โดย เชตวัน เตือประโคน
"ไม่ใช่คนไทย...เป็นลาวโซ่ง" หญิงวัย 39 ปี กล่าวแนะนำตัวด้วยประโยคแรกที่ชวนคิด
ถือว่าเป็นการออกตัวค่อนข้างแรง หากบทสนทนานี้ใช้กับคนเพิ่งรู้จัก ยิ่งท่ามกลางภาวะ "ชาตินิยม-คลั่งชาติ" อันมีกระแสปราสาทพระวิหารจุดไฟติด, สงครามสีเสื้อซึ่งต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝั่งไม่รักชาติ ฯลฯ นิยาม "ความเป็นไทย" สามารถใช้ประหัตประหารกันได้โดยไม่รู้ตัว เมื่อสิ่งที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หลายท่านรณรงค์เผยแพร่ความรู้อย่าง เรื่อง "ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อหลายเชื้อชาติ" กลายเป็นสิ่งที่ฝ่าย "ชาตินิยม-คลั่งชาติ" มองข้ามหรือทำเป็นไม่สนใจ
"เพราะรู้ว่า "เครื่องมือ" นี้มีพลัง"
"บรรพบุรุษ ถูกกวาดต้อนมาอยู่แถบ จ.เพชรบุรี ต่อมารุ่นทวดได้พากันโยกย้ายมาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านลาดมะขาม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี" "จิตรา คชเดช" แนะนำตัวเองด้วยประโยคต่อมา เธอเล่าให้ฟังอีกว่า ในหมู่บ้านนั้นเกือบทั้งหมดเป็นคนลาวโซ่ง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ครอบครัวของเธอก็เช่นกัน ปู่กับย่าซึ่งเป็นคนเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กก็เป็นกระดูกสันหลังของชาติ
จิตรา เกิดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2515 เป็นลูกคนกลางในจำนวนพี่น้อง 3 คน ของ พ่อ-"สมุทร คชเดช" และแม่-"สีนวน ยอดสุนีย์" พ่อกับแม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่เธอเริ่มจำความได้ เธอกับพี่สาวอยู่ในการดูแลของปู่กับย่า ส่วนน้องชายคนเล็กแยกไปอยู่กับแม่"เติบโตมาตาม "ยถากรรม" คือคำนิยามที่เธอใช้
"เรียนหนังสือจบเพียงชั้น ป.6 จากโรงเรียนวัดใหม่พิบูลย์ผล ไม่ได้เรียนต่อ เพราะฐานะทางบ้านยากจน แม้จะเป็นคนเรียนเก่ง แต่เธอต้องหยุดเรียนในระบบ เพื่อมาทำงานเลี้ยงตนเลี้ยงครอบครัว โดยงานแรกเริ่มต้นเมื่ออายุ 12 ปี ญาติซึ่งมีร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ที่ จ.กาญจนบุรี มาชวนไปอยู่ด้วย"
ประสบการณ์ 5-6 ปี เธอทำได้หมดทุกอย่าง ทั้งตัด เย็บ หรือแม้แต่จัดการทุกเรื่องราวในร้าน
กระทั่ง วันหนึ่ง เมื่อมีคนมาชวนไปทำงานกรุงเทพฯ จึงเป็นความท้าทายครั้งใหม่ - เริ่มมาเป็น "สาวฉันทนา" ที่โรงงานสิ่งทอ แถบบางปู แต่เหมือนชีวิตจะไม่ค่อยราบรื่น เพราะต้องเข้าโรงงานนู้น ออกโรงงานนี้อยู่เรื่อยๆ จนเมื่อมีเพื่อนมาชวนไปสมัครงานที่ ""บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด"" บริษัทในเครือของ ""ไทรอัมพ์"" ซึ่งให้รายได้ดี และคนที่ตัดเย็บเสื้อผ้าได้จะมีภาษีเป็นพิเศษ จิตราจึงมาลองสมัคร
"และในที่สุดเธอก็กลายมาเป็นอีกหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่บริษัทต้องบันทึกไว้ (แม้ไม่อยากบันทึกก็ตาม) กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานการต่อสู้ของภาคประชาชนที่เป็นกรณีศึกษา"
