นักปรัชญาชายขอบ
อาจารย์ท่านหนึ่งที่ไปสอนในหลักสูตรนานาชาติเล่าว่า เด็กอเมริกันที่มาเรียนในเมืองไทย มีเรื่องที่ต้องให้คิดถึงบ้านอยู่เรื่องหนึ่ง คือคิดถึงบรรยากาศของ “การสนทนาเชิงลึก” ซึ่งเขาบอกว่าในเมืองไทยเขาไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศที่ว่านี้เลย
ผมฟังแล้วก็เห็นด้วย อย่าว่าแต่เด็กอเมริกันจะเหงาเลย อาจารย์ไทยที่คิดอะไรเชิงลึก หรือคิดเรื่องซีเรียสหน่อยก็เหงา เพราะหาเพื่อนคุยด้วยได้ยาก ผมเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเขาคุยกันสนุกปากเรื่องฟีล์ม-แอนนี่ คลิปฉาวของดารา แต่ไม่เห็นคุยเรื่องคลิปฉาวของศาลรัฐธรรมนูญ แถมในห้องทำงานของบางภาควิชายังห้ามคุยเรื่องการเมืองเสียอีก
แต่มีข้อสังเกตอยู่อย่างคือ เวลาคนพวกนี้พูดถึงคนเสื้อแดง เขาจะกลายเป็น “เทวดาผู้ทรงคุณธรรมและภูมิปัญญา” ขึ้นมาทันที คือเขาจะตัดสินความผิดของคนเสื้อแดงว่าใช้ความรุนแรง ถูกจ้าง ไม่รู้ประชาธิปไตย ฯลฯ จากภูมิปัญญาที่คิดว่าตนเองเข้าใจคนเสื้อแดงอย่างสิ้นสงสัยเลยทีเดียว
มีเรื่องเศร้าเรื่องหนึ่ง คือผมได้มีโอกาสสนทนากับคนระดับศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศนี้ เขาพูดถึงคนเสื้อแดงว่า “มา ชุมนุมแบบไม่รู้อะไร จะมาก็ต้องมีคนพามา จัดให้มา จะกลับบ้านก็ต้องมีคนพากลับถึงจะกลับถูก แบบนี้จะบอกว่ามาเรียกร้องสิ่งที่มันมีความหมายซับซ้อนอย่างเช่นประชาธิปไตย ได้อย่างไร”
ผมเข้าใจว่าศาสตราจารย์ท่านนี้ท่านน่าจะนึกถึงภาพคนชนบทเมื่อยี่สิบสาม สิบปีก่อน ที่มีคำล้อเลียนความไม่รู้ของชาวบ้านว่า มีเจ้าหน้าที่ทางราชการไปพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้วชาวบ้านก็ถามว่า “ไอ้เทคโนโลยีที่ว่ามันกิโลละเท่าไหร่”
แต่ไม่น่าเชื่อว่าถึง พ.ศ.นี้แล้ว ก็ยังมีคนล้อเลียนชาวบ้านในท่วงทำนองแบบเดิมๆ ดังวิทยากรรับเชิญมาออกรายการทีวีช่อง 11 คนหนึ่ง บอกว่าชาวบ้านถูกชวนมาโค่นอำมาตย์ พอมาถึงกรุงเทพฯ แล้วก็ถามว่า “ไหนต้นอำมาตย์อยู่ไหน พวกเราจะช่วยกันโค่น!”
นี่คือปัญหาสำคัญของพวกเทวดา บนหอคอยงาช้างครับ คิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้เจนจบ ฉลาดอยู่ฝ่ายเดียว เที่ยวตัดสินชาวบ้านด้วยทัศนะอันตื้นเขิน!
ความจริงคือ ช่วงไม่น้อยกว่าสองทศวรรษมานี้คนชนบทเปลี่ยนไปพอสมควร ยกตัวอย่างเช่นตัวผมเองมาจากครอบครัวรากหญ้าในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งของ จังหวัดขอนแก่น ผมถูกจับบวชเณร ตั้งแต่อายุ 14 ปี จึงได้เรียนหนังสือจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ แล้วก็ไปทำงานหาเงินเรียนจบปริญญาโทในมหาวิทยาลัยของรัฐ จนจับพลัดจับผลูมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
แม่ผม ญาติพี่น้องผมก็ยังเป็นรากหญ้าอยู่เหมือนเดิม แต่อาจดีขึ้นหน่อยคือเวลาลำบากก็ไม่ถึงขนาดต้องไปยืมข้าวสารเพื่อนบ้านมา นึ่งเหมือนเมื่อก่อน ครอบครัวน้องสาวผมยังทำนา และรับจ้างทั่วไป (กรรมกร) แต่ลูกชายคนโตของเขาเพิ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทำงานอยู่ในเมือง คนรองกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกันปีที่ 3 คนเล็กเรียน ม. 4 เพื่อนบ้านหลายๆ คนที่ปากกัดตีนถีบเหมือนกันเขาก็ดิ้นรนแบบเดียวกันนี้ คือส่งลูกมาเรียนอยู่ในเมือง ทำงานอยู่ในเมือง
คือชาวบ้านเขายังจน แต่เขาก็ดิ้นรน เห็นคุณค่าของการศึกษา ออกจากบ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ ในหลายๆ จังหวัด มีการติดตามข่าวสารบ้านเมือง ความคิดความอ่าน โลกทัศน์เปลี่ยนไปมาก
ฉะนั้น คนชนบทปัจจุบันที่ยังทำไร่ทำนา เป็นกรรมกร อาจจะมีลูกเป็นนักศึกษาปริญญาตรี โท เอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือทำงานอาชีพต่างๆ ในสังคมเมือง ที่เขามาเรียกร้องประชาธิปไตยนับหมื่นนับแสนไม่ใช่คนโง่ที่อะไรๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนพามาพากลับอย่างที่ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชั้นนำคิด!
