เดือนตุลาคมมักจะถูกมองว่าเป็น สัญลักษณ์ความรุนแรงทางการเมือง ไปโดยปริยาย การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองก็มักจะเกิดในเดือนตุลาคมทุกที
กองทัพ นักการเมืองและประชาชนจะมีส่วนร่วมสถานการณ์ทาง การเมืองจากข้ออ้างพฤติกรรมของนักการเมือง ภัยความมั่นคง วิกฤติเศรษฐกิจและการจาบจ้วงสถาบัน เป็นสูตรสำเร็จสำหรับการเมืองไทย
ก็น่าแปลกคนไทยมาฆ่ากันเอง ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ เหตุการณ์ก็มักจะเกิดอยู่ในช่วง เดือนตุลาคมกับเดือนพฤษภาคม อาทิตุลาวิปโยค พฤษภาทมิฬ ผู้อยู่ร่วมเหตุการณ์แต่ละครั้งบางคนก็ตกรุ่น บางคนก็ยังอยู่ยงคงกระพัน แล้วแต่จังหวะโอกาส
วิกฤติบ้านเมืองครั้งนี้ต่อเนื่องยาวนานกว่าทุกครั้ง ลงรากฝังลึกกว่าทุกเหตุการณ์ แม้จะมี ข้อเสนอแนวทางปรองดอง เพื่อเป็นทางออกในการแก้ไขวิกฤติ ก็ติดเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่ สามารถจะเจรจาตกลงกันได้ เนื่องจากปัญหาของวิกฤติลงรากลึกเกินจะเยียวยา
นักวิเคราะห์มองไว้สองกรณีเมื่อเทียบเคียงกับวิกฤติการเมืองในประเทศต่างๆก็คือ จะมีสงครามเย็นระหว่างสองขั้วอำนาจไม่มีวันยุติ เป็นลัทธิทางการเมืองที่ต่างอุดมการณ์ หรือจะมีการต่อสู้กันอย่างหนักจนเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย เหน็ดเหนื่อยเบื่อหน่ายและจะยอมเจรจาสงบศึกกันในที่สุด
บ้านเราผ่านการต่อสู้กันทางการเมืองมาอย่างหนักทั้งในสภานอกสภา แต่วิกฤติการเมืองก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมี สงครามกลางเมือง เกิดขึ้นอีกครั้งหรือสองครั้ง จากนั้นจึงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนของการเจรจาปรองดอง
ช่องว่างของเงื่อนเวลาตรงนี้ก็มีการคิดกันว่า จะยุติ วงจรอุบาทว์ ที่จะนำไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชน หรือการปฏิวัติรัฐประหาร ได้อย่างไรหรือไม่
จึงนำไปสู่ข้อเสนอรัฐบาลปรองดอง
มีการเริ่มต้นคุยกันแล้วในระดับหนึ่ง แต่อย่างที่บอก วิกฤติการเมืองฝังลึกจึงต้องคุยกันหลายฝ่าย หลายระดับ ทั้งในประเทศต่างประเทศ ชื่อตัวละครที่ถูกระบุตอนนี้ อาทิ พล.ต.สนั่น ขจร-ประศาสน์ หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอีกหลายคน
การเปลี่ยนแปลงจะเริ่มขยับตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.เป็นต้นไปจะเริ่มแรงขึ้นวันที่ 18 ต.ค.ถึงวันที่ 3 พ.ย. จากนั้นจะออกหัวออกก้อยอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง
จะเปลี่ยนขั้วการเมือง เปลี่ยนพรรคร่วม หรือจะเปลี่ยนตัวนายกฯและครม.ไปจนถึงขั้นที่จะต้องตั้งรัฐบาลปรองดองขึ้นมายุติวิกฤติหรือไม่
ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด.
หมัดเหล็ก