แต่สำหรับเหตุการณ์ที่ทำให้จิตราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง - เพราะปรากฏเป็นข่าว นั่นก็คือเมื่อครั้งที่เธอไปชูป้ายซึ่งมีข้อความ "ดีแต่พูด" ต่อหน้า "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายก รัฐมนตรี จนวลีนี้ ได้เป็นสิ่งที่ตามติดตัวนายกฯไปในหลายที่ช่วงหาเสียงการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคนที่ไม่ชื่นชอบ ไม่เห็นด้วย และแน่นอนว่า "ไม่เลือก" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ จะใช้วลีนี้ในหลากหลายรูปแบบทั้งชูป้าย ทั้งเข้าไปพูดใส่โดยตรงแบบระยะประชิด
อะไร ที่ทำให้ "ดีแต่พูด" ได้รับความนิยม และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งล่าสุดนี้หรือไม่
"ชวนมาค้นหาคำตอบจากต้นตำรับ- "จิตรา คชเดช""
- สาเหตุที่ตัดสินใจมาทำงานกรุงเทพฯ?
เหมือน กับคนต่างจังหวัดทั่วไป ฐานะทางบ้านไม่ดี อาชีพเดียวที่ทำคือทำนา พอไม่ใช่หน้านาก็ไม่มีอะไรทำ เลยต้องออกมาหางานในเมือง อีกอย่าง เมื่อตอนเด็กจะมีภาพของคนในหมู่บ้านที่มาทำงานกรุงเทพฯ พอวันหยุดเทศกาลกลับมาก็จะซื้อของมาฝาก มีเสื้อผ้าสวยๆ มาให้ลูกๆ หลานๆ แต่ครอบครัวเราตอนนั้นไม่มี ก็เลยเป็นภาพฝังใจ เมื่อไหร่เราจะโตจะได้ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ได้ซื้อของกลับมาฝากคนที่บ้าน (ยิ้ม)
มาอยู่ที่ "ไทรอัมพ์" รายได้ดีจริงๆ เพราะเราเย็บผ้าเป็น ทำอะไรเกี่ยวกับเสื้อผ้าเป็นอีกหลายอย่าง เพราะทำมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนอยู่กับญาติที่เมืองกาญจน์ก็ทำเองเกือบทั้งหมด พอมาอยู่โรงงานรายได้มันก็เลยดีตามผลงาน
- เรื่องถูกเลิกจ้างเป็นอย่างไร?
เข้า มาร่วมงานกับไทรอัมพ์ปี 2536 ถูกเลิกจ้างปี 2551 ศาลตัดสินว่า "ไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย" คือก่อนอื่นต้องบอกว่า เป็นคนที่ทำกิจกรรมอยู่กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศ ไทยตลอด โดยจะมีการจัดกลุ่มศึกษาเรื่องต่างๆ ประเด็นสังคมต่างๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งตรงนี้ก็ช่วยให้ได้ค้นคว้าข้อมูล ได้อ่านหนังสือ เหมือนไปเรียนหนังสือทุกวันเลย
ประเด็นหนึ่งที่ตัวเองสนใจตอนนั้น คือเรื่องสิทธิการทำแท้ง เพราะที่โรงงาน บางคนท้องไม่พร้อม ต้องไปทำแท้งเถื่อน กลับมาตกเลือด เสียชีวิตก็มี เลยออกมารณรงค์ให้มีกฎหมาย ประจวบกับวันหนึ่งก็มีน้องที่ทำกิจกรรมรณรงค์อีกเรื่องหนึ่ง เขาทำเสื้อที่มีข้อความ "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่าง ไม่ใช่อาชญากรรม" ก็มีคนซื้อมาฝาก พอดีรายการ "กรองสถานการณ์" ชวนไปออกทีวีพูดเรื่องสิทธิการทำแท้ง ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ใส่เสื้อตัวนี้ไปออกรายการ กระทั่งเป็นเรื่อง เพราะมีเว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่งนำไปเขียนด่า ทำให้บริษัทไปขออำนาจศาลให้เลิกจ้าง บอกว่าทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง
- ตอนแรกเลิกจ้างคนเดียว แต่ตอนหลังมีอีกล็อตใหญ่ที่โดนด้วย?
