ดร.อ้อ - ณหทัย ทิวไผ่งาม
ระหว่างเดินตรวจเยี่ยมโรงเรียน และทักทายเด็กๆ
ระหว่างเดินตรวจเยี่ยมโรงเรียน และทักทายเด็กๆ
โรงเรียนทิวไผ่งาม
บรรยากาศในโรงเรียน
เด็กนักเรียนทิวไผ่งาม ที่มีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึง ม.6
Smart Classroom ห้องเรียนที่ใช้ระบบการสอนแบบถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอเชื่อมต่อไปยังอีกห้องหนึ่งเพื่อให้นักเรียนเรียนร่วมกัน
ผู้คิดเชิงบวก ย่อมสามารถ พลิก วิกฤต เป็น โอกาส ...
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นวิกฤตการเมืองใหญ่ เป็นคลื่นยักษ์สึนามิที่กวาดนักการเมืองให้เว้นวรรคไป 5 ปี
19 กันยายน อาจเป็นวิกฤตและความชั่วร้าย แต่สำหรับ อ้อ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม นี่คือ จุดเปลี่ยนแห่งชีวิต
วิกฤตการเมืองครั้งนั้น ได้เปลี่ยน นักการเมืองดาวรุ่ง มาเป็น ครูอ้อ ที่รับช่วงบริหารโรงเรียนทิวไผ่งาม สืบต่อจาก คุณครูณรงค์ และคุณครูอุษา ทิวไผ่งาม
เป็นโอกาสที่ เธอ ทิวไผ่งาม รุ่น 2 จะได้สร้างโรงเรียนในฝัน อย่างมุ่งมั่นและเอาจริง
"การเมือง ไม่น่าสนใจ ไม่ค่อยมีความหวัง เสียเวลาเปล่า ไม่คุ้ม สู้มาทำเรื่องการศึกษาดีกว่า เห็นผลสำเร็วมากกว่า" ครูอ้อ เปิดประเด็น
วันนี้ อ้อ สนุกและมีความสุขในอาณาจักร บนเนื้อที่ 23 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด
"มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์พิเศษ "ณหทัย ทิวไผ่งาม" ในเรื่องการเรียนการสอนในโรงเรียนในฝัน
เธอ เริ่มต้น บทสนทนา ด้วยการพูดเรื่อง ความเป็น" มนุษย์" ว่า มนุษย์เราจะพัฒนาไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งขึ้นอยู่กับเรื่องหลักๆ 2 เรื่อง คือ พันธุกรรมกับสภาพแวด ล้อม คือการเลี้ยงดูจากพ่อแม่เป็นอย่างไร เอาไปอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน นี่คือจุดเริ่มต้นของทิวไผ่งาม ตั้งแต่เมื่อ 36 ปีก่อน ที่คุณพ่อณรงค์ ตั้งเอาไว้ ด้วยความที่อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกไปพบกับคนดีๆ สถานที่ดีๆ อันนี้คือส่วนหล่อหลอมที่ "ทิวไผ่งาม" สร้างไว้ตั้งแต่ดั้งเดิม
แต่ หากอยากจะก้าวล้ำกว่า ที่เป็นอยู่ทุกอย่าง ต้องขึ้นอยู่กับวิทยาการการใช้เทคโนยีทางการเสื่อสาร (ไอที) ดังนั้นทิศทางปัจจุบันของทิวไผ่งาม จึงเน้นไปในเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นครื่องมือเพื่อให้เด็กเกิดการเรียน รู้ ไม่ใช่แค่ในห้องเรียนแล้ว แต่เป็นการสื่อสารข้ามสถานที่ข้ามเขตแดน แหล่งความรู้ต้องเชื่อมด้วยเทคโนโลยี ไม่จำเป็นต้องไปนั่งเรียนว่า การเขียนภาษาเบสิกเป็นอย่างไร เด็กทุกคนของทิวไผ่งามต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ตามวิสัยทัศน์ ที่ว่า เทคโนโลยีก้าวล้ำ
"เด็กของเราจบออกไปต้องรู้เรื่องไอทีไปถึงเข้ามหาวิทยาลัย ใช้อะไรก็แล้วแต่ ไมโครซอฟท์ อินเตอร์เน็ต หรือการเขียนซอฟต์แวร์ ง่ายๆ หลักๆ เอาไปประกอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลงาน เราเองมุ่งไปในแนวของไอทีหลักด้วย เราส่งเด็กแข่งขันเรื่องการเขียนโปรแกรมซึ่งสมัยนี้มันก็มีหลายเรื่อง โปรแกรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการตั้ง ห้องโรบอตแลนด์ (Robot Land )ขึ้นมา อยากให้เด็กรู้จักการที่จะสร้างหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่จะเดินได้ เขาต้องสร้างจากการคิดว่า อะไรต่อไป โดยจะให้เรียนรู้เริ่มจากประถม ซึ่งกำลังดำเนินการในอนาคต ต่อไปโลกแห่งการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ จากที่บ้าน ก็ได้ เรามุ่งไปทางนี้แล้ว ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่คุณพ่อสร้างไว้ "
