กษิตเผยที่นิวยอร์ก เตรียมผลักดันชาวพม่าในไทยกลับประเทศหลังการเลือกตั้ง 7 พ.ย. เผยเตรียมการสำหรับคนพม่าในไทยกลับไปยัง “พม่าโฉมใหม่” แม้จะเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนค้านหวั่นผู้อพยพจะถูกทารุณหลัง กลับประเทศ
หนังสือพิมพ์ดิการ์เดียน ของอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 3 ต.ค. นี้ ว่านายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งเดินทางไปประชุมที่องค์การสหประชาชาติ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาว่า สิ่งแรกหลังจากเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานคร คือ การเตรียมผลักดันชาวพม่าที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งมีกว่า 2 ล้านคน
“ผมจะกลับไปที่กรุงเทพ สิ่งแรกที่ผมจะทำคือ เตรียมมาตรการอย่างแข็งขัน สำหรับประชาชนชาวพม่าที่อยู่ในค่ายอพยพ เป็นผู้พลัดถิ่น เป็นปัญญาชนที่อยู่ตามท้องถนนของกรุงเทพและเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพวกเขากลับพม่าหลังมีการเลือกตั้ง”
ไทยเป็นบ้านสำหรับประชาชนพม่ากว่า 2 ล้านคนโดยประมาณ ส่วนใหญ่อยู่โดยไม่มีบัตรประจำตัว และจำนวนมากเป็นผู้ถูกกดขี่เนื่องจากสาเหตุทางเชื้อชาติและการเมือง นอกจากนั้นยังเข้ามาทำงานเนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องการพวกเขาเข้ามาทำงาน ประเภทงานใช้แรงงาน ซึ่งโดยมากเป็นงานเสี่ยงอันตราย ค่าแรงต่ำ และมีผู้อพยพประมาณ 150,000 คนอยู่ตามค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทยพม่า
รัฐบาลไทยเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2533 ของพม่า ในเดือน พ.ย.นี้ จะถือเป็นขั้นตอนอย่างมีนัยสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยนายกษิต กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “โปรดสนับสนุนและช่วยเหลือพวกเขาเท่าที่จะเป็นไปได้”
“เรากำลังเตรียมการสำหรับประชาชนชาวพม่าในประเทศไทย เพื่อการกลับไปยังพม่าโฉมใหม่ในที่สุด (กษิตเรียกว่า “new Myanmar”) ซึ่งอาจเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ผมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้น”
อย่างไรก็ตาม นักสิทธิแรงงานและผู้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพม่าเพียงเล็กน้อย และกล่าวว่าพม่าไม่ปลอดภัยพอสำหรับให้ผู้อพยพกลับไป
ทั้งนี้รัฐบาลทหารพม่าได้เตรียมครอบงำการเลือกตั้ง ผ่าน “พรรค สหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา” (the Union Solidarity and Development party – USDP) โดยพรรคการเมืองนี้จะลงเลือกตั้งชิงที่นั่ง 498 ที่นั่งในรัฐสภา มีการเตรียมเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐสำหรับดำเนินการในพรรคจากการขาย ทรัพย์สินของรัฐ และมีการข่มขู่พรรคฝ่ายค้าน
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับทหารของพม่า กำหนดที่นั่งของสมาชิกสภา 1 ใน 4 และรัฐมนตรีในกระทรวงที่สำคัญให้เป็นของทหาร
ขณะที่แอนดี ฮอลล์ (Andy Hall) ผู้อำนวยการโครงการของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนและมูลนิธิเพื่อการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า ไม่ควรส่งชาวพม่าที่รอการลี้ภัย (asylum seekers) ไปยังพื้นที่ซึ่งในอนาคตสามารถเกิดการประหัตประหาร
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งซึ่งเปรียบเหมือนการขุดสนามเพลาะของรัฐบาลทหาร” ฮอลล์กล่าวและกล่าวด้วยว่า ไม่เข้าใจรัฐบาลไทย ที่จะส่งชนกลุ่มน้อยจะกลับไปยังพม่าหลังการเลือกตั้ง ในที่ซึ่งยังมีความขัดแย้งอยู่ในพื้นที่
ด้านแจ็กกี๊ โพลล็อค (Jackie Pollock) ผู้อำนวยการของมูลนิธิแมพ (the Map Foundation) ซึ่งทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติชาวพม่าในภาคเหนือของประเทศไทย กล่าวว่า พม่าจะกลายเป็นที่อยู่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลทหาร หลังจากการเลือกตั้ง
“ผมคิดว่า สำหรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่สร้างความแตกต่างใดๆ และในพม่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนสำหรับพวกเขา”
“ประชาชนกลุ่มเดิมจะถูกตั้งข้อหา และคนกลุ่มนี้เมื่อพวกเขากลับไปก็เสี่ยงที่จะถูกประหัตประหาร”
นักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นไทย-พม่ารายหนึ่ง ยังให้ข้อมูลกับดิการ์เดียนว่า มาตรการผลักดันกลับพม่าของรัฐบาลไทยจะไม่ได้ผล
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Thailand plans to repatriate Burmese asylum seekers after election http://www.guardian.co.uk/world/2010/oct/03/thailand-repatriate-burma-asylum-seekers-election