ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 30 January 2011

อุ๋ย-ชี้หลงทาง! ห่วงดอกเบี้ย-ก็เจ๊ง 

ที่มา บางกอกทูเดย์





ธนาคารโลกฉีกหน้า'มาร์ค'
'กรณ์'ร้องจ๊ากหน้าแตกยับ!!
ราคาคุย กับของจริง มักจะเป็นเรื่องที่สวนทางกันเสมอ โดยเฉพาะในแวดวงการเมือง

อย่างเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ต้องการที่จะใช้เป้นหนึ่งในหัวข้ออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป้นผู้นำทีมถล่มว่า เป็นความล้มเหลวของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

แต่ตามประสารัฐบาล ก็จะเป็นที่จะต้องตีปี๊บเอาไว้ก่อนว่าเศรษฐกิจดี รัฐบาลแก้ไขปัญหาสำเร็จ

ซึ่งในแง่ของการเมืองระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรครัฐบาล ก็หนีไม่พ้นต้องหาข้อมูลเหตุผลมาหักล้างกันว่าใครผิดใครถูก

นอกจากจะกระทบเครดิตทางการเมืองกันแล้ว ยังถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทางการเมืองด้วย เพราะหากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล แล้วไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศชาติและประชาชนดีขึ้นมาได้ ก็ป่วยการที่จะเป็นรัฐบาลต่อไป

งานนี้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จึงต้องพยายามประโคมสุดฤทธิ์ว่าเศรษฐกิจดี

ดังนั้นการที่เจอ ธนาคารโลก แถลงรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 54 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้น จากกรุงวอชิงตัน ดีซี. แล้วมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2554 นี้ จะขยายตัวแค่ 3.2%

ลดลงจากปีที่แล้ว 2553 ที่ขยายตัวได้ 7.5%

ที่สำคัญยังระบุด้วยว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในภูมิภาคเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ก็จ๊ากในทันที... อุตส่าห์สร้างประติมากรรมน้ำลายเอาไว้เยอะ ธนาคารโลกมาทำแบบนี้ได้อย่างไร?

เนื่องจากตรงนี้ในทางการเมืองแล้วไม่เพียงเป็นการฉุดภาพลักษณ์ของรัฐบาล แต่ยังทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สั่นไหวมากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ด้วย

เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลอดมาที่รัฐบาลพยายามบอกว่าเศรษฐกิจไทยยังคงดีอยู่นั้น ภาคธุรกิจไทย ผู้ประกอบการธุรกิจ ล้วนรู้อยู่แก่ใจว่าเศรษฐกิจดีจริงหรือไม่

ที่บอกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”นั้น เป็นการโจมตีทางการเมือง หรือว่าเป็นข้อเท็จจริง!!!

ตรงนี้แหละที่ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สะเทือนไปไม่น้อยกับมุมมองของธนาคารโลก

ที่สำคัญธนาคารโลกนั้นไม่ได้ซี้ซั้วทำนาย หรือไม่ได้วิเคราะห์เข้าข้างใคร แต่เป็นการวิเคราะห์ตามเหตุผลและปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง ซึ่งนายเฟรดเดอริโก จิล ซานเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่าการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลดลงจากปีก่อนมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งฐานการเติบโตปีที่แล้วเป็นตัวเลขที่สูง

และส่วนหนึ่งไทยยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์หนี้สาธารณะในยุโรป ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและกระทบต่อการท่องเที่ยวที่จะมาไทย

ปัญหาเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยเสี่ยง หากเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ความต้องการการใช้เงินของคนในประเทศขยายตัวได้น้อยกว่า แต่ก็เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้

นอกจากนี้การเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลกระทบต่อประเทศ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่มีเหตุรุนแรงในปีนี้

สำหรับเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะเติบโตได้ 3.3 % ชะลอตัวจากปีก่อนที่ระดับ 3.9% และระดับรายได้ของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งรวมถึงไทยด้วยนั้น จะเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำ

ส่วนประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างยุโรป ยังเสี่ยงต่อภาระหนี้สินครัวเรือน และการว่างงานสูง ส่วนประเทศกำลังพัฒนา 9 ประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยยังเสี่ยงในเรื่องมีเงินทุนไหลเข้าจากการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นอย่างฉับพลัน เสี่ยงต่อการเกิดภาวะฟองสบู่

เหตุผลชัด แต่เมื่อจี้ใจดำกันเกินไป รัฐบาลจะทนรับได้อย่างไร

จะแก้ต่างเองก็เชื่อว่าไม่สามารถที่จะเทียบน้ำหนักกับธนาคารโลกได้ แถมคนส่วนใหญ่ก็ต้องมองว่า แน่นอนยังไงก็ต้องแก้ตัวอยู่แล้ว เพราะขืนไม่แก้ตัว คะแนนนิยมก้จะมีปัญหา ยิ่งปีนี้จะต้องมีการเลือกตั้งด้วย จะให้ใครมาฉุดคะแนนไม่ได้

จึงต้องให้เป็นหน้าที่ของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้ออกมาอุ้มรัฐบาลว่า ธนาคารโลก จะมองอย่างไรก็ตาม แต่ทาง ธปท.ยังมองว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวที่ 3-5% และมีโอกาสสูงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะค่อนมาที่ 4% ด้วยซ้ำ

