ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday 24 July 2011

แรงงานภาคเหนือหนุนเพื่อไทยเดินหน้าค่าแรง300 คืนศักดิ์ศรีความเป็นคนให้กรรมกรวอนอย่าสะดุด

ที่มา Thai E-News


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
24 กรกฎาคม 2554

หมายเหตุไทยอีนิวส์:วันนี้ผู้ใช้แรงงานภาคเหนือประชุม เพื่อแสดงท่าทีต่อเรื่องค่าจ้าง300 บาท และได้ออกแถลงการณ์เรื่อง สนับสนุนนโยบายค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศของรัฐบาลประชาธิปไตยคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยทำให้สิทธิเสียงของประชาชนไม่มีความหมาย ในทางการเมือง ทำให้สิทธิสียงไม่มีความหมายในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า เพื่อความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันของผู้ใช้แรงงานและสังคมไทย เนื่องเพราะอำนาจตกอยู่ในมือของฝ่ายนอกระบบประชาธิปไตย

ต่อมาเมื่อมีการเรียกร้องให้ยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของประชาชนกลับมีความหมายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ผู้ใช้แรงงานก็เช่นกันได้มีส่วนร่วมทางการเมืองที่จะเลือกพรรคการเมือง นักการเมือง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน

ในช่วงที่มีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้เสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นผลให้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ได้สนับสนุนในการเลือกพรรคเพื่อไทย เนื่องเพราะนโยบายนี้จักทำให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยนับเป็นเวลาร่วม หลายสิบปีไม่ได้มีนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ใช้แรงงานเช่นนี้

แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่อย่างอัตคัต มีหนี้สินล้นพ้นตัว จักมีชีวตอยู่รอดได้ต้องทำให้หนักขึ้น ต้องทำโอที ต้องไม่มีวันหยุด เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้ใช้แรงงาน

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการคืน”ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ให้กับผู้ใช้แรงงาน และคืน”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน ในฐานะผู้ใช้แรงงานเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตสรรพสิ่งให้กับสังคม ในฐานะผู้ใช้แรงงานมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญ ความมั่งคั่งให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางที่ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลับมีนายทุน องค์กรนายจ้าง เครือข่าย สื่อมวลชน นักวิชาการ ของฝ่ายอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

เราในฐานะผู้ใช้แรงงาน ภาคเหนือ มีความคิดเห็นว่า การคัดค้านนโยบายนี้ ก็เพียงเพื่อยึดผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของนายทุนที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบ ประชาธิปไตยมาตลอดเท่านั้นเอง

เราขอเรียกร้องให้ รัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ผู้ได้รับเสียงสวรรค์จากประชาชน ต้องไม่ไหวเอนไปตามการคัดค้านของนายทุนและเครือข่ายอำนาจนอกระบอบ ประชาธิปไตยทั้งหลาย

จงมั่นใจได้ว่าผู้ใช้แรงงาน พร้อมปกป้องความชอบธรรมของรัฐบาลประชาธิปไตย หากบุคคล องค์กรอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย จักทำลายระบอบประชาธิปไตยเหมือนเช่นที่ผ่านมา

จงมุ่งมั่นทำตามนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ

จงเชื่อเถิดว่าผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายที่มีจุดยืนเคียงข้างผู้ ใช้แรงงาน เพื่อ คืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ”ความยุติธรรม”ให้กับผู้ใช้แรงงาน

ลงนามในแถลงการณ์โดย

สหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์
กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ


********
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเชื่อค่าแรง 300 ปรับเงินดือนปริญญาตรีกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจของผู้ประกอบการ 800 ตัวอย่าง เกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท และการปรับเงินเดือนปริญญาตรีแรกเข้า 15,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเห็นด้วย แต่สิ่งสำคัญ รัฐบาลควรออกมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนด้วย เพราะหากดำเนินการทันที จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สภาพคล่องทางการเงินลดลง อาจต้องปิดกิจการ หรือปรับลดคนงาน และบางส่วนอาจหันไปใช้แรงงานต่างด้าว หรือหาเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ควรหาเงินชดเชยผ่านการลดภาษี หรือทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเริ่มในจังหวัดนำร่อง และทยอยปรับขึ้น และในปี 2555-2556 จึงปรับเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ถ้าทำเร็วเกินไป หรือทำแล้วไม่มีกลไกรองรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวกในระยะสั้น

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้นพบว่าแรงงานขั้นต่ำมีประมาณ 5 ล้านคน ถ้าเริ่มค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบันประมาณ 160-220 บาทต่อคนต่อวัน ต้องใช้เงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1 ต่อปี แต่ภาคเอกชนไม่สามารถรับภาระฝ่ายเดียวได้