ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 28 January 2011

หมู่บ้านไม่สงบ

ที่มา มติชน



โดย ปราปต์ บุนปาน

(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 มกราคม 2554)

ได้อ่านบทความน่าสนใจ ในหนังสือ "...หมู่บ้าน...ไม่สงบ": ภาพความรุนแรงภาคใต้ในมิติ ชาติ, นานาชาติ และ อนาคต ซึ่งมี อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นบรรณาธิการ

บทความแรกชื่อ "นักรบกลับบ้าน : ประสบการณ์จากสมรภูมิ" โดย พันเอกหญิงพิมลพรรณ อุโฆษกิจ

บทความชิ้นต่อมา คือ "ความรุนแรงในภาคใต้กับความคิดของเด็ก : ศึกษากรณีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ" โดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

พันเอกหญิงพิมลพรรณทำการเก็บข้อมูลจากนายทหารที่เคยเดินทางไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ชายแดนใต้

เมื่อพูดคุยถึงประเด็น "ยกทัพดับไฟใต้อย่างไรไม่ให้แตกแยก"

เจ้าหน้าที่ระดับนโยบายผู้หนึ่งกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องไม่ไป "สะกิดหนอง" ของคนที่มีทัศนคติไม่ดีต่อฝ่ายรัฐ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจกับบุคคลเหล่านั้น

"...เราจะเอายังไง เอาเขาตกทะเลเลยไหม ... โดยพฤติกรรมมันต้องอยู่กับเราแต่ว่าความคิดน่ะมันไม่เปลี่ยนหรอกจนกว่าจะตายไป ถ้าบอกว่าคนพวกนี้ที่เราบอกว่ารู้จัก 20 คนเนี่ย เอาให้ตายหมดนี้ ไม่เกิน 5 วัน แล้วเราได้อะไร ถ้าต้องการเป็นพระเอกอย่างนั้นนะ 2 ปีนี้สงบไปแล้ว แต่สงบปีเดียว"

ด้านซากีย์ก็ขึ้นต้นบทความผ่านคำสัมภาษณ์ขอครูผู้หนึ่ง ถึงเหตุผลซึ่งทำให้เขาตัดสินใจย้ายครอบครัวออกจากพื้นที่สีแดง ในจังหวัดปัตตานี

วันหนึ่ง คุณครูลองถามเด็ก ป.6 ในชั้นเรียนว่า "หากวันนี้มีคนมารับสมัครนักรบพลีชีพเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ มีใครในห้องนี้จะสมัครบ้าง?"

ปรากฏว่าเด็กผู้ชายร้อยเปอร์เซ็นต์ในห้องต่างยกมือขึ้นพร้อมกัน ทำให้คุณครูตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองเฝ้าสอนเด็กกลุ่มนี้มาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไม่มีผลอะไรต่อพวกเขาเลย

ครูท่านนี้จึงทำเรื่องขอย้ายตนเองออกมาจากโรงเรียนแห่งนั้น

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในบทความส่วนที่เหลือ ซึ่งทำการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เด็กนักเรียนในเขตเทศบาลเมือง อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กลับไม่ได้ทำให้พื้นที่ชายแดนใต้กลายเป็นโลกมืดที่ร้างไร้ความหวังจนเกินไป

ดังความเห็นของเด็กหญิงชาวพุทธคนหนึ่งซึ่งมีผู้ปกครองตกเป็น "เหยื่อ" ความรุนแรง

ซากีย์ถามเด็กหญิงคนนั้นว่า ในสถานการณ์รุนแรง หากมีคนเอาปืนมาให้เธอ เธอจะรับเอาไว้หรือไม่?

เด็กหญิงตอบว่า "ไม่รับ เพราะหนูเชื่อว่าการมีปืนจะสร้างปัญหามากกว่าการไม่มีปืน"

แน่นอนว่ากลุ่มผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้วิจัยทั้งสอง คือคนเพียงบางส่วนที่มิสามารถเป็น "ภาพแทน" ของผู้คนทั้งหมดที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างสมบูรณ์

เช่นเดียวกับการคัดเลือกข้อความจากบทความทั้งคู่มาเผยแพร่ในพื้นที่คอลัมน์นี้ ซึ่งย่อมทำได้เพียงแค่การเลือกสรรเอาบางเสี้ยวอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มผู้ให้ข้อมูลบางส่วนมานำเสนอ

แต่นี่ก็อาจเป็นอารมณ์ความรู้สึกชนิดหนึ่งที่คล้ายจะจางหายไปจากความรับรู้ของบางเรา

ยามต้องเผชิญหน้ากับข่าวคราวสถานการณ์ไฟใต้ระลอกล่าสุดด้วยอารมณ์ร้อนระอุคุกรุ่น