แต่ก็ยอมรับว่ายังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีด้วยเหมือนกัน

และไม่ว่าอย่างไรก็อดเตือนรัฐบาลไม่ได้ว่า รัฐบาลควรเน้นไปที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

“นโยบายประชาวิวัฒน์ 9 ข้อของรัฐบาลคงจะไม่มีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีผลต่อการบริโภคน้อยมากเพราะในแง่ของเม็ดเงินงบประมาณโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 5-9 พันล้านบาท ก็ไม่ได้มากอะไร ขณะเดียวกัน ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในกรอบที่วางไว้ที่ 2-3% ในปีนี้”ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าว

แน่นอนว่าภาคธุรกิจจะต้องเข้าใจว่า บรรยากาศการเมืองเช่นนี้ แบงก์ชาติจะสามารถทำอะไรได้อิสระแค่ไหน

เพราะในมุมมองของภาคธุรกิจ ยังคงรู้สึกว่าแม้จะดูเหมือนว่าปัจจัยการลงทุนภาคเอกชนดูเหมือนจะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจะปรับตัวดีขึ้น แต่หากดูที่ค่าดัชนีซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าการลงทุนภาคเอกชนยังคงอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ

ขณะที่ปัจจัยการส่งออก แม้ค่าดัชนีจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการส่งออกยังคงอยู่ในสถานะที่ดี แต่เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกลับมีทิศทางที่ลดลง เรียกว่ายังไงก็ยังเป็นจุดที่ต้องระวังอยู่ดี

นอกจากนี้ ยังมีอีก 6 ปัจจัยที่จะส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย 1.ราคาน้ำมัน 2.ปัจจัยด้านการเมือง 3.อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 4.วิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป 5.อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ และ6. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท

ที่สำคัญ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้มีการออกมาให้แง่คิดเตือนสติว่า ให้ระวังภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาราคาสูงขึ้น แต่การแก้ปัญหาควรจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหยุดยั้งด้วยการกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันที่เข้มงวดขึ้น

และที่น่าห่วงคือ กลัวว่านักทฤษฎีบางคนที่นั่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะใช้นโยบายดอกเบี้ย

ปัญหาที่ต้องคิด คือ การขยายตัวปีนี้อาจต่ำกว่าปี 2553 ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็ยังไม่ฟื้นตัว แล้วทำไม ธปท.ต้องห่วงเงินเฟ้อมากในเมื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้พุ่งแรง ซึ่งการจะไปใช้นโยบายดอกเบี้ยจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

“ถ้า ธปท.เป็นห่วงว่าเงินเฟ้อจะหลุดกรอบเป้าหมายก็ควรเปลี่ยนกรอบหมายเงินเฟ้อเป็น 2-4.5% จากปัจจุบันที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5-3% ซึ่งระดับที่ 4.5% ยังถือว่าเป็นเงินเฟ้ออ่อนๆ จะไปแก้ดอกเบี้ยติดลบทำไม ในเมื่อเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหา และหากดูสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นก็มาจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและราคาพืชผลที่ผลต่อเงินเฟ้อประมาณ 2-3%”

และอีกคนที่พูดตรงก็คือ นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหน ถ้าทำให้เศรษฐกิจโตไม่ถึง 5% ถือว่าฝีมือไม่ถึง

พร้อมกับเตือนว่าอย่าใช้นโยบายมหภาคไปรับใช้นโยบายบางอย่างที่ต้องไม่เป็นนักปฏิบัติการประชานิยม หากยังคิดถึงแต่เรื่องนี้จะเลิกยาก และจะถลำลึก... ที่สุดรัฐบาลจะกลายเป็นกรมประชานุเคราะห์ยักษ์

ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานต้องระวังเพราะจะพุ่งสูงขึ้นไม่มีที่สิ้นสุด การขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ได้แก้ปัญหา แต่นโยบายที่จะแก้ปัญหาได้ รัฐบาลคงต้องหาทางเพิ่มผลผลิต ซึ่งประเด็นที่ต้องระวังให้มาก คือ นโยบายมหภาคติดคุกประชานิยม เลิกยากและจะกลายเป็นตัวแปรทางการเมือง เกิดวัฒนธรรมร้องขอ

เช่นเดียวกับนายกิตติ ลิ่มสกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลอย่าไปทำเรื่องจิ๊บจ๊อยประเภทไข่ไก่ น้ำมัน ต้องไปทำที่โครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ คาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ 3.5-4.5%

และมองว่ารัฐบาลควรจะเลิกอุดหนุนราคาพลังงาน แม้จะเสียคะแนนนิยมไปบ้าง ไม่อย่างนั้นประเทศจะไปไม่รอด

เจอบรรดานักวิชาการ และเจอข้อมูลจริงแบบนี้ รัฐบาลก็สะเทือนไปไม่น้อยเหมือนกัน ซึ่งภาวะแบบนี้หากโดนชำแหละไม่ไว้วางใจในเรื่องเศรษฐกิจ ก็น่าห่วงว่าภาพลักษณ์ของทั้งนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ จะเหลืออยู่แค่ไหน

แบบนี้ระวัง “มาร์ค” จะเสียท่า “มิ่ง”ในทางการเมืองก็รอบนี้แหละ