ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 27 October 2010

น้ำท่วม-ตอผุด

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



หาย นภัยน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายมโหฬาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แถลงว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหายไปแล้ว 4 ล้านไร่ ยังมีพื้นที่เขตเมืองที่ถูกน้ำท่วมอย่างหนักอีกหลายแห่ง ที่กล่าวขวัญกันมากคือโคราชจมน้ำไปทั้งเมือง (และจะตามมาด้วยเมืองอื่นตามลำน้ำมูล กว่าที่น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขงได้) เมืองใหญ่ในลุ่มเจ้าพระยาได้สร้างพนังกั้นน้ำไว้แล้ว จึงอาจไม่จมทั้งเมืองอย่างโคราช แต่ชนบทที่รายรอบเมือง รวมทั้งเมืองเล็กที่ไม่มีพนังกั้นน้ำ ก็จะเผชิญกับการเอ่อล้นของแม่น้ำเจ้าพระยาในอนาคตอันใกล้นี้

คำ อธิบายภัยธรรมชาติครั้งนี้คือ ปรากฏการณ์ลานิญามาเร็วกว่าที่เคย ทำให้ปลายฤดูฝนกลับมีฝนตกชุกอย่างที่ไม่เคยเป็นมา ผลก็คือน้ำบนภูเขาทะลักลงมาอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะรับมือทัน

คำ อธิบายนี้คงไม่ผิดในตัวเอง แต่ไม่ได้ตอบปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพราะฝนมากและถี่อย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายได้ ส่วนใหญ่ของความเสียหายเกิดจากการจัดการ ไม่ใช่เกิดจากน้ำ ความล้มเหลวในการจัดการนั้นไม่เฉพาะแต่การจัดการน้ำเท่านั้น แต่รวมถึงการจัดการอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำอีกมากมายหลายอย่าง

ที่ พูดกันมากก็คือ น้ำท่วมเกิดจากความสูญเสียพื้นที่ป่า ซึ่งจะสามารถซับน้ำให้ไหลลงจากภูเขาช้าลง (ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ของป่าในแง่นี้ยังถกเถียงกันอยู่ในวงวิชาการ เพราะมีบางทรรศนะที่เห็นว่าป่าไม่สามารถทำหน้าที่ซับน้ำในลักษณะนี้ได้เลย) แต่การสูญเสียพื้นที่ป่า ไม่ได้เกิดจากผู้คน (ทั้งนายทุนและชาวบ้าน) เข้าไปบุกรุกป่าเท่านั้น แท้จริงแล้วดูจะเป็นนโยบายของรัฐที่จะส่งเสริมโดยทางอ้อมให้เกิดขึ้นด้วย

พืชเศรษฐกิจซึ่งทำเงินหล่อเลี้ยงการพัฒนาในระยะต้นนั้น จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ป่าและจำนวนมากเป็นพื้นที่ "ชายขอบ" ของการเกษตร เพราะกำไรจากการปลูกพืชเศรษฐกิจมีน้อยมาก จนเกินกว่าใครอยากจะลงทุนกับปัจจัยการผลิตคือที่ดินมากนัก ฉะนั้นผู้คนจึงบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ "ป่า" โดยจับจองหรือซื้อต่อจากรายอื่นในราคาไม่แพงนัก ในที่สุดก็สูญเสียที่ดินนั้นไปให้แก่ผู้อื่น เพราะความผันผวนของราคาพืชผล และการถูกเอาเปรียบในทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทำให้ไม่สามารถตั้งตัวกับพืชเศรษฐกิจได้ บ้างก็รุกป่าต่อไป บ้างก็หันเข้าเมืองเพื่อหาอาชีพรับจ้าง

นโยบายของรัฐในระยะหลังคือ การปลูกพืชเศรษฐกิจที่คาดว่าสามารถทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะยางพารา ผลคือพื้นที่ไร่ซึ่งโค่นถางป่าจนเรียบราบไปแล้ว ถูกเปลี่ยนมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันมากขึ้น แม้เป็นไม้ใหญ่ แต่พืชเชิงเดี่ยวที่หยั่งรากลงดินในระดับเดียวกัน ทำให้เกิดดานที่ราบเรียบเสมอกันใต้พื้นดิน เมื่อโดนฝนกระหน่ำลงเป็นเวลานาน ดินผิวหน้าก็เลื่อนไหลลงจากดานกลายเป็นดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เบื้องล่าง ซึ่งมักเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างหนัก

