ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 29 July 2011

ศาลไฟเขียวเลิกจ้างพร้อมปรับ15ล้านผู้นำม็อบหยุดเดินรถไฟ เผยเพิ่งผนึกมือสมศักดิ์ โกฯหักพันธมิตร

ที่มา Thai E-News


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
29 กรกฎาคม 2554

ศาลแรงงานให้รฟท.เลิกจ้างสาวิทย์ อดีตแกนนำพธม.รุ่น2พร้อมให้ปรับ15ล้าน

ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เลิกจ้าง "สาวิทย์ แก้วหวาน" ปธ.สหภาพฯ กับพวกรวม 7 คน กรณีเป็นหัวโจกอ้างเหตุรถไฟตกรางที่เขาเต่าเมื่อปี 52 นำ พนง.สไตรก์หยุดเดินรถไฟ พร้อมสั่งให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย รฟท. 15 ล้าน...

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.ค. ที่ศาลแรงงานกลาง ถนนพระราม 4 ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นโจทก์ฟ้องนายภิญโญ เรือนเพชร นายบรรจง บุญเนตร์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย นายธารา แสวงธรรม นายเหลี่ยม โมกงาน นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ เป็นจำเลยที่ 1-7 ขณะที่จำเลยอื่นมีตำแหน่งเป็นกรรมการสหภาพฯ ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ม.23(2) และ ม.33

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในรัฐ วิสาหกิจ และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา โดยจำเลยทั้ง 7 กับพวกร่วมกันยุยง ชักชวนให้พนักงานขับรถและพนักงานช่างเครื่องของโจทก์ทั่วประเทศ รวมทั้งโรงรถจักรหาดใหญ่หยุดการปฏิบัติหน้าที่ขับขบวนรถไฟเพื่อขนส่งผู้ โดยสารและสินค้า และไม่ยินยอมให้โจทก์นำหัวรถจักรออกใช้งาน โดยอ้างว่าหัวรถจักรของโจทก์ชำรุดไม่ปลอดภัยแก่พนักงานขับรถและพนักงานช่าง เครื่องที่จะใช้ลากจูงขบวนรถไฟและบรรทุกสินค้าอันเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้พนักงานขับรถและพนักงานช่างเครื่องของโจทก์หลงเชื่อ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่มาใช้บริการและทำให้ โจทก์ได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังร่วมกันปราศรัย ณ ที่ทำการสำนักงานใหญ่ เพื่อขับไล่และเรียกร้องให้รัฐบาลปลดผู้ว่าการรถไฟฯ อันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งถือเป็นความผิดชัดแจ้ง โจทก์สามารถลงโทษไล่จำเลยทั้ง 7 ออกโดยไม่ต้องมีการสอบสวน และยังเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา จึงขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้ง 7 โดยให้ไล่ออกจากงานและให้จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ศาลวินิจฉัยแล้วรับฟังได้ว่า กรณีสืบเนื่องจากขบวนรถด่วนของโจทก์ตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 52 สหภาพฯรถไฟ โดยกรรมการสหภาพฯ มีความเห็นว่าเหตุที่ขบวนรถด่วนดังกล่าวตกรางเนื่องจากอุปกรณ์ระบบเดดแมนและ ระบบวิจิแลนซ์ในหัวรถจักรชำรุดใช้การไม่ได้ จำเลยทั้ง 7 จึงร่วมกันรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานให้ตรวจสอบอุปกรณ์ ดังกล่าว แต่เป็นเหตุให้พนักงานขับรถและพนักงานช่างเครื่องบางคนไม่ยอมนำหัวรถจักรไป นำขบวน ทำให้โจทก์ไม่มีรถไฟออกรับส่งผู้โดยสารและสินค้า

ต่อมาศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้สหภาพฯกับพวกขัดขวาง และให้มีการเดินขบวนรถไฟตามปกติ โจทก์จึงนำหัวรถจักรไปนำขบวนได้ ปรากฏว่าแม้หัวรถจักรที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวชำรุดเสียหายยังสามารถนำไปทำขบวน ได้เพราะเป็นเพียงอุปกรณ์เสริม มิใช่อุปกรณ์หลักที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินรถ และปรากฏว่าไม่เคยเกิดอุบัติเหตุตามที่จำเลยทั้ง 7 กล่าวอ้าง การที่จำเลยทั้ง 7 รณรงค์เรื่องความปลอดภัยของพนักงานขับรถและช่างเครื่อง จนเป็นเหตุให้พนักงานของโจทก์บางคนหยุดปฏิบัติหน้าที่นำรถไฟออกให้บริการ ประชาชน โดยเฉพาะการเดินรถใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นการยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถและช่างเครื่องและพนักงานอื่นของโจทก์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการจงใจทำให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการละทิ้ง หน้าที่ในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ตามข้อบังคับของโจทก์ กรณีมีเหตุที่ศาลแรงงานกลางจะอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้ง 7 ตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจฯ ม.24(2) พิพากษาว่าอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้ง 7 และให้จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

