ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 24 July 2011

รัฐนาวา"ปู1" พิสูจน์"แม้วคิด"?

ที่มา ข่าวสด


บรรยากาศการเมืองผ่อนคลายทันที หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นส.ส.เต็มตัว

สอดรับกับอารมณ์คนส่วนใหญ่ที่สะท้อนความคิดเห็นผ่านเอแบคโพล กว่าร้อยละ 80 อยากให้โอกาสน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย

และกว่าร้อยละ 71 ที่รู้สึกงง สงสัย ไม่ชอบ ไม่พอใจ หลังจากที่ กกต.กักชื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เอาไว้ในการประกาศรับรองส.ส.ล็อตแรก

ทั้งยังเกรงกลัวไปไกลว่าถ้าหาก กกต.ไม่รับรองทั้ง 2 คน อาจเกิดปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในระดับมากถึงมากที่สุด

ดังนั้น จึงไม่แปลกเมื่อรู้ข่าวการพิจารณา "ขยักสอง" กกต.ยอมปล่อยทั้ง "ยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์" เข้าสภาไปก่อน ส่วนจะมีประเด็นให้ต้องตามสอยกันทีหลังหรือไม่ ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป แต่เท่านี้ก็ทำให้หลายคนถอนใจด้วยความโล่งอก

ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงจะพ้นบ่วง กกต.มาได้ แต่ไม่ได้แสดงอาการดีใจจนออกนอกหน้า เพราะยังต้องเกรงใจว่าที่ส.ส.ของพรรคอีกจำนวนมากที่ยังโดนกักอยู่ ยังไม่ทราบชะตากรรม

โดยเฉพาะในส่วนแกนนำคนเสื้อแดง ที่ในการพิจารณารับรอง "ขยักสาม" กกต.ยอมปล่อยออกมาก่อนแค่ 8 คน อาทิ น.พ.เหวง โตจิราการ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายวิเชียร ขาวขำ เป็นต้น

ขณะที่ยังเหลืออีก 4 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นแกนนำคนสำคัญ คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายพายัพ ปั้นเกตุ และนายการุณ โหสกุล ยังต้องลุ้นต่อ "ขยักสี่"

ในจังหวะเวลาที่เริ่มกระชั้นเข้ามา กกต.เหลือเวลาอีกแค่ 1 สัปดาห์ที่จะพิจารณารับรองส.ส.ให้ครบร้อยละ 95 หรือ 475 คน ให้สามารถเปิดประชุมสภาสมัยสามัญได้ทันตามกำหนด 30 วันหลังเลือกตั้ง

เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าตามระบบต่อไปได้



ตามหลักการนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า

หลังจาก กกต.ดำเนินการรับรองส.ส.ครบตามจำนวนที่กำหนดแล้ว ก็จะมีการเปิดประชุมสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อเลือกได้แล้วประธานจะเป็นผู้กำหนดวันประชุมสมาชิกนัดประวัติศาสตร์ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก่อนเข้าสู่กระบวนการที่ประธานสภาจะนำชื่อผู้ได้รับโหวตเป็นนายกฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นทางการ

จากนั้นจึงจะถึงขั้นตอนการฟอร์มคณะรัฐบาล จัดวางคนลงในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญเช่นกัน เนื่องจากการกำหนดโฉมหน้าบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง

นอกจากจะเป็นเครื่องวัดกระแสศรัทธาประชาชนต่อรัฐบาลแล้ว พรรคแกนนำจะต้องจัดสรรผลประโยชน์อำนาจทั้งในส่วนของพรรคตนเองและพรรคร่วม รัฐบาลอย่างสมดุล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพในอนาคต

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องปกติทางการเมืองภายใต้ความเป็น "รัฐบาลผสม" ประกอบไปด้วย 5-6 พรรคการเมือง ที่การจัดแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถจัดทำให้ลงตัวได้ด้วยสูตรคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว

อีกทั้งการที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ มีส.ส.มากกว่า 260 คน ยิ่งทำให้การจัดแบ่งผลประโยชน์ภายในมีความสลับซับซ้อนยุ่งยากมากกว่าพรรค เล็กที่มีส.ส.ไม่กี่เสียง

นอกจากนี้จุดที่ใครต่อใครหลายคนจับตามองไม่ว่าจะด้วยความเป็นห่วง หรือต้องจับผิดก็แล้วแต่ คือบทบาทครอบงำของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อการจัดทำโผ ครม."ยิ่งลักษณ์ 1"

เพราะถึงเจ้าตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์จะปฏิเสธหลายครั้งว่า การจัดโผ ครม.ทำกันในเมืองไทย โดยผ่านการพิจารณากลั่นกรองของคณะผู้บริหารพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ

แต่การปฏิเสธของว่าที่นายกฯ หญิง กลับสวนทางกับกระแสข่าวที่ออกมาตลอดเช่นกันว่า มีสมาชิกหลายคนในพรรคพยายามต่อสายตรงถึงพ.ต.ท.ทักษิณ และคนใกล้ชิดระดับเครือญาติ

เพื่อทวงบุญคุณวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งกันจนฝุ่นตลบทั้งพรรค



ข่าวคราวความคืบหน้าในการจัดตั้ง ครม.ยิ่งลักษณ์ 1 ที่มีชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาพัวพัน

ทำให้ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจว่าจะเป็นจริงในทางปฏิบัติหรือเป็นแค่ข่าวปล่อย ให้ฟังดูดีเท่านั้น ต่อกรณีที่มีข่าวออกมาก่อนหน้าว่าพ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้ภาพลักษณ์รัฐนาวา "ยิ่งลักษณ์ 1" วางน้ำหนักไปที่ประสิทธิภาพการทำงาน

เพื่อให้เข้ามาดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ หลักๆ คือการนำความสมานฉันท์ปรองดองเข้ามาแทนที่ความขัดแย้งแตกแยกภายในสังคมไทย แก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว

อีกทั้งโฉมหน้ารัฐมนตรีที่ออกมาสังคมต้องให้การยอมรับ อย่างน้อยเสียงร้อง "ฮ่อ" ต้องดังกว่าเสียงร้อง "ยี้" มากกว่าเน้นการจัดเก้าอี้รัฐมนตรีในลักษณะ "ต่างตอบแทน" ให้ใครคนใดคนหนึ่ง

ถึงประชาชนมากกว่าร้อยละ 80 จะยืนยันผ่านโพลว่าอยากเห็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี และไม่พอใจ กกต.ที่ไม่ยอมประกาศรับรองผลให้เป็นส.ส. แม้ในที่สุดจะประกาศรับรองไปแล้วก็ตาม

แต่สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในตัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังการเลือกตั้ง

เป็นความนิยมทั้งที่หลายคนยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่านโยบายต่างๆ ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทยเคยประกาศไว้ตอนหาเสียง

ไม่ว่าปรับขึ้นค่าแรงรายวัน 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท เลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แจกแท็บเล็ตให้เด็กนักเรียน บัตรเครดิตเกษตรกร ฯลฯ เหล่านี้จะทำได้จริงหรือไม่

กระแสสนับสนุนจากประชาชนท่วมท้นเช่นนี้ เป็นโอกาสทองที่นักการเมืองน้อยคนจะได้รับ

จากนี้ไปขึ้นอยู่กับว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะนำโอกาสทองที่ประชาชนมอบให้นี้ไปใช้อย่างไร