ในขณะเดียวกัน รัฐก็ปล่อยให้การถือครองที่ดินเป็นการเก็งกำไรทางเศรษฐกิจที่มั่นคงปลอดภัย และคุ้มทุนที่สุด ทำให้คนมีทรัพย์นิยมที่จะลงทุนถือครองที่ดิน อาจใช้ประโยชน์ในธุรกิจท่องเที่ยว หรือถึงไม่ทำอะไรเลย ก็คาดหวังได้ว่าจะทำกำไรในตอนขายได้มาก

ตราบเท่าที่นโยบาย การเกษตรและการจัดการที่ดินยังเหมือนเดิม ป่าก็ต้องสูญเสียพื้นที่ต่อไป ไม่ว่าจะกวดขันให้เจ้าหน้าที่ที่ดินและป่าไม้เข้มงวดสักเพียงไร และปรากฏการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง, ภาคกลางและภาคอีสานก็จะเกิดขึ้นเป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เขื่อน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อตอนจะสร้างก็มักให้เหตุผลไว้ข้อหนึ่งว่า ป้องกันน้ำท่วม แต่น้ำท่วมทุกครั้งรวมทั้งครั้งนี้ พิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ในครั้งนี้ เขื่อนหลายต่อหลายแห่งต้องรีบปล่อยน้ำลงมาซ้ำเติม เพราะเสี่ยงที่จะเกิดเขื่อนแตก (และเขื่อนเอกชนของสนามกอล์ฟแห่งหนึ่งก็แตกจริงๆ ด้วย ก่อความเสียหายแก่ชาวบ้านอย่างหนัก แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถเอาเจ้าของเขื่อนมารับผิดชอบได้) บางท่านอาจจะกล่าวว่า เพราะเขื่อนไม่รีบพร่องน้ำไว้ก่อน ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำฝนหนักในปลายฤดูได้ แต่กระบวนการตัดสินใจพร่องน้ำ พร่องมากน้อยเพียงไร พร่องช่วงไหน ฯลฯ นั้น เป็นอย่างไร มีข้อมูลหรือประสิทธิภาพเพียงใด ไม่มีใครทราบ แต่ที่แน่นอนก็คือขาดการประสานความรู้ของหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้อง

อันที่จริง เขื่อนจำนวนมาก ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อจัดการน้ำ แต่สร้างขึ้นเพื่อกำเนิดพลังงาน ส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานเท่ากับที่อ้างไว้ในแผน เขื่อนเหล่านี้นอกจากสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศอย่างหนัก จนทำให้ไม่คุ้มทุนในการก่อสร้าง ยังเป็นตัวระบายน้ำลงมาซ้ำเติมในขณะที่เกิดฝนชุกอีกด้วย บางครั้งก็เพิ่มพลังการผลิตโดยไม่แจ้งล่วงหน้าแก่ประชาชนท้ายเขื่อน

แต่ เขื่อน - ไม่ว่าจะสร้างเพื่อจัดการน้ำ หรือกำเนิดพลังงาน - เป็นโครงการที่ทุจริตได้ง่ายที่สุด ฉะนั้นจึงมีเสน่ห์ดึงดูดให้นักการเมืองและข้าราชการร่วมมือกันผลักดันการ สร้างเขื่อนอยู่ตลอดมา หมดพื้นที่ในประเทศไทยที่จะสร้าง ก็ย้ายไปสร้างในประเทศเพื่อนบ้านคือลำน้ำสาละวินและโขง

นโยบายจัดการน้ำและพลังงานที่มุ่งจะป้อนน้ำและพลังงานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมต่างหาก ที่ทำให้น้ำท่วมหนัก