ตัว เองถูกเลิกจ้างคนแรก เมื่อ 28 มิถุนายน 2551 พอวันต่อมา คนงานทั้งโรงงานผละงานออกมาชุมนุมคัดค้าน 46 วัน ก่อนจะกลับเข้าทำงาน เมื่อ 12 กันยายน 2551 ตัวเองก็เข้าสู่กระบวนการศาล ต่อมาอีกพักใหญ่คนงาน 1,959 คนที่เคยออกมาชุมนุมคัดค้านไม่เห็นด้วยที่เราโดนเลิกจ้าง ก็โดนเลิกจ้างด้วย คราวนี้จึงออกมาชุมนุมประท้วงกันอีกรอบเมื่อ 28 มิถุนายน 2552 ยุติ 28 กุมภาพันธ์ 2553 นานถึง 8 เดือนแต่ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้
ต่อมาเมื่อ 12 มีนาคม 2553 "คนเสื้อแดง" เคลื่อนขบวน คราวนี้คนงานส่วนใหญ่ก็เลยไปร่วม ไม่ว่าจะที่ผ่านฟ้าหรือราชประสงค์ด้วยเห็นตรงกันในประเด็นเรื่องให้รัฐบาล ยุบสภา เพราะแก้ปัญหาบ้านเมือง และปัญหาที่เราประสบอยู่ไม่ได้แล้ว
- กลายมาเป็นคนเสื้อแดง?
เห็น ตรงกันเรื่องยุบสภา และอีกเรื่องหนึ่งคือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเคยออกมาต่อต้านกันตั้งแต่แรก แต่ถ้าจะบอกว่าเป็นคนเสื้อแดงมั้ย บอกได้ว่าเป็น "คนเสื้อแดงเต็มตัว" เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เพราะตอนนั้นอยู่ที่คอกวัว เห็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมหรือที่เรียกว่า "ขอพื้นที่คืน" กับตา เห็นคนเสียชีวิต รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว น้ำตาไหลเลยนะตอนนั้น มันไม่ยุติธรรมเลยที่รัฐบาลจะทำกับประชาชนในประเทศของตนเองแบบนี้ ประกาศกับตัวเองเลย "จะเป็นคนเสื้อแดง" แต่ไม่ใช่เสื้อแดงที่เชียร์ทักษิณนะ
เป็น คนหนึ่งที่ไม่พอใจกับเรื่องนี้เลยต้องลุกขึ้นสู้ จากวันนั้นเป็นต้นมาอยู่กับคนเสื้อแดงตลอด วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ก็ทำเวทีอยู่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะเข้าไปราชประสงค์ไม่ได้ รู้สึกว่าจะเป็นเวทีสุดท้ายที่ถูกปิด ประมาณบ่าย 3-4 โมง พอทราบว่ามีคนตาย คนบาดเจ็บ และคนถูกจับเป็นจำนวนมาก รู้สึกหดหู่ โกรธแค้นมาก
- แล้วตอนช่วงที่มีม็อบพันธมิตรฯ อยู่ไหน?