*จากคลื่นลูกแรกสู่คลื่นลูกที่สอง
คุณพ่อสร้างมาดีมาก ในเรื่องของสภาพแวดล้อม ตอนนี้พ่อก็ยังช่วยเหลือ ในการดูแลเรื่องสถานที่แวดล้อม ที่ดูดี และในเรื่องของการคัดกรองตอนเข้า พ่อเป็นคนริเริ่ม สร้างปรัชญาขึ้นมา คือความรู้ทำให้มนุษย์เท่าเทียมกัน พ่อเชื่อว่าต้นทุนของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันหมด ถ้าเราเอาเขามากล่อมเกลา เขามีสิทธิ์ที่จะชนะคนที่บางทีเป็นม้าตีนต้นได้ นี่คือปรัชญา ซึ่งอ้อก็รับมันต่อไป คนเราอยู่ที่ 2 อย่าง คือ การเลี้ยงดูจากพ่อแม่ หรือปล่อยให้มันโตไป เดี๋ยวก็ดีเอง เพราะพ่อแม่ดี อันนี้อ้อว่าไม่จริง บางคนพ่อแม่ดี แต่ไม่รู้จักวิธีเลี้ยงลูกได้อย่างเหมาะสมหรือถูกต้อง มันก็ทำให้เเด็กเดินได้ผิดทางเช่นกัน สื่อที่มาเร็วมากทำให้เด็กคัดกรองไม่เป็น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครู โรงเรียน พ่อแม่
เราไม่ได้คัดเด็กอนุบาลเข้าเรียน โดยการสอบวัดคะแนน เพราะเป็นเรื่องที่กดดันเกินไป สมัยก่อนพ่อทำโรงเรียนอนุบาลเพื่อที่ว่าจะติวเด็กเข้า โรงเรียนเซ็นคาเบรียล ต่อมาพ่อเห็นความเครียด ผู้ปกครองที่จะเอาเด็ก 5-6 ขวบ มาเคี่ยว ว่า วิทยาศาสตร์ ต้องได้ ภาษาอังกฤษ ต้องได้ แล้วเรื่องของทักษะชีวิต สังคมของเด็กไม่รู้อะไรแล้ว ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ต้องมีแล้ว ต้องมานั่งติวๆ สอบได้คะแนนเท่าไหร่ ความเป็นมนุษย์ไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่เรามาปลุกปั้นสร้างได้ ในช่วง 12 ปี มันไม่สายเกินไป นี่คือปรัชญาที่อ้อยึดถือมาตลอดจนถึงวันนี้
*ทิศทางของทิวไผ่งามในวัยก้าวย่าง 36 ปี มุ่งสู่ไอที
ใช่ค่ะ โดยส่วนตัวเชื่อว่ามันเป็นเทรนด์ของสังคมโลกด้วย ใครที่ช้าอยู่ก็จะไปตามเขาไม่ทัน ความทันสมัยไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ แต่อยู่ที่กระบวนการวิธีการมากกว่า อ้อให้ความเข้าใจกับเครื่องมือเป็นสิ่งหลังสุด นักเรียนเขาไปไกล ครูเข้าใจหรือยัง ความรู้พร้อมไหมที่จะให้ครู ไอแพด(i-Pad)มีเมื่อไหร่ก็ได้ เด็กที่นี่ทุกคนมีความพร้อมที่จะซื้อแต่ถามว่า แล้ววิธีการที่จะเอาไปบูรณาการใส่เข้าไปในหลักสูตร หรือชั่วโมงหนึ่งห้องหนึ่ง ทุกวันนี้มีโรงเรียนในประเทศไทย หรือในมหาวิทยาลัยไหนบ้างที่ประสบความสำเร็จให้ความรู้แบบ อี เลิร์นนิ่ง แคมปัส ( E -Learning Campus ) ยังทำไม่ได้ ถามว่า ไอแพดอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแง่การแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของวัตถุมาก่อนกับความรู้ แต่อ้อให้ความรู้สำคัญก่อนวัตถุ อย่างที่เขาพูดกัน คือ เรื่องของ ซอฟต์แวร์ พีเพิลแวร์ และฮาร์ดแวร์ อะไรควรจะมาก่อน หรือขั้นตอนการเตรียมพร้อมควรจะไปอย่างไร
เรายังไม่ได้ให้เด็กใช้ไอแพดหรอกแต่อัตราคอมพิวเตอร์ที่เด็กใช้ ปัจจุบัน อัตรการใช้ห้องเรียนหนึ่งคนต่อหนึ่งเครื่อง ไม่ต้องไปแย่งกันดูอีกแล้ว แล้วเราก็สร้างห้องเรียน Smart-Class Room ขึ้นมา ต่อไปก็จะสร้าง 10 -20 ห้อง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด อย่างนี้เด็กก็จะเบื่อ เด็กเป็นประเภทสมาธิสั้น ต้องให้เขามีการยืดเส้นยืดสาย เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไปบ้าง
* ห้องเรียนของเรา แตกต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างไร ?
