ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 24 October 2010

ยุคทมิฬ

ที่มา โลกวันนี้



ไม่ได้เหนือความคาดหมาย
ที่ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับที่ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ
ของประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมวลชนที่แย่ที่สุดในโลก
จากการจัดอันดับประจำปีขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน
(Reporters Without Borders) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส

โดยกลุ่มชาติที่มีสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนมากที่สุด 20 ประเทศ
ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหภาพยุโรป 13 ประเทศ จากชาติสมาชิก 27 ประเทศ
โดยเฉพาะฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน
และสวิตเซอร์แลนด์ ติดกลุ่มท็อป 20 มาตลอด
นับตั้งแต่เริ่มจัดทำรายงานเมื่อปี 2545
เพราะสื่อมวลชนได้รับความเคารพสิทธิเสรีภาพมากที่สุด
ทั้งยังได้รับการช่วยเหลือปกป้องจากการถูกดำเนินคดีโดยมิชอบอีกด้วย

ส่วนชาติที่มีการจำกัดและคุกคามสิทธิเสรีภาพ
สื่อมวลชนแย่ที่สุดของโลกคือ
เอริเทรีย อันดับ 178
เกาหลีเหนืออันดับ 177
ซีเรียอันดับ 173
จีนอันดับ 171
เยเมนอันดับ 170
รวันดาอันดับ 169
พม่าอันดับ 168 และ
เวียดนามอันดับ 165
ซึ่งกลุ่มชาติเหล่านี้รัฐบาลปิดกั้นและเซ็นเซอร์
ข่าวสารสื่อมวลชนอย่างเหนียวแน่น
เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารแตกต่างจากของรัฐบาล

สำหรับประเทศไทยที่ถูกลดลง 23 อันดับ
เพราะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”
ที่ทหารใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม
และทำให้สื่อมวลชนชาวญี่ปุ่นและอิตาลีเสียชีวิต
รวมทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่อีก 89 ศพ นอกจากนี้
รัฐบาลยังใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปิดสื่อ
ที่เสนอความเห็นและข้อมูลข่าวสารต่างจากรัฐบาล โดยอ้างว่า
บิดเบือนข้อเท็จจริง และปลุกเร้าความรุนแรง
แต่ไม่ปิดสื่อที่มีความเห็นสอดคล้องหรือสนับสนุนรัฐบาล
แม้จะใช้ข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกเร้าความรุนแรงก็ตาม

เสรีภาพของสื่อไทยจึงนับว่าตกต่ำและเลวร้ายที่สุดยุคหนึ่ง
หลังจากยุคเผด็จการที่มีการปิดสื่อและยึดแท่นพิมพ์
โดยใช้อำนาจกฎหมายพิเศษที่ตราขึ้นมาเอง
แม้ปัจจุบันรัฐบาลจะเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
แต่ใช้อำนาจไม่ต่างรัฐบาลเผด็จการ โดยมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
และศูนย์แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือของรัฐบาล

ขณะที่สื่อกระแสหลักและองค์กรสื่อเอง
ก็ไม่ได้ออกมาต่อสู้การคุมคามของรัฐบาล
แต่กลับเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยความกลัว
ซึ่งเท่ากับสื่อกระแสหลักและองค์กรสื่อยอมรับอำนาจเผด็จการ
และร่วมกันทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ที่จะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงและรอบด้านด้วย

จึงไม่แปลกที่จะเห็นสื่อกระแสหลักและองค์กรสื่อ
สนับสนุนรัฐบาลในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไป
รวมทั้งเพิกเฉยกับการค้นหาความจริงในเหตุการณ์
“เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ
และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ทั้งนี้
จึงต้องปฏิรูปสื่อไปพร้อมๆกับการปฏิรูปประเทศภายใต้อำนาจของประชาชน
ไม่ใช่อุปโลกน์โดยอำนาจรัฐ