ก่อน เกิดรัฐประหารที่มีม็อบพันธมิตรฯก็เคยไปฟัง แต่ว่าฟังแล้วได้ข้อสรุปว่าเขาไม่ได้พูดเรื่องเรา ก็เลยไม่ได้เข้าร่วม เวลามีประเด็นเรื่องค่าจ้าง เรื่องอะไรต่างๆ ที่มีผลกับพวกเราก็เคลื่อนไหวกันเอง คือสิ่งที่พันธมิตรฯพูดไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของคนงานดีขึ้น ยิ่งพอมีเรื่องมาตรา 7 มีเหตุการณ์รัฐประหาร ยิ่งไม่ใช่เลย
- "ดีแต่พูด" เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ตอน นั้นได้รับเชิญไปพูดเนื่องในโอกาส 100 ปีวันสตรีสากล ซึ่งโดยกำหนดเดิมแล้วจะต้องขึ้นเวทีร่วมกับวิทยากรอีกประมาณ 6-7 คน หนึ่งในนั้นก็คือคุณอภิสิทธิ์ แต่ตอนหลังเขาขอเปลี่ยนให้พวกเราพูดกันก่อน เขาขอปาฐกถาคนเดียว
คำว่า "ดีแต่พูด" เกิดขึ้นตอนกลางคืนที่เราหาข้อมูล สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์เคยพูดไว้เกี่ยวเรื่องผู้หญิง พบว่า สิ่งที่เขาเคยพูดต่างๆ เช่น การชะลอการเลิกจ้าง การปรับการเลิกจ้าง หรือเรื่องทางการเมืองก็พูดเยอะ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง มีความคิดเกิดขึ้นตอนนั้นว่า "เอ๊ะ! นี่ดีแต่พูดนี่นา" ตอนเช้าวันนั้นก็เลยพรินต์ใส่กระดาษเอ 4 มา 3 แผ่น ตั้งใจไว้ว่าจะชูตอนที่อยู่บนเวทีเดียวกับเขา แต่ตอนหลังเมื่อกำหนดการเปลี่ยน ก็เลยเป็นอย่างที่เห็นในโทรทัศน์ คืออยู่ข้างล่างเวที แล้วชูป้ายตอนที่เขาพูด
- ช่วงหาเสียงที่ผ่านมา "ดีแต่พูด" ถูกใช้เพื่อต่อต้านคุณอภิสิทธิ์อย่างแพร่หลาย?
คิด ว่าไม่ใช่การเลียนแบบ คนที่เอาไปใช้ย่อมต้องยั้งคิด ไตร่ตรองมาก่อนแล้วจนได้บทสรุปว่าจะทำหรือไม่ทำ เชื่อว่าถ้าลองไปถามว่า อะไรทำให้คุณชูป้ายอภิสิทธิ์ดีแต่พูด เชื่อว่าเขาตอบได้อย่างมีเหตุผล
และ ก็ไม่ใช่แค่คุณอภิสิทธิ์คนเดียว แต่เตือนถึงนักการเมืองทุกคนด้วยว่า อย่าดีแต่พูดนะ เพราะทุกวันนี้สามารถตรวจสอบกันได้ ไม่ใช่แค่นึกอยากได้เสียงเขา ยกมือไหว้ โฆษณา แล้วพอได้ก็ปล่อยปละละเลย
การ เมืองวันนี้ต่างจากอดีต ทุกอย่างที่คุณพูดถูกบันทึก มีหูทิพย์ตาทิพย์หมดแล้ว อยู่ซีกโลกหนึ่งก็มองเห็นคนอีกซีกโลกหนึ่งได้ พูดอะไรกับใครในที่ลับก็อาจถูกเอามาเผยแพร่ได้ ความลับไม่มีในโลกมันเป็นเรื่องจริงแล้ว
- เรื่องที่คุณถูกขุดคุ้ยว่าสนิทกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข และรับเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร?
เป็น สูตรสำเร็จ จะดิสเครดิตใครสักคนก็ต้องหยิบเรื่องแบบนี้มาพูด ไม่มีอุดมการณ์-รับเงิน ไม่ก็เรื่องชู้สาว ไม่แปลกใจอะไรที่จะโดน แต่อยากจะบอกว่า คนต้องเลิกที่จะเชื่อเรื่องพวกนี้สักที และถ้ามันเป็นเรื่องจริงก็ไม่น่าแปลกใจ การที่ใครจะรับเงิน การที่ใครจะมีสัมพันธ์กับใครก็เรื่องของเขา ดูที่การกระทำดีกว่า ว่าสิ่งที่เขาทำไปเกิดประโยชน์กับสังคมแค่ไหน เพราะการกระทำบางอย่าง ไม่จำเป็นต้องรับเงิน ไม่ใช่เรื่องชู้สาว แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำก็มีเยอะแยะ แต่ยืนยันว่า โดยส่วนตัวแล้วไม่มีเรื่องเหล่านี้ ไม่มีเรื่องเงินของคุณทักษิณ เรื่องชู้สาวกับคุณสมยศก็ไม่มี
- ครอบครัวตอนนี้?