ห้องเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นทั่วไปเท่าไหร่นัก แต่ตอนนี้ ทิวไผ่งาม มีห้องเรียนเสริม ที่ใช้ชื่อ Smart Classroom ที่เพิ่งเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อ 2 ปีก่อน และจะเพิ่มไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่ทุกห้อง เพราะต้องเข้าใจหลักการของเเด็กว่า อะไรที่มันไม่มีความตื่นเต้น เด็กก็จะไม่สนใจ ถึงจะเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็อาจเกิดความเบื่อหน่ายได้ เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามพลิกแพลง ปีนี้เราเกิดห้องเรียนนี้ขึ้น ปีหน้าเราอาจมีแหล่งการเรียนรู้ ( Resource Center ) ขึ้น คล้ายๆ ทีเคปาร์ค แต่จะเป็นขนาดย่อ จะสร้างการเรียนรู้ข้ามตัวแปร เช่น โรงเรียนทิวไผ่งามอาจจะไปจับมือกับโรงเรียนที่เชียงใหม่ ที่ทางอีสาน หรือ ภาคใต้ อย่างนี้ ตอนนี้กำลังหาเทคโนโลยีที่มันถูกลงอาจจะเป็นกล้องที่เราสามารถ ถ่ายทอดจากครูเก่งๆ คนหนึ่ง ถ่ายทอดไปสอนเด็กๆ ได้อีกหลายๆ โรงเรียน นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อ ไม่ใช่ว่าเราแบ่งปันทรัพยากรที่เราคิดว่าเป็นครูดีของโรงเรียนเครือข่ายที่ เราสร้างขึ้นมาอย่างเดียว แต่เราก็เรียนรู้วิถีชีวิตของเด็กในจังหวัดนั้น หรือแนวทางเลือกอื่นๆด้วย
*ทฤษฎีพหุปัญญา อัจฉริยะ 8 ด้าน
เราจะก้าวสู่ความเป็นโรงเรียน ที่ "วิชาการเป็นเอก เทคโนโลยีก้าวล้ำ นำเรื่องภาษา กีฬาเด่น คิดเป็นระบบ มีครบคุณธรรม" ตามวิสัยทัศน์ ของ ทิวไผ่งาม โดยมุ่งเน้นเรื่องการใช้ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligence) หรือความอัจฉริยะ ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการภาษาและการสื่อสาร 2. ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 3.ด้านมิติสัมพันธ์และการจินตภาพ 4.ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ 5.ด้านดนตรี 6..ด้านการเข้าใจตนเอง 7.ด้านมนุษยสัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น และ 8.ด้านการเข้าใจธรรมชาติ เข้ามาใช้เพื่อวัดศักยภาพของเด็กนักเรียนทิวไผ่งามแต่ละคน
* ทำไมวิชาสังคมศึกษา จึงมีความสำคัญ
สังคมไทยปัจจุบันเรามาแข่งกันว่า ใครเก่งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ แต่หารู้ไหมว่า สุดท้ายแล้ววิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมมันคือการสร้างคน เราจะหล่อหลอมอย่างไรที่บอกเป็น พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย หรือเป็นพลเมืองดีของประเทศไทย หรือสังคมโลก เด็กเรียนก็ผ่านๆไป จะต้องเรียนหน้าที่พลเมือง เรียนการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แต่เวลาสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ต้องไปแข่งคณิตศาสตร์ แข่งชีวะ เคมี ไม่ได้แข่งวิชาสังคม
