อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกของบุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนในกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่ม อื่นอย่างไร และ “ฉันคือใคร” ในสายตาคนอื่น อัตลักษณ์นั้นเป็นลักษณะที่มีความสลับซับซ้อน และไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงไปในเรื่องใด หรือในลักษณะใดในร่างกายอย่างรัดกุม สำหรับคนๆ หนึ่งแล้วสามารถระบุได้ว่าเป็นมีหลายอัตลักษณ์ภายในคนๆ เดียว
แต่สำหรับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แล้วเป็นลักษณะทางชีวภาพไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในส่วนของแนวคิดเรื่องชาติ ได้ก่อตัวเป็นแนวคิดชาตินิยม ชาตินิยมเป็นกระบวนการในการสร้างอุดมการณ์ให้เกิดการหวงแหน และสำนึกในการรักชาติ เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ลักษณะของชาตินิยมจากตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ลักษณะที่เด่น คือ
1. ชาตินิยมแบบพรมแดน หรือ ชาตินิยมพลเมือง โดยชาตินิยมประเภทได้ให้ความสำคัญต่อประชาชนทุกชาติพันธุ์ภายในประเทศประเทศ ของตน โดยไม่มีการเน้นถึงกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศนั้นๆ ตัวอย่างชาตินิยมประเภทนี้คือ ประเทศอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น ได้มีการสร้างภาษาขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นภาษากลางที่ใช้ภายในประเทศ
2. ชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ เป็นแนวคิดชาตินิยมที่ให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มของตนเองอย่างเช่น มาเลเซีย พม่า เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ มีความพยายามผลักดันวัฒนธรรมของตนเองให้เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักแห่งชาติ
โดยส่วนชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงภายในประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายภายในประเทศนั้นๆ สำหรับภาพรวมองปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางชาติพันธุ์เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น
1. โลกาภิวัตน์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเป็นชาติอ่อนแอลง
2. ทุนนิยม ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนชาติพันธุ์หลักของประเทศ
3. ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เป็นการผูกขาดในการใช้ทรัพยากร ได้นำทรัพยากรตามภูมิภาคต่างๆ มาใช้ประโยชน์ สำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้กลับไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ แต่เป็นนายทุน และรัฐบาลนำไปพัฒนาเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ เช่นในกรณีของอาเจะห์ ที่ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้นำทรัพยากรที่มีในพื้นที่ตรงนี้ แต่กลับนำไปพัฒนาในอาเจะห์เพียงเล็กน้อย
จึงทำให้เรื่องของชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงต่อ รัฐบาลในหลายประเทศ โดยปัญหาชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง ตัวอย่างในกรณีของประเทศรวันดา เหตุความขัดแย้งก็เกิดขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเดียวกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทุทซี่ กับฮูตู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับล้าน หรือแม้แต่สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาอย่างช้านานเช่น สงครามระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ก็มีสาเหตุหนึ่งจากความแตกต่างของชาติพันธุ์ปรากฏอยู่ด้วย คือความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับ
นอกจากนี้ปัญหาชาติพันธุ์ภายในประเทศมาเลเซีย จากกรณีของเหตุการณ์ฮินดาฟ ที่มีการประท้วงเรียกร้องการปกครองอย่างเป็นธรรม โดยชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ การประท้วงครั้งนี้ได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย รวมถึงมหาตมะ คานธี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ ที่มีการเชื่อมโยงสู่ประเทศเดิมของบรรพบุรุษตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสำนึกในการเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แม้นว่าจะอาศัยอยู่นอกพื้นที่ประเทศของตนเองก็ตาม
สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันภายในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ ต้องมองย้อนไปตั้งแต่ยุคที่สังคมไทย เริ่มสร้างแนวคิดใหม่เพื่อการสร้างความเป็นไทยขึ้นมา ความเป็นไทยที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัฒนธรรมของคนในชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจเป็น ความเป็นกรุงเทพฯ ที่นำมาใช้นิยามในลักษณะเช่นนี้ และการสร้างสิ่งที่ใหม่สำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมเดิมของตนเอง แต่จำต้องรับและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไทยตามการ กำหนดขึ้นของทางรัฐบาล ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในรัฐสมัยใหม่ ที่บรรจุคนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ในเส้นพรมแดนที่เรียกกันว่า รัฐชาติ
โดยเฉพาะในสมัยของ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ ด้วยการกำหนดนโยบายที่มีความเป็นชาตินิยม และใช้ในการสร้างวัฒนธรรมไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเชิดชูในความเป็นไทย รวมถึงการการสร้างความเป็นสมัยใหม่ กระตุ้นให้เกิดกระแสความรักชาติเป็นและได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ซึ่งได้แสดงออกถึงว่าเป็นประเทศของชาวไทย ได้สร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นมาตามรูปแบบตะวันตก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเด็นอัตลักษณ์ได้กลายมาเป็นข้ออ้างในการก่อการ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในกรณีของชาตินิยมกลับกลายเป็นเรื่องที่ลื่นไหลได้ตลอดเวลาตามการ นิยามของผู้คนในช่วงเวลานั้น และได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างทัศนคติที่เหยียดหยาม เช่น ในกรณีจาก การสร้างกระแสชาตินิยมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของปราสาทเขาพระวิหาร รวมถึงการระบุถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ว่าเป็นคนขายชาติ เพราะมีพฤติกรรมที่ฝักใฝ่กับรัฐบาลกัมพูชา
จากสาเหตุที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าชาตินิยมจึงสัมพันธ์กับกลุ่มความคิดของผู้คนจำนวนมากที่เป็นไป ในทิศทางเดียวกัน แต่กลับไปกดทับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยทำให้ชาตินิยมได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกดขี่และ การบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามในสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับคนในกลุ่มของตนเองเท่านั้น และชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการอำนวยประโยชน์ในทางการเมืองการปกครองเป็น สำคัญ
ดังนั้นแม้ว่าอัตลักษณ์เป็นลักษณะที่ระบุถึงความเป็นคนๆ หนึ่งและนำไปสู่การระบุถึงความเป็นตัวตนว่าตัวเองเป็นใคร ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวได้สร้างความสูญเสีย เกิดความพยายามที่จะกลายกลืนอัตลักษณ์ของผู้อื่น เพื่อเชิดชูกลุ่มตัวเองให้เหนือกว่า
รากฐานของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยและสังคมโลกทุกระดับ มีข้อพึงระวัง คือ หากมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของตัวเอง ขาดการเคารพอัตลักษณ์ของผู้อื่น จนเกิดการสร้างกระแสความเป็นชาตินิยม เพื่อผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินเลยและเกิดความ เหลื่อมล้ำ มักจะนำสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในการสร้างกระแสต่อต้านจนเกิดความ สูญเสียถึงชีวิตในหลายกรณีดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศ ต่างๆในโลกตลอดมา