ที่มา: Tee Anmai
ภาพ – หลังฟังคำพิพากษาจำเลยทั้ง 9 ต่างแสดงออกถึงความโล่งใจในอิสรภาพ แม้ว่าจะต้องรายงานตัวต่อกรมควบคุมความประพฤติทุก 4 เดือน
ศาลอุบลฯ ตัดสินจำคุก 7 ปี 6 เดือน ปรับคนละ 30,000 บาท คดีเสื้อแดง 9 ราย หลังรับสารภาพลดโทษเหลือครึ่งหนึ่งและให้การเป็นประโยชน์ต่อศาลจึงลดโทษเป็น รอลงอาญาคนละ 4 ปี ปรับ 15,000 บาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ส่วนกรณีผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง 21 คน ล่าสุด การไต่สวนพยานสิ้นสุดแล้ว ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 5 กันยายน 2554 ส่วนทนายความเตรียมยื่นประกันตัวกรณีจับผิดตัวและผู้ป่วยอัมพฤกษ์ครึ่งซีก
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 9 มิถุนายน 2553 ณ บัลลังก์ 6 ศาลจังหวัดอุบลราชธานี นายยุทธนา คุ้มมี ผู้พิพากษาทำหน้าที่อ่านคำพิพากษาคดีอาญา หมายเลข 1218/2553 โดยอัยการจังหวัดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายระวี ดำริห์และพวก รวม 9 คน ฐานความผิดต่อความสงบเรียบร้อย โดยศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิดรวมกัน 5 กระทง คือ 1.ร่วมกันก่อความวุ่นวายและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท 2.ก่อให้เกิดเพลิงไหม้และกีดขวางการจราจร โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท 3.ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและมีอาวุธ โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 4,000 บาท 4.ร่วมกันทำให้เสียหายต่อสมบัติสาธารณะ โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 4,000 บาท 5.ประทุษร้ายเจ้าพนักงาน โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท รวมโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน ปรับ 30,000 บาท
แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 3 ปี 6 เดือน ปรับ 15,000 บาทอีกทั้ง จำเลยมิได้มีพฤติกรรมเสียหาย จึงให้รอลงอาญา 4 ปี โดยต้องรายงานตัวต่อสำนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน เป็นระยะเวลา 2 ปี และบำเพ็ญประโยชน์อีก 36 ชั่วโมง ดังนั้นจึงเหลือแต่โทษปรับ 15,000 บาท ซึ่งทั้ง 8 คน ได้ติดคุกมาแล้วนาน 6 เดือน จึงสามารถนำจำนวนวันที่ติดคุก x 200 บาท/วัน (36,000 บาท) มาหักลบค่าปรับได้ ยกเว้นกรณีนายไพบูลย์ ดวงศรี ที่ต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มจำนวน 2,600 บาท
นอกจากนี้ ศาลยังสั่งห้ามจำเลยทุกคนเข้าร่วมชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือก่อความวุ่นวาย ส่วนรถยนต์ที่ถูกยึดไว้นั้น เป็นเพียงพาหนะการเดินทาง มิได้เป็นเครื่องมือในการก่อความวุ่นวาย จึงเห็นควรให้คืนต่อเจ้าของ
ส่วนค่าปรับนั้น จำเลยส่วนใหญ่ได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 6 เดือนแล้วโทษปรับหักวันละ 200 บาทระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำ จึงทำให้จำเลยคดีการเมืองส่วนใหญ่ไม่ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน
หลังจากฟังคำพิพากษาจำเลยทั้ง 9 ต่างแสดงออกถึงความโล่งใจในอิสรภาพ แม้ว่าจะต้องรายงานตัวต่อกรมควบคุมความประพฤติทุก 4 เดือน แต่ก็ยังดีที่พวกเขาได้รับอิสรภาพนอกห้องขัง
ยังสู้ต่อ - เพื่อความเป็นธรรม
นายระวี ดำริห์ เปิดเผยว่า แม้จะต้องรอลงอาญานับว่าพวกเขาทั้ง 9 คนยังโชคดีกว่า ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเสื้อแดงอีก 21 คนที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ ณ เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี อย่างน้อยก็สามารถทำมาหากินและออกมาจัดการกับภาระหนี้สินที่พอกพูนในช่วงที่ ถูกควบคุมตัว ส่วน 21 คนนั้นไม่ได้รับแม้สิทธิในการประกันตัว
“หากรัฐหวังจะใช้กฎหมายมาควบคุมความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชน ก็อย่าหวังว่า เราจะยอมจำนน ผมจะยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมต่อไป เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วว่า กับบางกลุ่มเขาเพิกเฉย กับบางกลุ่ม เขาก็ตั้งข้อกล่าวหาเกินความเป็นจริง หากมีความไม่เป็นธรรม เราจะต้องแสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมายต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อให้อำนาจรัฐรู้ว่า เราไม่พอใจ”
นายระวี จำเลยที่ 1 เป็นชาวตำบลบุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั้น เขาเดินทางเข้าเมืองเพื่อซื้ออะไหล่รถไถนาแบบเดินตาม และเห็นการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่หน้าศาลากลางจังหวัด จึงแวะเข้าร่วมเพราะต้องการประท้วงรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชนที่กรุงเทพ แต่เพียงไม่ถึงชั่วโมงก็ถูกยิงที่ขาขวา 2 แผล และถูกคนเสื้อแดงนำส่งโรงพยาบาล พักรักษาตัวอยู่ 5 วันเขาก็ถูกจับพร้อมข้อหาอุกฉกรรจ์ดังกล่าว
“บักนี่ มึงจับแม่กูเฮ็ดหยัง?”
