ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 29 June 2011

เปิดตัว My Computer Law ชวนผู้ใช้เน็ตออกแบบพ.ร.บ.คอมเอง

ที่มา ประชาไท

(28 มิถุนายน 2554) เครือข่ายพลเมืองเน็ต, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), และ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการจัดทำ “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับประชาชน” ในชื่อ “My Computer Law” (มายคอมพิวเตอร์ลอว์ - กฎหมายคอมพิวเตอร์ของเราเอง)

โครงการ “My Computer Law” ดังกล่าว จะดำเนินกิจกรรมรณรงค์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต นำความคิดเห็นมาประมวลหาหลักการร่วม ทำงานร่วมกับนักกฎหมายและนักเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การเสนอร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของ สภาผู้แทนราษฎร โดยวิธีรวบรวมรายชื่อ 10,000 คน ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163

โดยเชิญชวนประชาชนทุกคน ให้เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ MyComputerLaw.in.th, เฟซบุ๊ค www.facebook.com/MyComputerLaw ทวิตเตอร์ twitter.com/MyComputerLaw และ ติดตามปฏิทินกิจกรรมออฟไลน์ได้ทางเว็บไซต์ด้วย โดยทางโครงการมีแผนการจะจัดกิจกรรมรณรงค์การมีส่วนร่วมครั้งนี้ในจังหวัด ต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วย โดยกำหนดการการเดินทางจะประกาศให้ทราบทางหน้าเว็บไซต์ต่อไป

โครงการ “My Computer Law” ดังกล่าว จะทำกิจกรรมรณรงค์ แบ่งเป็น 3 ช่วง ในระยะเวลาเบื้องต้น เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2554

ช่วงที่ 1 – แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยทำกิจกรรมทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ในจังหวัดต่าง ๆ → นำมาสรุป ได้เป็น “คำประกาศผู้ใช้เน็ต”
ช่วงที่ 2 – เขียนตัวกฎหมาย โดยยึดคำประกาศฯ เป็นหลักการ → ได้ “ร่างพ.ร.บ.คอมฯ ฉบับประชาชน”
ช่วงที่ 3 – รวบรวมรายชื่อของผู้สนับสนุน 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า กฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เกี่ยวข้องกับการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันของ ทุกคนอย่างมาก แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ไม่ใช่ว่าจะ ไม่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะการใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น การส่งข้อความSMS ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนี้ด้วย ดั่งที่เคยมีตัวอย่างว่าคนส่ง SMS ก็ถูกจับติดคุกตามพ.ร.บ.คอมนี้ได้

ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ข้อกังวลคือมีการปิดเว็บไซด์จำนวนมาก จนอาจขาดความโปร่งใส การลงโทษตัวกลาง เช่น เว็บมาสเตอร์ และอัตราโทษซึ่งอาจจะมากเกินความจำเป็น ซึ่งกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในแง่ของสิทธิการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจพ.ร.บ.นี้ บางครั้งจึงตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัว วัตถุประสงค์ของเราจึงต้องการทำกิจกรรมให้ความรู้ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย และรับฟังเสียงของประชาชนว่าคิดอย่างไร ต้องการแก้ไขอย่างไร

ในวันดังกล่าวยังมีกิจกรรมรณรงค์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยการแต่งกายที่มีข้อความว่า "คนใช้เน็ตคิดเองได้" เพื่อแสดงจุดยืนต้องการให้ประชาชนที่ได้รับผลโดยตรงจากกฎหมาย ได้ออกแบบกฎหมายของตัวเอง และรณรงค์ภายใต้หัวข้อ "เจ้าของคอมทุกเครื่อง เป็นเจ้าของเรื่อง พ.ร.บ.คอม" เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของกฎหมายฉบับนี้

สำหรับผู้สนใจจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ภายในกลุ่ม สมาคม หรือท้องถิ่นของตัวเอง สามารถติดต่อโครงการเพื่อประสานงานได้ที่อีเมล info@mycomputerlaw.in.th

ที่มา: http://ilaw.or.th/node/1055