ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 26 January 2011

วิสา คัญทัพ เขียนถึง ธีรยุทธ บุญมี

ที่มา Thai E-News


คราวนั้นทำให้เกิด “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” เคลื่อนไหวจนทั้งคุณธีรยุทธ ผมและเพื่อนรวม 13 คนถูกจับเป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร จากนั้นเป็นต้นมา ผมก็สนิทสนมกับ ธีรยุทธ บุญมี ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง


โดย วิสา คัญทัพ
ที่มา เฟซบุ๊ควิสา คัญทัพ


ผมเคยเขียนถึงธีรยุทธ บุญมีไว้ในคอลัมน์ "เราต่างมาจากทั่วทุกสารทิศ" ในหนังสือ ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ เมื่อร่วมสองปีที่ผ่านมา

อ.สมศักดิ์ เจียมฯ และเพื่อนพ้องน้องพี่หลายคนอาจไม่ได้อ่าน จึงคัดมาให้อ่านกันย้อนหลังโดยมิได้ปรับปรุงอะไรเพิ่มเติม ด้วยเห็นว่าสอดคล้องกับบรรยากาศที่ อ.สมศักดิ์พูดถึง สู้ตอนหนุ่ม กับสู้ตอนแก่ครับ (อ่าน สมศักดิ์ เจียมฯเขียนถึงทองใบ ทองเปาด์ )

ธีรยุทธ บุญมี “ไม่เคยรับรู้ สนับสนุน และเห็นชอบกับการทำรัฐประหาร”



ธีร ศาสตร์สดับทั้ง สุนทรี

ยุทธ ศิลปะกวี ประดับสร้าง

บุญ ทำก่อกรรมดี บริสุทธิ์

มี สุขอย่ารู้ร้าง รุ่งรุ้ง เรืองโพยม



ผมรู้จัก ธีรยุทธ บุญมี ก่อน 14 ตุลาคม 2516 เมื่อผมถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงพร้อมเพื่อนนักศึกษาเก้าคน ผมกับบุญส่ง ชเลธร เป็นคนเดินทางไปพบเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาในสมัยนั้นคือ คุณธีรยุทธ ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาฯ

ไปเพื่อขอให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา เนื่องจากทำหนังสือ “มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ” อันมีข้อความบางส่วนกระทบกระเทือนผู้มีอำนาจเผด็จการ

ศูนย์นิสิตฯ นำการเคลื่อนไหวชุมนุมนักศึกษาประชาชนเรือนหมื่น ซึ่งนับว่ามากที่สุดเป็นครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สำคัญได้รับชัยชนะ นักศึกษาเก้าคนได้กลับเข้าไปเรียน อธิการบดีรามฯต้องพ้นจากตำแหน่ง และ ประเด็นสุดท้ายที่เป็นประหนึ่งสัญญาประชาคมคือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากเผด็จการ

กรณี 21-22 มิถุนายน 2516 คราวนั้นทำให้เกิด “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” เคลื่อนไหวจนทั้งคุณธีรยุทธ ผมและเพื่อนรวม 13 คนถูกจับเป็นกบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร

จากนั้นเป็นต้นมา ผมก็สนิทสนมกับ ธีรยุทธ บุญมี ในระดับที่แน่นอนหนึ่ง (ขออนุญาตใช้ศัพท์ฝ่ายซ้ายที่อธิบายได้ใกล้เคียงที่สุด) หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นักศึกษาบางส่วนที่จบการศึกษาไปแล้วอย่าง คุณประสาร และคุณธีรยุทธก็ก่อตั้ง กลุ่มประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปช.ปช)ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อเนื่อง

ผมก็เข้าร่วมทำงานกับกลุ่มนี้ อภิปราย, ปราศรัย, เดินสาย ไฮปาร์คไปตามม็อบกรรมกรชาวนาต่างๆที่มีขึ้นไม่ขาดสาย

จนสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นมีการลอบฆ่าลอบสังหารผู้นำนักศึกษา ผู้นำกรรมกรชาวนา ผู้นำนักการเมือง พวกเราถูกข่มขู่คุกคามจากอำนาจที่มองไม่เห็นถึงขั้นเอาชีวิต

ไม่มีทางเลือกอีกแล้ว มีทางให้หนีไปสู้อยู่สองทาง คือ หลบไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ หรือหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้กับภัยมืดเผด็จการ

ผมตัดสินใจเข้าป่าซึ่งตอนแรกๆก็ไม่รู้ว่าจะได้เข้าไปพร้อมกับใครอย่างไร ก่อนวันเดินทางไม่นานนักผมจึงรู้ว่าคณะนี้มีพี่ประสาร มฤคพิทักษ์พร้อมภรรยา, คุณธีรยุทธ บุญมีพร้อมภรรยา, และมีพี่ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, คุณมวลชน สุกแสง, น้องในรามฯชื่อวิสุทธิ์หรือ
สหายตรง และลูกหลานอาจารย์ประวุฒิ ศรีมันตะ อีกสองสาว รวมสิบคน

