ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 17 October 2010

“โกร่ง”อัดแบงก์ชาติ จี้”มาร์ค”ลาออก!!

ที่มา thaifreenews

โดย Porsche



เงินบาทแข็งพ่นพิษ
เศรษฐกิจไทยวินาศ!
ในโลกประชาธิปไตย การมีความเห็นต่างไม่ใช่รื่องแปลก
และเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้

เช่นกันกับในโลกเศรษฐศาสตร์
ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก จะถูกสั่งสอนมาเหมือนๆกันว่า
เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ก็มี 2 ด้านให้มองต่างมุมได้เช่นกัน

แต่หากการเมืองที่แบ่งแยกแตกต่างสีกันอย่างเข้มข้น จนยากที่จะปรองดอง
แล้วดันลากเอาการมองต่างมุมทางด้านเศรษฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย...
จึงกลายเป็นเรื่องที่ดูไม่จืด

เป็นที่น่าสังเกคุว่าในขณะที่รัฐบาลพยายามที่จะบอกว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้ดี
แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็ตาม
แต่ก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหา
ซึ่งเป้นการบริหารประเทศสไตล์ถนัดของพรรคประชาธิปัตย์
ยุคที่มี 2 เกลอ อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการประทรวงการคลัง จับมือเข้าขากันตลอด

แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออก จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์
และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลกระทบค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่อง

แต่ก็ไม่มีรายการตีแสกหน้าตรงๆให้รัฐบาลต้องหงุดหงิดอย่างหนัก

เหมือนกับกรณีที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงๆอย่างรุนแรง

ไม่ว่าจะเป็นการเตือนว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)
ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นโยบายลง 0.75% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.75 %
เพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าลง ไม่ใช่คงอัตราดอกเบี้ย

“ต้องลดอย่างรวดเร็ว อย่ากลัวเสียหน้า
แม้จะมีคนได้คนเสียแต่ให้นึกถึงประเทศชาติไว้ก่อน”

ขณะเดียวกันธปท.ต้องประกาศกำหนดเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน
ถ้าแข็งกว่าระดับนี้ประกาศไปเลยว่าจะซื้อหมด
อย่าไปกลัวสหรัฐฯเพราะอยากเป็นเด็กดีขององค์การระหว่างประเทศ
ธปท.ต้องลดมิจฉาทิฐิ ลดความอวดดี เลิกหลอกลวงประชาชน
อย่าแล้งน้ำใจกับประเทศชาติ

“อาจจะเกิดวิกฤตรอบสองได้ เพราะความโง่เขลาของธปท.
เพราะขณะนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ได้เป็นไปตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
การส่งออกที่ดีขึ้นก็ไม่ได้ดีจริง 3-6 เดือนข้างหน้าก็เห็นว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถึงจุดหนึ่งนักลงทุนต่างชาติรู้ว่าค่าเงินบาทแข็งเกินพื้นฐานของประเทศ
แต่พวกเราไม่รู้ ถึงจุดนั้นนักลงทุนเหล่านั้นก็จะทุ่มโจมตีค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง
อาจจะกลับมาถึงระดับ 35บาทต่อดอลลาร์ก็ได้ ค่าเงินบาทกำลังจะถูกปั่น
ถ้าหากบาทแข็งไปถึง 25 บาทต่อดอลลาร์อาจจะไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งได้”

มุมมองของนายวีระพงษ์ กรณีเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น
ถือเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัวของธปท.ที่ใจดำ
รู้ทั้งรู้ว่ากระแสโลกถูกสหรัฐฯบีบคั้นให้เงินหลายสกุลแข็งค่า
เพื่อให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง
ฉนั้นองค์กรระหว่างประเทศทั้ง ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกต่างอยู่ภายใต้สหรัฐฯทั้งสิ้น
ธนาคารกลางใดที่ปฏิบัติตามองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้
ก็จะได้รับการสรรเสริญเยินยอว่าเป็นธนาคารกลางที่ดี เป็นผู้ว่าการที่ดี ธปท.
ก็คงอยากเป็นอย่างนั้น แทนที่จะให้ประชาชนคนไทยสรรเสริญ

ดังนั้นจึงได้บอกว่าธปท.เห็นแก่ตัวและใจดำกับประชาชนคนไทยและประเทศชาติ
เพราะผลกระทบจากค่าเงินบาทกำลังส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนทางเศรษฐกิจ
แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมเพราะไม่มีอุตสาหกรรมใดที่จะไม่ผลิตเพื่อการส่งออก
เพราะส่งออกที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถึง 90% ก็ยังได้รับผลกระทบ
ขณะที่ธปท.ก็เสนอให้ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ไม่ใช่เอกชนไม่รู้
แต่ราคาถูกกำหนดโดยต่างประเทศ

