หลังจากที่มีการเผยแพร่ "คลิป” เกี่ยวกับคดีการยุบพรรคประชาธิปัตย์และการสอบคัดเลือกเจ้าหน้าที่ ศาลรัฐธรรมนูญออกมา ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญและศาลอื่นๆ ด้วย มีการเสนอให้มีการปฏิรูปศาลทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นที่มาที่ไปของบุคคลากรและองค์ประกอบขององค์กร การสรรหาและการตรวจสอบจากรัฐสภาและประชาชน
อย่างไรก็ตามการปฏิรูปศาลทั้งระบบนั้นเป็นเรื่องใหญ่และต้องถกเถียงกัน อีกมาก เพราะแรงต้านจากองค์กรที่จะถูกปฏิรูปคงมีอย่างแน่นอนและเป็นหนังเรื่องยาว ชนิดหลายตอนจบ แต่ก็ต้องทำเพราะโลกได้หมุนไปข้างหน้ามากแล้วแต่เรายังไปไม่ถึงไหน ทั้งๆที่ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกามีเลือกตั้งผู้พิพากษากันแล้ว แต่ของเราอย่าว่าแต่เลือกตั้งผู้พิพากษาเลยแค่เพียงการตรวจสอบหรือวิพากษ์ วิจารณ์จากประชาชนยังทำได้ยากเลย
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ก็คือ การเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญให้ไปรวมกับศาลอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตัว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางนายเองที่อยากให้ยุบไปรวมกับศาลฎีกาหรือศาลปกครอง เสียให้สิ้นเรื่องหากยังยุ่งนัก ประเด็นการยุบรวมนี้ดูเผินๆอาจจะดูง่ายๆ เพราะแก้กฎหมายเสียก็เป็นอันใช้ได้ แต่อันที่จริงแล้วการมีหรือไม่มีศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็น เรื่องของระบบศาลของประเทศนั้นๆเลยทีเดียว
แต่ก่อนที่จะไปถึงประเด็นที่ว่าไทยเราควรยุบหรือไม่ยุบศาลรัฐธรรมนูญ นั้น เรามาเข้าใจกันเสียก่อนว่าระบบศาลในโลกนี้มีอยู่ ๒ ระบบ คือ ระบบศาลเดี่ยวกับระบบศาลคู่
ระบบศาลเดี่ยว (Single Court System ) หมายถึงประเทศนั้นไม่มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับ กฎหมายมหาชนเป็นการเฉพาะ ซึ่งศาลที่ใช้กฎหมายมหาชนที่ประกอบไปด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองก็ คือศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั่นเอง เมื่อไม่มีการจัดตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ในประเทศที่ใช้ระบบศาลเดี่ยวซึ่งได้แก่ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์(Common Law) ได้แก่ประเทศอังกฤษและประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษก็จะใช้ศาล ยุติธรรมทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองแทน
โดยศาลสูงสุดของแต่ละประเทศก็จะทำหน้าที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้ศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (the U.S. Supreme Court) หรือศาลสูงสุดของรัฐบาลกลาง (the Federal Supreme Court) เป็นศาลรัฐธรรมนูญ อังกฤษใช้ศาลยุติธรรมสูงสุดของอังกฤษ ซึ่งหมายถึง ศาลสภาขุนนาง (House of Lords) และญี่ปุ่นก็ใช้ศาลสูงสุดของญี่ปุ่น (The Supreme Court of Japan) เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของ ศาลปกครองนั้นจะอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมซึ่งอาจจะตั้งเป็นแผนกคดีปกครอง เป็นการเฉพาะหรือในลักษณะศาลพิเศษ(Tribunal)ขึ้นมา แต่ยังสังกัดศาลยุติธรรม
ส่วนประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่ (Dual Court System) นั้น หมายถึงประเทศที่มีการจัดตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน เป็นการเฉพาะแยกอิสระจากศาลยุติธรรมในลักษณะคู่ขนาน ฉะนั้น คำว่าศาลคู่ในที่นี้จึงหมายความถึงคู่ขนานมิใช่ในความหมายของคำว่า”สอง” ประเทศที่ใช้ระบบศาลคู่จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีเพียงสองศาล อาจจะมีมากกว่าสองก็ได้ เช่น ในไทยเรามีทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลทหาร และเช่นเดียวกันคำว่าศาลเดี่ยวก็ไม่จำเป็นต้องมีเพียงศาลเดียว เช่น ไทยเราก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ เราใช้ระบบศาลเดี่ยว แต่เราก็มีทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหาร
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือหากประเทศใดใช้ระบบศาลคู่ก็จะต้องมีศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญ หากประเทศใดใช้ระบบศาลเดี่ยวก็จะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองนั่นเอง ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าขำที่มีการเสนอให้ยุบรวมศาลรัฐธรรมนูญเข้ากับศาล ยุติธรรมโดยยังคงเหลือศาลปกครองไว้
แต่ที่น่าตลกที่สุดก็คือการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่กับศาลปกครอง เพราะโดยศักดิ์แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะเหนือกว่าศาลปกครองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอำนาจหน้าที่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยว่ากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติใด ขึ้นไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยกฎหมายเพียงระดับกฎหมายรองคือกฎหมายในระดับที่ ต่ำกว่าพระราชบัญญัติลงมาเท่านั้น อาทิ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ฯลฯ
ในระดับตัวผู้นำขององค์กรก็เช่นกัน ในงานพิธีต่างๆ ลำดับอาวุโสของตำแหน่งจะเรียงจากประธานศาลฎีกาก่อน ต่อด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจึงมาถึงประธานศาลปกครองสูงสุด ฉะนั้น การที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะยุบรวมศาลฎีกาก็ยังพอฟังได้ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะไปยุบรวมเป็นแผนกหนึ่งของศาลปกครองจึงเป็นข้อเสนอ ที่ตลกเอามากๆ
ในความเห็นของผมนั้น ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการการยุบศาลรัฐธรรมนูญเพราะนอกเหนือจาก เหตุผลที่ว่าประเทศเราใช้ระบบศาลคู่แล้ว ผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี๔๑ศาลรัฐธรรมนูญทำได้ดีพอสมควรในเรื่องของการปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถึงแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยในหลายๆ ประเด็น อาทิ การยุบพรรคการเมืองต่างๆ หรือการตีความในกรณีรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ ฯลฯ เพราะการที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างหลากหลายย่อมทำให้การวินิจฉัย ตีความรัฐธรรมนูญย่อมทำได้ดีกว่าการที่มีที่มาจากแหล่งเดียว
เป็นธรรมดาอยู่เองที่การใช้อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญของทุกประเทศ ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หรือเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการ ใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐ เช่น รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมตลอดทั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการควบคุมตรวจสอบ เป็นต้น
กอปรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและเด็ดขาด มีผลผูกพันบุคคล องค์กร และหน่วยงานของรัฐทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ฉะนั้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องได้รับแรงเสียดทานและวิชามารจากฝ่ายการเมือง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าตัวตุลาการเองจะต้องมีจรรยาบรรณ ความสุจริต ไม่เอาความชอบความชังส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และต้องกล้ายืนหยัดในความถูกต้อง ที่สำคัญที่สุดต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบได้ด้วย ซึ่งก็รวมถึงการถูกยื่นถอดถอนจากวุฒิสภาด้วยหากจะมีขึ้น
กล่าวโดยสรุปก็คือหากจะยุบศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาจริงๆแล้วก็ต้องยุบศาล ปกครองไปด้วย เพราะในเรื่องของระบบศาลนั้นศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองเป็นของคู่กัน แต่จะให้ดีที่สุดก็คือยังคงไว้ทั้งศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพราะเป็นศาล ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนตัวบุคคลก็ว่ากันเป็นรายๆ ไป เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ใครทำกรรมใดไว้ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น นั่นเอง
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