ในฐานะอดีตนักเรียนกฎหมายคนหนึ่ง ผมถึงกับขนลุกซู่ขึ้นมาทันทีเมื่อได้ยินอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับคุณยิ่ง ลักษณ์ ชินวัตรว่าผู้หญิงไม่มีเอกสิทธิในการทำลายกฎหมาย (สามารถหาอ่านบทสัมภาษณ์ได้ในหนังสือพิมพ์หลายแห่งที่ตีพิมพ์วันที่ 7 มิถุนายน 2554) และยังให้เหตุผลต่อไปอีกว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย หากมีการกระทำความผิดขึ้นก็ต้องได้รับโทษอย่างเท่าเทียม หากคุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้ชายตนเองก็จะต่อสู้เฉกเช่นเดียวกัน
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงอย่าง อาจารย์แก้วสรรออกมาป่าวประกาศถึงหลักการของตนเองต่อสาธารณะอย่างห้าวหาญ และหลักการดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความคิดที่จะพยายามสร้างนิติรัฐให้ บังเกิดขึ้น อันหมายถึงรัฐที่มีการปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยตัวบุคคล ดังนั้น จึงควรต้องให้ความสำคัญและไม่ให้ใครมารังแกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผู้ชายหรือผู้หญิง
ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งแต่มีคำถามคาใจอยู่ว่า หลักการนี้ควรจะมีข้อยกเว้นให้กับคณะรัฐประหารด้วยหรือเปล่าครับ
แฟ้มภาพ
การรัฐประหารเป็นการรังแกกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้แม้แต่สามัญชนที่ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายก็คง ตระหนักได้ว่าไม่ใช่เพียงการรังแกเท่านั้น แต่การรัฐประหารเป็นการย่ำยีกฎหมายด้วยการใช้กำลัง ไม่ใช่แนวทางในการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็นในแนวทางนิติรัฐอย่างแน่ นอน ถ้าหากว่าบุคคลใดที่ยึดมั่นในหลักการว่าไม่มีใครอยู่เหนือกว่ากฎหมาย ไม่มีใครมีเอกสิทธิ์เหนือกฎหมาย บุคคลนั้นก็ควรต้องออกมาคัดค้านกับคณะรัฐประหารเช่นเดียวกันใช่หรือไม่ครับ
แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าเมื่อเกิดการรัฐประหาร ไม่มีการออกมาป่าวประกาศเลยว่าไม่มีใครมีเอกสิทธิ์ทำลายกฎหมาย และจะต่อสู้คัดค้านอย่างถึงที่สุดไม่ว่าผู้ย่ำยีกฎหมายนั้นจะเป็นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศหรือตำรวจ ผมมั่นใจว่าไม่ได้ยินประโยคนี้จากนักกฎหมายชื่อดังผู้ยึดมั่นหลักในหลัก กฎหมายคนใดทั้งสิ้น
ลำพังเพียงการเงียบเป็นเป่าสากต่อการรัฐประหารยังอาจพอเข้าใจได้ แต่ที่อาจเข้าใจไม่ได้เลยก็คือว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ถูก ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร (ซึ่งทำการย่ำยีรัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์แก้วสรรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ ในการผลักดันในบังเกิดขึ้นนั่นแหละ) จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าอย่างไรดี ถ้าหากกล้าป่าวประกาศต่อสาธารณะอย่างขึงขังว่า ไม่ว่าหน้าใครก็ตามไม่มีเอกสิทธิ์ในการทำลายกฎหมาย
หรือจะอธิบายว่าคณะรัฐประหารไม่ได้ย่ำยีกฎหมาย บุคคลกลุ่มนี้เพียงแต่มาเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นด้วยการใช้รถถังเท่า นั้น อย่าคิดมากไปเลยนักศึกษา มันไม่เหมือนกับนักการเมืองที่กำลังหาเสียงในการเลือกตั้งอยู่ขณะนี้หรอก ดังนั้น การเข้าไปรับตำแหน่งใน คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตั้งขึ้นโดย คมช.) จึงเป็นการสละอันสูงส่งในการปกป้องประเทศชาติ ไม่ใช่การรับใช้คณะรัฐประหารที่ย่ำยีกฎหมายแต่อย่างใด
ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ผมยังออกจะสงสัยว่าหากนักการเมืองประกาศแนวนโยบายการออกกฎหมายนิรโทษกรรมใน การหาเสียงมันจะเป็นความผิดอะไรหรือครับ ดีเสียอีกไม่ใช่หรือที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นๆ พูดอย่างชัดเจนและหาเสียงในประเด็นดังกล่าว ถ้าหากประชาชนคนใดเห็นด้วยก็เดินไปกาบัตรลงคะแนนให้กับพรรคนั้นไปเลย ใครที่มีความคิดเห็นแตกต่างก็รณรงค์กันไปในทางสังคม ก็จะทำให้เกิดการวิวาทะ โต้แย้ง ถกเถียง ด้วยเหตุและผลอันจะทำให้ส่วนรวมเกิดการเรียนรู้และร่วมเข้าใจตัดสินใจใน ประเด็นเช่นนี้
หรือว่าจะให้กฎหมายนิรโทษกรรมในสังคมไทยถูกเขียนขึ้นมาได้ในรูปแบบเดียว คือด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารที่นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของตนในการยึดอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาความชอบใดๆ มารองรับเลยแม้แต่น้อย
การป่าวประกาศถึงการยึดมั่นในหลักการทางกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สมควรจะให้ ความชื่นชม แต่การกระทำอันนั้นก็ควรจะต้องดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ เท่าเทียมกันระหว่างทุกคนและทุกกลุ่มไม่ใช่หรือ หากคำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบางกลุ่มบางฝ่าย ก็คงไม่อาจมีความหมายเป็นอื่นไปได้นอกจากเป็นเพียงการพยายามอ้างอิงถึงหลัก การที่สูงส่งเพื่อปกปิดการกระทำในลักษณะอันตรงกันข้ามของตนเท่านั้น