ที่หนักคือภาคการเกษตร
ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตรเท่านั้น
ยังส่งผลกระทบไปถึงภาคท่องเที่ยวและบริการ
วิกฤตครั้งนี้อาจจะหนักกว่าต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ
เพราะครั้งนี้ลำบากกันท้วนหน้า
และเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้
หรือแม้ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์กัน
แต่เชื่อว่าปี 2554 จะเจอปัญหาหนักกว่านี้แน่
เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดทันที
แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 3-6 เดือนข้างหน้า
แม้แต่ผู้นำเข้าก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วย

ทุกคนรู้ ยกเว้นพวกธปท.ที่ไม่รู้

“เมื่อเป็นอย่างนี้คนขายมากก็เจ๊งมาก ขายน้อยเจ๊งน้อย ก็คงจะต้องชะลอการผลิตลง
ในที่สุดก็จะกระทบต่อแรงงานและจ้างงาน เงินปันผล และค่าแรงที่จะปรับขึ้นก็มีปัญหา”

ปัญหาที่น่าห่วงอีกประการหนึ่งในมุมมองของนายวีรพงษ์ก็คือ
ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ตลาดทุนและตลาดหุ้น
เพราะจะเห็นว่าราคาหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งสูงขึ้น
ประเด็นนี้ต้องระวังเพราะราคาหุ้นที่มีกำไรทางบัญชีมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น
จึงเป็นเพียงภาพลวงตา ไม่ใช่ของจริง ขณะที่ราคาตราสารหนี้ก็ถูกบิดเบือนไป
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. 2 ครั้งที่ผ่านมา คือ
ความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
เพราะสหรัฐยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น

การที่ ธปท.ต้องการจะปัดความรับผิดชอบ
ที่จริงไม่ทำอะไรยังจะเสียหายยิ่งกว่าทำผิดเสียอีก
ที่สุดเราคงคงต้องระวังตัวเอง
เพราะว่าธปท.พูดไม่รู้เรื่องแล้วมีมิจฉาทิฐิ มีอวิชาเข้าสิง
การที่ ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นคง
เพราะต้องการรักษาหน้าของตัวเองมากกกว่าประเทศชาติ
จะคอยดูหน้าของธปท.กับความฉิบหายยับเยินของประเทศธปท.จะเลือกอย่างไหน
เท่าที่ดูผู้ว่าการฯคนใหม่ยิ่งหนักกว่าผู้ว่าฯคนเก่าอีก
หยุดพูดได้แล้วว่าค่าเงินบาทเป็นไปตามภูมิภาค
แต่ทำไมสิงคโปร์ และอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงอย่างหนัก ความจริงคือ
เงินบาทแข็งค่าเร็วมากกว่าคนอื่น ไม่ควรจะไปอ้างใครควรจะดูตัวเอง
ดูว่าโครงสร้างเศรษฐกิจเราเป็นอย่างไร
และทำไมจะต้องเป็นไปตามภูมิภาคยกเว้น จีนกับฮ่องกงหรือยังไง
ธปท.บอกว่าบาทแข็งแล้วจะดี จะได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ไม่จริงเลย
เพราะคนกำลังจะเจ๊งจะไปขยายการลงทุนอะไรได้

“5-6 มาตรการที่ธปท.ออกมายังเกาไม่ถูกที่คัน ที่เจ็บใจคือ
ธปท.บอกว่า บาทแข็งค่าไม่กระทบส่งออก มีผู้ได้ประโยชน์
ถ้าไม่ต้องการเป็นผู้ว่าดีเด่น ธนาคารกลางดีเด่น
ขอให้เป็นรางวัลที่คนไทยให้ไม่ได้รางวัลจากต่างชาติ
ถ้าคิดได้ ปัญญาก็จะเกิด อวิชชาก็จะหายไป
คนไทยไม่ได้กินหญ้าที่ธปท.แนะให้คนไทยเอาเงินไปซื้อดอลลาร์ไปลงทุนในสหรัฐ
ขณะที่ตัวเองก็ยังเอาตัวไม่รอดจะให้ไปลงทุนที่ไหน”

อะไรไม่สำคัญเท่ากับการทิ้งท้ายของนายวีรพงษ์ที่ว่า

“ผมขอให้ทุกคนเตรียมตัว
ถ้าเปลี่ยนผู้ว่าฯไม่ได้ก็ควรจะเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี”

เล่นตอกกันตรงๆขนาดนี้ โดนกันเป็นลูกระนาด
ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี มารัฐมนตรีคลัง ไปจนถึงแบงก์ชาติ จะไม่สะดุ้งกันอย่างไรไหว

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทั้งแบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี
จะดาหน้ากันออกมารุมนายวีรพงษ์ พร้อมๆกัน

อย่าง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ประธาน
คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึง
ถึงข้อเสนอที่ให้ธปท.ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ว่าคงทำไม่ได้เหมือนปี2540

ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นมา2ครั้งก่อนหน้านี้
เพื่อดูแลตัวเลขเงินเฟ้อตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว
แต่ในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)
ในสัปดาห์หน้ามีเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพราะฉนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจะมีความจำเป็นน้อยลง
แต่คงไม่สามารถลดได้ หรือไม่ก็คงไว้ ไม่ขึ้น

“สำหรับข้อเสนอของ ดร.โกร่ง นั้น ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่
แต่ก็ต้องพิจารณาดูว่าผิดหรือถูกด้วย”

เช่นกันกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง
กรณีที่นายวีรพงษ์ตำหนิการทำงานของรัฐบาลว่า
ยินดีรับทุกความคิดเห็นของนายวีรพงษ์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่มีมาตรการใดๆ
ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
เพราะเมื่อรัฐบาลสหรัฐส่งสัญญาณชัดเจนว่ายังคงใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้วยการเพิ่มเงินดอลลาร์ในตลาด และจะไม่เพิ่มอัตราดอกเบี้ย
ค่าเงินดอลลาร์ย่อมอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับทุกสกุล ดังนั้น
ค่าเงินบาทต้องแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ในเมื่อเราไม่สามารถฝืนที่จะให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้
สิ่งที่ทำได้คือเราต้องปรับตัว”

ส่วนนายประสาร ไตรรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า
ขณะนี้เงินบางยังคงแข็งค่าขึ้น และไม่มีจุดดุลยภาพ เนื่องจาก
เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปยังมีปัญหา ดังนั้นการดำเนินการใดๆ
ในขณะนี้ต่อเงินบาทอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงและอันตราย
โดยเฉพาะข้อเสนอการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
เพราะจะเป็นการไปสร้างสมดุลที่เป็นดุลยภาพเทียม
ซึ่งธปท.คงทำไม่ได้ทั้ง 3 เรื่อง ทั้ง
1.ดูแลเสถียรภาพด้านราคา
2.การเคลื่อนย้ายเงินทุน และ
3.ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่

“ปัญหาใหญ่มาจากอเมริกาและยุโรปเศรษฐกิจไม่ดี
ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียดี ซึ่งไม่รู้ว่าจุดดุลยภาพอยู่ตรงไหน
การใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะสร้างปัญหา
ตลาดไม่ได้เชื่อดุลยภาพเทียมที่เกิดขึ้นมา
และทำให้มีต้นทุนสูง
และอาจจะมีความเสียหาย ซึ่งเรามีบทเรียนในปี 40”

ผู้ว่าธปท.กล่าวว่า สำหรับเงินบาทแข็งค่าเร็ว ยอมรับว่า
มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและส่งออก
แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้นำเข้าที่ได้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ธปท.ก็ดูแลอยู่
โดยเงินบาทยังเกาะกลุ่มภูมิภาคตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมา 11%
ถือว่าเป็นระดับกลาง ๆ
และธปท.ยังติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับเศรษฐกิจ

และแน่นอนว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ระบุว่า
จะใช้เวทีการหารือในระดับอาเซียนหรือกลุ่มประเทศ จี 20 จะมีมาตรการออกมา
แก้ไขปัญหาค่าเงินที่หลายประเทศกำลังประสบอยู่

“ข้อสำคัญที่สุดที่คิดว่าไม่น่าจะมีใครปฏิเสธได้ คือ
สภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในเอเชียภูมิภาคนี้
และของไทย อย่างไรก็ยากที่จะอ่อนตัวลงในขณะนี้ อันนี้คือความเป็นจริงที่ฝืนยาก”

นั่นคงจะหมายความว่าให้ผู้ส่งออก
และบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหลาย ต้องอดทนและปรับตัวเอาเอง

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าบรรดาผู้ประกอบการจะอดทนได้นานแค่ไหน

เพราะแม้แต่นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วย
การค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) อดีตมือเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์เอง
ก็ยังยอมรับว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่า เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญด้วย

และยังยอมรับว่า ตราบใดที่เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียยังแข็งแกร่ง
ก็ไม่สามารถสกัดเงินไหลเข้าได้ แน่นอนว่าจะทำให้สกุลเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งค่าต่อไป
วิธีการที่ดีที่สุด คือการบริหารค่าเงินให้มีเสถียรภาพ

“การแข็งค่าของเงินบาทเป็นการแข็งค่าตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะต้องจับตาดู
และไม่ควรปล่อยให้ค่าบาทแข็งค่ามากเกินไป”นายศุภชัยระบุ

ก็คงต้องจับตาดูว่า ระหว่างค่าเงินบาทแข็งขึ้น กับ ผู้ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว
สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะเลือกดูแลด้านไหนมากกว่ากัน


http://www.bangkok-today.com/node/7540