แต่ง งานแล้วและเลิกแล้ว (ยิ้ม) มีลูก 2 คน ไม่อยากเปิดเผย เพราะจะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างลำบาก ที่บ้านตอนนี้ก็มีหลายสี อย่างพ่อซึ่งไม่เข้าใจ ก็เคยบอกว่า เป็นลูกน้องทักษิณแล้วตกงาน สมน้ำหน้า ส่วนพี่สาวซึ่งเป็นเสื้อแดงก็บอกว่า ถ้าพ่อพูดมากจะให้พ่อไปอยู่หมู่บ้านเสื้อเหลืองหน้าทำเนียบ (หัวเราะ)
- ทุกวันนี้ทำงานอะไร?
พอ ถูกเลิกจ้าง ทางสหภาพฯจ้างให้เป็นเจ้าหน้าที่ คอยให้คำปรึกษาทุกเรื่อง ช่วยวางแผนการทำงาน ทำหนังสือเข้า-ออก หาข้อมูล ข่าวสารให้กับสหภาพฯ รับเงินเดือนจากสหภาพฯ เดือนละ 9,500 บาท และอีกหน้าที่หนึ่งคือ เป็นผู้ประสานงาน "ไทร์ อาร์ม (Try Arm)" คือกลุ่มคนงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วมาผลิตสินค้าจำหน่าย มีหน้าที่ซื้อผ้า ออกแบบ ดูการตลาด ฯลฯ ได้ค่าจ้างจากตรงนี้วันละ 300 บาท มีรายได้จาก 2 ทางเท่านี้ ไม่ได้รับเงินทักษิณ
- ดีแต่พูด" ทำให้อภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้ง?
เชื่อ ว่ามีส่วน เพราะทำให้คนได้ไตร่ตรองนโยบายต่างๆ มากขึ้น อย่างในเฟซบุ๊กของตัวเองก็มีคนมาบอกว่า เมื่อก่อนเลือกพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด พอมาได้ยินเรื่อง "ดีแต่พูด" ทำให้ได้ฉุกคิด กรณีคำนี้ไม่ใช่เฉพาะกับคุณอภิสิทธิ์เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เพราะอย่างที่เรารู้กันดี หลายคนในพรรคนี้ก็มีทีท่าแบบนี้ คือเป็นคนที่มีวาทศิลป์ดี
"ดีแต่พูด" เมื่อแพร่หลาย ก็น่าจะทำให้คนได้คิดมากขึ้นก่อนตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคไหน
- ว่าที่นายก และบทบาทเรื่องการพูดต่อสาธาณะควรเป็นอย่างไร?
อย่าง ที่บอกว่า "ดีแต่พูด" ใช้ได้กับทุกคน ต่อไปถ้าคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี พูดอะไรออกมาแล้วไม่รักษาคำพูด ก็โดนเหมือนกัน เชื่อว่าก็มีคนอยากที่จะใช้คำนี้กับเธอ ซึ่งต่อไปคงต้องระมัดระวังในการพูดมากขึ้น ส่วนว่าจะพูดบ่อยแค่ไหน นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเอง แต่ที่อยากเสนอก็คือ การที่นายกรัฐมนตรี รวมถึงผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ ฯลฯ จะพูดอะไรต่อสาธารณะ ควรมีการเห็นชอบจากทุกฝ่าย
"เพราะคำพูดของผู้มีอำนาจนั้นนำมาซึ่งความรับผิดชอบ และการนำไปปฏิบัติ"
หน้า 17,มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม 2554