บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อฉายภาพเส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสยามก่อนจะดำเนินมาถึงวันที่ คณะราษฎรได้ร่วมกันอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ จึงขอร่วมรำลึกเหตุการณ์นี้ในวาระครบ 79 ปี การปฏิวัติ 2475 มา ณ โอกาสนี้
*****
ศตวรรษ ที่19 คลื่นจักรวรรดินิยมพร้อมทั้งกระแสทุนนิยมจากโลกตะวันตกเดินทางมาถึงโลกตะวัน ออก สยามในฐานะ“รัฐกษัตริย์”ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย เริ่มสั่นคลอนและจำต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถทัดทานกระแสทุนนิยมอันเป็น วิวัฒนาการของสังคมตะวันตกได้ก้าวไปถึงแล้ว
รัฐบาลสยามยอม เสียเปรียบลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ในปี2398 และได้กลายเป็นต้นแบบให้ชาติตะวันตกอีก 13 ประเทศ เข้ามาเจรจาทำสัญญาในแบบเดียวกัน นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สยามต้องรับมือกับคลื่นจักรวรรดินิยมและกระแสทุนนิยม ที่ถาโถมเข้าใส่
ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่5 อธิปไตยของสยามถูกท้าทายอย่างมากจนราชสำนักได้ตระหนักถึงความด้อยกว่าทั้ง ความรู้และความคิด จึงได้พยายามปรับตัวโดยจัดรูปแบบของรัฐใหม่ตามแบบแผนตะวันตกและไม่ลืมที่จะ ผสานจารีตการเมืองดั้งเดิมของชนชั้นนำเอาไว้บางอย่าง
ในรัชสมัยนี้เองที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเริ่มเข้าสู่สังคมสยามอย่าง ค่อนข้าง ชัดเจน เริ่มจากชนชั้นสูงกลุ่มหนึ่งมีทั้งเจ้านายและขุนนางที่ไปศึกษาและปฏิบัติ ราชการในยุโรป ได้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งแรกในร.ศ.103(พ.ศ.2427) คณะเจ้านายและขุนนางกลุ่มหนึ่ง อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ มีหนังสือกราบทูลรัชกาลที่5 มีสาระสำคัญเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐ ธรรมนูญ (constitutional monarchy) โดยเห็นว่าเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้สยามรอดพ้นภัยคุกคามจากตะวันตกได้ และเป็นครั้งแรกที่มีการกล่าวว่า “แผ่นดินสยามเป็นของชาวสยามทั้งหมด”
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์
รัชกาลที่5 ทรงปฏิเสธและตอบกลับไปว่า พระองค์ไม่เคยคิดที่จะหวงแหนอำนาจไว้เลย แต่ติดขัดที่สถานการณ์ขณะนั้นยังไม่เหมาะสม เพราะขาดคนมีความรู้ความสามารถและความกล้าที่จะทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อ ถ่วงดุลกับอำนาจบริหารที่ของกษัตริย์
ทว่าหลังจากนั้น ก็มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตามแนวทางของพระองค์เอง กล่าวคือ การสถาปนาอำนาจส่วนกลางภายใต้รัฐบาลแบบสมัยใหม่ที่รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วน กลางแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นการก่อร่างสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) โดยมีกษัตริย์เป็นองค์อธิปัตย์สูงสุด มีอำนาจสมบูรณ์และแบ่งแยกไม่ได้ คงสถานะความศักดิ์สิทธิ์เหนือประชาชนเช่นเดียวกับยุคศักดินา และในสมัยนี้นอกจากกลุ่มชนชั้นสูงแล้ว ยังมีสามัญชนหัวก้าวหน้าอย่าง “เทียนวรรณ” และ ก.ศ.ร. กุหลาบ ที่ได้พยายามนำเสนอแนวคิดท้าทายและกล้าวิพากษ์วิจารณ์การปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสำนึกถึงความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีสิทธิ ความเสมอภาค คนทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน ดังที่เทียนวรรณ ได้แต่งบทประพันธ์ขึ้น ตอนหนึ่งว่า
“...ไพร่เป็นพื้นยืนร้องทำนองชอบ
ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ
แม้นนิ่งช้าล้าหลังยังมิทำ
จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย...”
