หลังจากพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายให้เกษตรกรมีบัตรเครดิต ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีความเห็นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย ผลสำรวจความคิดเห็นออกมาว่านโยบายนี้ “โดนใจ ชาวรากหญ้าสุด ๆ” แต่ในทางตรงข้ามก็เกิดกระแสความเป็นห่วงเป็นใยในโลกอินเตอร์เนท สำหรับนโยบายนี้ที่จะสร้างหนี้ และภาระความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ชาวนา ซึ่งโยงใยมาสู่ปัญหาที่จะกระทบต่อคนเมืองด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับการส่งต่อเมล์ (forward mail) ที่ให้เหตุผล ลำดับความได้อย่างสอดคล้องต่อความเชื่อ (stereotype) ของสังคมไทย แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกครั้ง คาดการณ์ว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งมามากที่สุดเมล์ฉบับนั้น กล่าวถึงนโยบาย “ให้เกษตรกรมีบัตรเครดิต” ว่า จะสร้างปัญหายุ่งยากต่าง ๆ ตามมา โดยให้เหตุผลว่า เกษตรกรมีหนี้สินมากอยู่แล้วเพราะขาดวินัยทางการเงิน การนำเงินไปให้ในรูปของเครดิตจะทำให้เกษตรกรใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยด้วย เหตุผล 2 ประการ ได้แก่
ประการแรก คนเหล่านี้ไม่เคยมีเงิน และอยากที่จะได้ทรัพย์สินสิ่งของเครื่องอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับคนเมือง แต่ไม่สามารถมีเงินซื้อหาได้ ทำให้เก็บกดความต้องการนี้ไว้ เมื่อมีบัตรเครดิตก็จะใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งคิด ประการที่สอง พวกเขาและเธอมักจะคิดว่า “กู้ไปเถอะ ใช้ไปเถอะ แล้วหลังจากนั้นรัฐบาลก็จะยกหนี้ให้” เหตุผลทั้งสองประการนี้ทำให้เกิดความเป็นห่วงเป็นใยถึงนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่จะทำให้คนชนบท เป็นหนี้สินเพิ่มมากขึ้น และคาดการณ์ต่อไปว่า จะนำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน กลายเป็นลูกจ้างในที่ดินของตนเอง แล้วก็จะไปบุกรุกป่า อพยพเข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในเมืองหลวง สร้างปัญหาสังคม และปัญหายาเสพติดตามมา และสรุปปัญหาทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมาว่าเป็นเพราะ “ปัญหาต้นตอคือตัวเอง เกษตรกรเรานั้นเองที่ยังขาดความรู้” (ธนชัย โกศิรสันต์, เมล์ส่งต่อ) ซ้ำร้ายคนที่ผมรู้จักที่ทำงานกับชนบท เคยสัมผัสใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านก็แสดงความเห็นคล้อยตามต่อทัศนะดังกล่าว
ผมรู้สึกขัดแย้งรุนแรงกับความเป็นห่วงเป็นใยนี้อย่างมาก เพราะลึก ๆ แล้วผมคิดว่าไม่ใช่ความห่วงใย แต่เป็นมุมมองในทางลบ การกันแยกคนชนบท เกษตรกร ออกไปจากคนปกติทั่วไป ที่จะสามารถคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้เฉกเช่นที่สามัญชนทั่วไป ทัศนะที่มีต่อคนชนบท เกษตรกร ในลักษณะที่เขาและเธอไม่เท่าทัน ไม่มีความรู้ และไม่ฉลาดพอ ควรจะยุติล้มเลิกไปนานแล้ว แต่กลับยังคงฝังแน่นในความรู้สึกของคนเมือง พร้อมๆ ไปกับการยกตนเองขึ้นมามีสถานะความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่า สามารถมีอะไรๆ ได้มากกว่า เท่าทัน และถูกต้องชอบธรรมกว่าเสมอๆ คนเมืองสามารถมีบัตรเครดิตได้ก็เพราะมีความรู้ เท่าทัน และรู้จักใช้ประโยชน์ แต่คนชนบท เกษตรกรนั้นยังไม่สมควรมีใช้ เพราะจะสร้างปัญหา และปัญหาเหล่านั้นก็จะมากระทบ เบียดบังถึงคนเมืองจากการอพยพเข้ามาทำงานสร้างปัญหาสังคม
ในข้อเท็จจริงหนี้สินภาคการเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นเป็นปัญหาเชิง โครงสร้างของระบบราคาพืชผลการเกษตร และการทำการเกษตรแบบที่ต้องพึ่งปุ๋ย สารเคมี สภาพดินฟ้าอากาศ และภาระค่าใช้จ่ายในสังคมสมัยใหม่ ไม่ใช่ปัญหาด้านวินัยทางการเงินอย่างที่คนเมืองมักหมิ่นเหยีดคนชนบทว่าไม่พอ เพียง การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2552 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,903 บาท กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดคือกลุ่มนักวิชาชีพ/นักวิชาการ/นักบริหาร มีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 48,745 บาท ส่วนรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือครัวเรือนเกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเอง 17,765 และเกษตรกรทำประมง ล่าสัตว์ หาของป่า 8,818 บาทต่อเดือน
ขณะที่รายจ่ายเฉลี่ยของคนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ จาก 9,848 ในปี 43 เป็น 16,205 บาท ในปี 2552 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2552)
จะเห็นได้ว่ารายได้ของกลุ่มเกษตรกรแทบจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำประมง ล่าสัตว์ หาของป่านั้น รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของคนทั่วไป เมื่อรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แน่นอนว่าหนี้สินย่อมตามมา หนี้ของเกษตรจึงต่างไปจากหนี้ของคนเมือง ความฟุ่มเฟือยย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากความยากจน ไม่มีจะกินยังคงดำรงอยู่ ซึ่งต่างจากหนี้ของคนที่มีรายได้สูงที่มีหนี้สินในสภาวะที่มีเงินเดือน มากกว่าค่าใช้จ่าย
และหากจะกล่าวหาว่าเกษตรกรฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ใช้จ่ายเกินตัว ข้อมูลก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนกลุ่มที่รวยที่สุดที่มีรายได้สูงมีกว่าใช้จ่ายสูงถึงร้อยละ 40 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศ ส่วนคนยากจนที่มีรายได้ต่ำสุดมีค่าใช้จ่ายร้อยละ 9 เท่านั้น (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2553)
ตัวเลขค่าใช้จ่ายเหล่านี้สอดคล้องตัวเลขหนี้สินในปี 2550 คนในเขตเมืองเป็นหนี้ในระบบเฉลี่ยครัวเรือนละ 152,391 บาท ชนบท 89,998 บาท หนี้นอกระบบ 9,077 บาท ชนบท 5,820 บาท ต่อครัวเรือน หนี้ของคนเมืองจึงมีสัดส่วนมากกว่าหนี้ของชนบทร้อยละ 60 กล่าวคือ ครัวเรือนชนบทเป็นหนี้ 100 บาท ครัวเรือนในเมืองจะเป็นหนี้ 160 บาท
เมื่อมาพิจารณาที่สัดส่วนหนี้ในระบบเปรียบเทียบกับหนี้นอกระบบของคนเมือง เท่ากับ 16.7 ต่อ 1 หมายถึงคนเมืองเป็นหนี้ในระบบมากกว่าหนี้นอกระบบถึง 16 เท่าตัว ซึ่งแสดงให้เห็นโอกาสของการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่แตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือคนชนบทมีหนี้ในระบบ 1.5 ต่อ 1 ของหนี้นอกระบบ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำรวจจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ แหล่งเงินกู้ และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม,2550) ซึ่งหมายถึงว่า หนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบของคนชนบทสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
หนี้ในระบบต่างจากหนี้นอกระบบตรงที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า และมีสัญญาที่ถูกควบคุมด้วยกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ และโอกาสการถูกเอารัดเอาเปรียบ ภาระดอกเบี้ย และกลไกการประนอมหนี้ที่มีความแตกต่างกันของคนในเมืองและชนบท โดยคนเมืองมีโอกาสที่ดีมากกว่า
