ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 1 October 2010

สุเทพขาลอย มาร์คยึดอำนาจ

ที่มา thaifreenews

โดย Porsche

เซอร์ไพรส์กันทั้งเมือง กับการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์
ที่บีบให้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ลาออกจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี
แสดงสปิริตทางการเมือง ก่อนลงสมัครเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 สุราษฎร์ธานี

โดย...ทีมข่าวการเมือง




แม้แต่พรรคเพื่อไทยที่เรียกร้องให้สุเทพลาออก ก็ไม่เชื่อในมาตรฐานของประชาธิปัตย์ว่า
จะกล้าให้สุเทพ ผู้จัดการรัฐบาล “สละเรือ” ทั้งที่รู้ว่ายังไงประชาธิปัตย์ก็ชนะแบเบอร์
เหนือพรรคเพื่อไทยในสุราษฎร์ธานีอยู่แล้ว

ออกหรือไม่ออก ก็ไม่น่ามีผลต่อชัยชนะ
หรือคะแนนที่ชาวสุราษฎร์ฯ จะเทให้ท่วมท้นในพื้นที่ “ประชาธิปัตย์นิยม”

เหตุผลสำคัญไม่เพียงแต่การสร้างภาพให้เห็นว่า
สุเทพจะไม่ใช่ตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
ไม่ใช่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
หรือเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
มาเอื้อประโยชน์ต่อตนเองในการหาเสียง

หรือเป็นการหลบหลีกปัญหาข้อกฎหมายที่อาจถูกเพื่อไทยฟ้องเอาผิดสุเทพ
ระหว่างและหลังเลือกตั้ง ที่มีการใช้อำนาจรัฐเอื้อต่อตนเองให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง สส.

ทว่า ประโยชน์ที่ประชาธิปัตย์จะได้จากการให้สุเทพลาออกจากรองนายกฯ มีหลายเด้ง

ประการแรก ได้ภาพบวกว่า ประชาธิปัตย์มีสำนึกทางการเมือง รับฟังเสียงวิจารณ์
เมื่อรองนายกฯ จะลงสมัคร สส.แล้วไม่เหมาะสมเพราะเอาเปรียบคู่แข่ง
ก็พร้อมลาออก ตัดข้อครหาต่างๆ

และเพื่อสร้างมาตรฐานของพรรค ตามรอยกรณี พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม
ที่ถูกบิ๊กประชาธิปัตย์บีบให้ลาออกจากผู้ช่วย ผบ.ตร.
ยุติปัญหาไฟลามทุ่งกรณีมุสลิมไทยกับซาอุดีอาระเบีย
หรือกรณี วิทยา แก้วภราดัย ลาออกจาก รมว.สาธารณสุข จากปัญหาทุจริตไทยเข้มแข็ง ฯลฯ

ประการที่สอง รัฐบาลผสมชุดนี้เล่นดนตรีคนละคีย์
มีปัญหาเรื่องเอกภาพระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลตลอด

สำหรับสุเทพ ที่รับบทหนัก คอยกาวใจบรรดากลุ่ม ก๊วน ผู้มีอิทธิพลที่กุมอำนาจ
การตัดสินในพรรคร่วม ตลอดจนผู้นำกองทัพ เพื่อประคองเสถียรภาพรัฐบาลให้อยู่รอดฝั่ง

ทว่า หลายครั้งสุเทพเอาใจเสือสิงห์พรรคร่วม
โดยเฉพาะ เนวิน ชิดชอบ แกนนำภูมิใจไทยมากเกินไป
จนทำให้ สส.ประชาธิปัตย์ ปีกอภิสิทธิ์ ไม่พอใจ
เพราะเห็นว่าอภิสิทธิ์และประชาธิปัตย์ต้องแปดเปื้อนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้อภิสิทธิ์ต้องพึ่งสุเทพ ถึงจะมีวันนี้ได้
แต่ช่วงวิกฤตที่รัฐนาวานี้ต้องเผชิญมรสุมหลายลูกในห้วงปีกว่าที่ผ่านมา
มีหลายเรื่องที่ทั้งคู่เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง
เมื่อคนหนึ่งต้องการความเด็ดขาด อีกคนรับ “ของ” จากพรรคร่วมรัฐบาลมาเต็มอก
จนมีกระแสข่าวเป็นระยะว่า
อภิสิทธิ์สวมคอนเวิร์สกับสุเทพจนกระทบต่อ “การนำ” ของรัฐบาล

ดังนั้น ที่ต้องจับตา ช่วงที่ “สุเทพขาลอย” ร่วมเดือนนับแต่วันที่จะลาออกคือ
8 ต.ค.จนถึงวันเลือกตั้งซ่อม 30 ต.ค..
อภิสิทธิ์ต้องเข้ามาคุมหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด
นี่จึงทำให้สุเทพและ สส.ในก๊วนเกิดความหวั่นไหวจากคลื่นใต้น้ำในพรรค
ไม่น้อยว่า หลังเลือกตั้งซ่อมเสร็จ แม้อภิสิทธิ์จะตั้งสุเทพกลับมาเป็นรองนายกฯ อีกครั้ง
แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่สุเทพอาจถูกริบอำนาจ ไม่ได้ดูแลหน่วยงานความมั่นคงเบ็ดเสร็จตามเดิม

คำถามที่ว่า แล้วเหตุใดพรรคถึงต้องยอมให้สุเทพกระโดดมาลง สส.อีก
ทั้งที่น่าจะให้ผู้สมัครของพรรครายอื่นมาลงแทน จะได้ไม่ยุ่งวุ่นวายขนาดนี้