ถามว่า ประเทศไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่เราอยากได้คนแบบไหน คือ คนที่เข้าใจแยกแยะ ระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็น เมื่อแยกแยะไม่ได้ การเมืองก็มีปัญหา อย่าง ทำไมต้องมีหัวคะแนน ทำไมต้องมีการซื้อเสียง เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสอนเลือกคิดวิเคราะห์ว่า ระหว่างข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็นกับความคิดเห็นคนอื่นที่อาจจะถูกหรือผิด แล้วกลับมาที่ส่วนตัวคุณเองคิดอย่างไร
กลับมาที่การสอนสาระสังคมจะทำอย่างไร โดยเฉพาะระดับมัธยมเพื่อให้เด็กตระหนักเรื่องประชาธิปไตยกับภาระหน้าที่ เอาง่ายๆ คือรู้จักสิทธิของตัวเองแล้วเคารพสิทธิของผู้อื่น การที่พวกเราจะเสื้อเหลืองเสื้อแดงไปตั้งขบวนประท้วงที่ถนนราชดำเนิน ปัจจุบัน ถือเป็นการเคารพสิทธิของผู้อื่น หรือเปล่า การเคารพสิทธิและกฎหมายเป็นเรื่องที่เราเรียนรู้กันมาตั้งแต่สมัย ม.ปลายแล้ว ถามว่า มีใครเอามาใช้บ้าง เพราะทุกคนใช้ความคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง ซึ่งมันมากับอารมณ์ความรู้สึกที่มันได้อารมณ์มากกว่า ถามว่าทำไม ณัฐวุฒิ (ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) พูดแล้วมีคนฟังมากกว่า เพราะสิ่งที่เขาพูดมันดึงดูดอารมณ์ของคนฟัง หรือคำพูดของนักพูดดีๆ หลายคนเพื่อ สร้างกระแสปลุกระดมมันถึงต้องมาเป็นอย่างนี้ เราเรียนรู้กันมาหมด แต่พอกลับมาที่บ้านต้องวิเคราะห์ว่า มันเป็นยังไง สิ่งที่ปลูกสร้างเด็กคือ การคิดวิเคราะห์
*ทำไมถึงเน้นเรื่องสาระสังคมศึกษา ?
ในเมื่อเราต้องเรียน อย่าเรียนแค่ว่าให้มันผ่านไป แต่ว่า เราได้เอาเกร็ดความรู้เหล่านั้นมาใช้อะไรกับชีวิตประจำวันบ้าง สังคม คือเรื่องของชีวิต วิชาที่ใช้มากที่สุดจากการที่เรียนมา ก็คือสังคม เป็นเรื่องของชีวิต แล้วเรามาวิเคราะห์นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ เราคิดว่า จุดเน้นต้องอยู่ตรงไหน จริงๆ เราควรเน้นการปล่อยเนื้อหา กับวิธีการเสนอ รวมถึงการอบรมครูโดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถ้าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเน้นอยากให้คนไทย เป็นคนที่รักวิถีประชาธิปไตย อะไรก็ว่าไป จะเป็นเรื่องเศรษฐกิจสังคมมันก็อยู่ในสังคมหมด แต่เราต้องมายำใหม่ว่าจะสอดแทรกความเป็นจริงในชีวิตเข้าไปอย่างไร ซึ่งควรสอดแทรกเทคนิควิธีคิดไปกับครูด้วย
*สุดท้าย ต้องมาถามว่า ชีวิตอยู่เพื่ออะไร