ประการต่อมาที่ผมอยากจะบอกกล่าวให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสชีวิตชนบท หรือแม้เป็นชาวชนบทที่ทิ้งไร่ทิ้งนามาทำงานในเมืองและหลงลืมรากเหง้าของตน เองให้รับทราบว่า หนี้ที่เกิดจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงนั้น เป็นภาระหนักของเกษตรกรที่พวกพ่อค้า เถ้าแก่เงินเชื่อผู้ขายเคมีภัณฑ์ ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยแบบเหมาจ่ายหลังจากเก็บ เกี่ยวผลผลิตซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ต่อระยะเวลา 1 ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งสร้างภาระหนี้สินอย่างมากให้กับเกษตรกร แน่นอนผมไม่เชื่อว่า หากบัตรเครดิตที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยจะเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยที่สูง กว่านี้ เกษตรกรจะไม่สามารถคิดคำนวณได้ว่า เขา-เธอควรจะใช้บริการบัตรเครดิตดังกล่าวหรือไม่ วิธีคิดคำนวณแบบนี้ผมไม่เชื่อด้วยว่าคนเมืองจะสามารถมากกว่า หรือคิดได้ดีกว่า เพราะหากเป็นเช่นนั้นคงไม่มีคนเป็นหนี้บัตรเครดิต ในปี 2541 ที่มีจำนวนบัตรเครดิต 1,906,645 ใบ เพิ่มเป็น 12,003,368 ใบ ในปี 2550 หรือเพิ่มขึ้นราว 10 ล้านใบ ในระยะเวลาเพียง 9 ปี! ยิ่งไปกว่านั้น สินเชื่อคงค้างตั้งแต่ปี 2541-2550 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน
ณ สิ้นปี 2550 มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้น 79,760 ล้านบาท คิดเฉลี่ยเท่ากับ 6,644 บาท ต่อบัตร แต่มูลค่ายอดสินเชื่อคงค้างกลับมีจำนวนมากกว่าคือมีทั้งสิ้น 179,276 ล้านบาท คิดโดยหารด้วยจำนวนบัตรเครดิตทั้งหมดในปี 2550 จำนวน 12,330,369 ใบ จะมียอดคงค้างโดยเฉลี่ยเท่ากับ 14,935 บาทต่อบัตร (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ , 2554) แสดงให้เห็นการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตของคนเมือง ที่บัตรหนี่งใบมีมูลค่าหนี้ที่ไม่ชำระสูงกว่า มูลค่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ซึ่งคงต้องตอบคำถามว่าพฤติกรรมเช่นนี้ชาญฉลาดกว่าคนชนบทตรงไหน?
แต่คนเมืองกลับแสดงความเป็นห่วงเป็นใยเชิงดูแคลนการบริหารจัดการหนี้ของ คนชนบท ที่นโยบายก็ระบุชัดเจนว่าเป็นหนี้บัตรเครดิตที่จะให้กับการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง
และหากจะกล่าวหาว่าคนชนบทเบี้ยวหนี้ ผมก็ขอยกตัวอย่าที่ชี้ให้เห็นว่าคนชนบทนั้นมีวินัยทางการเงินเข้มงวดกว่ามาก นัก ได้แก่กรณี กองทุนหมู่บ้าน ที่ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านฯ 79, 255 กองทุน เป็นเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท มีดอกผลงอกเงย 3 หมื่นล้านบาท ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติกล่าวว่า “เงินกองทุนยังอยู่ในมือชาวบ้านไม่ได้หายไปไหน เพราะชาวบ้านมีวินัยทางการเงินและมีความรับผิดชอบสูง กองทุนทั้งหมดชาวบ้านบริหารกันเอง ด้วยฝีมือผู้บริหารที่จบ ป.4, ป.6 และสูงขึ้นมาหน่อยอาจจะจบ ชั้นมัธยม แต่สามารถบริหารเงินได้ดี เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เบี้ยวหนี้หรือติดค้างชำระ เนื่องจากเขามีความละอาย ใครเป็นหนี้ 2 หมื่นบ้าน รู้กันทั้งหมู่บ้าน ถ้าค้างชำระก็ติดชื่อไว้ที่ศาลาวัด หรือไม่ก็ให้ลูกหลานช่วยทวงถามให้” นอกจากนั้นยังมีกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีความเข้มแข็ง และประสบผลสำเร็จจนสามารถยกฐานะเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้ว 1,149 แห่งทั่วประเทศ (สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง, 2554)
