นับจนถึงตอนนี้ ก็ผ่านไปได้ 6 ปีแล้ว คดีพระสุพจน์ สุวโจ คดีเหมือนกำลังคืบ แต่จู่ๆ ล่าสุด ก็มีข่าวปรับเปลี่ยนโยกย้ายหัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนของดีเอสไออย่างมีเงื่อน งำ สงสัยอีกครั้ง
“สิ่งที่ผมยังติดใจสงสัย หลังเกิดเหตุ คือมันมีร่องรอยพิรุธหลายอย่าง เช่น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งยศร้อยตำรวจโท บอกว่ายังไม่ต้องเก็บศพพระสุพจน์ เดี๋ยวทางเจ้าหน้าที่จะมาเก็บเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะกิดอยู่ในใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ให้เราเก็บ แล้วจู่ๆ ก็มีรถไถมาไถ มาปรับเกรดพื้นที่ ก็ยิ่งสงสัยอีกว่าเขามาหาอะไร หาของหลักฐานแต่ทำไมต้องใช้รถมาไถ ...มีร่องรอยการดื่มสุรา มีขวดแม่โขง โซดาตราสิงห์ บุหรี่ จำนวนก้นบุหรี่มีการนับได้เป็นร้อยๆ ก้น เหมือนกับว่าจะมีการวางแผนกันไว้แล้ว ไม่รู้ว่ากี่ชั่วโมงนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่ผมมั่นใจว่า นี่มีการวางแผนออกมาเป็นระบบแล้ว คล้ายกับมานั่งกินอะไรและปลอบใจกันไว้ก่อนลงมือ...และนี่เป็นประเด็นที่ผม สงสัยมาจนถึงทุกวันนี้”
นายกิตติพัฒน์ ด้วงประเสริฐ |
พระสุพจน์ สุวโจ
ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 ที่บริเวณสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม ต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ถูกทำร้ายและถูกฆาตกรรมด้วยของมีคมฟันไปทั่วร่างจนถึงแก่มรณภาพ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่ว หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่และญาติผู้เสียหายเข้าไปดูในสถานที่เกิดเหตุ พบว่ามีร่องรอยสิ่งของบางอย่างตกอยู่ใกล้ๆ บริเวณที่พระสุพจน์มรณภาพนั้น เช่น ร่องรอยการตัดลำไม้ไผ่ ขวดสุรา ขวดโซดา เศษก้นบุหรี่กระจัดกระจายเกลื่อนอยู่บริเวณนั้น
หลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เข้ามาชันสูตรศพ ได้มีการสั่งให้มีการปรับถางพื้นที่รอบๆ บริเวณนั้นจากเดิมเป็นพงหญ้ารกจนกลายโล่งเตียน ท่ามกลางความงุนงงสงสัยของญาติผู้เสียหายว่าทำไมถึงใช้วิธีการสืบสวนสอบสวน เช่นนี้
นายกิตติพัฒน์ ด้วงประเสริฐ บิดาของพระสุพจน์ สุวโจ กล่าวออกมาด้วยสีหน้าเป็นกังวลว่า สิ่งที่ติดใจก็คือ มีร่องรอยพิรุธให้เห็นหลายอย่างก็คือ วันนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งยศร้อยตำรวจโท บอกผมว่ายังไม่ต้องเก็บศพหลวงพ่อเดี๋ยวทางเจ้าหน้าที่ก็จะมาเก็บเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะกิดอยู่ในใจว่า ทำไมเขาถึงไม่ให้เราเก็บ แล้วจู่ๆ ก็มีรถไถมาไถ มาปรับเกรดพื้นที่ ก็ยังสงสัยอยู่ว่าเขามาหาอะไร หาของหลักฐาน แต่ทำไมต้องใช้รถมาไถปรับพื้นที่เช่นนั้น
“และนี่เป็นประเด็นที่ผมสงสัยมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่สงสัยอีกนั่นก็คือหลักฐาน คือเขาไม่มีการเก็บและสอบถามว่าพื้นที่ตรงที่เกิดเหตุ อยู่ติดริมถนน มีร่องรอยการดื่มสุราหรือไม่ แม่โขง โซดาตราสิงห์ บุหรี่ จำนวนก้นบุหรี่นับได้เป็นร้อยๆ ก้น เหมือนกับว่าจะมีการวางแผนกันไว้แล้ว ไม่รู้ว่ากี่ชั่วโมงนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่ผมมั่นใจว่า นี่มีการวางแผนออกมาเป็นระบบแล้ว คล้ายกับมานั่งกินอะไรและปลอบใจกันไว้ก่อนลงมือ…แต่เราเองก็ไม่ได้เก็บอะไร ไว้ซักอย่าง เพราะว่าเราเชื่อใจเจ้าหน้าที่เขา นี่เป็นประเด็นที่ผมยังคาใจ ยังมีความข้องใจในจุดนี้อยู่ ” บิดาของพระสุพจน์ เอ่ยออกมาถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นของคดีดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น