ศักยภาพมันมีอยู่มาตลอด แต่มันทำยาก เพราะ 1. เด็กต้องน้อย คือครูถึงจะเข้าไปจี้ได้ แต่พอเด็กเยอะความสนใจในสมาธิที่เขาจะมี 50 นาที นี่ มันยาก ครูต้องมีวิธีจัดกลุ่ม และเอาเด็กที่ชอบการเรียนรู้ในวิธีที่คล้ายกัน ไว้ด้วยกัน โครงการพหุปัญญา ของโรงเรียนทิวไผ่งาม เราใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.3 ให้เด็กได้ไปลองทดสอบกิจกรรมที่ดึงความฉลาดออกมาในแต่ละเรื่อง และเราก็เก็บไปเรื่อยๆ สมมติมีลูกที่มาเข้า ป. 1 เราก็เก็บไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขามาอยู่ ป.6 จากการเก็บสถิติทั้งในเชิงไปดูว่า ทำตรงนี้ดีไหม หรือทำตั้งแต่ ป.1ถึงป.6 ก็ไม่เคยพัฒนา เลย ถ้าเรายิ่งไปบังคับเขา มันก็ไม่ใช่ แต่บางทีเราอาจไปค้นพบว่า เด็กคนนี้เก่งอีกด้านหนึ่งเราก็จะช่วยผลักดันสนับสนุนในสิ่งที่เขาถนัดเพื่อ ให้สามารถแสดงออกมาได้ด้วยดีและมุ่งไปทางใดทางหนึ่งก็ได้
ถ้ากลับมาพูดถึงสังคมไทย หรือสังคมใครก็แล้วแต่บอกว่าเด็กฉลาดต้องได้คะแนนสูง ใช่ไหม ? ถ้าไปถามพ่อแม่ จะมีคนน้อยที่บอกว่า ลูกตัวเองฉลาดด้านใดด้านหนึ่ง อย่างฉลาดทางด้านการเต้นบัลเล่ต์ ซึ่งวันนี้หลายคนก็นำไปใช้เป็นอาชีพ หรือตอนนี้ บ้านเราอาชีพนักกีฬากำลังมาแรง ซึ่งแต่ก่อนไม่มีเลย เห็นเทรนด์หรือเปล่า อย่างทีมฟุตบอลที่มีมากขึ้น ความฉลาดไม่ได้มีรูปแบบเดียว มีมากมาย ทางนั้นทางนี้ก็ได้ สังคมไม่ควรมาตีกรอบ เพราะมันจะเป็นการปิดศักยภาพของมนุษย์ สุดท้ายแล้วอาชีพทำไมต้องมีหลายอย่าง ถามว่า ที่เราเรียนมา เพื่อไปบอกคนว่าเราเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ได้ แต่การที่ถ้าเราอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เก่งเรื่องเงิน เรื่องการคิด ดีมานด์ ซัพพลายอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเราอยากจะไปเข้าทำงานดีๆ ก็ต้องมีโปรไฟล์มาจากมหาวิทยาลัยดีๆ แต่ถ้าในความรู้สึกเดียวกัน อาชีพอื่นในชีวิตเรามีตั้งหลายอาชีพซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ต้องมาถามว่า ชีวิตอยู่เพื่ออะไร
*วิพากษ์ระบบการศึกษาแบบไทยๆ
ระบบการศึกษาในต่างประเทศ ไม่ต้องมีแผนกเหมือนเมืองไทย เราเรียนศิลป์-คำนวน ศิลป์-ภาษา วิทย์-คณิต ไปทำไม ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองความสามารถ ความถนัดของเขาเอง ทำไมต้องมาบังคับให้เข้าเรียนสายนั้น สายนี้ ขณะที่โรงเรียนนนานาชาติสมัยนี้เขาเปิดโอกาสให้เด็กเลือกเองไปเลย แต่ไม่เข้าใจทำไมโรงเรียนไทยอีกหลายๆ โรงเรียนไม่ทำกัน ทำไมกระทรวงศึกษาธิการไม่คิดปรับ พลิกแพลงตรงนี้ ขึ้นมาบ้าง อย่างหน่วยกิตรวม เราก็มาวางแผนกัน อย่างช่วงม.ปลาย 3 ปีเข้ามาตอนนม.4 เราก็มาวางคะแนนรวมว่า มันควรเป็นเท่าไหร่พื้นฐานม.ปลายที่ทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน แต่พอมาขึ้น ม.5-ม.6 มันควรจะเริ่มดูแล้ว
ขณะที่โรงเรียนทิวไผ่งาม เราวัดระดับความรู้ ความสามารถของเด็กมาตั้งแต่สมัยประถมแล้ว ถ้าเรียนที่นี่มาตั้งแต่เริ่มต้นนะ มันมีเวลาสะสมกึ๋น ศักยภาพมานาน เหมือนพ่อแม่ ที่คอยเฝ้าดู แต่มันเป็นเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะเรามีการเก็บเชิงสถิติ ครูก็ต้องเข้าไปสังเกตด้วยว่า เด็กคนนี้บันทึกพฤติกรรมเป็นอย่างไร เราบันทึกตลอด สมมติเราจัดสรรเวลา 100 นาที ให้ครูลงตามฐานต่างๆ ซึ่งมีตามความฉลาด 8 อย่างของเด็ก ต้องไปคิดกิจกรรมที่ดึงเอาความฉลาดด้านการเคลื่อนไหว หรือการร้องเพลง ด้านการเข้าใจตัวเอง ด้านการคิดตรรกกะ คิดมีเหตุมีผล ด้านการสร้างภาาวะผู้นำ คนที่เข้าใจคนอื่นแสดงว่า มีภาวะผู้นำ
* ไอคิว และ อีคิว แล้วไง (ล่ะ)
ทิวไผ่งามเราเน้นภาษาอังกฤษ เน้นทฤษฎีพหุปัญญา เราไม่เชื่อว่า การวัดคนฉลาดหรือโง่อยู่ที่ไอคิว ทำไมล่ะ ถ้าไปทำข้อสอบแล้วออกมาว่า ไอคิว 80 คุณจะโง่ใช่ไหม อันนี้ถูกต้องหรือเปล่าคะ อยากจะถาม เราโตมาก็มีคนบอกว่า ความฉลาดต้องวัดกันที่ไอคิว แล้ว อีคิว จะวัดกันอย่างไร เด็กคนไหนอารมณ์ดี ก็จะถือว่ามีอีคิวสูง แล้วนั่นเป็นความฉลาดไหม เด็กอารมณ์ดี ถ้าเขาสอบไอคิวออกมาแล้วได้ 80 ตามทฤษฎีแล้ว คนเรามันต่างกันโดยชาติกำเนิด ต่างพฤติกรรม ต่างพ่อแม่ ต่างชาติ ต่างภาษา ต่างการเลี้ยงดู เราจะมากำหนดให้เด็กมีรูปแบบไอคิวแล้วบอกว่า ถ้ามีไอคิวเกิน 150 ขึ้นไปถือเป็นเด็กฉลาด มันถูกต้องยุติธรรมหรือเปล่า เรื่องแค่นี้ ก็มีการถกเถียงกันไปทั่วโลก
* บนเส้นทางของ พหุปัญญา
ที่ผ่านมาคุณพ่อก็เข้มข้นเรื่องวิชาการอยู่แล้ว กับการเข้มงวดดูแลกับเรื่องพฤติกรรมของเด็ก เนื่องจากโรงเรียนเราไม่ใช่โรงเรียนที่สอบเข้าและคัดแต่หัวกะทิ แต่เราให้โอกาสเด็กทุกคน ซึ่งต้องเริ่มดูที่ กิริยามารยาทดี เราก็เอาเรื่องอีคิวสมัยก่อนที่พ่อเริ่มมา แล้วเราก็มาขัดเกลาปลุกปั้นให้เขาเป็นคนดีคนเก่งขึ้นมาได้ ที่ผ่านมาศิษย์เก่าหลายคน หรือแม้แต่ตัวอ้อเอง ก็ไม่ต้องไปกวดวิชาทำอะไร เรียนโรงเรียนตัวเองเหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องมาสอบ ไม่จำเป็นว่า เกรดเฉลี่ย 3.5 ถึงเข้าเรียนทิวไผ่งามได้ เราจะดูเรื่องอื่นเป็นองค์ประกอบ หรือเขาอ่อนช่วงไหน เรามาขัดเกลากัน เราก็ยกช่วงนี้ให้เป็นหน้าที่ของครู ซึ่งครูที่นี่มีความรักเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอยู่เยอะ มีใจทุ่มเทที่อยากจะให้เด็กทุกคนดีขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น สุดท้ายแล้ว มันจะเป็นแค่ ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด หน่วยงานเราไม่สร้างอย่างนั้น (หัวเราะ)
ความน่าสนใจในศักยภาพของ "ทิวไผ่งาม" ภายใต้การบริหารของผู้หญิงสวย และเก่งที่ชื่อ "ณหทัย ทิวไผ่งาม" ยังไม่หมดเพียงแค่นี้
ในตอนที่ 2 มติชนออนไลน์ จะนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจในความหมายของ คำว่า "รักเพื่อนมนุษย์" ที่โรงเรียนแห่งนี้เน้นย้ำและใส่เข้าไปในจิตวิญญาณของครู ผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้ สั่งสอน ขัดเกลา ผลผลิตจากทิวไผ่งามให้กลายเป็นเด็กที่มาจากสังคมคุณภาพอย่างแท้จริง รวมถึงทิศทางในอนาคตของสถานศึกษาแห่งนี้....