ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 25 January 2011

ปมไฟใต้ ที่รัฐแก้ไม่ออก

ที่มา Thai E-News


สุดท้าย คือการจัดตั้งในระดับ มณฑล หรือกลุ่ม วีลายะห์ เรียกว่า “กัส” ซึ่งถือเป็นเขตอำนาจที่ใหญ่ที่สุดใน “รัฐปัตตานีดารุสลาม” มีตำแหน่งหน้าที่ผู้ควบคุมที่เรียกว่า “กัส” เช่นเดียวกัน และมีผู้บัญชาการทหารประจำมณฑลที่เทียบเท่าตำแหน่งแม่ทัพภาคด้วย



โดย ปาแด งา มูกอ
25 มกราคม 2554

จากข้อมูล “เขตงาน” ที่ระบุในรายละเอียด เกี่ยวกับการปฏิบัติการของกลุ่มที่รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐในปัจจุบันเรียกว่า “กลุ่มก่อความไม่สงบ” นั้น ..

หากศึกษาในรายละเอียด และวิเคราะห์ถึงความเป็นจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมานั้น จะปรากฏเห็นชัดว่า การปฏิบัติการของกลุ่มลึกลับ (กลุ่มผี) จะพัฒนารุดหน้าไปมากในทุกๆด้าน

ไม่ว่าทางด้านหฤโหด อำมหิต และความทันสมัยในยุคสงครามไซเบอร์ ที่หน่วยงานภาครัฐตามไม่ทัน

การพัฒนาดังกล่าว มิใช่พัฒนาในด้านกำลังรบหรือการมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย แต่เป็นการพัฒนาโดยไม่ใช้อำนาจทางทหาร แต่เน้นกลยุทธ์ที่ว่า "หากทำให้มวลชนเชื่อหรือศรัทธาไม่ได้..ให้ใช้วิธีทำให้กลัว"

อันเป็นการปูทางเพื่อเตรียมการวางโครงสร้างการจัดตั้งองค์กรมวลชนขึ้น "ทับซ้อน" กับการปกครองของรัฐไทย โดยเริ่มจากหมู่บ้าน,ตำบล ไปสู่อำเภอ,จังหวัด จนถึงภาค

ประเด็นดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูง โดยศึกษาจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆที่ผ่านมา ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๒

ประเด็นสำคัญ แล้ว ใคร? และ กลุ่มใด? ที่สามารถวางโครงสร้างการจัดตั้งองค์กรมวลชนขึ้นมา “ทับซ้อน” กับการบริหารงานของภาครัฐได้

นับเป็นปัญหาที่ท้าทายสำหรับหน่วยงานของภาครัฐ ที่เพียบพร้อมไปด้วยกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณอันมหาศาลเป็นอย่างยิ่ง

การจัดตั้งในระดับหมู่บ้านหรือระดับชุมชน ที่เรียกว่า “อาเยาะห์” จะมีการจัดหา “ผู้นำอาเยาะห์” ขึ้นมาคนหนึ่งและจัดตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายอันประกอบด้วย

1. ฝ่ายเปอมูดอ (เปอนือรางัน) ทำหน้าที่ควบคุมพลังของกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน/ชุมชน บางหมู่บ้านมีการจัดกิจกรรมกีฬา ตั้งทีมฟุตบอล นอกจากได้รวบรวมสมัครพรรคพวก เกาะแน่นเป็นกลุ่มกันแล้ว ยังเป็นการฝึกเรื่องพละกำลังด้วย

ส่วนการฝึกการติดอาวุธนั้นได้กระทำกันก่อนแล้ว

2. ฝ่ายอูลามะ (เปออิสตีฮารัน) หรือผู้รู้ ความจริงตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่เป็นโครงสร้างปกติของการรวมกลุ่มในศาสนาอิสลาม ที่จะให้เกียรติผู้รู้มหาคัมภีร์อัลกุรอาน และกลุ่มขบวนการได้นำมาใช้เป็นตำแหน่งรวบรวมจิตวิญญาณของมวลชน เพื่อตัดสินชี้ขาด หรือบิดเบือนหลักคำสอนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของขบวนการ

และ ทำพิธีซูเปาะ(สาบาน)ให้กับเหล่ากองกำลัง

3. ฝ่ายลอจิสติค (แซแปนัน) หรือฝ่ายส่งกำลังสนับสนุน ทำหน้าที่ดูแลและสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้เครือข่าย อาทิ การเก็บเงินจากมวลชนคนละ 1 บาทต่อวัน สร้างสหกรณ์ชุมชน รณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผัก ทั้งนำมาบริโภคกันภายในและส่งขาย เพื่อนำรายได้เข้ามาสู่ อาเยาะห์ รวมทั้งการสนับสนุนให้มวลชนประกอบธุรกิจส่วนตัว และปันผลส่วนหนึ่งเข้าสู่กระบวนการ

ที่ถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่เป็นพิเศษ คือ ร้านซ่อมมอเตอร์ไชค์ในหมู่บ้านต่างๆ ที่เปิดร้านเพื่อบังหน้าและนำรายได้เข้าสู่ อาเยาะห์ แล้ว ส่วนหนึ่งของร้านซ่อมมอเตอร์ไชค์เหล่านี้ ด้านหลัง มีการประกอบวัตถุระเบิด เพื่อมอบให้กลุ่ม RKK นำไปใช้ปฏิบัติการด้วย

ทั้งหมดเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองของ BRN-Coordinate นั่นเอง

4. ฝ่ายเหรัญญิก (กืออาวารัน) ที่ทำหน้าที่ควบคุมค่าใช้จ่ายของเครือข่าย

นี่คือภาพรวมของเครือข่ายในระดับ อาเยาะห์ หรือระดับ หมู่บ้าน ที่นอกเหนือจะยึดกุมอำนาจทางการเมืองแล้ว แต่ละ อาเยาะห์ จะมี กองกำลัง RKK ประจำอยู่ประมาณ 6 คน ซึ่งทำหน้าที่กดดัน คุกคาม ข่มขู่และลอบสังหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นตัวแทนอำนาจรัฐไทย ให้ยอมจำนนตกอยู่ภายใต้แนวร่วมในภาวะจำยอมในที่สุด ไม่สามารถแสดงบทบาทของอำนาจรัฐลงสู่ประชาชนระดับรากหญ้าได้

กรณีชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงและเด็กออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่อำนาจรัฐ นี่คือผลงานการขับเคลื่อนของ อาเยาะห์ การจัดตั้งในระดับ ตำบลหรือกลุ่ม อาเยาะห์ ที่เรียกว่า “ลีการัน”


มีหัวหน้าผู้ควบคุมที่ได้รับการแต่งตั้งเรียกว่า “กูมิต” ซึ่งมีฝ่ายต่างๆ ที่ถูกแต่งตั้งคล้ายกับระดับ อาเยาะห์ อีกทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมองค์กรในระดับ อาเยาะห์ อีกทอดหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ในระดับ ลีการัน ยังมี ผู้บัญชาการทหารระดับตำบล ซึ่งมีหน่วยทหารคอมมานโดหรือทหารหลักจำนวน 6 คน อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา รวมทั้งยังเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงต่อกองกำลัง RKK

ในแต่ละ อาเยาะห์ การจัดตั้งเขตอำนาจในระดับ อำเภอ หรือกลุ่มลีการัน ที่เรียกว่า “แดอาเราะห์”

มีหัวหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งที่เทียบเท่ากับนายอำเภอ คือตำแหน่ง “สะกอม” และมีผู้บัญชาการทหารในระดับนี้ด้วย

การจัดตั้งในระดับ จังหวัด หรือกลุ่ม แดอาเราะห์รวมกันเรียกว่า “วีลายะห์”

มีตำแหน่งบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเรียกว่า “สะกอมเวล” ประหนึ่งว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในขณะที่ด้านการทหารก็มีผู้บัญชาการทหาร ในระดับนี้อีกตำแหน่งหนึ่ง

สุดท้าย คือการจัดตั้งในระดับ มณฑล หรือกลุ่ม วีลายะห์ เรียกว่า “กัส”

ซึ่งถือเป็นเขตอำนาจที่ใหญ่ที่สุดใน “รัฐปัตตานีดารุสลาม” มีตำแหน่งหน้าที่ผู้ควบคุมที่เรียกว่า “กัส” เช่นเดียวกัน และมีผู้บัญชาการทหารประจำมณฑลที่เทียบเท่าตำแหน่งแม่ทัพภาคด้วย

นอกจากนี้ BRN-Coordinate ยังจัดโครงสร้างเพื่อหลอมรวมงานมวลชนและงานด้านการทหารไว้ที่ตำแหน่ง “ตุรงแง” หรือ “ทหารบ้าน” ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทุกรูปแบบ

ส่วนใหญ่บุคลากรในกลุ่มนี้เป็นเด็กหนุ่มที่ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่สามารถผ่านขั้นตอนไปเป็นนักรบหลักอย่างคอมมานโดหรือกองกำลังติดอาวุธประจำหมู่บ้านอย่าง RKK ได้ แต่ได้ทำ พิธีซูเปาะ (สาบานตน) มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จึงได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ในงานโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของขบวนการ จัดทำใบปลิว และนำพาตนเองไปอยู่ ในร้านน้ำชาประจำหมู่บ้าน เพื่อพูดชักจูงใจและสร้างภาพอันเหี้ยมโหดอำมหิตของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดอาการหวาดกลัวและเกลียดชัง ในที่สุดนำไปสู่ความร่วมมือกับขบวนการ

มากไปกว่านั้น บางส่วนของ “ตุรงแง” ที่เข้ามาให้ความร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่รัฐจนได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ได้สวมโอกาสดังกล่าว ในการปล่อย ข่าวลวง ชี้นำ บิดเบือน และเบี่ยงเบนข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความไขว้เขวหรือเข้าใจผิด อาทิ การใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มบุคคลหรือสถาบันทางสังคม เช่น ปอเนาะ มัสยิด หรือกลุ่มประชาชนที่เป็นกลาง เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังปิดล้อมหรือตรวจค้นกลับจะเป็นการผลักกลุ่มบุคคลหรือสถาบันทางสังคมเหล่านี้ ไปสู่ความร่วมมือกับขบวนการและต่อต้านต่อสู้กับอำนาจรัฐในที่สุด

“ตุรงแง” ยังมีหน้าที่หลักอีก 3 ประการ ดังนี้

1.สืบข่าวความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐ และสมาชิกใน อาเยาะห์ ทุกคนที่มีพฤติกรรมเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งพฤติกรรมของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำศาสนาในหมู่บ้านจัดตั้ง (อาเยาะห์)

2.ช่วยเหลือสนับสนุนการปฏิบัติการทางการทหารแก่กลุ่มนักรบ ด้วยการจัดหาอาวุธจากแหล่งซุกซ่อนใน อาเยาะห์ หรือจัดเก็บอาวุธที่ใช้ปฏิบัติการและอาวุธที่ยึดได้จากเจ้าหน้าที่ไปเก็บซุกซ่อนไว้ ณ แหล่งซุกซ่อนอาวุธในพื้นที่ อาเยาะห์

3.ปฏิบัติการขัดขวางเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การปฏิบัติการของกลุ่มนักรบประสบความสำเร็จ เช่น การตัดต้นไม้ขวางถนน โปรยตะปูเรือใบ ขัดขวางการไล่ติดตามหรือส่งกำลังมาสนับสนุนของเจ้าหน้าที่รัฐ

นี่คือบทบาทหน้าที่อันสำคัญของ “ตุรงแง” ที่สร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด

********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-ตุรงแง” คืออะไร? ใคร?คือ “ตุรงแง” ใครจุดไฟใต้ ? ปมที่รัฐคิดไม่ออก! บอกไม่ถูก!

-ไฟใต้่ที่รัฐไม่กล้ามอง ไม่กล้าแก้ และไม่กล้าพูด! ..นโยบายที่จะให้ “ทำงานแข่งกัน” เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี ยศ,ตำแหน่ง,เงินเดือน ที่สูงขึ้น เป็นเดิมพัน จึงกลายเป็น “ทำงานปัดแข้งปัดขากัน” ท้ายสุดกลายเป็น “การทำลายล้างกัน”ในที่สุด มิฉะนั้นแล้วจะมีคำว่า “เกลือเป็นหนอน,หนอนบ่อนใส้ หรือ มีใส้ศึก ” เกิดขึ้นในเหตุการณ์บุกทะลวงฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ ในครั้งนี้