพื่อฟื้นฟูป่าด้วย

ทางออก ยังสามารถแก้ได้ด้วยการ ให้หน่วยงานรัฐ ที่กำกับดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท. ประกาศพื้นที่วังน้ำเขียวเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศแบบถาวร จากนั้นทำเรื่องแจ้งไปยังคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณนี้ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2518 กำหนดอำนาจให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ได้ สำหรับกิจการที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ ในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมอยู่แล้ว

เพียง แต่กรณีการแก้ปัญหา ด้วยการให้เช่าที่ดินนั้น ต้องกำหนดค่าเช่าให้สูงพอ ที่จะสกัดกั้นรายใหม่ มิให้มีแรงจูงใจในการลงทุน หรือคุ้มค่าต่อการเสี่ยงบุกรุกอีก

ข้อเสนอเหล่านี้เป็นแนวทางหนึ่งที่อาจช่วยคลี่คลายปัญหาได้

ส่วน เรื่องนี้เกี่ยวพันการเมืองหรือไม่ มีข้อมูลดิบชิ้นหนึ่งน่าสนใจ รีสอร์ตแห่งหนึ่งมีเจ้าของเป็นนักการเมือง จู่ๆ วันหนึ่งพรรคต้นสังกัดถูกขับพ้นจากการเป็นรัฐบาล เมื่อกลายเป็นฝ่ายค้าน จึงถูกนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลรุกไล่ ใช้อิทธิพลผ่านข้าราชการในจังหวัด นำเรื่องรีสอร์ตมาต่อรอง บีบย้ายพรรค

นักการเมืองรายนี้ยอมย้ายพรรค และแม้ชนะเลือกตั้ง แต่ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านในที่สุด ขณะพรรคต้นสังกัดกลับมาเป็นฝ่ายรัฐบาล

เรื่องจริงเป็นดั่งนิยาย

วิบากกรรมรีสอร์ตการเมือง!