ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 25 October 2010

ถ้าฉันเป็นนายกฯในประเทศที่กำลังมีน้ำท่วมหนัก

ที่มา ประชาไท

ถ้าฉันเป็นนายกรัฐมนตรี ในประเทศที่กำลังมีภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี

กินพื้นที่กว่า 30 จังหวัดหรือเกือบครึ่งประเทศ

ผู้คนเดือดร้อนหลายล้านคน

เป็นเวลายาวนานเกือบหนึ่งสัปดาห์เต็ม

…. ฉันจะ

ฉันจะสั่งทำถุงยังชีพ ให้ข้างถุงเขียนว่า “มาจากภาษีประชาชน” ไม่ต้องให้ใครได้ “เอาหน้า” เพราะประชาชนเป็นคนทำงานเสียภาษีให้รัฐทุกปีอยู่แล้ว

ฉันจะจัดตั้ง “ศูนย์กลางแก้วิกฤติ” อย่างด่วนที่สุด ไม่รอให้เนิ่นช้ากว่า 7 วัน ไม่ปล่อยให้ “รัฐบาล” ซึ่งกินภาษีประชาชน ทำงานเชื่องช้ากว่าประชาชนด้วยกันเอง

ฉันจะเอา “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ศอฉ.” นั่นแหละมาปัดฝุ่นแล้วลุยงานเลย เพราะฉันเชื่อว่า “น้ำท่วม” ก็เป็นเรื่อง “ฉุกเฉิน” ของชาติเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะภารกิจปราบม็อบเสื้อแดงเท่านั้นที่ฉุกเฉิน

ฉันจะตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าศูนย์ เพราะฉันคือผู้นำประเทศ และนี่คือช่วงเวลาที่ประเทศต้องการผู้นำ

ฉันจะไม่ตั้งที่ปรึกษาฯของฉันซึ่งไม่มีอำนาจอะไรทางกฏหมาย เป็นหัวหน้าศูนย์ โดยเฉพาะหากที่ปรึกษาคนนั้นเคยต้องลาออกจากตำแหน่งการเมืองด้วยเรื่องอื้อ ฉาวในอดีต

ฉันจะเอาข้อมูลทั้งหมดมาประมวลในภาพกว้าง ฉันจะต้องรู้ให้ได้ว่า “น้ำ” ที่ท่วมหนักที่สุดในรอบ 50 ปีนั้นมาจากไหน มาอย่างไร มาเมื่อไหร่ แล้วมันแตกต่างจากน้ำในปีก่อนๆอย่างไร และทำไมถึงต่าง

ฉันจะต้องรู้ด้วยว่าพื้นที่ไหนบ้างที่เดือดร้อนไปแล้ว พื้นที่ไหนกำลังเดือดร้อนในตอนนี้ และ พื้นที่ไหนที่น้ำจะท่วมต่อไปในวันพรุ่งนี้
และที่สำคัญคือ เมื่อไหร่ทุกอย่างจะคลี่คลาย

พื้นที่ไหนกำลังเดือดร้อน ฉันจะจัดแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ (แดง เหลือง เขียว) ฉันอยากรู้ด้วยว่าในพื้นที่แต่ละแบบนั้นมีประชาชนอยู่กี่คน จุดไหนบ้าง พื้นที่ไหนเป็นสภาพเมือง พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่การเกษตร ฉันจะได้ส่งการช่วยเหลือไปอย่างเหมาะสม

ฉันจะกำหนดให้ศูนย์กลางแก้วิกฤติเป็นมากกว่า “คนประสานงาน” ระหว่างหน่วยงานราชการที่เชื่องช้า
ศูนย์กลางของฉันจะต้องทำหน้าที่ “บริหารทรัพยากร” ที่มีอยู่ให้ใช้ไปอย่างถูกที่ ถูกเวลา ด้วย

เงินทองที่เบิกจ่ายต้องโปร่งใสรวดเร็ว
ประมวลข้อมูลจากภาคสนามอย่างทันท่วงที
และประสานรับ “น้ำใจ” จากภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ

ดังนั้น ศูนย์ของฉันจะมีข้อมูลรายละเอียดว่าวันนี้ อำเภอไหนบ้างที่ขาดไฟฉายเข้าขั้นวิกฤต
ตำบลใดรับข้าวสารไปหุงกินเองได้ ตำบลใดต้องการอาหารสำเร็จรูปมากกว่า
เส้นทางไหนต้องใช้เรือ ใช้กี่ลำ มีคนติดอยู่แถวนั้นกี่คน

ฉันจะรู้ด้วยว่าถึงนาทีนี้ข้าวสาร น้ำดื่ม ทั้งที่จัดซื้อมาเอง และประสานกับภาคเอกชนนั้น มีกี่ขวด
แจกจ่ายไปจุดไหนบ้างแล้ว ไปถึงที่หมายช้าเร็วแค่ไหน
มีใครได้เกินความจำเป็นหรือไม่ มีใครที่ขาดแคลนอย่างหนักแต่ยังไม่ได้หรือเปล่า

เงินบริจาคทุกบาทจะต้องทำบัญชี แสดงที่มาที่ไป หน่วยงานไหนรับบริจาคมาเท่าไหร่ ต้องแสดงให้ชัดเจน เพราะมันจะมีผลต่อการกล่าวอ้างเพื่อยกเว้นภาษี อีกทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อฉลโดยใช้ความเดือดร้อนของคนร่วมชาติเป็น เครื่องมือ

อ้อ .. ฉันจะแจ้งให้กลุ่ม “ชาตินิยม” ทั้งหลายทราบด้วยว่า ตอนนี้แหละคือเรื่องของ “ชาติ” จริงๆ เพราะมันคือเรื่องของคนตัวเป็นๆที่อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ใช่ที่ดินผืนน้อยที่มีปัญหามาแต่โบราณ ใครอยากกู้ชาติ อยากพลีชีพ เชิญได้เต็มที่ในครั้งนี้ อย่ามัวแต่ไปต่อแถวกินโดนัท

ฉันจะต้องรู้ด้วยว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ในแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดนั้นมีที่ไหนบ้าง จุดไหนที่สามารถอพยพผู้คนเข้าไปได้ จุดไหนยังเสี่ยง

ฉันจะจัดทำแผนอพยพที่ชัดเจน จะไปเส้นทางใด ใช้พาหนะใด ใช้เวลาเดินเท่าไหร่ และที่สำคัญ วันนี้ปลอดภัยแล้วพรุ่งนี้จะปลอดภัยไหม ข้อมูลวิทยาศาสตร์ทำนายว่าอย่างไร

ดังนั้นหากรู้ว่า น้ำกำลังไหลจาก อำเภอ ก. ไป อำเภอ ข. ภายใน 12 ชั่วโมง ฉันจะได้สั่ง “อพยพ” ผู้คนได้ล่วงหน้า ทันเวลา ไม่ใช่เพียงแต่ทำงาน “ตามปัญหา”

ด้วยความที่ฉัน (และศูนย์กลางของฉัน) มีข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน เห็นภาพกว้างที่สุด ฉันจะสามารถ “ประสาน” แนวทางการทำงานของแต่ละกลุ่ม ทั้งส่วนราชการต่างๆ หรือส่วนเอกชนอย่างอาสาสมัครกู้ภัย หรือกระทั่งสื่อมวลชน

ทุกคนจะได้ทำงานไปใน “ทาง” เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน และได้ประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ซ้ำซ้อน ลักลั่น ไร้ทิศทาง

ฉันเชื่อว่าในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ การส่งทรัพยากรอันจำกัดไปให้ถูกที่ ถูกเวลา นั้นสำคัญมาก – ใครขาดน้ำดื่มต้องได้น้ำดื่ม ใครขาดอาหารแห้งต้องได้อาหารแห้ง ใครป่วยต้องได้ถูกเคลื่อนย้ายออกมาทันที – เพราะการใช้ทรัพยากรไปหนึ่งครั้ง มันมีค่าเสียโอกาสอยู่ด้วย