แม้การเปลี่ยนแปลงยังมิได้เกิดขึ้นตามข้อเรียกร้อง แต่ก่อนที่รัชกาลที่5 เสด็จสวรรคต ทรงมีพระราชดำรัสอันเปรียบเหมือนคำมั่นสัญญาว่า "จะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองไทยทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์...จะให้เขามีปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (คราวเสด็จนิวัติพระนคร หลังทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ)
ถึงต้นศตวรรษที่20 หลังจากรัชกาลที่5เสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารก็เสด็จขึ้นครองราชย์ กล่าวได้ว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 มิได้มีปรากฏการณ์ใดที่จะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยแท้จริง
ทรงมุ่งสร้างความมั่นคงให้กับรัฐตามแนวทางชาติ นิยมและอนุรักษ์นิยม ทรงริเริ่มตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” จำลองรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และให้มีหนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์และเสนอข่าวด้วย มีคนบางกลุ่มวิจารณ์ว่า ดุสิตธานีเป็นเพียงการละเล่นของกษัตริย์และไม่ได้ตั้งใจก่อตั้งรูปการปกครอง แบบประชาธิปไตยอย่างจริงจัง
ก่อนหน้านั้นช่วงต้นรัชกาลมีเหตุ ปฏิวัติโค่นล้มระบอบกษัตริย์ขึ้นในจีน ตุรกีและโปรตุเกส เหตุการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลมาถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยในสยาม นั่นคือ เหตุการณ์ รศ.130 กลุ่มนายทหารและปัญญาชนวางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้กษัตริย์พระราชทานรัฐ ธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อนจึงถูกจับกุมเสียก่อน
คณะร.ศ.130 หลังถูกจับกุม
หลังการก่อการครั้งนี้ รัชกาลที่6 ยังทรงยืนยันหนักแน่นว่า ราษฎรยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย “ระบอบกษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดนั้นดีแล้ว ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับประเทศสยามเพราะราษฎรไม่มีความรู้” พร้อมกับทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังที่เกิดในหลายประเทศ เช่น “การปฏิวัติทั้งในจีนและโปรตุเกส เป็นสิ่งไม่ถูกต้องเพราะนำมาซึ่งความวุ่นวาย”
เหตุการณ์ ปฏิวัติจีน ปี1911 (พ.ศ.2454) ขบวนการปฏิวัติภายใต้การนำของดร.ซุน ยัตเซ็น หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งได้เคยเดินทางเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเทศรวมทั้งสยาม ได้ปฏิวัติโค่นล้มอำนาจการปกครองระบอบจักรพรรดิของราชวงศ์ชิงได้สำเร็จและ เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
ดร.ซุน ยัตเซ็น ผู้นำขบวนการปฏิวัติ
ปี 2457เกิด สงครามโลกครั้งที่1 และหลังจากนั้นก็มีเหตุปฏิวัติล้มล้างระบอบกษัตริย์เกิดขึ้นอีกหลายประเทศ ทั้งในรุสเซีย เยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี ขณะที่ภายในประเทศก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อสามัญชนเริ่มตื่นตัว และแสดงออกทางการเมืองกว้างขวางขึ้น เช่น หนังสือพิมพ์ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเสง ที่เผยแพร่โฆษณาความคิดเชิงประชาธิปไตย จนกระทั่งรัฐบาลไม่พอใจถึงกับออกกฎหมายควบคุมและให้รัฐมีอำนาจสั่งปิดได้ นับเป็นกฎหมายเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย
ห้วงเวลาสู่วิกฤต
รัชกาลที่ 6 ในฉลองพระองค์"แฟนซี" เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ 29 ธันวาคม 2466 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลสยามกำลังประสบภาวะขาดดุลการคลังอย่างมาก
รัชกาลที่ 6 ขณะทรงแสดงละครร่วมกับข้าราชสำนัก กล่าวกันว่า รัชสมัยนี้ งานด้านศิลปะการละครเฟื่องฟูมากถึงขีดสุด
