ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 24 July 2011

ศาลรัฐธรรมนูญชี้คดี ‘ดา ตอร์ปิโด’ พิจารณาคดีลับไม่ขัด รธน.

ที่มา ประชาไท

24 ก.ค.54 รายงายข่าวแจ้งว่ามีการส่งอีเมล์รายงานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญคดี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ซึ่งศาลอาญามีกำหนดจะอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวในวันที่ 17 ต.ค.54 หลังเลื่อนมาจากวันที่ 9 พ.ค.54 อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลงวันที่ 11 พ.ค.54
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว ศาลอาญาพิพากษาจำคุกดารณี 18 ปี (28 ส.ค.52) แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น (9 ก.พ.54) โดยระบุว่า จำเลยและทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องให้ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่าการสั่งพิจารณาคดีลับของศาลชั้นต้นเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจในการยกคำร้องเอง

ต่อมา ผู้สื่อข่าวตรวจสอบในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญ พบ คำวินิจฉัยกลาง ปี 2554 คำวินิจฉัยที่ 30/2554 เรื่องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2) หรือไม่

คำวินิจฉัยดังกล่าวระบุว่า การที่ศาลอาญามีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ (ป.วิ อาญา มาตรา 177) ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ลงชื่อ นายชัช ชลวรา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายจรูญ อินทจาร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรม, นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยระบุเหตุผลส่วนหนึ่งว่า การพิจารณาคดีลับ มิได้หมายความว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไมได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการ ยุติธรรม และมิได้จำกัดสิทธิของจำเลยในคดีอาญาแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 กำหนดให้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณามีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ อาทิเช่น โจทก์และทนายความโจทก์ จำเลยและทนายความของจำเลย ผู้ควบคุมตัวจำเลย พยานผู้เชี่ยวชาญ และล่าม เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 เป็นบทบัญญัติที่อูยู่ในขอบเขตแห่งการให้สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณาแก่ บุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ถึงแม้จะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็น มิได้กระทบเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ อีกทั้งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็น การเจาะจง จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และมาตรา 40 (2)

ด้านนายประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณีให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเพราะอยู่ต่างจังหวัด และศาลอาญานัดฟังคำสั่งในเดือนตุลาคมนี้ และไม่มีการแจ้งเรื่องนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาดังนั้นจริง ขั้นตอนต่อไปหลังฟังคำสั่ง ศาลอาญาก็ต้องอ่านคำพิพากษาใหม่อีกครั้ง ซึ่งโดยหลักการแล้วจะให้เหตุผลและสั่งจำคุกเช่นเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ได้



da2011-07-24