เราเดินทางเข้าป่าทางภาคเหนือ เขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ลงรถจากถนนลาดยางก็ดั้นด้นเดินดงพงป่าด้วยเท้าเหยียบก้าวย่างขึ้นภูลงห้วยข้ามเขาไม่นับลูก รอนแรมอยู่หลายวันกว่าจะถึงจุดพักบนดอยยาวสำนักสหายเล่าเต็ง ไม่ต้องพูดถึงความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และเหงื่อหยดที่มิอาจนับเป็นหยาด

ไม่น่าเชื่อว่าคนหนุ่มคนสาวที่มีชีวิตสุขสบายในเมืองใหญ่อย่างพวกเราจะฝ่าฟันผ่านพ้นไปได้ ผ่านชีวิตเป็นตายร้ายดีมาด้วยกันถึงขั้นนี้จะให้ลืมความรักความผูกพันอันเป็นรอยอดีตร่วมกันได้อย่างไร

ตรงจุดพักกินข้าวเย็นริมถนนลาดยางแห่งหนึ่ง ก่อนถึงจุดนัดหมายที่สหายในป่ามารับ ผมเสนอให้ผู้นำนักศึกษาที่มีชื่อเขียนจดหมาย ประกาศการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธส่งไปให้พวกเราในเมืองแจ้งให้ประชาชนได้ทราบ เหมือนที่อดีตเลขาฯศูนย์ฯอย่างเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ และผู้นำนักศึกษาคนอื่นๆเคยทำมาแล้ว ด้านหนึ่งเพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ด้านหนึ่งเพื่อเป็นกำลังขวัญให้พวกเรากันเอง

จำได้ว่า คุณธีรยุทธไม่เห็นด้วย ก็เลยไม่มีการส่งจดหมายดังกล่าว แต่เมื่อไปถึงสำนัก A 30 ที่มีลุงอุดม สีสุวรรณเป็นหัวหน้าใหญ่ การประกาศการต่อสู้ดังกล่าวก็ทะยอยออกมาเป็นระลอกแล้วระลอกเล่า ชื่อของผมดูเหมือนจะร่วมอยู่ในกลุ่มของคุณธีรยุทธ บุญมี และคุณประสาร มฤคพิทักษ์ นี่แหละ

งานในสำนักแนวร่วม A 30 ผมได้รับมอบหมายให้ทำงานนิตยสาร “สามัคคีสู้รบ” อันมีทีมงานในกองบรรณาธิการสี่คนคือคุณธีรยุทธ บุญมี, คุณสมาน เลือดวงศ์หัด (หรือเลิศวงรัฐ ในปัจจุบัน), คุณประยงค์ มูลสาร และผม

สามัคคีสู้รบ เป็นหนังสือที่ส่งเผยแพร่ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ เพื่อสามัคคีพันธมิตรในแนวร่วมอันหลากหลาย ตอนนั้นมีประเด็นถกเถียงกันว่าพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้อยู่ในฐานะนำแนวร่วม แต่ควรเป็นองค์กรหนึ่งในแนวร่วม ซึ่งมีนโยบายเฉพาะหน้าของแนวร่วมที่จะสามัคคีกำลังรักชาติรักประชาธิปไตยไปเอาชนะรัฐบาลปฏิกิริยาไทย

เวลานั้นจึงมีการตั้ง กป.ชป. หรือคณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตยขึ้นเพื่อเตรียมสร้างแนวร่วมที่เป็นรูปการในอนาคต มี “สามัคคีสู้รบ”เป็นกระบอกเสียง

ธีรยุทธ บุญมี ปัจจุบันยังคงเคลื่อนไหวมีบทบาทเสนอแนะและชี้นำทางการเมืองในประเด็นสำคัญๆเป็นระยะตลอดมาในทุกรัฐบาล โดยทั่วไปก็เป็นที่ยอมรับกันได้ในแวดวงปัญญาชนคนชั้นกลางที่รักความเป็นธรรม อยากให้ระบอบประชาธิปไตย

บ้านเราพัฒนาไปทางที่ดีขึ้นไปเรื่อย ไม่ว่าธีรยุทธ จะออกมาปะทะกับนายกรัฐมนตรีคนไหน อย่างดีก็มีเสียงโต้ตอบออกมาจากนักการเมืองที่ปกป้องรัฐบาลเท่านั้น ไม่เคยล่วงล้ำลามมาสร้างความไม่พอใจให้กับมวลชนที่กว้างขวางเหมือนกับที่กำลังถูกมองในทางลบเช่นทุกวันนี้ ดังที่ธีรยุทธได้กล่าวไว้เองว่า