เริ่มแรกนั้น คดีพระสุพจน์ อยู่ในความรับผิดชอบของ ตำรวจ สภ.อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จนกระทั่ง พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ และพระมหาเชิดชัย กวิวํโส ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์เดียวกับพระสุพจน์ พร้อมญาติผู้เสียหาย ได้เดินทางไปยื่นร้องขอความเป็นธรรมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนมีการโอนเป็นคดีพิเศษ ซึ่งมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในขณะนั้น รับผิดชอบ
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ก็ยังไม่สามารถคลี่คลายคดีและนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ทั้งที่คดีดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคม จากสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหลายแห่ง ต่างพากันออกมาเรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ กันอย่างต่อเนื่อง
จนกระทั่ง นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีดีเอสไอ ในสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ได้เข้ามารับผิดชอบคดีสำนวนคดีดังกล่าวต่อจากผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ คนก่อน
ซึ่ง พ.อ.ปิยะวัฒก์ ได้เปิดเผยว่า ได้ตั้งชุดสืบสวนและสอบสวน จำนวน 2 ชุดประมาณ 10 กว่าคนมาคลี่คลายคดี แต่ข้อเท็จจริงพบว่า พยานหลักฐานถูกทำลายไปบางส่วน และบางส่วนสูญหายไปบ้าง เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ได้พยายามทำคดีเต็มที่ ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ มากพอสมควร พอจะสรุปประเด็นสาเหตุการเสียชีวิตได้ 2 ประเด็นหลักๆ คือ เรื่องการบุกรุกที่ดินของสำนักสงฆ์หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมจากกลุ่มผู้บุกรุก ที่ดิน ซึ่งประเด็นนี้ พระสุพจน์เคยไปแจ้งความเป็นหลักฐานไว้ที่ สภ.ฝาง จนต่อมามีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปห้ามปรามกลุ่มผู้บุกรุกที่ดินให้เลิก กระทำการแผ้วถางหรือฮุบที่ดินสงฆ์ไปทำประโยชน์ และพบอีกว่ากลุ่มผู้บุกรุกได้ส่งคนไปเจรจากับพระสุพจน์และพระกิตติศักดิ์ที่ สถานปฏิบัติธรรมดังกล่าวหลายครั้ง
และประเด็นที่สองคือ เดิมพระสุพจน์และพระกิตติศักดิ์ เป็นพระที่มาจาก อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพระพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อย้ายมาตั้งสำนักสงฆ์ที่ จ.เชียงใหม่ ต่อมาพระทั้งสองได้เขียนบทความในหนังสือ รวมทั้งเว็บไซต์เผยแพร่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลสมัยนั้น โดยเฉพาะประเด็นเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน จนกระทั่งมีการเข้าไปตรวจสอบการเขียนหนังสือและบทความของพระทั้งสองอย่างต่อ เนื่อง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ทางพนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมหลักฐานอยู่ สำหรับกลุ่มผู้ต้องสงสัยฆ่าพระสุพจน์ทั้งจากประเด็นบุกรุกที่ดินและประเด็น วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงของรัฐบาลนั้น อาจจะเป็นผู้ต้องสงสัยกลุ่มเดียวกัน แต่อาจจะมีมูลเหตุจูงใจทั้งสองอย่าง เพราะฉะนั้น ตนจึงให้น้ำหนักกับประเด็นทั้งสองค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ทิ้งประเด็นที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชุดเดิมทำมา ก็ยังสืบสวนอยู่