สถานการณ์ ช่วงปลายรัชกาลที่6 ย่ำแย่ลงเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองที่รุมเร้าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และราชสำนักยิ่งซับซ้อนมากขึ้น สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของชาติตั้งแต่ พ.ศ.2465เป็นต้นมา งบประมาณแผ่นดินขาดดุลอย่างหนัก ต้นพ.ศ.2467 ใกล้สิ้นรัชกาล สถานการณ์ยิ่งทรุดหนัก และคนจำนวนหนึ่งได้พุ่งเป้าไปที่การใช้จ่ายเงินเกินตัวของราชสำนักเวลานั้น จนกระทั่งเงินคงคลังเหลือน้อยจนรัฐบาลเกือบอยู่ในสภาพล้มละลาย วิกฤตการณ์ในรัชสมัยนี้มีส่วนสำคัญต่อสถานะของระบอบกษัตริย์ที่กำลังสั่น คลอน
พันธบัตร ที่รัฐบาลรัชกาลที่ 6 ออกจำหน่ายในตลาดยุโรป ปี1922 (พ.ศ.2465) เพื่อกู้ยืมเงิน 2 ล้านปอนด์ มาใช้คืนเงินคงคลัง แก้ปัญหาเสถียรภาพทางการคลัง ท่ามกลางภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนักช่วงปลายรัชกาล
เมื่อเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสถียรภาพของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มวิกฤต ดังเห็นได้จาก"บันทึกเรื่องการปกครอง" (23 กรกฎาคม-1สิงหาคม 2469) ที่ รัชกาลที่7ทรงเขียนถึง ดร.ฟรานซิส บี แซร์(พระยากัลยาณไมตรี)อดีตที่ปรึกษาราชการต่างประเทศฯสมัยรัชกาลที่ 6 เนื้อความที่ปรากฏในบันทึกนี้สะท้อนถึงสถานะของราชสำนักสยามในเวลานั้นได้ อย่างชัดเจน
"..ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุด(รัชกาลที่6) หลายสิ่งหลายอย่างได้ทวีความเลวร้ายไปมาก เนื่องจากเหตุหลายประการซึ่งข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องเล่า ด้วยท่านเองก็ทราบดีแก่ใจเพียงพอแล้ว พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นผู้ที่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของข้าราชการบริพารคนโปรด ข้าราชการทุกคนถูกเพ่งเล็งมากบ้างน้อยบ้างในด้านฉ้อราษฎรบังหลวง หรือเล่นพรรคเล่นพวก ยังนับเป็นโชคดีที่พระบรมวงศานุวงศ์ยังเป็น ที่เคารพยกย่องว่า เป็นคนซื่อสัตย์ สิ่งที่เป็นที่น่าเสียใจยิ่งคือ พระราชสำนักของพระองค์เป็นที่เกลียดชังอย่างรุนแรง และในตอนปลายรัชสมัยก็ถูกเลาะเลียนเยาะย้อย กำเนิดของหนังสือพิมพ์ฟรีเพสทำให้สถานการณ์ในขณะนั้นขยายตัวเลวร้ายมากขึ้น ฐานะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก ความเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ระยะเวลาของระบอบเอกาธิปไตยเหลือน้อยลงเต็มที..."
พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์)
และ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รัฐบาลสยามแก้ปัญหาขาดดุลการคลังด้วยการปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงสู่ความขัดแย้งในวงของผู้บริหารจนกระทั่งถึงขั้นมี การลาออกของเสนาบดี รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่อนุรักษ์นิยมเน้นการจัดงบประมาณให้เข้า ดุล จึงต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ลดเงินเดือน ลดจำนวนข้าราชการพร้อมกับเก็บภาษีในรูปใหม่ซึ่งกระทบคนชั้นกลางมากที่สุด จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างมาก ขณะที่เกษตรกรชาวนาก็อยู่ในภาวะทุกข์ยาก ราคาข้าวและราคาที่ดินตกต่ำอย่างมาก ชาวนาขาดเงินสดที่จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค ในขณะเดียวกันก็ขาดเงินสำหรับเสียภาษีอากร ทั้งยังไม่สามารถจะหาเงินกู้มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เกิดหนี้สินรุงรัง และเกิดอัตราว่างงานสูง
แม้ประเทศกำลังประสบภาวะเศรษฐกิจก็ ตาม แต่ถึงกระนั้นเจ้านายและชนชั้นสูงยังคงดำรงสถานะที่สูงส่งเช่นเดิม ด้วยแนวคิดของระบบเจ้านายต้องผดุงไว้ซึ่งขัตติยะ เพราะหากมีเรื่องใดเสื่อมเสียมากระทบชนชั้นเจ้านาย ย่อมส่งผลต่อพระบรมเดชานุภาพของกษัตริย์ด้วย ดังนั้นพระมหากษัตริย์ต้องพระราชทานเงินให้แก่ชนชั้นเจ้าอย่างเพียงพอ
สถานการณ์ ดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยที่รุนแรงมากขึ้น “รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” เป็นคำที่คุ้นเคยกันทั่วไปอย่างน้อยก็ในหมู่ปัญญาชน เวลานั้นมีกระแสข่าวว่า รัชกาลที่7 จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ แต่ท้ายที่สุดก็มิได้เกิดขึ้น พระองค์ทรงแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีเดิม คือ “การปรับปรุงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เพราะทรงเห็นว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามแบบฉบับพระบิดานั้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด”
ถึง ปี2474 รัชกาลที่7 ทรงมอบหมายให้กระทรวงต่างประเทศและที่ปรึกษาร่างเค้าโครงธรรมนูญเพื่อเตรียม ไว้ว่า อาจจะพระราชทานรัฐธรรมนูญในเดือนเมษายน ในโอกาสครบ 150 ปี ราชวงศ์จักรี หากแต่เค้าโครงธรรมนูญฉบับนี้ ยังเป็นธรรมนูญที่ให้อำนาจสูงสุดแก่กษัตริย์และขุนนางเสนาบดีเช่นเดิม เพราะไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปจากสถาบันกษัตริย์ มิใช่ธรรมนูญที่อยู่บนพื้นฐานอำนาจของประชาชนตามหลักประชาธิปไตยทั่วไป หากเป็นธรรมนูญแบบกษัตริย์นิยม ดังเห็นได้จากที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของร่างฯฉบับนี้ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์" แต่แล้วการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก็ล้มเหลวไปพร้อมๆกับโอกาสของสยามที่จะมีระบอบรัฐสภา
ขบวนการคณะราษฎร
ทหาร และพลเรือนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ ในยุโรป มีเจตนาตรงกันคือต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้เริ่มประชุมกันครั้งแรกตั้งแต่ราวเดือนกุมภาพันธ์ ปี2469 ณ กรุงปารีส และตกลงกันใช้วิธี "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์อยู่เหนือ กฎหมาย มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยเน้นแผนการที่หลีกเลี่ยงการนองเลือดเพื่อป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรก แซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คืออังกฤษและฝรั่งเศส
หลัง การประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการกลับมาประเทศสยาม ก็พยายามเสาะหาสมาชิกที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิวัติ จนได้สมาชิกจากหลากหลายอาชีพ
- สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
- สายทหารเรือ นำโดยน.ต. หลวงสินธุสงครามชัย
- สายทหารบกชั้นยศน้อย นำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม
- และสายนายทหารชั้นยศสูง นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
เมื่อ จัดตั้งขบวนการสำเร็จเป็นรูปร่าง คณะราษฎรได้ประชุมเตรียมการหลายครั้ง แต่ได้ล้มเลิกแผนการบางแผน เช่น การยึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาในวันที่ 16มิถุนายน เนื่องจากประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่าจะปฏิบัติการในรุ่งเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกล กังวล เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนในกรุงเทพ ทำให้สามารถเข้ายึดอำนาจโดยหลีกเลี่ยงการปะทะที่เสียเลือดเนื้อได้ เป้าหมายสำคัญของปฏิบัติการนี้คือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลานั้น
คณะราษฎรสายทหารบก
แถว ที่1 (ยืนจากซ้าย) ร.อ.หลวงเชวงศักดิ์สงคราม ร.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร.อ.หลวงชาญสงคราม ร.ท.ขุนพิพัฒน์สรการ ร.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ร.อ.หลวงพรหมโยธี ร.อ.หลวงกาจสงคราม ร.ท.ขุนปลดปรปักษ์ ร.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ร.ท.ขุนวิมลสรกิจ พ.ต.หลวงวิจักรกลยุทธ ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ ร.อ.ขุนสุจริตรณการ ร.ท.น้อม เกตุนุติ ร.อ.หลวงสวัสดิ์รณรงค์
แถว ที่1 (ยืนจากซ้าย) ร.อ.หลวงเชวงศักดิ์สงคราม ร.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร.อ.หลวงชาญสงคราม ร.ท.ขุนพิพัฒน์สรการ ร.อ.หลวงอดุลเดชจรัส ร.อ.หลวงพรหมโยธี ร.อ.หลวงกาจสงคราม ร.ท.ขุนปลดปรปักษ์ ร.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ร.ท.ขุนวิมลสรกิจ พ.ต.หลวงวิจักรกลยุทธ ร.ท.ทวน วิชัยขัทคะ ร.อ.ขุนสุจริตรณการ ร.ท.น้อม เกตุนุติ ร.อ.หลวงสวัสดิ์รณรงค์
แถวที่ 2 (นั่งจากซ้าย)