อีก ด้านหนึ่งของความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งสื่อบางชนิดเฝ้าติดตามมาอย่างต่อเนื่อง คือระบบเตือนภัย แม้ว่าน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ได้เกิดภัยพิบัติอย่างหนักถึงขั้น "ตายหมู่" แต่ระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพก็สามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่ชาว บ้านได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงความทุลักทุเลของหน่วยงานบางแห่ง เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น

หลายชุมชนทั้งในเมืองและนอกเมืองประสบภัยน้ำท่วมครั้งนี้ อย่างแทบไม่รู้เนื้อรู้ตัว บางชุมชนถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิงเพราะอพยพหลบภัยไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องและสื่อมักจะมองความไร้ประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยที่ เทคโนโลยี สิ่งนั้นขาด สิ่งนี้ขาด หากมีเครื่องมือพร้อม ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี

แต่ความบกพร่องของระบบเตือนภัยไม่ได้ อยู่ที่เทคโนโลยียังไม่พร้อม ที่สำคัญกว่านั้นคือการจัดการต่างหาก เช่นเดียวกับการจัดการทุกอย่างในประเทศไทย ระบบเตือนภัยธรรมชาติของเรามีลักษณะรวมศูนย์เช่นเดียวกัน แม้มีการตั้งมิสเตอร์เตือนภัยขึ้นในบางชุมชนที่ถือว่าเป็นชุมชนเสี่ยง แต่การประสานงานภายในชุมชนเองกลับไม่ช่วยให้มิสเตอร์ทำงานอย่างได้ผล เพราะชุมชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นในการจัดระบบเตือนภัยของตนเอง เป็นความคิดและจัดการของราชการฝ่ายเดียว

ยิ่งกว่านี้ หากพิจารณากรณีน้ำท่วม ย่อมเห็นได้ว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ระบบเตือนภัยควรมีเครือข่าย กล่าวคือแจ้งเตือนกล่วงหน้าแก่ชุมชนอื่นๆ ได้ตลอดเส้นทางน้ำ เครือข่ายเช่นนี้เกิดขึ้นได้จากการจัดการของชาวบ้านเอง ไม่ใช่คำสั่งของราชการ

ระบบบริหารรัฐกิจของไทย ไม่เฉพาะแต่เรื่องของภัยธรรมชาติ แต่ทุกเรื่อง มีลักษณะรวมศูนย์อย่างแทบจะหาประเทศใดมาเทียบได้ยาก ระบบเช่นนี้เป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ และเอื้อต่อการทุจริตฉ้อฉลในทุกรูปแบบ น้ำจะท่วมเมืองไทยไม่เลิก ตราบเท่าที่เรายังรวมศูนย์การบริหารเช่นนี้

มองให้เลยไกลไป จากน้ำ ก็จะเห็นความบกพร่องของระบบที่แฝงอยู่เบื้องหลัง ภัยธรรมชาติทำความเสียหายให้แก่ผู้คนได้ระดับหนึ่ง แต่ภัยสังคมต่างหากที่ทำให้ความเสียหายนั้นขยายตัวอย่างไร้ขีดจำกัด และบั่นทอนพลังของสังคมที่จะฟื้นตัวได้ในเวลาอันสมควร

จำเป็น ต้องกล่าวด้วยว่า สื่อมีส่วนอย่างมากในการทำให้สังคมไทยไม่มองน้ำท่วมมากไปกว่าน้ำ, ลานิญา และพายุฝน ดังนั้น เมื่อน้ำลด "ตอ" ซึ่งคือตัวความบกพร่องของระบบก็กลับจะจมหายลึกลงไปในความไม่ใส่ใจของสังคม รอน้ำระลอกใหม่ที่จะไหลลงมาท่วมท้น จนทำให้สื่อไม่ต้องสนใจ "ตอ" อีกตามเดิม

ไม่ มีสังคมใดในโลกที่ไม่เคยผิดพลาด แต่ทุกสังคมควรมีสมรรถภาพที่จะแก้ไขตัวเองได้ ส่วนหนึ่งที่สังคมไทยไร้สมรรถภาพในแง่นี้ ก็เพราะเรามีสื่ออย่างที่เรามีอยู่ในขณะนี้