ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 26 January 2011

ประชาวิวัฒน์ ทำเพื่อคนจนหรือหาเสียง

ที่มา มติชน



โดย สมพันธ์ เตชะอธิก



การพัฒนาแบบคุณพ่อรู้ดี ประชาชนอยากได้อะไร รัฐบาลจะจัดการให้ เป็นของขวัญ 9 ชิ้น ที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำให้กับผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แท็กซี่ คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย จะได้เข้าถึงสินเชื่อ มีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์และแผงลอย ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 90 หน่วยฟรี น้ำมันดีเซลราคาไม่สูงไปกว่าลิตรละ 30 บาท ลดต้นทุนทางการเกษตร และลดอาชญากรรม 20%

นโยบายหรือมาตรการหรือโครงการนี้ รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกว่า "ประชาวิวัฒน์" โดยที่ก่อนหน้านี้ได้เลียนแบบนโยบายประชานิยม คือ จ่ายเช็คให้ผู้มีรายได้น้อยคนละ 2,000 บาท จ่ายเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาท จ่ายเงินเดือนให้ อสม.คนละ 600 บาท ประชาชนใช้น้ำ ไฟฟ้า ขึ้นรถเมล์ รถไฟ ฟรี ฯลฯ

ข้อดีของนโยบายประชาวิวัฒน์ที่รัฐบาลนำมาแปลว่ามาตรการหรือโครงการที่จะทำให้กับประชาชน คือ การที่รัฐบาลชุดนี้คิดถึงกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ อันหมายถึงคนยากจน คนด้อยโอกาส นับเป็นเรื่องดีที่กลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการดูแลมากขึ้น

ข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปเพื่อคนยากลำบากแทนที่จะเอื้ออำนวยให้กับนายทุนธุรกิจหรือคนรวยๆ ขึ้น รวมทั้งมีโอกาสคอร์รัปชั่นได้น้อยจาก 9 มาตรการ 9 ของขวัญ ผิดกับโครงการถนนไร้ฝุ่น การเช่ารถเมล์ การจัดซื้อรถดับเพลิง เป็นต้น โครงการเหล่านี้มีโอกาสคอร์รัปชั่นมากกว่าและประชาชนได้รับประโยชน์น้อย

ข้อไม่ดีของนโยบายประชาวิวัฒน์ คือ การที่รัฐบาลกลางกำหนดโครงการเอง โดยอ้างว่ามาจากการสำรวจปัญหาและความต้องการของกลุ่มคนด้อยโอกาส แต่ไม่ได้ให้พวกเขามีส่วนร่วมวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ลักษณะนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพิงรัฐบาลมากเกินไป จนอาจกลายเป็นขอทานรอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลแทนที่จะพึ่งตนเอง โดยสามารถจัดการเงิน หนี้สิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ การดูแลตนเองและครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้นมาด้วยตนเอง โดยมีรัฐบาลคอยเอื้ออำนวยอาชีพ รายได้ การมีงานทำ การฝึกฝนอาชีพและพัฒนาทักษะชีวิตให้สามารถจัดการการเงินด้วยตนเองและครอบครัวได้

ข้อไม่ดีอีกข้อหนึ่งของประชาวิวัฒน์ คือ การซื้อเสียงล่วงหน้าโดยใช้งบประมาณของรัฐบาล ความหมายของการซื้อเสียงไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่ช่วงฤดูกาลเลือกตั้งที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมและนิยามการซื้อเสียงที่ครอบคลุมถึงการแจกเงิน แจกสิ่งของ ขึ้นเงินเดือนไม่เหมาะสม โดยใช้งบประมาณของรัฐในช่วงที่เป็นรัฐบาลด้วย

คำว่าประชาวิวัฒน์เป็นวาทกรรมอีกคำหนึ่ง ซึ่งฟังดูดีแต่ก็เดินตามแนวทางความต้องการตามรู้สึกอยากของประชาชน ไม่ใช่ความต้องการการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองหรือช่วยเหลือตนเองระยะยาวได้

ประชาวิวัฒน์ น่าจะหมายถึง การปรับเปลี่ยนตนเองของประชาชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการจัดการการเงินให้สามารถจัดการหนี้สินได้ ไม่ใช่ไม่ให้เป็นหนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องกู้หนี้ยืมสินเท่าที่ตนเองสามารถใช้คืนและเหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้

รัฐบาลควรพัฒนาประชาชนด้วยการวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ กำหนดแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวประชาชนเอง โดยรัฐบาลจะคอยเอื้ออำนวยเงินทุน ความรู้ ทักษะวิชาชีพและอื่นๆ ที่จำเป็น เพราะถ้าขืนรัฐบาลนำงบประมาณแผ่นดินมาจัดทำโครงการเพื่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

คนยากจนและคนด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร กรรมกร แท็กซี่ คนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย ผู้ประกอบการรายย่อย ฯลฯ ก็ยังคงยากจน มีรายได้น้อย มีหนี้สินหมุนเวียนมาก ไม่สามารถจัดการการเงิน การใช้จ่าย จนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง และยังคงเป็นเบี้ยล่างให้นักการเมืองใช้หาเสียงโดยไม่มีความจริงใจกับการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงตลอดไป

ประชาวิวัฒน์ผนวกกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน นับเป็นเกมการเมืองหาเสียงอันช่ำชองของพรรคประชาธิปัตย์ในการที่กลับมาเป็นรัฐบาลสมัยหน้าผสมกับพรรคภูมิใจไทย

อย่างไรก็ตาม การทำจริงให้กับคนด้อยโอกาสและคนยากจน ก็ยังเป็นเรื่องที่ควรทำต่อเนื่องและพอยอมรับกันได้บ้าง ส่วนคะแนนเสียงจะได้จริงหรือไม่? ก็เป็นเรื่องที่นักการเมืองและประชาชนรู้แก่ใจดีว่า

ไม่มีพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ดีที่สุด มีแต่เพียงพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เลวน้อยที่สุด