พ.ต.หลวง อำนวยสงคราม ร.อ.หลวงทัศไนยนิยมศึก พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ ร.อ.หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต พ.ต.หลวงสฤษฎิ์ยุทธศิลป์
แถวที่3 (นั่งพื้นจากซ้าย) ร.ท.ขุนจำนงภูมิเวท ร.ท.ขุนนิรันดรชัย ร.ท.ขุนเรืองวีรยุทธ์ ร.ท.ขุนศรีศรากร ร.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย ร.ท.ไชย ประทีปะเสน ร.ต.จำรูญ จิตรลักษณ์ ร.ต.สมาน เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร.ต.อุดม พุทธิเกษตริน
สี่ทหารเสือคณะราษฎร (จากซ้าย) พ.อ.พระยาทรงสุรเดช พ.ท.พระประศาสน์พิทยายุทธ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ( หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)
ย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475
ย่ำ รุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้นำทหารบกและทหารเรือประมาณ 2,000 ชีวิต มารวมตัวกันรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือนประกาศยึดอำนาจการปกครองก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร ด้านสนามเสือป่า ดังปรากฎในทุกวันนี้มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่บนพื้นถนน เป็นหลักฐานติดตรึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ มีข้อความจารึกว่า
"ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
หมุดทองเหลือง ฝังบนพื้นถนน เคียงข้างพระบรมรูปทรงม้า ณ จุดที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย นับเป็นอนุสรณ์แห่งเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย
คณะราษฎรได้ส่ง น.ต.หลวงศุภชลาศัยไปอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งอยู่ ระหว่างเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อให้เสด็จนิวัติพระนคร โดยเสนอให้ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปได้แต่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หากทรงปฏิเสธจะเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อไป พระองค์ได้ทรงปรึกษากับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ที่ตามเสด็จและได้ตัดสินพระทัยตกลงตามเงื่อนไขของคณะราษฎร
เมื่อเสด็จกลับถึงวังศุโขทัย เช้าวันรุ่งขึ้น ผู้แทนคณะราษฎร 7 คน ได้เดินทางนำเอกสารสำคัญไปกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ธรรมนูญ การปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ นับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ ที่เป็นหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของราษฎร ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตราแรกว่า
"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย"
--------------------------------
ประกาศคณะราษฎร
ราษฎรทั้งหลาย
เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่ากษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้างและการซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้
การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อ ราษฎรตามที่ รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร จะเห็นได้ว่า ภาษีอากรที่บีบคั้นเอาจากราษฎรนั้น กษัตริย์ได้หักเอาไว้ใช้ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้าน ส่วนราษฎรสิ กว่าจะหาได้แม้แต่เล็กน้อย เลือดตาแทบกระเด็น ถึงคราวเสียเงินราชการหรือภาษีใดๆ ถ้าไม่มีเงินรัฐบาลก็ยึดทรัพย์หรือใช้งานโยธา แต่พวกเจ้ากลับนอนกินกันเป็นสุข ไม่มีประเทศใดในโลกจะให้เงินเจ้ามากเช่นนี้ นอกจากพระเจ้าซาร์และพระเจ้าไกเซอร์เยอรมัน ซึ่งชนชาตินั้นก็ได้โค่นราชบัลลังก์ลงเสียแล้ว
รัฐบาลของกษัตริย์ได้ปกครองอย่างหลอกลวงไม่ซื่อตรงต่อราษฎร มีเป็นต้นว่าหลอกว่าจะบำรุงการทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ครั้นคอยๆ ก็เหลวไป หาได้ทำจริงจังไม่ มิหนำซ้ำกล่าวหมิ่นประมาทราษฎรผู้มีบุญคุณเสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้กิน ว่าราษฎรยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ เพราะราษฎรโง่ คำพูดของรัฐบาลเช่นนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าราษฎรโง่ เจ้าก็โง่เพราะเป็นคนชาติเดียวกัน ที่ราษฎรรู้ไม่ถึงเจ้านั้นเป็นเพราะขาดการศึกษาที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้ เรียนเต็มที่ เพราะเกรงว่าเมื่อราษฎรได้มีการศึกษา ก็จะรู้ความชั่วร้ายที่พวกเจ้าทำไว้ และคงจะไม่ยอมให้เจ้าทำนาบนหลังคนอีกต่อไป
ราษฎรทั้งหลายพึง รู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบและกวาดทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎรเพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัดฝืดเคือง ชาวนาและพ่อแม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง รัฐบาลไล่คนงานออกอย่างเกลื่อนกลาด นักเรียนที่เรียนสำเร็จแล้วและทหารที่ปลดกองหนุนแล้วก็ไม่มีงานทำ จะต้องอดอยากไปตามยถากรรม เหล่านี้เป็นผลของกษัตริย์เหนือกฎหมาย บีบคั้นข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน เมื่อให้ออกจากงานแล้วก็ไม่ให้เบี้ยบำนาญ ความจริงควรเอาเงินที่พวกเจ้ากวาดรวบรวมไว้มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรที่สนองคุณราษฎรซึ่งได้เสียภาษีอากรให้พวกเจ้าได้ร่ำรวยมานาน แต่พวกเจ้าก็หาได้ทำอย่างใดไม่ คงสูบเลือดกันเรื่อยไป เงินเหลือเท่าไหร่ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนีเมื่อบ้านเมืองทรุดโทรม ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การเหล่านี้ย่อมชั่วร้าย
เหตุฉะนั้น ราษฎร ข้าราชการ ทหาร และพลเรือน ที่รู้เท่าถึงการกระทำอันชั่วร้ายของรัฐบาลดังกล่าวแล้ว จึงรวมกำลังตั้งเป็นคณะราษฎรขึ้น และได้ยึดอำนาจของกษัตริย์ไว้ได้แล้ว คณะราษฎรเห็นว่าการที่จะแก้ความชั่วร้ายนี้ได้ก็โดยที่จะต้องจัดการปกครอง โดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลายๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว ส่วนผู้เป็นประมุขของประเทศนั้น คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจ ลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา ตามวิธีนี้ราษฎรพึงหวังเถิดว่าราษฎรจะได้รับความบำรุงอย่างดีที่สุด ทุกๆ คนจะมีงานทำ เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่อุดมอยู่แล้วตามสภาพ เมื่อเราได้ยึดเงินที่พวกเจ้ารวบรวมไว้จากการทำนาบนหลังคนตั้งหลายร้อยล้าน มาบำรุงประเทศขึ้นแล้ว ประเทศจะต้องเฟื่องฟูขึ้นเป็นแม่นมั่น การปกครองซึ่งคณะราษฎรจะพึงกระทำก็คือ จำต้องวางโครงการอาศัยหลักวิชา ไม่ทำไปเหมือนคนตาบอด เช่นรัฐบาลที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายทำมาแล้ว เป็นหลักใหญ่ๆ ที่คณะราษฎรวางไว้ มีอยู่ว่า
๑.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
๒.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
๓.ต้อง บำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
๔.จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)
๕.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
๖.จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ราษฎร ทั้งหลายจงพร้อมใจกันช่วยคณะราษฎรให้ทำกิจอันจะคงอยู่ชั่วดินฟ้านี้ ให้สำเร็จ คณะราษฎรขอให้ทุกคนที่มิได้ร่วมมือเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลกษัตริย์เหนือ กฎหมายพึงตั้งตนอยู่ในความสงบและตั้งหน้าทำมาหากิน อย่าทำการใดๆ อันเป็นการขัดขวางต่อคณะราษฎร การที่ราษฎรช่วยคณะราษฎรนี้ เท่ากับราษฎรช่วยประเทศและช่วยตัวราษฎร บุตร หลาน เหลน ของตนเอง ประเทศจะมีความเป็นเอกราชอย่างพร้อมบริบูรณ์ ราษฎรจะได้รับความปลอดภัย ทุกคนจะต้องมีงานทำไม่ต้องอดตาย ทุกคนจะมีสิทธิเสมอกัน และมีเสรีภาพพ้นจากการเป็นไพร่ เป็นข้า เป็นทาสพวกเจ้า หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า “ศรีอาริยะ” นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า
คณะราษฎร
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