นายสาวิทย์ กล่าวหลังศาลมีคำพิพากษาว่า จะดำเนินการยื่นอุธรณ์ต่อศาลภายในเวลา 15 วัน นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งต่อไป

สหภาพรถไฟฯ ออกแถลงการณ์จะสู้คดีถึงที่สุด จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถไฟ

ขณะที่ในเว็บไซต์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ "จุดยืนในการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน และคนงานรถไฟ" โดยมีรายละเอียดดังนี้

คำแถลงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย
เรื่อง จุดยืนในการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน และคนงานรถไฟ

จากกรณีที่ขบวนรถด่วนที่ 84 เกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทางสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) เห็นว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของอุปกรณ์บนรถจักร จึงได้มีการรณรงค์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ประสงค์ต้องการให้การรถไฟฯปรับปรุง ซ่อมบำรุงอุปกรณ์ รถจักรและรถพ่วง รวมทั้งระบบป้องกันพนักงานขับรถหมดสติ (Vigilance) ก่อนที่จะนำรถจักรออกไปทำขบวนทุกครั้ง ซึ่งกรณีนี้ สร.รฟท.ได้ยื่นข้อเรียกร้อง และได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กับการรถไฟฯอย่างชัดเจนไว้แล้ว และให้สมาชิกถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ จากการรณรงค์ดังกล่าวเป็นเหตุให้การรถไฟฯมีคำสั่งลงโทษกรรมการสหภาพฯสาขา หาดใหญ่จำนวน 6 คนโดยไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ขออนุญาตเลิกจ้างกรรมการบริหาร สร.รฟท.จำนวน 7 คน (คดีหมายเลขดำที่ 6977/2552,7002/2552 และ 7140/2552)

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 เวลา 13.30 น. ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาว่า อนุญาตให้การรถไฟฯเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท.ทั้ง 7 คน และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสิบห้าล้านบาท จาก คำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ทาง สร.รฟท.ขอน้อมรับในคำตัดสินของศาล ทั้งนี้เราจะยืนหยัดต่อสู้ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงแต่ประการใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม คดียังไม่ถึงที่สุด สร.รฟท.ขอให้พี่น้องมวลสมาชิก และคนงานรถไฟทุกท่าน จงอย่าได้หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องร่วมมือกันยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับสหภาพแรงงาน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟ

จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย

28 กรกฎาคม 2554

เผยสาวิทย์เพิ่งผนึกมือสมศักดิ์ โกฯ ประกาศถอนตัวจากกลุ่มพันธมิตรฯ


เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมานี้"สาวิทย์ แก้วหวาน" เลขาธิการ สรส. ได้ออกหนังสือให้ "สมศักดิ์ โกศัยสุข" ถอนตัวจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อ้างการปราศรัยไม่รักษาจุดยืนเดิม มีการโจมตีบุคคลต่างๆ ที่เคยร่วมต่อสู้ ไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง และสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในลักษณะที่ไม่เป็นไปตาม รธน. ตามอุดมการ์ของ สรส.

26 เมษายน 2554 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประกาศถอนตัวออกจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว หลังจากเข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯมากว่า 5 ปี โดยที่ประชุม สรส. ยังมีมติให้นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ที่ปรึกษา สรส. ถอนตัวจากแกนนารุ่นที่ 1 และ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. ถอนตัวจากแกนนารุ่นที่ 2

ทั้งนี้หนังสือ สรส. ที่ส่งถึง 4 แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ลงนามโดยนายสาวิทย์ แก้วหวานระบุเหตุผลว่า การนำของแกนนำและผู้ปราศรัยบนเวที เป็นไปในลักษณะที่ไม่รักษาจุดยืนเดิม และกล่าวโจมตีต่อบุคคลต่างๆ ที่เคยร่วมต่อสู้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ในลักษณะที่รุนแรงฝ่ายเดียว โดยที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้ชี้แจง รวมทั้งสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองที่เป็นไปในลักษณะที่ ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขัดต่อจุดยืน อุดมการณ์ และธรรมนูญของ สรส.

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า การถอนตัวออกจากกลุ่มพันธมิตรครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นหัวหน้าพรรค มีมติไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งตามคำเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตร ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย