เมื่อคืนผมดูทีวีช่อง 11 เห็นนักการเมืองคนหนึ่ง จำชื่อไม่ได้ แต่เป็นนักการเมืองพรรคเพื่อไทย น่าจะอยู่ในมุ้งนายเสนาะ เทียนทอง เพราะเขาอ้างแนวทางปรอดองของนายเสนาะทำนองว่า “การตาย 91 ศพ ควรถือเป็นอุบัติเหตุทางการเมือง ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราไม่ต้องไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด ควรชดเชยให้ครอบครัวคนตาย แล้วทุกฝ่ายก็มาร่วมกันกล่าวปฏิญาณต่อพ่อ-แม่ทั้งสองพระองค์ของเราว่า เราจะปรองดองกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป”
“91 ศพ คืออุบัติเหตุ” มันช่างตลกร้ายเหลือเกิน! แต่ผมไม่เชื่อว่าจะมีนักการเมืองคนนี้หรือนายเสนาะเท่านั้นที่คิดแบบนี้ จะว่าไปแล้วมันคือความคิดของ “นักศีลธรรม” ส่วนใหญ่ของประเทศนี้ด้วยซ้ำ เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสรุปว่า การสลายการชุมนุมทางการเมืองด้วย “กระสุนจริง” ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ก่อนหน้านั้น คุณภัควดี ไม่มีนามสกุล ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “นักสันติวิธีส่วนใหญ่ก็อุเบกขาอยู่บ้านกันหมด เมื่อมีคนตายเกือบร้อยศพกลางเมืองหลวง คนเหล่านั้นตายซ้ำสอง พวกเขาถูกนักสันติวิธีประหารทั้งเป็นไปก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะวิธีการชุมนุมของพวกเขาไม่ต้องตรงกับบรรทัดฐานบนหอคอยงาช้างของนัก สันติวิธี” (วารสารอ่าน ม.ค.-มี.ค.2554 หน้า 113)
คณะกรรมการสิทธิฯ ส่วนหนึ่งก็มีภาพของ “คนดีมีศีลธรรม” ส่วนนักสันติวิธีก็มีทั้งพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง แม่ชี นักปฏิบัติธรรม หรือกล่าวอย่างรวมๆ ผู้ที่มีบทบาทชี้นำทางความคิดในสังคมไทยส่วนหนึ่งนั้น เป็นชาวพุทธที่มีชื่อเสียง ชอบอ้างหลักพุทธศาสนาในการอธิบายปัญหาและเสนอทางออกแก่สังคมอยู่เสมอๆ แต่ดูเหมือนคนเหล่านั้นจะมองว่า “91 ศพ คืออุบัติเหตุ”
ทัศนะของชาวพุทธชั้นนำที่ดูเหมือนจะมองว่า “91 ศพ คืออุบัติเหตุ” จึงเป็นสิ่งบ่งชี้การให้ “ความหมาย” แก่ความตายของประชาชนที่เสียสละชีวิตเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศที่ เรียกตัวเองว่าเป็น “สังคมพุทธ” อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะ “91 ศพ คืออุบัติเหตุ” มันมีความหมายต่างกันอย่างลิบลับกับคำว่า “เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” และหากจะว่าไปแล้ว อุบัติเหตุดังกล่าวก็ดูเหมือนจะเป็นอุบัติเหตุที่จงใจให้เกิดขึ้นโดยบรรดา นักศีลธรรมทั้งหลายด้วยซ้ำไป
ผมยังจำติดตาไม่ลืมเลยที่เห็นภาพชายผู้เคร่งศีลธรรมในชุดเสื้อหม้อ ฮ่อมออกทีวีเรียกร้องให้กองทัพใช้ “กฎอัยการศึก” กับคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เสียงของพระสงฆ์ชื่อดังที่ว่า “รัฐบาลอภิสิทธิ์จะหมดความชอบธรรมมากแค่ไหนนั้น ต้องแยกแยะให้ได้ก่อนว่า 91 ศพตายเพราะชายชุดดำกี่คน ตายพระฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐกี่คน” ยังก้องอยู่ในหูของผม และยิ่งเห็นภาพ ว.วชิรเมธี ในยูทูป พูดถึง “การเผาบ้านเผาเมือง” และสนับสนุนการใช้กฎหมายแบบเด็ดขาดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมยิ่งรู้สึกหดหู่ใจ
พระ ว.ยังพูดอีกว่า “กฎหมายควรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนเลวควรถูกลงโทษ” แต่ไม่ได้ได้พูดในบริบทของการฉีกรัฐธรรมนูญ หรือในบริบทของการเรียกร้องให้นำฝ่ายที่ฉีกรัฐธรรมนูญมาลงโทษ ทว่าพูดในบริบทของการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง พูดในบริบทของการที่ฝ่ายรัฐประหารใช้กฎหมายเล่นงานนักการเมืองที่มาจาการ เลือกตั้ง นี่คือภาพที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง
ผมเองไม่แคลงใจใน “เจตนาดี” ต่อสังคมของพระสงฆ์ชื่อดังและชาวพุทธชั้นนำเหล่านั้น แต่บางครั้งก็อดแปลกใจไม่ได้ที่คนเหล่านี้ชอบอ้างว่า พุทธศาสนาสอน “สัจธรรม” หรือความจริงที่แท้จริงที่สุดเหนือกว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์ หรือศาสนาใดๆ แต่เวลาที่เขาจะเสนออะไร เขากลับไม่มอง “ความเป็นจริง” เอาเสียเลย
อีกอย่าง ชาวพุทธเหล่านี้ก็ชอบอ้าง “หิริโอตตัปปะ” อยู่เสมอ แต่พวกเขาไม่ละอายบ้างหรือที่สนับสนุนทรราชเสียงข้างน้อยทั้งโดยตรงและโดย ปริยาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปเลยหรืออย่างไรที่เรียกร้องให้ใช้ “กฎอัยการศึก” กับคนเสื้อแดง และที่ออกมาร้อง กกต.ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหลังจากล้มเหลวในการรณรงค์โหวตโนนั้น มันไม่ทำให้คุณรู้สึกทุเรศในความมีคุณธรรม ความเป็น “อริยบุคคล” ของตนเองบ้างหรือ ที่คุณธรรมความดีต่างๆ นั้นไม่ได้ทำให้คุณสามารถจะมีแม้แต่ “สปิริตเคารพเสียงส่วนใหญ่” เลย
สังคมของเราเป็นสังคมที่นักอ้างศีลธรรม นักอ้างหลักการ หลักนิติรัฐ นิติธรรม ล้วนแต่ไม่มีสปิริตเคารพเสียงส่วนใหญ่ เห็นไหมครับพวกนี้ดาหน้าออกมาเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เตรียมร้อง กกต.ให้ยุบพรรคที่เสียงส่วนใหญ่เลือกมาเป็นรัฐบาล เราจึงมีแต่นักศีลธรรม นักอ้างหลักการที่ “มือถือสากปากถือศีล” คนเหล่านี้คือ “เสียงส่วนน้อย” แต่เป็นเสียงส่วนน้อยที่ดังกว่า และไม่เคยแคร์เสียงส่วนใหญ่ใดๆ เลย
พวกเขาเหล่านี้พูดถึงความสงบสันติของบ้านเมือง พูดถึงความดีงามต่างๆ นานา แต่เป็นความสงบสันติ ความดีงามตามนิยามของพวกเขา หรือตามที่พวกเขาต้องการจะให้เป็น ส่วนความดีงามที่ต้องอยู่บนกติกาประชาธิปไตย อยู่บนหลักการเคารพเสียงส่วนใหญ่ อยู่บนความเป็นประชาธิปไตยที่ “ทุกคน ทุกสถาบัน” ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพและความเสมอภาค ตามที่เสียงส่วนใหญ่เรียกร้องต้องการ พวกเขากลับรู้สึกเฉยๆ หรือกระทั่งเย้ยเยาะ
ฉะนั้น ในสายตาของเหล่าคนดีมีศีลธรรมทั้งหลาย ความตายของ 91 ศพ จึงมีความหมายเป็นเพียง “อุบัติเหตุทางการเมือง” มันไม่ได้มีความหมายว่าเป็น “การเสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” เพราะโดยศาสนา ศีลธรรม และหลักการที่พวกเขามักอ้างถึง มันไม่ได้ทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจได้ว่า ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายนั้นพวกเขาถูกกระทำรุนแรงยิ่งกว่ามาก่อนโดยรัฐ ประหาร
การใช้กองทัพ รถถัง ออกมาปล้นอำนาจประชาชนนั้นคือ “ความรุนแรงอย่างยิ่ง” ที่บรรดานักศีลธรรม และนักอ้างหลักการ (แกล้ง) มองไม่เห็น โครงสร้างอำนาจจารีตที่ครอบงำประชาธิปไตยอยู่คือเงื่อนไขความรุนแรงที่พวก เขามองไม่เห็น พวกเขาเห็นแต่ความรุนแรงของชาวบ้านที่ต้องสู้เพราะไม่มีทางเลือก และเมื่อมีประชาชนเลือกที่จะตายเพื่อสังคมที่ดีกว่า พวกเขาจึงมองเห็นเพียงว่า “91 ศพ คืออุบัติเหตุ”
เมื่อความหมายของความตายของประชาชนที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยถูก มองอย่าง “บิดเบือน” โดยเหล่าบรรดาคนดีมีศีลธรรมตลอดมา วาทกรรมปรองดองของพวกเขาจึงไม่แสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อ “การเสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” ของประชาชน และจึงไม่มีข้อเสนอว่าการปรองดองจะต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจจารีตอันเป็น เงื่อนไขของความรุนแรงหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างไร