เรือที่ออกไปแจกข้าวสาร สามารถใช้ไปรับคนป่วยได้เช่นกัน
เราเพียงต้องรู้ให้ชัดว่าเมื่อไหร่ควรใช้อะไร ทำอะไร เพื่ออะไร
ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ มันต้องมีข้อมูลมุมกว้าง และต้องตัดสินใจอย่างจากภาพรวม

สำหรับพื้นที่ไหนที่น้ำยังไปไม่ถึง ฉันจะสั่งให้รีบ “เตรียมตัว” รับมือ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเอากระสอบทรายมา “กั้น” น้ำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหมายถึงการเตรียมทางหนี ทีไล่ ระบบแจ้งเตือน จัดพื้นที่ปลอดภัยไว้รอรับปัญหา จัดอาหาร ยารักษาโรค ไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน

พื้นที่ไหนน้ำเริ่มลดแล้ว ฉันจะเร่งช่วยเหลือประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายถึงการ “แจกเงิน” อย่างมักง่ายเพียงอย่างเดียว เพราะฉันรู้ดีว่าเงินมีจำกัด และในสภาวะฉุกเฉินนั้น เงินอาจไม่ต่างจากกระดาษปึกหนึ่ง ที่อาจเอาไปซื้ออาหารมากินได้ไม่กี่มื้อ

ฉันจะเร่งช่วยเหลือประชาชนในช่องทางอื่นด้วย เช่น อาจได้เวลาปล่อยสต๊อกข้าวในยุ้งของรัฐ อาจประสานงานกับภาคเอกชนว่าต้องการ “สินค้าเกษตร” เป็นของบริจาค และ อาจเอางบประมาณฉุกเฉินมา “จ้างงาน” ผู้ประสบภัยให้ “ทำอาหาร” แจกจ่ายคนอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยประชาชนได้ถึงสองต่อ (มีงานทำ ได้เงิน มีกิน) – ฉันหวังว่าไอเดียแบบเด็ก ป.4 ของฉันจะไม่ไร้เดียงสาเกินไปนัก

ฉันจะทำงานด้วยสำนึกในกะโหลกว่า “ผู้นำ” ประเทศมีหน้าที่รับทราบข้อมูล ประมวลผลในภาพกว้าง กำหนดกลยุทธ์ แนวทาง เป้าหมาย และ “ตัดสินใจ” ในทางเลือกสำคัญๆ

ผู้นำประเทศไม่ได้มีหน้าที่เพียง “รับฟัง” แล้วปล่อยให้ลูกน้องทำงานไปวันๆตามมีตามเกิด

ฉันรู้ดีว่าแนวทางเช่นนี้สำคัญมากในการ “บริหารวิกฤติ” และในฐานะ “นายกฯมือใหม่” ฉันจะตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด
เพราะจะว่าไป “น้ำท่วม” อาจเป็นภัยพิบัติที่ “เบา” ที่สุดแล้ว หากเทียบกับ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ หรือ ไวรัสระบาด

ฉันจะไม่ออกเดินทางพร่ำเพรื่อ หรือหากจะออกภาคสนาม ก็จะใช้ทรัพยากร (เช่น เจ้าหน้าที่ หรือ ยานพาหนะ) อย่างน้อยที่สุด เพราะสิ่งเหล่านั้นควรถูกนำไป “แก้ปัญหา” มากกว่ามาดูแลฉัน

ฉันจะพูดให้น้อย ทำงานให้มาก พูดเฉพาะเรื่องสำคัญๆ
เพราะรัฐบาลของฉันมีโฆษกกินเงินเดือนอยู่แล้ว

ฉันไม่อยากไปแย่งงานเขา ….

ที่มา:http://www.roodthanarak.com/