คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
การจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งมักได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนเสมอ
โฉมหน้ารัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
สังคมกำลังเฝ้าจับตามองว่าจะออกมาหน้าตาแฉล้มแช่มช้อยเหมือนนายกรัฐมนตรีหญิง หรือจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม
จะว่าไปแล้วการวางตัวคณะรัฐมนตรีใหม่นี้ ใครจะได้เก้าอี้ใด ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะถึงจะเป็น "รัฐบาลผสม" แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำหลักก็มีเสียงส.ส.พรรคเดียวเกินครึ่ง นั่นทำให้พรรคร่วมรัฐบาลที่ทั้งหมดเป็นพรรคเล็ก แทบไม่เหลือพลังต่อรองใดๆ
ดังนั้น อำนาจการจัดสรรปันส่วนเก้าอี้รัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทยมีอยู่ในมือเต็มร้อย จึงไม่เกี่ยวกับโควตาตัวเลขส.ส.ของแต่ละพรรค
แต่ขึ้นอยู่กับการ "ซื้อใจ" กันมากกว่า อย่างที่มีข่าวเกี่ยวกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น
ขณะเดียวกันบรรดาพรรคร่วมก็ต้องไม่เรียกร้องอะไรที่สูงเกินตัวมากนัก
นอกจากการวางคนให้เหมาะกับงานแล้ว การจัดโผ "ยิ่งลักษณ์ 1" ยังต้องแก้โจทย์ให้ได้อีก 3 ข้อ
ข้อแรก คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะสลัดหลุดข้อครหาการเข้ามามีส่วนบงการของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้อย่างไร
ซึ่งการจะผ่านด่านปัญหานี้ไปได้ นอกจากตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์เองแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณถือว่ามีส่วนสำคัญที่สุด
ข้อสอง คือ การจัดวางตำแหน่งของแกนนำนปช.ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.จะต้องยึดหลัก "ความพอดี"
ไม่มากเกินไปจนถูกโจมตีว่าเป็นรัฐบาลเสื้อแดง และไม่น้อยเกินไปจนถูกมองว่าเป็นการถีบหัวส่งมวลชนเสื้อแดง ที่เป็นกำลังสนับสนุนหลักช่วยให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลาย
ข้อสาม คือ จะจัดครม.อย่างไรให้มีภาพของความปรองดอง มากกว่าภาพการตั้งคนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเพื่อมุ่งไล่เช็กบิลล้างบางฝ่ายตรงข้าม
เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ "ไม่แก้แค้น แต่จะแก้ไข"
ตามที่ว่าที่นายกฯหญิงเคยประกาศไว้เมื่อครั้งเปิดตัวลงสมัครส.ส. และได้ย้ำตลอดเวลาการหาเสียงที่ผ่านมา