เบนจามิน ซาแวคกี ผู้แทนเอไอ-“องค์การ นิรโทษกรรมสากล(เอไอ)เสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้ รับการปล่อยตัวโดยทันที”
ที่มา ประชาไท
หมายเหตุไทยอีนิวส์:รายงานข่าวในประชาไทดั้งเดิมชื่อ เสวนา: วิพากษ์การใช้กฎหมายหมิ่นฯ ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ
เมื่อเวลา 20.00 น.วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ถนนเพลินจิต จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “Lese Majeste: A Challenge to Thailand’s Democracy” (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและความท้าทายต่อประชาธิปไตยไทย) โดยมีวิทยากร คือ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย”หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในสังคมไทย, เบนจามิน ซาแวกกี นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์แนลประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยได้รับความสนใจจากคนไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก
เดวิด สเตร็คฟัส
ในการมองเรื่องภาพรวมการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ อาจแบ่งได้เป็นสองช่วงหลักๆ คือก่อน และหลังการรัฐประหารพ.ศ. 2500 กล่าวคือ ก่อนการรัฐประหาร มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาปีพ.ศ. 2499 ว่าด้วย ผู้ใดที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ ได้รับโทษสูงสุดเท่ากับ 7 ปี ต่อมา ในปีพ.ศ. 2519 หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ได้มีการเพิ่มโทษสูงสุดเป็น 15 ปี และยังคงเรื่อยเท่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงในบทบัญญัติดังกล่าว ครั้งแรก คือในพ.ศ. 2550 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พูดถึงการปรับแก้กฎหมายหมิ่นฯ ให้ครอบคลุมมากขึ้นโดยเพิ่มการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายต่อพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยมีบทลงโทษ 1-7 ปี และต่อองคมนตรี ซึ่งมีโทษระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี
ต่อมาในปีพ.ศ. 2551 ก่อนที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล กระทรวงยุติธรรมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มบทลงโทษสูงสุดเป็น 25 ปี แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ แต่ที่น่าสนใจในกรณีนี้ คือ การครอบคลุมของกฎหมายไม่ใช่จำกัดไว้เพียงแค่ กษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการเท่านั้น แต่มีความพยายามให้รวมถึงกษัตริย์ที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงผู้ที่มีเชื้อสายสืบทอดมาจากกษัตริย์ด้วย แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าวอีก
หากมองดูที่จำนวนคดีที่เกิดขึ้นในปี 2533 ถึงปี 2548 พบว่า จำนวนคดีที่ถูกดำเนินการมีจำนวนเฉลี่ย 5-6 คดีต่อปี และต่อมาระหว่างปี 2549 ถึงปี 2553 ภายในระยะเวลาสี่ปี มีคดีที่ถูกดำเนินการทั้งหมด 397 คดี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,500% และในจำนวน 397 คดีนั้น มีจำนวน 213 ที่ถูกตัดสินว่าผิดจริง ในกรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ มีข้อน่าสังเกตสองประการ อย่างแรกคือ ก่อนปี 2548 อัตราการถูกตัดสินคดีว่าผิด อยู่ที่ราว 94% ฉะนั้นถ้ามีจำนวนทั้งหมด 213 คดี ราว 200 คนก็จะถูกตัดสินคดี ซึ่งส่วนใหญ่จะยอมรับสารภาพ และได้รับโทษราว 3 ปี โดยมีการขออภัยโทษในภายหลัง แต่ในช่วงระยะหลัง มีราว 40 คดีที่ปรากฏว่าผู้ต้องหาไม่ต้องการรับสารภาพ และมุ่งสู้คดีโดยไม่ยอมรับผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในกลุ่มคนที่โดนคดีหมิ่นฯ ซึ่งคนจำนวนนี้พร้อมจะต่อสู้คดีโดยไม่รับสารภาพ และอาจจะได้รับโทษ 3-15 ปี
ข้อสังเกตอย่างที่สอง คือ การมีกรณีที่ยังคงค้างอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกา 9 คดีตั้งแต่ปี 2548
อย่างที่สามที่น่าสนใจ คือ หากเรามองดูธรรมชาติของการใช้กฎหมายนี้ในปี 2547-2548 จะพบว่าส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยนักการเมืองเพื่อโจมตีนักการเมืองด้วยกันเอง แต่ในระยะ4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในการใช้กฎหมายดังกล่าว
ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ แน่นอนว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น มิได้มีไว้ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ในฐานะ“สถาบัน” แต่ปกป้องในฐานะของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อเราลองอ่านกฎหมายดังกล่าวดูก็อาจจะพบว่าสามารถเปิดโอกาสให้วิพากษ์ วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ในกรณีของคุณจักรภพ เพ็ญแข ที่มาพูดที่ FCCT เมื่อปี 2550 และพูดเรื่อง “ระบอบอุปถัมภ์” ก็ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นฯ ทั้งๆที่เป็นการวิพากษ์ในเชิงวิชาการ เช่นเดียวกับกรณีของใจ อึ๊งภากรณ์ที่เขียนหนังสือ “Coup for the Rich” ซึ่งก็เป็นการวิพากษ์เชิงวิชาการเช่นกัน แต่ก็ถูกฟ้องด้วยหมิ่นพระบรมฯ
นอกจากนี้ ในกรณีล่าสุด เช่นที่เกิดกับคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการของนิตรสารเรด พาวเวอร์ ที่พยายามวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในเชิงหลักการ เช่นเดียวกันกับกรณีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ถูกเรียกไปสอบสวน กรณีอาจารย์สมศักดิ์ก็เป็นที่น่าสนใจว่าเขาจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ และเขาจะถูกฟ้องด้วยข้อความใด หากว่าเป็นจดหมายที่เขียนถึงฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ หลักกฎหมายหมิ่นฯ ก็มิได้ครอบคลุมพระราชธิดา แต่ถ้าหากตำรวจใช้ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันกษัติรย์เป็นมูลเหตุในการฟ้อง ซึ่งอาจารย์สมศักดิ์และกลุ่มนิติราษฎร์ได้นำเสนอเพื่อการจัดวางตำแหน่งแห่ง ที่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมที่เหมาะสมนั้น ก็น่าสนใจว่าถ้าเขาถูกดำเนินคดีจริง กฎหมายฉบับนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็น่าจับตาในแง่ที่ว่าสังคมไทยมีการพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ เปลี่ยนไป กล่าวคือ ในช่วงปี 2549 นั้น มีการจัดเวทีของ ASTV ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกๆที่มีการพูดถึงกฎหมายหมิ่นฯ มีนิตยสารฟ้าเดียวกัน และการสัมมนาไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2552 ที่ล้วนพูดถึงกฎหมายตัวนี้ในเชิงการปฏิรูปกฎหมายทั้งสิ้น แต่ในสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ เริ่มมีกลุ่มต่างๆที่พูดถึงการยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และมองว่าเป็นปัญหาซึ่งต้องไปไกลกว่าการปฏิรูป
ยิ่งเมื่อเวลาของการเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึง ก็อาจจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้ยาก หากว่ากฎหมายนี้ยังคงดำรงอยู่และถูกใช้อยู่เพื่อการขจัดศัตรูทางการเมือง
000
“องค์การนิรโทษกรรมสากล(เอไอ)เสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมาย หมิ่นพระบรมฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้ รับการปล่อยตัวโดยทันที”เบนจามิน ซาแวคกี
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมองว่าการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในระยะหลังตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นการบั่นทอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในฐานะที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญานี้ การใช้กฎหมายดังกล่าวนับเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศในแง่ของเสรีภาพ ในการแสดงออก
ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกนี้ ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล อนุญาตให้มีการใช้ข้อจำกัดบางส่วนได้ หากตรงกับเงื่อนไขที่เป็นไปเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยต้องระบุไว้ในกฎหมาย เช่น เพื่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสาธารณะ และเป็นไปเพื่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อปกป้องชื่อเสียงของบุคคล และเอไอมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อรัฐบาลไทยว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสากลดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตีความที่ไม่ชัดเจนและกว้างเกินความเป็นจริงในแง่ของคำ นิยาม การบังคับใช้ และบทลงโทษ ซึ่งเป็นการละเมิดหลักการกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ในการจะพิจารณาคดีคนใดคนหนึ่งว่าเป็นนักโทษทางการเมืองหรือไม่ เอไอจะพิจารณาที่หลักการว่าคนคนนั้นต้องถูกตัดสินว่าผิดด้วยกฎหมายหมิ่นพระ บรมฯ เพียงอย่างเดียว และถ้าหากการกระทำที่ถูกนำมาดำเนินคดี เป็นไปอย่างสันติทั้งวิธีการและเจตจำนงค์ เราจะพิจารณาว่าเขาเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก ด้วย(prisoner of conscience) มีกรณีที่พูดถึงกันเยอะมากคือ กรณีของดา ตอร์ปิโด ซึ่งเอไอมองว่าเธอเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมฯ แต่หากจะมองว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึกหรือไม่ ตรงนี้อาจยังไม่ชัดเจนเนื่องจากคำพูดที่เธอพูดบนเวทีปราศรัยในปี 2551 สามารถมองได้ว่ายั่วยุให้เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เรามิได้บอกว่าเธอสมควรได้รับโทษนั้น แต่หากเทียบกับกรณีของจีรนุช เปรมชัยพร หากว่าเธอถูกตัดสินจำคุก เธอจะถูกพิจารณาว่าเป็นนักโทษมโนธรรมสำนึก เนื่องจากข้อหาที่ได้รับคือ การลบโพสต์ที่”จาบจ้วง”ในเว็บบอร์ดประชาไทไม่เร็วเพียงพอ ต่อกรณีของดา ตอร์ปิโด เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองคนอื่นๆในโลก เอไอเรียกร้องให้การดำเนินคดีเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมและโปร่งใส หรือถูกปล่อยตัว
เอไอเสนอต่อรัฐบาลไทยให้หยุดใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมฯ ไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขที่เคารพมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นักโทษมโนธรรมสำนึกที่ถูกจำคุกด้วยกฎหมายหมิ่นฯได้ รับการปล่อยตัวโดยทันที
000
“ในการบังคับใช้ 112 ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่า ผลกระทบของการบังคับใช้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย”
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
เนื่องจากต้นเดือนพฤษภาคมกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับคำร้องจากเครือข่ายราชการและจากภาคประชาชนในกรณีคดีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งในประเด็นนี้ตนเองได้ร่วมประชุมและตรวจสอบไปแล้วหนึ่งครั้งในวันพุธที่ ผ่านมา และอยากจะชี้แจงสองเรื่อง ก่อนอื่น กสม. ไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เป็นองค์กรอิสระ โดยเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในประเด็นแรก กสม. มีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิจริงหรือไม่ และสอง ในฐานะกรรมการสิทธิจะมีบทบาทในการคลี่คลายการละเมิดสิทธิของรัฐดังกล่าวได้ อย่างไรบ้าง ในประเด็นการละเมิดสิทธิฯนี้ ต้องพิจารณาใน 2 ระดับ
ประเด็นแรก มองในแง่การบังคับใช้กฎหมาย 112 ซึ่งคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญและจุดอ่อนของหน่วยงานของรัฐและในการละเมิดสิทธิ ในมาตรานี้ มีปัญหาในการบังคับใช้ เนื่องจากใครก็สามารถฟ้องร้องได้ สรุปก็คือเป็นเครื่องมือในทางการเมืองของกลุ่มอำนาจในทางสังคมเพื่อกำจัดผู้ มีความคิดเห็นตรงข้ามในทางการเมือง หรือแม้ในการยกสถาบันฯเพื่อสรรเสริญเยินยอเพื่อผลประโยชน์ในทางการเมืองของ ตนเอง ในกรณีของ อาจารย์สมศักดิ์ที่ถูกออกหมายเรียกไปสอบสวน ถือว่าส่งผลกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ หรือคุณสมยศซึ่งถือว่าเป็นแถวหน้าในทางประชาธิปไตยที่ต้องการเรียกร้องความ เป็นประชาธิปไตย แต่กลับถูกจับกุม ฉะนั้นต้องตรวจสอบการจับกุมทั้งสอง ว่าเป็นวิธีทางการเมืองที่กลุ่มที่มีอำนาจในสังคมต้องการกำจัดคนที่คิดเห็น ต่างหรือไม่
“การใช้มาตรการทางกฎหมาย และการบังคับใช้นี้ ทำให้เกิดการลิดรอนและละเมิดสิทธิเสรีภาพ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้สังคมไทยตกอยู่ในความเงียบและตกอยู่ในความกลัว” จากการจัดเสวนาที่มหาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็มีความหวดกลัว ถึงกับกล่าวกับอาจารย์ผู้จัดว่า ช่วยรักษามหาวิทยาลัยด้วย ขนาดตนเองจัดเวทีที่กรรมการสิทธิฯ วันพุธที่ผ่านมาตนก็ยังถูกตักเตือนด้วยความหวังดี
“แต่ถ้าสังคมไทยตกอยู่ในความเงียบและความกลัว การละเมิดจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมาก และอำนาจมืดจะเข้ามาครอบงำในสังคมไทย”
