ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 23 July 2011

คนเชียงดาวโวยเมื่อรัฐผุดโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน (ตอน 1)

ที่มา ประชาไท

ชาวบ้านเชียงดาวโวยรัฐแอบงุบงิบเดินหน้าโครงการสร้างเขื่อนกั้น แม่น้ำปิงตอนบน หวั่นส่งผลกระทบคนในพื้นที่ ทำลายผืนป่าต้นน้ำและชั้น 1A พร้อมตั้งข้อสังเกตความไม่ชอบมาพากลของโครงการ

เป็นที่รับรู้ว่า พื้นที่อำเภอเชียงดาวนั้นเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำปิง แม่น้ำสำคัญสายหนึ่งของประเทศไทย ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนตามลุ่มน้ำกันมาช้านาน อีกทั้งพื้นที่แถบนี้ยังถือเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อีก แห่งหนึ่งด้วย

แต่จู่ๆ ไม่นานมานี้ ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการสำรวจในพื้นที่รอบๆ ลำน้ำแม่ปิงตอนบน บริเวณบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้สร้างความสงสัยต่อชาวบ้านในพื้นที่ ว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เข้ามาทำไมและหวังผลประโยชน์อะไรหรือไม่

ในขณะที่เริ่มมีกระแสข่าวหนาหูขึ้นทุกที ว่ารัฐกำลังจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน

กระทั่ง ชาวบ้านสืบทราบมาว่า ข้อมูลดังกล่าวนั้นเป็นความจริง จึงพากันหวาดวิตก เมื่อรู้ว่า รัฐโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ซึ่งมีขนาดความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ1,500 ไร่ ตัวเขื่อนสูงประมาณ 62.0 เมตร ยาวประมาณ 500เมตร

พอรู้ว่าขนาดความจุของการเก็บกักน้ำขนาดนี้ ยิ่งทำให้ชาวบ้านตกใจ

ว่านี่มันไม่ใช่อ่างเก็บน้ำ แต่มันคือเขื่อน!!

หลังจากนั้น ชาวบ้านโป่งอางต่างพากันประชุมหารือกันอย่างเคร่งเครียด ก่อนมีมติร่วมกันออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงในพื้นที่ชุมชนของ ตนเอง เพราะทุกคนเชื่อแน่นอนว่า หากมีการสร้างขึ้นจริง จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทำลายพื้นที่ป่าในเนื้อที่มหาศาลอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้

และนี่คือที่มาของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากแล้ว เขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน

กรมชลฯอ้างสาเหตุต้องสร้างด้วยวลีเด็ด ‘เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง’

จากเอกสารประกอบโครงการ ของกรมชลประทาน ระบุถึงที่มาของแนวคิดของโครงการนี้ เกิดขึ้นหลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี 2548 โดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ โดยให้สำนักนโยบายและแผน ว่าจ้าง 3 บริษัทในการดำเนินการ ได้แก่ บริษัทพีแอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทพิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัทธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งชาวบ้านพอสรุปเหตุผลของการสร้างเอาไว้ดังนี้

1.กรมชลประทาน มองว่า ที่ผ่านมาแม่น้ำปิงได้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างหนัก

2.กรมชลประทาน มองว่า ลุ่มน้ำแม่ปิงนั้นเกิดปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน และเคยประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชนหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2538 และปี พ.ศ. 2548 เกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว ตัวเมืองเชียงใหม่

3.กรมชลประทาน มองว่า การเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อเกิดผลเสียหายต่อทรัพย์สินราชการ ภาคเอกชน และราษฎร สร้างความหายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาการแก้ไขปัญหาปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ แม่ปิงตอนบน และเข้ามาทำการศึกษา ความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำในเขตลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน

ตามการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสมโครงการฯดังกล่าว จึงนำมาสู่การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ซึ่งทางกรมชลประทานมองว่า เป็นแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในระดับลุ่มน้ำ (ศักยภาพในที่นี้หมายถึง สร้างโครงการแหล่งน้ำขนาดกลาง ซึ่งมองว่า มีความจุเพียงพอกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน)

ผุดโครงการอ่าง (เขื่อน)เก็บน้ำแม่ปิงตอนบน

จากการศึกษาเบื้องต้น โดยสำนักชลประทานที่ 1 ร่วมกับสำนักบริหารโครงการ จึงดันโครงการขึ้นมา โดยมี ที่ตั้งโครงการฯ ตั้งอยู่ ม. 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุขนาด /ความจุ ของอ่างเก็บน้ำที่มีความจุอ่างเก็บน้ำระดับเก็บกักประมาณ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างระดับน้ำสูงสุด ประมาณ 1,500 ไร่ และตัวเขื่อนสูงประมาณ 62.0 เมตร ยาวประมาณ 500เมตร

ข้อมูลโครงการระบุชัดเจนว่า พื้นที่โครงการนั้น ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง (เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว) เขตป่าอนุรักษ์ ที่เรียกว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A (สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญ)

ข้อมูลโครงการระบุชัดเจนว่า ระยะทางการสร้างเขื่อนห่างจากหมู่บ้านเพียง 1 กม.

ชาวบ้านในพื้นที่สรุปข้อสังเกตเบื้องต้น สร้างเขื่อนทำไมและเพื่อใคร?!

-เหตุผลและที่มาของโครงการฯ นั้นเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาในเขตเมืองเป็นหลัก โดยเฉพาะหากเกิดโครงการฯนี้ขึ้นมา จะนำไปสู่การลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และจะทำให้รายได้ เศรษฐกิจ จากการท่องเที่ยวดีขึ้น(มาก) ในขณะที่คนในพื้นที่กลับไม่ได้เอ่ยถึงและไม่ได้ให้ความสนใจว่าจะได้รับผล กระทบมากน้อยเพียงใด?!

-ผู้รับประโยชน์โครงการฯอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงท้ายน้ำ

-ความจุของอ่าง ความสูง และความยาว ตามเอกสาร หากตรวจสอบข้อมูลจากกรณีการสร้างเขื่อนพื้นที่อื่นๆ เช่น แก่งเสือเต้น เมืองคอง ห้วยไคร้ (เวียงแหง) พบว่า ล้วนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งสิ้น แต่กรมชลประทานมักระบุไว้ในเอกสารว่าเป็น อ่างเก็บน้ำ เหมือนการพรางตัว หลอกชาวบ้านไม่ให้หวั่นวิตกหรือออกมาคัดค้านหรือไม่?!

-การใช้ชื่อเรียก ในเอกสารประกอบการประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา บางคำในเอกสารใช้เรียกว่า “อ่าง” บางคำเรียกว่า “เขื่อน” ซึ่งยิ่งสร้างความสับสน ความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้มากยิ่งขึ้น

-การก่อสร้างดำเนินการในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งถือว่าเป็นสภาพป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญ ฉะนั้น การดำเนินการใดๆ ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับวันที่ 16 มิ.ย.2552 และประกาศลงในราชกิจจานุบกษา วันที่ 31 สิงหาคม 2552 และ มติครม.วันที่ 1 สิงหาคม 2543 ก็ระบุชัดเจนว่า โครงการฯที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่ มีความสำคัญระดับชาติและระดับนานาชาติ

นี่คือสิ่งที่ชาวบ้านคนในพื้นที่กำลังวิตกกังวล และตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามกับรัฐ โดยกรมชลประทาน ที่ยังคงเดินหน้าจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปิงตอนบน ที่เชียงดาว!!