อีกทั้งสุเทพก็ได้ไขก๊อกจากผู้แทนสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว
หลังถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยให้สิ้นสภาพการเป็น สส.
จากการถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นสัมปทานของรัฐ

ก่อนที่เจ้าตัวจะส่ง “ธานี เทือกสุบรรณ” น้องชายลงสมัคร
และได้เป็น สส.จนถูกฝ่ายค้านโจมตีว่า
สุราษฎร์ฯ ผูกขาดด้วย “3 พี่น้องเทือกสุบรรณ” “เชนธานี” และว่าที่ สส.สุเทพ

พรรคประชาธิปัตย์คิดคำนวณหมด การที่สุเทพลงเลือกตั้งซ่อมแทนเจ้าของที่นั่งเดิม คือ
“ชุมพล กาญจนะ” มือประสานสิบทิศประชาธิปัตย์ที่หลุดเก้าอี้ สส.สุราษฎร์ธานี
หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองตัดสิทธิการเมือง 5 ปี
เหตุแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ ย่อมได้มากกว่าเสีย

นั่นเพราะเดิมทีชุมพลเตรียมส่ง “โสภา กาญจนะ” ภรรยาลงแทน
แต่เนื่องจากไม่พร้อมเพราะต้องดูแลธุรกิจหลักของครอบครัว
ครั้นจะหา “นอมินี” มาลงแทนก่อนก็เกรงว่าถ้าได้เป็น สส.ในเวลาที่เหลือปีกว่า
ก็อาจติดลมบน การให้สุเทพมาลง สส.ไปพลางก่อน
ก็เพื่อแก้ปัญหาให้กับครอบครัว “กาญจนะ” และรักษาเก้าอี้ให้กับชุมพล

ขณะที่สุเทพเองก็ไม่ได้หวังจะมายึดพื้นที่เขต 1 ถาวร
เพราะเมื่อถึงการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า สุเทพจะเปิดทางให้กับตระกูลกาญจนะเหมือนเดิม
เนื่องจากเจ้าตัวมีแผนขยับขึ้นไปเป็น สส.บัญชีรายชื่อแทน

ประการต่อมา เป็นการปูทางรองรับวิกฤตที่พรรคประชาธิปัตย์
เผชิญระเบิดลูกใหญ่จากคดียุบพรรคในปมเงิน 29 ล้านบาท
ที่เดินมาถึงครึ่งทาง และคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินเรื่องนี้ในเดือน พ.ย.
ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลต่างขยับ
และเตรียมแผนสำรองหากเกิดอุบัติเหตุกับพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา

ไม่ว่าประชาธิปัตย์จะถูกยุบ หรือร้ายสุด อภิสิทธิ์ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ด้วยโทษตัดสิทธิการเมือง 5 ปี
เพราะข้อกล่าวหาเรื่องการใช้เงินกองทุนพัฒนาการเมือง 29 ล้านบาท
ไม่ตรงกับความเป็นจริง เข้าข่ายขัด พ.ร.บ.พรรคการเมือง
ที่กำลังไต่สวน สู่อวสานประชาธิปัตย์เกิดในช่วง
ที่ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” เป็นหัวหน้าพรรค
โดยที่อภิสิทธิ์เป็นกรรมการ บริหารพรรคในขณะนั้น

ปรากฏการณ์ที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เดินสายสร้างความปรองดองกับแกนนำสองขั้ว
โดยได้รับแรงหนุนเต็มเหนี่ยวจากต้นสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนาว่า
“เสธ.หนั่น” เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต

แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เองจะแสร้งมั่นใจว่าจะไม่ถูกยุบพรรคแน่
แต่ลึกๆ ก็หนาวสะท้านไม่มั่นใจในชะตากรรมตัวเอง จึงเตรียมทางหนีทีไล่
โดยให้แกนนำที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์คณะกรรมการบริหารพรรคชุดเกิดเหตุ
เป็น “นายกฯ สำรอง” แทนอภิสิทธิ์

หนึ่ง ใช้บริการ “ชวน หลีกภัย” ประธานพรรคประชาธิปัตย์
สอง ตั้ง กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกฯ
และการที่สุเทพมาลง สส. ก็ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับพรรคประชาธิปัตย์อีกคน
เพราะสุเทพไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคขณะนั้น
หากอภิสิทธิ์หลุดเก้าอี้ สุเทพในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอันดับหนึ่ง
ก็จะขึ้นรักษาการนายกรัฐมนตรี

แต่ถ้าจะไหลเลื่อนไปสู่ “นายกรัฐมนตรี” ตัวจริงได้ ก็ต้องมีคุณสมบัติเป็น สส.ก่อน
จึงต้องลงเลือกตั้ง สส.สุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก

แม้ว่าสุเทพจะมีภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาประชาชน แต่จุดเด่น คือ
การเป็นผู้จัดการรัฐบาล คอยจัดสรรผลประโยชน์ให้อิ่มเอมตามคำมั่นสัญญาต่างๆ
ไม่ว่าการจัดเก้าอี้รัฐมนตรีให้พรรคร่วม การเฉลี่ยเม็ดเงินงบประมาณต่างๆ
ทั้งในงบประจำปี 2553 2554 หรือโครงการไทยเข้มแข็ง
การแบ่งอำนาจผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายฝ่ายปกครองระดับต่างๆ

กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบขึ้นมา และเกิดสุญญากาศขึ้น
ในช่วงตั้งฟอร์มรัฐบาลใหม่ “สุเทพ” ก็อาจฉายแววนายกรัฐมนตรีในมุมมืดขึ้นมา
แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องฝ่าด่านหินในพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ก่อน


http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/การเมือง/52465/สุเทพขาลอย-มาร์คยึดอำนาจ