คอลัมน์ เหล็กใน
เริ่มมีมาตั้งแต่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตัดสินใจ ลาออกจากรองนายกฯ ไปลงสมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส. สุราษฎร์ธานี
ด้วยเหตุที่แต่ไหนแต่ไรมา นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ค่อยปลื้มภูมิใจไทยเท่าใดนัก
เพราะพรรคนี้มักชอบแหกกฎเหล็ก 9 ข้อเป็นประจำ
เนื่องจากถือดีว่าตัวเองเป็นหุ้นส่วนสำคัญในรัฐบาล ที่หุ้นใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ไม่กล้าแตกหัก
ดูจากเรื่องเช่ารถเมล์ 4 พันคัน เป็นต้น หรืออย่างการแต่งตั้งปลัดมหาดไทยคนใหม่ไปจนถึงการแต่งตั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ ฯลฯ
ที่ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นอื้อฉาวทั้งนั้น
นายกฯอภิสิทธิ์ รู้ทั้งรู้ว่าสิ่งที่ภูมิใจไทยทำแต่ละเรื่องมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาลโดยรวม
แต่ก็รู้ทั้งรู้เช่นกันว่าถ้าหากภูมิใจไทยถอนหุ้นจากรัฐบาลเมื่อไหร่
นายอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ก็ต้องร่วงหล่นจากอำนาจเมื่อนั้น
นอกจากนี้เมื่อก่อนเวลานายอภิสิทธิ์ มีเรื่องเคืองใจกับภูมิใจไทย จนเกือบจะบานปลายใหญ่โตหลายครั้ง
ก็ยังมีนายสุเทพ คอยเตือนสตินายอภิสิทธิ์ ให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิใจไทย
ซึ่งนายกฯอภิสิทธิ์ ก็ยอมฟังและอ่อนข้อให้ทุกครั้ง
สร้างความหงุดหงิดให้กับส.ส.และสมาชิกประชาธิปัตย์พอสมควร เพราะเห็นว่าระดับนายกฯ ไม่ควรยอมให้พรรคร่วมรัฐบาล'ขี่'มากจนเกินไป
นายอภิสิทธิ์ คงรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน
การที่นายสุเทพ ลาออกรองนายกฯ ไปลงสมัครส.ส. พรรคภูมิใจไทยช่วงนี้จึงเหมือนกับรถขาดกันชน ต้องปะทะกับนายกฯอภิสิทธิ์ แบบเต็มๆ
โดยไม่มีตัวช่วยลดแรงกระแทก
พูดถึงนายอภิสิทธิ์ ขนาดเกิดเหตุสังหารหมู่กลางกรุง 90 กว่าศพเมื่อเดือนพฤษภาฯ ตายังไม่กะพริบ
เป็นสิ่งพิสูจน์ได้ดีว่านายกฯคนนี้'เลือดเย็น'ขนาดไหน
ของขึ้นเมื่อไหร่มีหวังภูมิใจไทยกระเด็นไปเป็นฝ่ายค้านแบบง่ายๆ
แต่ก็อย่างว่าประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยนั้นก็เหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่
เมื่อพรรคหนึ่งแข็ง อีกพรรคก็อ่อน เมื่อพรรคหนึ่งยอมสยบ อีกพรรคก็ขึ้นขี่ทันที
เป็นธรรมชาติการเมืองอย่างที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพูดไว้ว่าไม่มีพรรคไหนไม่อยากเป็นรัฐบาล
อยู่เป็นรัฐบาลกันไปทะเลาะกันไป
ถึงยังไงก็ดีกว่าสามัคคีกันเป็นฝ่ายค้าน