ความสำเร็จของสถาบันการเงินขนาดเล็กที่เรียกว่า “micro finance” ซึ่งเป็นแนวคิดที่นำมาช่วยบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของคนยากจน ซึ่งเกิดขึ้นและสรุปตรงกันทั่วโลกว่า คนยากจน ชาวบ้านนั้น มีวินัยทางการเงิน อันสืบเนื่องมากจาทุนทางสังคม ที่มีความยึดมั่นผูกพันกันเหนียวแน่นในแบบแผนบรรทัดฐานทางสังคม และความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งแตกต่างจากคนเมืองที่แทบจะไม่หลงเหลือทุนทางสังคมเหล่านี้อยู่แล้ว
ข้อมูลนี้คงจะลบล้างความเชื่อที่หมิ่นแคลนคนยากจน เกษตรกร ได้เป็นอย่างดี จากที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้ต้องการสนับสนุน หรือยกชูนโยบายของพรรคเพื่อไทย หากแต่ทนเห็นความเข้าใจผิด การปลูกฝังวิธีคิดแบบกดเหยียดเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ภายใต้ความเป็นห่วงเป็นใย ความปรารถนาดีอย่างล้นเหลือ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เกิดประโยชน์ กลับยิ่งจะสร้างความขัดแย้งชิงชังเพิ่มขึ้นในสังคมไทย
สาระสำคัญที่เราควรเป็นห่วงสำหรับนโยบายนี้ก็คือ ทำอย่างไรให้บัตรเครดิตที่จะออกมานี้มีดอกเบี้ยต่ำ มีเงื่อนไขที่สอดคล้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของเกษตรกร ไม่ขูดรีดเหมือนบัตรเครดิตที่คนเมืองใช้และกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ มาตรการป้องกันการฉวยโอกาสของร้านค้าที่จะบังคับขายปุ๋ย เคมีภัณฑ์ ด้วยราคาเครดิตให้กับบางบริษัทที่มีผลประโยชน์ร่วม หรือขายในราคาเงินเชื่อที่สูงกว่าปกติ, การปลอมปน หลอกลวง และแสวงหาผลกำไรด้วยกลยุทธทางการค้าอื่น ๆ ซึ่งนี่ไม่ได้หมายความว่าคนชนบทจะไม่เท่าทัน แต่สภาพเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วในสังคมเมือง หากแต่ในสังคมเมืองนั้นรัฐมีมาตรการปกป้องคุ้มครอง และให้การช่วยเหลือมากกว่า
หากบทความนี้จะมีข้อมูล ความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง ผู้เขียนก็ขอวิงวอนให้หยุดมองคนชนบทแบบแบ่งแยกในลักษณะที่เป็นสิ่งที่ล้า หลัง ด้อยพัฒนา ไม่เท่าทัน ไม่คู่ควร เมื่อเทียบกับคนเมืองเสียที เพราะเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นไม่มีใครเหนือกว่าหรือฉลาดกว่าใคร อยู่ที่ว่าจะใช้มาตรฐาน คุณค่าแบบใดเข้าไปตัดสิน
ความขัดแย้ง ความสูญเสียที่ผ่านมา เพียงพอที่เราจะได้หันกลับมามองและช่วยกันสร้างระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ทางสังคมที่ไม่แบ่งแยก สร้างความแตกต่าง และเปิดให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างทัดเทียมกันหรือยัง ?
อ้างอิง
- กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, (2554) “หนี้บัตรเครดิต” เข้าถึงได้จาก http://www.bangkokbiznews.com
- สํานักสถิติพยากรณ์, (2554) สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสรุปผลจากการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2550, 2552, 2553 เข้าถึงได้จาก http://www.nso.go.th
- สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, (2554) “กองทุนหมู่บ้านเติบโตอย่างมั่นคง” เข้าถึงได้จาก http://www.villagefund.or.th
- ธนชัย โกศิรสันต์, (2554) “ชาวไร่-ชาวนา ตกเป็นทาส....ด้วยนโยบายพรรคเพื่อไทย...!!!”, เมล์ส่งต่อ