นางสาวสิณีนาถ ชมพูษาเพศ ชาวตำบลแก่งโดม อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี หนึ่งในห้า จำเลยที่ถูกยิง เปิดเผยว่า วันนั้นเธอเข้าร่วมชุมนุมเพราะเห็นด้วยกับแนวทางของคนเสื้อแดง และเธอได้ถือป้าย “หยุดฆ่าประชาชน” ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะสื่อสารไปยังรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเธอถูกยิงที่ขาระหว่างเดินตามกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในสนามหญ้าหน้าศาลา กลางจังหวัด
“หนูเดินใกล้ๆ ตำรวจตลอด เพราะคิดว่าอยู่ใกล้ตำรวจแล้วจะไม่ถูกยิง แต่ยังไม่ได้เดินไปถึงด้านหน้าศาลากลางก็ได้ยินเสียงปังลงมาจากศาลากลาง จังหวัดและรู้สึกชาที่ขาขวา แล้วก็ล้มลง จากนั้นก็มีคนมาถามว่าเป็นอะไร ฉันก็ไม่รู้ พอมองดูขาก็เห็นกางเกงเป็นรู จึงรู้ว่าถูกยิง จากนั้นก็ถูกนำส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตกค่ำวันนั้น พยาบาลเล่าให้ฟังว่า ศาลากลางจังหวัดถูกเผาแล้ว ก็มีทั้งพยาบาลเสื้อแดงที่มาให้กำลังใจ และพยาบาลเสื้อเหลืองก็กระแนะกระแหน”
วันต่อมาเธอได้รับอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน จากนั้นวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นายก็ไปควบคุมตัวเธอที่บ้านมาสอบปากคำที่ สภ.เมืองอุบลราชธานีตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงเวลา 18.00 น.เธอต้องนอนให้ปากคำเพราะบาดแผลยังไม่หาย จากนั้นเธอก็ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีแม่ของสามีวัย 83 ปีดูแลลูก 3 คน (ลูกสาววัย 11 ขวบ และ 9 ขวบ และลูกชายวัย 7 ขวบ) ตลอดเวลา 6 เดือนที่ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ ก่อนจะได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
“เรายิ่งเจ็บหนัก เรายิ่งไม่หลาบจำ ยิ่งกำหราบเรายิ่งเพิ่ม การจับกุมคุมขังเท่ากับการสุมฟืนใส่ไฟ ขนาดลูกชายคนเล็กของหนูเวลาเห็นหน้าอภิสิทธิ์ทางโทรทัศน์ เขาก็จะโกรธจะวิ่งไปเตะจอโทรทัศน์พร้อมด่าว่า “บักนี่ มึงจับแม่กูเฮ็ดหยัง” มันออกมาเองโดยที่เราไม่ได้สอนให้เขาทำแบบนั้น” นางสาวสิณีนาถกล่าว
สำหรับจำเลยทั้ง 9 ส่วนใหญ่ถูกคุมขังอยู่นาน 6 เดือน แล้วได้ประกันตัวออกไป ได้แก่ 1.นายระวี ดำริห์ 2.นายทิวา ประภา 3.นายจิระศักดิ์ (หรือ นิธิศ) พรมโนภาศ 4.น.ส.สิณีนาถ ชมภูษาเพศ 5.นายสหชน สีใส 6.น.ส.เบ็ญจวรรณ วรรณวงศ์ 7.นายไพบูลย์ ดวงศรี8.นายโพธิ์ชัย ทองชุม และ 9.น.ส.พชรมน เพ็ชรงาม
5 ก.ย. ตัดสิน 21 เสื้อแดงที่เหลือ
ส่วนความคืบหน้าของผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงจังหวัดอุบลราชธานี 21 คนนั้น เวลา 16.45 น.ของวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลได้นัดสืบพยานจำเลยนัดสุดท้ายโดยได้เบิกตัวนางสาวปัทมา มูลนิล จำเลยที่ 3 และนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ “อาจารย์ต้อย” จำเลยที่หนึ่งขึ้นให้การและสิ้นสุดเมื่อเวลา 20.30 น.โดยศาลนัดฟังคำตัดสินในวันที่ 5 กันยายน 2554
นายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความของผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานีเปิดเผยว่า ในวันที่ 10 มิถุนายน 2554 นี้จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้กับนายคำพลอย นะมี ซึ่งกำลังพักรักษาอาการอัมพฤกษ์ครึ่งซีกที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ พร้อมกับนายธนูศิลป์ ธนูทอง ที่รองผู้บังคับการตำรวจเมืองอุบลราชธานีให้การว่าจับผิดตัว หลังจากก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 21 คนมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้จึงขอแยกยื่นเป็นรายบุคคล โดยใช้เหตุผลทางสุขภาพและความผิดพลาดของกระบวนการสอบสวนและจับกุม