จากกรณีถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก มาถึงกรณีการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ณ สนามบินนานาชาติเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี
ให้ "บทเรียน" อะไรบ้าง
เป็นบทเรียนทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์กับองค์การระดับโลก
บทเรียน 1 คือ บทเรียนด้านการข่าว
ขณะเดียวกัน บทเรียน 1 คือ บทเรียนและกระบวนการในการนำเสนอ "ข่าว" และมุมมองต่อแต่ละประเด็น
ทั้งหมดนี้มิได้เป็นบทเรียนสำหรับ "รัฐบาล" เท่านั้น หากแต่น่าจะเป็นบทเรียนของคนไทยทั้งประเทศ
เพียงแต่หากรัฐบาลบริหารจัดการกับเรื่องราวเหล่านี้ไม่รอบคอบ รัดกุมอย่างเพียงพอ คนไทยในฐานะผู้บริโภคข่าวสาร ความเห็น ไปตามทิศทางที่รัฐกำหนด อาจผิดหวัง
ผิดหวังเหมือนกับที่เคยผิดหวังมาแล้วในกรณีอันเกี่ยวกับการถอนตัวจาก ภาคีอนุสัญญามรดกโลก ผิดหวังเหมือนกับที่กำลังผิดหวังว่าอะไรเกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่มิวนิก
นี่ย่อมเป็นเรื่องที่สมควร "สรุป" และเก็บรับมาเป็น "บทเรียน"
ต้องยอมรับว่าการอันเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร การอันเกี่ยวกับมรดกโลก การอันเกี่ยวกับยูเนสโกคนไทยเหมือนกับถูกหลอก ถูกหลอกว่าเราจะเป็นฝ่ายชนะ
หากฟังจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นจากนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เหมือนกับว่าเรากำลังได้เปรียบ เหมือนกับว่าแม้กระทั่งผู้อำนวยการยูเนสโกก็เข้าข้างเรา
แต่ความเป็นจริงที่คนไทยจำต้องยอมรับด้วยความไม่เข้าใจก็คือ ปัญหาได้ขยายจากเรื่องระหว่าง 2 ประเทศเป็นเรื่องระดับภูมิภาค เป็นเรื่องระดับสหประชาชาติ เป็นเรื่องระดับศาลโลกได้อย่างไร
และที่คิดว่านานาชาติเข้าใจไทยก็เริ่มไม่แน่เสียแล้ว
ไม่แน่เพราะว่าภายใน 21 ประเทศ ซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏว่ามีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่เข้าข้างไทย อีก 14 ประเทศเป็นฝ่ายเดียวกับกัมพูชา
ตราบกระทั่ง ณ วันนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับว่าได้ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับคนไทยมากน้อยแค่ไหนใน เรื่องอันเกี่ยวกับมรดกโลก ในเรื่องอันเกี่ยวกับการเข้ามาของอินโดนีเซีย
เช่นเดียวกับอาการนะจังงังในเรื่องการยึดเครื่องบินโบอิ้ง 737-400
หากฟังแต่จากปาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากฟังแต่จากปาก นายกษิต ภิรมย์ คล้ายกับว่าสถานการณ์จะเป็นผลดีกับไทย เป็นผลดีมากกว่าอาการล่วงล้ำก้ำเกินของวอลเตอร์ บาว
แต่หากศึกษาแถลงการณ์ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานครอย่างละเอียด
นี่มิได้เป็นเรื่องอันเพิ่งเกิดขึ้น
ตรงกันข้าม แถลงการณ์บอกว่า "รัฐบาลเยอรมนีได้เรียกร้องมาแล้วหลายครั้งเช่นกันให้รัฐบาลไทยดำเนินการ แก้ไขปัญหาอย่างเป็นมิตรด้วยการชำระค่าชดเชยอย่างสมเหตุสมผลให้กับบริษัท"
นี่ย่อมสอดรับกับคำแถลงของโฆษกกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีที่ว่า
"สถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานครเคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของไทยเกี่ยวกับคดีนี้"
และแถลงจาก นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของวอลเตอร์ บาว
"หน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนียื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วแต่ยังไร้ผล รัฐบาลไทยถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ และไม่เคยตอบสนอง"
สะท้อนว่าเรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ เพียงแต่มิได้สำเหนียกเท่านั้น
กระนั้น ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ กระบวนการและวิธีวิทยาในการนำเสนอข่าวของรัฐบาลไทย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับการแพ้คดีต่อวอลเตอร์ บาว ล้วนดำเนินไปอย่างด้านเดียว ล้วนดำเนินไปอย่างไม่ครบถ้วน รอบด้าน
เท่ากับหลอกประชาชน เท่ากับนำพาประชาชนให้เข้าใจเพียงด้านเดียว ขาดมิติที่สมบูรณ์
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ก.ค.54