จากที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมในเรือนจำกรณีคุณสมยศ และคดีอื่นๆ พบว่ามีการละเมิดสิทธิอื่นๆด้วย เช่น สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เนื่องด้วยข้อกล่าวหามาตรา 112 และเผาศาลากลางนี้มีความรุนแรง ฉะนั้นทัศนคติของกระบวนการยุติธรรมจะมองว่าห้ามประกันตัว ทั้งๆที่หลายคนเป็นผู้ที่ตื่นตัวทางการเมือง เช่นในกรณีของอากง 112 ได้รับการประกันตัวในศาลชั้นต้น แต่กลับ ไม่ได้รับการประกันตัวในศาลอุทธรณ์ ปัญหาทำให้สิทธิในการประกันตัวถูกละเมิด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น
“ในการบังคับใช้ 112 ดูเผินๆอาจจะดูเหมือนกับเป็นการจงรักภักดีหรือต้องการรักษาสถาบัน แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่า ผลกระทบของการบังคับใช้ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการประกันตัว สิทธิในการกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตและความปลอดภัย สิทธิในการแสดงความคิดเห็นในฐานะพลเมือง ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันมาก”
ในประเด็นที่สอง การเพิ่มบทลงโทษจาก 7 ปี เป็นสูงสุด 15 ปีตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึง ปัญหาของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจละเมิดพื้นที่สาธารณะของภาคสังคม
ในกรณีนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ต้องตรวจสอบและคุ้มครอง และ ได้ไปเยี่ยมคุณสมยศที่เรือนจำ และได้เชิญอ.สมศักดิ์ มาให้ข้อเท็จจริงในเรื่องการบังคับใช้ 112 นอกจากนี้ ในกระบวนการการตรวจสอบ ได้เชิญหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น DSI ตำรวจ กระทรวงยุติธรรม และกองทัพบกมาให้ข้อมูล รวมถึงขอข้อมูลในกรณีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรา 112 และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับคุ้มครองปกป้องการละเมิดสิทธิในกรณีมาตรา 112 ซึ่งจะนำกรณีที่เกี่ยวข้องนำเสนอในเชิงนโยบายในการแก้ไขกฎหมายต่อไป เพื่อให้สอดคล้องและเป็นการประคองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในอนาคต
000
“ในประเทศนี้ คนที่มีอำนาจ มัวทำงานแต่เรื่องของตนเอง ผู้คนไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมในการบอกความจริงกับกษัตริย์”
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
หากสถาบันกษัตริย์จะดำรงรักษาอยู่ไว้ สถาบันจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น กรณีของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินราว 30% ในกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่มีใครสามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังไล่รื้อประชาชนราวกับหมาแมว เพื่อนำที่ดินไปสร้างตึกบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และก็ไม่มีใครรู้เรื่องดังกล่าวเลย
สาเหตุที่สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ถูกแจ้งความเนื่องจากวิจารณ์ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และถึงแม้ว่าเขาจะเป็นมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์อะไรก็ตามแต่ สิ่งที่สมศักดิ์เสนอนั้นสมควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์
อย่างไรก็ตาม ในประเทศนี้ คนที่มีอำนาจ มัวทำงานแต่เรื่องของตนเอง ผู้คนไม่มีความกล้าหาญทางศีลธรรมในการบอกความจริงกับกษัตริย์ หากเราดูเอกสารวิกิลีกส์ จะเห็นว่าแม้แต่อานันท์ ปันยารชุน, สุรยุทธ จุลานนท์ หรือสิทธิ เศวตศิลา ซึ่งเป็นองคมนตรี ก็พูดเรื่องนี้กับทูตต่างประเทศ แต่ทำไมไม่ยอมกล้าพูดเรื่องนี้กับกษัตริย์ด้วยตนเอง
ในศาสนาพุทธ สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตที่พึงมี คือกัลยาณมิตร คือเพื่อนที่พูดความจริงอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่ากษัตริย์เราไม่มีกัลยาณมิตร เราต้องพูดความจริง เพื่อเป็นการรักษาการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์
ตอนนี้มีคนจำนวนมากขึ้นๆไม่ต้องการมีสถาบันกษัตริย์ คนที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ จึงจำเป็นต้องพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผย หากพูดตอนนี้ยังไม่ช้าเกินไป แต่ถ้าอีกในปีหรือสองปีก็อาจจะเป็นการช้าเกินไป
******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง
-ชาวอเมริกันเชื้อสายไทยตกเป็นเหยื่อ112รายล่าสุด
-นักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