ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 8 June 2011

บีบีซี วิเคราะห์โฉมหน้าการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง ชี้กองทัพไม่ปล่อยมือจากการเมือง

ที่มา ประชาไท

ราเชล ฮาร์วีย์ จากสำนักข่าวบีบีซี มองการเมืองไทยพร้อมตั้งคำถาม ทหารจะยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 54 ราเชล ฮาร์วีย์จากสำนักข่าวบีบีซี เขียนบทวิเคราะห์ชื่อ "Thai military′s political past looms over elections" ว่าด้วยบทบาทกองทัพต่อการเมืองไทย โดยเฉพาะต่อการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่จะมาถึงในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 โดยมีสาระสำคัญดังนี้

การเมืองไทยประสบปัญหาความผันผวนอย่างมากนับตั้งแต่การทำรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งขับไล่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดน มาจนถึงเหตุการณ์การสลายผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลในปีที่แล้ว โดยการใช้กองกำลังทหารภายใต้คำสั่งจากนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กองทัพมีบทบาททางการเมืองไทยมาตลอดอย่างยาวนาน ถ้าหากว่าลองเปิดทีวีและวิทยุช่องต่างๆ ที่ควบคุมโดยทหาร พร้อมทั้งช่องข่าวและเกมโชว์ต่างๆ ก็จะเจอกับรายการพิเศษต่างๆ ที่พูดถึงคุณงามความดีของกองทัพไทยอย่างสม่ำเสมอ

คริส เบเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยกล่าวว่า ภาพลักษณ์ของกองทัพเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างแยกไม่ออก

“กองทัพไทยเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างยาวนานกว่า 50 ปีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ในช่วงนั้นกองทัพชูอุดมการณ์ว่ากองทัพมีสิทธิในการเมืองการปกครองเพราะเป็น สถาบันที่พิเศษ อีกทั้งยังใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์เป็นพิเศษด้วย

และถึงแม้ในช่วงทศวรรษที่ 2520 กองทัพจะถูกลดบทบาทจากการเมือง เนื่องจากรัฐสภามีบทบาทมากขึ้น แต่เบเกอร์ก็ยังเชื่อว่ากองทัพไทยไม่เคยหมดความคิดที่ว่ากองทัพมีสิทธิแทรก แซงทางการเมือง “เพื่อแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะนักการเมืองและการคอร์รัปชั่น”

เป็นที่น่าสนใจว่า ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ทหารจะยอมปล่อยวางและยอมให้รัฐบาลพลเรือนมีบทบาทได้เต็มที่หรือไม่

เมื่อทหารเข้ามามีบทบาทครั้งแล้วครั้งเล่า

ในการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทหารให้เหตุผลกับสาธารณะว่าเป็นเพราะเรื่องการคอร์รัปชั่น และการไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ของอดีตนายกฯทักษิณ นอกจากนี้ทักษิณยังเข้าไปแทรกแซงกระบวนการการแต่งตั้งของทหาร และสามารถสถาปนาฐานอำนาจที่แข็งแรงและกว้างขวาง ซึ่งถูกมองว่าเป็นภัยต่อผู้มีอำนาจเก่า

สองปีถัดมา ก็มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทหารมีส่วนในการจัดวางเกมทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยจัดตั้งรัฐบาลร่วมที่ต่อต้านทักษิณ และสนับสนุนสถาบัน ซึ่งมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นแกนนำ

วาสนา นาน่วม ฟันธงว่า ถึงแม้ว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเป็นรัฐบาลได้ เนื่องจากจะมีการแทรกแซงของทหาร แต่จะไม่โฉ่งฉ่างเช่นการทำรัฐประหาร เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

“หากฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เด็ดขาด กองทัพอาจจะล็อบบี้พรรคร่วมไม่ให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล (กับพรรคเพื่อไทย)ก็เป็นได้” วาสนากล่าว

ดูเหมือนว่ากองทัพจะทำหน้าที่ก่อนการเลือกตั้งไปแล้ว จะเห็นจากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบกได้สั่งฟ้องจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ถูกตั้งข้อหาก่อการร้าย แต่ได้รับการประกันตัว ในการให้สัมภาษณ์ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้ทำเพื่อฝ่ายใด แต่ทำเพื่อปกป้องชาติ สถาบัน และประชาชน

กองทัพ ยังคงอยู่ใน “กรอบ”
ถึงแม้ว่ากองทัพจะอ้างว่าตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปีที่แล้วของกองกำลังทหาร ก็ทำให้กองทัพต้องกังวลใจว่าอาจจะย้อนมาทิ่มแทงตนในอนาคตได้ เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเห็นว่าแกนนำ นปช. ต่างลงสมัครเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง และถ้าหากว่าพรรคเพื่อไทยชนะ ก็ไม่แน่ว่ากองทัพอาจจะถูกเอาคืน

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์ วอทช์ให้ความเห็นว่า ทหารนั้นมีส่วนในการเมืองอย่างแน่นอน และเมื่อรัฐบาลพลเรือนและฝ่ายทหารเกิดขัดแย้งกัน ฝ่ายทหารก็มักจะเป็นฝ่ายชนะเสมอ

“ทหารอาจจะกล่าวว่าพวกเขาทำตามคำสั่งของรัฐบาล แต่ในเมืองไทย มันมักจะไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป” แบรด อดัมส์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวติดต่อทางกองทัพเพื่อขอสัมภาษณ์ ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยกล่าวว่าการให้สัมภาษณ์ในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้นไม่เหมาะสม

อาจจะเดายากว่าเหล่าทหารคิดอะไรอยู่ แต่ที่แน่ๆ ผลงานที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นไปแล้วว่าเดิมพันของกองทัพขึ้นอยู่กับอะไร คริส เบเกอร์ กล่าวว่าตั้งแต่การรัฐประหาร กองทัพจัดการให้ทหารได้งบประมาณเพิ่มขึ้น 50% นอกจากนี้ ยังได้นำเอากฎหมายความมั่นคงภายในกลับมาใช้อย่างสม่ำเสมอ และกองทัพก็ได้กลับมาอยู่ในศูนย์กลางของการเมืองไทยอีกครั้ง และคงจะไม่ออกไปในระยะเวลาอันใกล้

และนักการเมืองที่ลงสมัครสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม ก็คงจะรู้เรื่องนี้อย่างเต็มอก