“ผมก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเผด็จการ ทั้งที่ความเป็นจริง ผมไม่เคยเบี่ยงเบนความคิดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ไม่เคยสนับสนุนระบอบทักษิณ ไม่เคยรับรู้ สนับสนุน และเห็นชอบกับการรัฐประหาร เพราะวันที่ 18 ก.ย.2549 ผมพร้อมค้วยอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และคณบดีอีก 5 คณะได้ร่วมกันประชุมหารือเพื่อหาทางออก โดยเฉพาะข่าวลือที่ว่า จะมีการรัฐประหาร แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะในวันรุ่งขึ้นก็มีการยึดอำนาจ ดังนั้นผมขอยืนยัน ผมไม่เคยใยดีกับตำแหน่งอำนาจวาสนาหลังรัฐประหาร ถือเป็นและได้ทำหน้าที่วิจารณ์ คมช.และรัฐบาลสุรยุทธ์ ให้คลี่คลายวิกฤติและไม่สืบทอดอำนาจ”


ข้อความดังกล่าวโผล่ขึ้นมาในตอนหนึ่งของการกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ตุลาการภิวัตน์กับการรอมชอมในสังคมไทย”

การกล่าวข้อความเยี่ยงนี้ สำหรับผมไม่ถือว่าเป็นคำแก้ตัวใดๆ โดยความที่เคยสนิทสนมเชื่อมั่นศรัทธากันมาก่อน ผมเป็นห่วงสุขภาพของเขาด้วยซ้ำไปเวลาที่ต้องใช้ความคิดหนักๆ ยิ่งการแถลงครั้งล่าสุด เส้นผมบนศีรษะเบาบางลงมาก ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกที่เจ็บช้ำใดๆ ท่านไม่ใยดีกับตำแหน่งอำนาจวาสนาหลังรัฐประหารนั้นถูกควรแล้ว หากทำเหมือนเพื่อนพ้องน้องพี่ของท่านบางคน อาการก็อาจจะหนักไปมากกว่านี้

อันที่จริง 5 ภาวะเสื่อมที่ อ.ธีรยุทธเสนอมา ไม่มีอะไรใหม่ เป็นภาวะเสื่อมที่เห็นกันมานานแล้ว โดยเฉพาะข้ออมาตยาธิปไตยเสื่อมนั้นถูกต้อง ส่วนข้อคุณธรรมเสื่อมนั้นน่าจะไม่ใช่ เพราะไม่มีใครเห็นว่าคอรัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีใครคิดว่า โกงก็ได้ขอให้ทำงาน มีแต่คิดหาทางจะกำจัดคอรัปชั่น และถ้าโกงจริงก็ต้องขึ้นศาลเอาเข้าคุก

ข้อความสามัคคีในบ้านเมืองเสื่อมนั้นมุ่งชี้เป้าไปโทษรากหญ้าโทษประชาชน โดยธีรยุทธชี้ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน เกิดจากทิฐิมานะ ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่เข้าถึงใกล้ชิดมากกว่าชนชั้นนำซึ่งห่างไกลแปลกแยก ผมไม่ทราบว่าชนชั้นนำไหน พรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่ชนชั้นนำหรือชนชั้นนำที่คุณธีรยุทธพูดหมายถึงใคร และทำไมดูถูกประชาชนว่าเลือกผู้แทนด้วยทิฐิมานะ เรื่องภาคการเมืองเสื่อม ภาคสังคมเสื่อม พรรคการเมือง รัฐสภา สถาบันทางวิชาการ...การแตกแยกทางความคิดเห็น ไม่มีใครฟังใคร ไม่มีผู้ใหญ่คอยไกล่เกลี่ยที่ธีรยุทธพูดมาที่จริงก็เป็นเรื่องของพวกท่านทั้งหลายนี่แหละที่ไปรับรองรัฐธรรมนูญปี 50 ของ คมช. เมื่อผู้ใหญ่เปล่งเสียงร้องเพลงเดียวกับ คมช.เยี่ยงนี้ ก็เท่ากับผู้ใหญ่ทำลายคุณค่าของตัวเองลง

ทำไมจึงไม่ได้ฟังสำเนียงไม่เอารัฐธรรมนูญปี 50 ทำไมจึงไม่ได้ฟังสำเนียงต้านรัฐประหาร ทำไมจึงไม่ได้ยินสำเนียงคัดค้านทัดทานพวกกลุ่มพันธมิตรฯจากอาจารย์ธีรยุทธบ้าง

ซ้ำกลับมาบอกว่าอย่ารีบร้อนแก้รัฐธรรมนูญเพราะจะเกิดการเผชิญหน้ากัน อาจารย์ธีรยุทธต้องตะโกนคำว่า ”ไม่เคยรับรู้ไม่เคยสนับสนุนและเห็นชอบกับการรัฐประหาร” ให้ดังกว่านี้หน่อยนะครับ

และตะโกนคำว่า “เอารัฐธรรมนูญเผด็จการออกไป” ส่วนประชาธิปไตยประชาชนนั้นเราต้องร่วมกันเพรียกหาต่อไป.


******
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-สมศักดิ์ เจียมฯเขียนถึงทองใบ ทองเปาด์ การเป็นนักสู้เมื่อหนุ่มสาว กับการยังคงเป็น หรือเพิ่งเป็น เมื่อแก่ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน?