คอลัมน์ แฟ้มคดี
ที่คาด ไม่ถึงเพราะรายงานของกสม. อุ้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับการตายถึง 91 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2 พันคนในการส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธหนักครบมือออกมาสลายการชุมนุม
ส่วนนปช.และ"ชายชุดดำ"นั้น คือตัวการความรุนแรงในรายงานของกสม.
รายงานกสม.-ช็อกสังคม
แต่เดิมกสม.เตรียมแถลงรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ในวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก่อนประกาศเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับดังกล่าวหลุดออกมาสู่สาธารณชน และสร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว เพราะโดยสรุปกสม.เห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับการตายของบุคคลจำนวน มากที่มาชุมนุมทางการเมือง!??
รายงานดังกล่าวเป็นผลในการประชุมเมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคม มีทั้งหมด 9 กรณี ที่สำคัญ อาทิ เหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่เกิดการปะทะอย่างรุนแรงบริเวณถ.ราชดำเนิน ได้ข้อสรุปว่าผู้ชุมนุมกระทำเกินกว่าการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้เป็นไปโดยสงบ การที่รัฐบาลขอคืนพื้นที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มนปช.ต่อต้าน และขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ
"ทั้งยังมีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมอีก ถือว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีอาวุธเป็นกระบวนการที่พร้อมใช้อาวุธและความ รุนแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้น จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ"
"การขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เมษายน เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไป รัฐบาลดำเนินการไปตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้ก่อนจริง เป็นการกระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ชุมนุมที่มีอาวุธ และผู้สนับสนุนที่มีอาวุธสงคราม"
6ศพวัดปทุมฯ-ถูกลากเข้าวัด
รายงานข่าวแจ้งต่อว่าส่วนเหตุการณ์มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 ที่แยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 จากการสอบถามจากพยานบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 21 คน และพยานเอกสาร สรุปว่าการชุมนุมของนปช.เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ใช้ความรุนแรงโดยระเบิดเอ็ม 79 ทั้ง 5 ลูก ถูกยิงมาจากทิศทางที่กลุ่มนปช. ชุมนุม มีการวางแผนจุดพลุ ตะไล และประทัด เพื่อบิดเบือนการยิงระเบิดเอ็ม 79
ขณะที่เหตุการณ์บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่าทหารเสียชีวิตจากอาวุธปืน ประชาชนและทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไป และทหารที่เสียชีวิตแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ
รายงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ระบุอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ในวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2553 รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่องเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารต่างๆ สรุปว่า นปช.ชุมนุมไม่สงบและมีอาวุธปืน มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่ม ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบนั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่รัฐบาลกำหนดขึ้น โดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบถึงประชาชน ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐ ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่ามาจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่
"ส่วนกรณี 6 ศพในวัดปทุมวนาราม วันที่ 19-20 พฤษภาคม 2553 นั้น การรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ไม่มีพยานยืนยันว่าใคร ฝ่ายใดเป็นผู้ยิงทั้ง 6 ศพ และผู้เสียชีวิตบางรายได้ความว่าเป็นการเสียชีวิตนอกวัด บางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิต บริเวณใด แต่ทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในวัด กรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการเยียวยาชดใช้ความเสียหาย และควรสืบสวนหาข้อเท็จจริง และหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี
รุมสับกสม.ใส่ร้ายคนตาย
ทันทีที่รายงานฉบับนี้เล็ดลอดออกมา กสม.กลายเป็นโจ๊กโดนระเบิด เพราะใคร ก็ไม่คาดคิดว่ากสม.ซึ่งมีหน้าที่หลักดูแลคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กลับเห็นชอบที่รัฐบาลส่งทหารออกมาปราบปรามประชาชนจนตาย-เจ็บเกลื่อนเมือง หลวง
นายนที สรวารี นายกสมาคมสร้างสรรค์อิสรชน และแกนนำกลุ่มอาทิตย์ซาบซึ้ง กล่าวว่า การนำเอาผลสอบออกมาช่วงนี้กสม.ต้องการอะไร ซึ่งผิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลมาก กสม.ควรเป็นกลาง แต่กลับมาพูดใส่ร้ายและทับถมผู้ตายรวมทั้งคนเจ็บซ้ำอีก โดยพูดเอื้อหรือสนับสนุนการกระทำของรัฐต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าถูกต้อง กสม.ก็ไม่เคยปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้กสม.ทั้งคณะลาออกทั้งหมด
นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานนปช. กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ไม่เว้นแต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล ถามว่าที่ผ่านมามีคนตายมากมาย เกิดการรัฐประหาร ตรงนั้นทำไมกสม.ไม่ออกมา ไปอยู่ที่ไหน ไม่ทราบว่าจะออกมาให้ความเห็นเช่นนี้ทำไม
น.ส.จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มคนงานไทรอาร์ม และอดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ใช้วิธีชูป้าย "ดีแต่พูด" ประท้วงนายอภิสิทธิ์ ก็ทนไม่ไหวต้องออกมาเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือถึงนางอมรา
"การจัดทำ รายงานฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิ ทางการเมือง และยังส่งเสริมให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงกับประชาชน กสม.ยังให้ความชอบธรรมในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำทหารและอาวุธเข้ามาปฏิบัติการกับผู้ชุมนุม"
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์ วอตช์ มองว่าผลสรุปที่กสม.ระบุว่าเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย อาจจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปถึงรัฐบาลในอนาคต หากในอนาคตมีการชุมนุมอีกรัฐบาลก็อาจจะยึดหลักดังกล่าว จึงมีคำถามว่ารัฐจะใช้อำนาจตามใจชอบได้หรือไม่
นายสุณัยกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ที่ราชประสงค์รัฐประกาศว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้ก่อการร้ายปะปนอยู่ และประกาศเขตใช้กระสุนจริง ทั้งที่ในหลักการปฏิบัติสากลแล้ว จะต้องแยกแยะระหว่างพลเรือนกับทหาร ไม่ใช่ใครที่เดินเข้าไปในพื้นที่แล้วจะอาจถูกยิงได้ กรณีนี้ผิดเต็มๆ ส่วนกรณีใช้ปืนสไนเปอร์ ก็มีจริงในหลายพื้นที่
แม่-น้องกมนเกดออกโรง
ส่วนคดี 6 ศพวัดปทุมฯ ที่กสม.ระบุว่าถูกยิงด้านนอกแล้วลากศพเข้ามาภายในวัด ทำให้ นายณัทพัช อัคฮาด น้องชาย น.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือ "น้องเกด" อาสาพยาบาลและ 1 ใน 6 ศพที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม ออกมาระบุว่าผลสอบดังกล่าวนี้กสม.จะต้องรับผิดชอบ ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดให้ชัดว่าในแต่ละศพถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่ใด ยืนยันว่าผลสอบของกสม.ครั้งนี้ยอมรับไม่ได้
"ผมจะนำผลสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล หรือฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่เคยสรุปออกมาว่าการเสียชีวิตของพยาบาลอาสาในวัดปทุมฯ ทั้ง 6 ศพ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่การชุมนุมล้วนเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยข้อมูลเหล่านี้จะรวบรวมเพื่อนำไปมอบให้กับกสม.ด้วย"
นายณัทพัชกล่าวอีกว่า วันนั้นคนอยู่ในวัดปทุมวนารามกว่า 1,000 คน ยืนยันได้ว่าทั้ง 6 ศพเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้า วัด หากกรรมการสิทธิฯ ไม่ทราบว่าเป็นทหารคนไหนให้ถามได้ จะบอกให้ทราบว่านายทหารมีกี่คน เป็นใคร สังกัดไหน ได้รับคำสั่งจากใคร ที่กรรมการสิทธิฯ ระบุว่าไม่มีพยานยืนยันว่าใครยิงนั้น หากต้องการพยานมีคนในเหตุการณ์พร้อมมาเป็นพยานจำนวนมาก
น้องชายอาสาพยาบาลเหยื่อกระสุนระบุว่ามีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่พยานในวัด ถ่ายนาทีพี่สาวและเพื่อนๆ ถูกยิง นอนดิ้นทุรนทุรายอยู่ที่พื้นหน้าโต๊ะจ่ายยาภายในเต็นท์ก่อนจะเสียชีวิต คลิปจะเป็นหลักฐานสำคัญที่จะนำมาใช้ยืนยันกับกสม. ว่าน.ส.กมนเกดและผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ไม่ได้ถูกลากมาจากนอกวัด ตามที่กสม.เข้าใจ
ส่วนนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาน.ส.กมนเกด ระบุว่า ไม่เคยคาดหวังกับการทำงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดนี้ เพราะขนาดมีคนตายกลางกทม.แท้ๆ แต่ไม่เคยเรียกร้องสิทธิให้คนตาย ไม่เคยนำเสนอว่ามีความเป็นห่วงประชาชนอย่างแท้จริง แต่กลับออกมาโอบอุ้มเห็นดีด้วยกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
กสม.อ้างรายงานไม่สมบูรณ์
หลังโดนไล่ถล่มจากผู้เกี่ยวข้อง และนักวิชาการ ทำให้นางอมรา ประธานกสม.ต้องออกมาชี้แจงทำนองว่ารายงานดังกล่าวไม่ทราบหลุดรอดออกมาได้ อย่างไร เพราะเป็นรายงานที่ยังไม่สมบูรณ์ต้องปรับปรุงแก้ไขในบางตอน!??
อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากสม.รับข้อมูลด้านเดียวจากฝ่ายรัฐบาล เพราะพยานหรือญาติคนเจ็บ-คนตายแทบไม่เคยได้ไปให้ข้อมูลเลย
ซึ่งหากดูจากรายงานจะพบว่าแทบจะเหมือนกับการแถลงของศอฉ. หรือฝ่ายรัฐบาลไม่มีผิด
จะว่าไปแล้วการสลายการชุมนุมนปช. มาในรูปแบบเดียวกับกรณี 14 ตุลา 16 เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และพฤษภา 35 เพราะฝ่ายรัฐก็อ้างว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธและใช้ความรุนแรง
ยิ่งกรณีเดือนตุลาทั้ง 2 เหตุการณ์ รัฐบาลกล่าวหาว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ ระดมอาวุธซุกซ่อนในห้องใต้ดิน และในตึกโดม แถมมีพวกญวนมาร่วมด้วย
ยังดีที่ผู้มีอำนาจในตอนนี้ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตในยุคนั้น รวมทั้งไม่มีกสม.ออกมาโอบอุ้ม
ไม่เช่นนั้นบรรดา"คนเดือนตุลา"และ"คนเดือนพฤษภา"คงกลายเป็นผู้ก่อการร้ายไป หมดแล้ว ส่วนวีรชนที่พลีชีพในเดือนตุลา และพฤษภา 35 ก็คงเป็นแค่คนที่ตายโดยไม่รู้ว่าใครฆ่า!??