แม่ผมเล่าให้ฟังว่า คนในหมู่บ้านก็ไปชุมนุมกับคนเสื้อแดงตลอดในช่วงเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ผมถามว่าได้เงินค่าจ้างกันไหม? แม่ผมบอกว่าไม่รู้ ไม่เห็นใครมาเล่าให้ฟังว่าได้ค่าจ้าง แต่ที่เห็นแน่ๆ คือ เวลาจะไปชุมนุมผู้ใหญ่บ้านจะประกาศทางหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านเชิญชวนคนไป ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ใครมีรถปิ๊คอัพก็ให้เอาไป ใครไม่มีก็ให้อาศัยกันไป ส่วนใครที่ไปไม่ได้ก็ขอให้ร่วมบริจาคค่าน้ำมัน ข้าวสารอาหารแห้ง ช่วยเหลือกันตามมีตามเกิดเท่าที่จะช่วยได้
ผมถามว่า ผู้ใหญ่บ้านทำอย่างนั้น ทหารที่เข้ามาในหมู่บ้านเขาไม่ห้ามหรือ? แม่ผมบอกว่าไม่รู้ว่าทหารจะห้ามหรือเปล่า แต่ทุกครั้งที่ไปชุมนุม ผู้ใหญ่บ้านก็ประกาศทางหอกระจายข่าวทุกครั้ง ชาวบ้านเขาก็ไม่ชอบที่ทหารเข้ามาในหมู่บ้านเกณฑ์คนมาอบรม เขาไม่เชื่อในสิ่งที่ทหารพูด
ไม่ใช่หมู่บ้านผมเท่านั้นที่เป็นแบบนี้ น้องสาวแม่ผมที่อยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองบัวลำภู ก็จัดผ้าป่า 3-4 ครั้ง ช่วยคนเสื้อแดงในหมู่บ้านให้ออกไปร่วมชุมนุม ซึ่งผมแปลกใจมากว่าผู้หญิงในวัยใกล้ 70 อย่างแม่ผม อย่างน้องสาวแม่ผมแต่ก่อนไม่เคยเห็นพูดเรื่องการเมืองเลย แต่ปัจจุบันคนในวัยนี้ และเป็นจำนวนมากในหมู่บ้านลงทุนลงแรงต่อสู้ทางการเมือง หรือต่อสู่เพื่อสิ่งที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตย
ผมเองหลุดออกมาจากชนบทมาใช้ชีวิตในสังคมเมือง อยู่ในมหาวิทยาลัย กลับพบแต่ “คำพิพากษา” ว่าชาวบ้านไม่รู้ประชาธิปไตย เป็นเหยื่อนักการเมืองโกง ถูกซื้อด้วยเงิน ฯลฯ แม้ผมจะเชื่อว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งก็อาจเป็นอย่างที่ว่าจริง คือการต่อสู้ของชาวบ้านก็อาจไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันน่าเสียใจว่าคนที่พิพากษาชาวบ้านเช่นนี้ หลายคนเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เขาเคยเสียเวลาไปศึกษาตัวตน เหตุผล ความคิดความอ่านของชาวบ้างไหมว่า ทำไมพวกเขาจึงออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย!
ผมเขียนเรื่องนี้เหมือนกับพูดซ้ำเรื่องเดิมๆ แต่มันก็เป็นเรื่องเดิมๆ ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจปรากฏการณ์การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของ คนระดับล่างว่าจำเป็นต้องได้รับการมองให้ถูกต้อง
ไม่ใช่มองแค่ว่าพวกเขาเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ต้องมองให้เห็นความเป็นคนของพวกเขาเท่าเทียมกับความเป็นคนของทุกคน หนึ่งคนหนึ่งเสียงเป็นเจ้าของประเทศนี้เท่าๆ กัน ข้อเรียกร้องและเหตุผลของพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา
อยากถามปัญญาชน นักวิชาการ สื่อทั้งหลายว่า พวกคุณรู้ตัวหรือเปล่าว่า ชาวบ้าน คนชนบท คนต่างจังหวัด คนขับแท็กซี่ ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กรรมกรในสังคมเมือง พวกเขาก้าวล้ำหน้าพวกคุณไปไกลแล้วในเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย!
ถ้าตามไม่ทันชาวบ้าน ก็ขอบิณฑบาตว่าอย่าทำตัวเป็นเทวดาผู้ทรงคุณธรรมและภูมิปัญญาเที่ยวพิพากษา ชาวบ้านผิดๆ อีกต่อไปเลย หรือถ้าไม่มีปัญญาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็อย่าทำตัวขัดขวางกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวบ้านอีกเลยครับ!
จากชื่อบทความเดิม:เทวดาผู้ทรงคุณธรรมและภูมิปัญญาคืออุปสรรคของประชาธิปไตย