“ให้น้ำหนักประเด็นการบุกรุกที่ดิน และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเกือบเท่าๆ กัน ใกล้เคียงกันมาก เพราะจากการรวบรวมพบพยานหลักฐานก็มีประเด็นที่บ่งชี้ แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ ซึ่งจากนี้ไปก็คงต้องพยายามรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ เพราะว่าพยานหลักฐานบางอย่างถูกทำลายไป เช่นอาวุธที่ใช้ฆ่าพระสุพจน์”ผบ.สำนักคดีอาญากล่าว
ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ ซึ่งรับผิดชอบคดีพระสุพจน์ยอมรับว่าหนักใจพอสมควร เพราะได้เข้ามาทำงานคดีนี้หลังเหตุการณ์ผ่านมาค่อนข้างนาน แต่ยืนยันว่าคดีคืบหน้าไปมาก และพนักงานสอบสวนชุดนี้ มีอัยการพิเศษข้ามาร่วมหาหลักฐานด้วย ซึ่งทั้งชุดสืบสวนและชุดสอบสวนมีความกระตือรือร้นในการคลี่คลายคดีให้เร็ว ที่สุด
ชี้กระบวนยุติธรรมมีพิรุธ ขณะคดีเหมือนกำลังคืบ กลับมีการปรับย้ายเจ้าหน้าที่ดูแลคดี
นับจนถึงตอนนี้ ก็ผ่านไปได้ 6 ปีแล้ว คดีพระสุพจน์ สุวโจ คดีเหมือนกำลังคืบ แต่จู่ๆ ล่าสุด ก็มีข่าวปรับเปลี่ยนโยกย้ายหัวหน้าทีมสืบสวนสอบสวนของดีเอสไออย่างมีเงื่อน งำ สงสัยอีกครั้ง
พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวว่า คดีพระสุพจน์ สุวโจ จนถึงทุกวันนี้ยังมีปรากฏการณ์หลายอย่างที่น่ากังวลใจอยู่ เพราะล่าสุด ทางดีเอสไอมีความพยายามเปลี่ยนพนักงานสอบสวนคดี ทั้งที่อาจถือได้ว่าชุดนี้จะทำงานได้ดีที่สุดกว่าชุดใดๆ
พระกิตติศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า หนึ่ง เป็นการเปลี่ยนในช่วงการเมืองกำลังเปลี่ยน และสอง เปลี่ยนเพราะคดีกำลังสืบสาวใกล้จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แล้ว
“การเปลี่ยนตัวหัวหน้าสอบสวนคดีในลักษณะอย่างนี้ เป็นการเปลี่ยนในช่วงเวลาที่เป็นเรื่องของการบอกเหตุหลายเรื่อง คือ เรื่องของการเมืองเองกำลังจะเปลี่ยน และโดยภาพรวมแล้ว ก็คือการสอบสวนคดีกำลังจะเข้าใกล้ผู้ที่กำลังกระทำความผิด เพราะว่าหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็แจ้งให้ทราบว่ามีคนที่ทำความผิดอย่างน้อย 6 คน และสามารถระบุชื่อได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้ความพยายามที่จะสอบปากคำให้ 6 คนมีการซัดทอดและระบุยืนยันกันในที่เกิดเหตุ เพื่อที่จะออกหมายจับและไม่หลุดคดีในชั้นอัยการ”
พระกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนจะใช้กระบวนการนี้ ก็มีกระบวนการในการโยกย้ายที่ไม่ใช่โยกย้ายในกรณีพิเศษ แต่เป็นการยุบสำนักคดีอาญาพิเศษ เพื่อให้ตำแหน่งลอย แล้วย้ายไปอยู่สำนักอื่น จากนั้นก็ตั้งสำนักงานคดีพิเศษซ้ำขึ้นมาใหม่ นั่นคือทำให้การตั้งสำนักใหม่ขึ้นมา ทำให้ไม่ได้อยู่ในปริมาณงานที่คุณปิยวัตรจะรับหน้าที่ คือ เป็นการลดขนาดของหน่วยงานลง และตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องเลื่อนขึ้นก็ต้องมีการย้าย พ.อ.ปิยะวัตรไปอยู่ที่อื่น
เหมือนกับว่า คดีดังกล่าวนั้นซับซ้อน มีเงื่อนงำ ตั้งแต่ในระดับพื้นที่ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างไปจนเจ้าหน้าที่ระดับบน รวมถึงผู้มีอิทธิพล นักการเมืองได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวโยงกันไปหมดหรือไม่ ?
“ใช่ เรื่องนี้มีการเชื่อมโยงไปอยู่หลายเรื่อง ในส่วนของ พ.อ.ปิยวัตร ก็เคยมีการปรารภอยู่ตลอดเลยว่า การที่ลงมาในพื้นที่แต่ละครั้ง เป้าหมายของพื้นที่ มีการรับรู้เรื่องของดีเอสไอลงมาสอบสวนก่อนทุกครั้ง ในขณะเดียวกัน พวกเราเองก็รับรู้ได้ว่าพนักงานสอบสวนกำลังจะมา เพราะว่า เป็นที่สังเกตว่า ก่อนพนักงานสอบสวนจะมาประมาณ 2-3 วันก็จะมีเสียงปืนดังขึ้น แสดงให้รู้ว่าจะมีคนจะเข้ามาในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ในทางกรมสอบสวนคดีพิเศษนั่นเอง ก็ต้องมีข่าวรั่ว ไปถึงหูของผู้ที่กระทำความผิดแทบทุก ครั้ง”
ย้ำอุปสรรคของคดีอยู่ที่กลุ่มผู้มีอิทธิพลต่อสายกับเจ้าหน้าที่รัฐและการ เมือง ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้น ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคของคดีพระสุพจน์ที่แท้จริงก็คือ กลุ่มผู้ที่มีอิทธิพลยังมีคอนเน็คชั่นกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและฝ่ายการเมือง กันอยู่ ซึ่งลักษณะอย่างนี้ก็จะปรากฏอยู่ทั่วไป ในหลายๆ คดี กรณีการทำร้ายหรือว่าการลอบสังหารนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แล้วจะพบได้เลยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่เคยประสบความสำเร็จและไม่เคยจับกุมผู้กระทำความผิดใน กรณี ลอบสังหาร นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นคดีนายสมชาย นีละไพจิตร คดีเจริญ วัดอักษร หรือคดีพระสุพจน์ สุวโจ
ในขณะที่คดีพระสุพจน์ นั้นกลับไม่มีการออกหมายจับเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว และแน่นอนว่า ยิ่งนานวัน ยิ่งไม่เป็นข่าว ยิ่งเงียบหาย และหลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงคดีเล็กๆ คดีหนึ่งเท่านั้นเอง หากพระกิตติศักดิ์ กล่าวว่า นี่คือการใช้ความรุนแรงในรัฐไทย เมื่อกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือทำลายประชาชนเสียเอง
“เรื่องพวกนี้ ถ้าเรามองว่าเป็นคดีเล็กๆ คดีเดี่ยวๆ มันจะมองไม่เป็นภาพรวม แต่แท้จริงแล้ว นี่คือการใช้ความรุนแรงของภาครัฐหรือไม่ เมื่อคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งต่อสู้เรื่องสิทธิ เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่กลับถูกผู้ที่มีอิทธิพลกระทำ หรือทำให้เกิดการขัดผลประโยชน์กับฝ่ายรัฐ ฝ่ายทุน จนทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเครื่องมือของการกลั่นแกล้ง ในการกดดัน บีบคั้น การทำร้ายหรือฆ่าให้ตายกับผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตรงนี้ถ้ามองในภาพรวมแล้วไม่ใช่เรื่องเล็ก” ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าว.
ข้อมูลประกอบ: คอลัมน์: ชานชาลาประชาชน: คดีสังหารโหดพระสุพจน์กับความเป็นธรรมหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 6 ก.พ.2554