ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 4 October 2010

ข้อโต้แย้งกรณีสวรรคตใน หนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ หนังสือเล่มใหม่ของวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย

ที่มา Thai E-News

โดย ดอม ด่านตระกูล
ที่มา เว็บไซต์นิติราษฎร์
3 ตุลาคม 2553

วัน อังคารที่ผ่านมา (28 ก.ย.2553) มีพี่ที่เคารพนับถือกันท่านหนึ่งโทรศัพท์มาเล่าว่ามีหนังสือเล่มใหม่ออกมา บิดเบือนประวัติศาสตร์อีกแล้วโดยเฉพาะกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่8 ผู้เขียนชื่อ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย เหตุที่คุณพี่ท่านนั้นโทรศัพท์มาเล่าเพราะทราบดีว่าคุณพ่อ (สุพจน์ ด่านตระกูล) ของข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ติดตามและนำเสนอข้อมูลในเรื่องกรณีสวรรคตมาอย่างที่ สื่อมวลชนบางท่านนินทาว่า กัดไม่ปล่อย ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานจนได้รับรางวัลเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในฐานะนักเขียนดีเด่น จึงแสดงความคิดเห็นว่าข้าพเจ้าน่าที่จะนำข้อเท็จจริงมาตอบโต้ เพื่อที่ผู้อ่านจำนวนมากจะได้ไม่เข้าใจผิดตามถ้อยความที่ไม่ตรงกับความจริง ของ วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยโดยเฉพาะข้อมูลบางตอนที่ถูกนำมาเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนและ www.matichon.co.th อยู่ในเวลานี้

อันนามผู้เขียน วิมลพรรณ ปิตธวัชชัยนี้ เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยในแง่ที่งานเขียนของเธอหลายชิ้นได้ถูกคุณพ่อของ ข้าพเจ้านำมาวิพากษ์วิจารณ์ และโต้แย้งในหลายๆกรณีที่เธออาจเข้าใจคลาดเคลื่อน (หรือจงใจก็ไม่ทราบ)เช่นหนังสือเรื่อง ข้าวของพ่อ ในหน้า 42 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่2) เธอได้เขียนบรรยายไว้ว่า

หลัง สงครามโลกครั้งที่2 สิ้นสุดลง ประเทศไทยซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะเป็นมิตรกับญี่ปุ่นนั้นก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน

ข้าวไม่ เพียงแต่เลี้ยงคนไทยให้ อยู่รอด ไม่อดตาย และผ่านสงครามอันร้ายกาจมาได้เท่านั้น ข้าวยังได้ช่วยชาติให้พ้นภัยในฐานะผู้พ่ายแพ้อีกด้วย


แต่จากเอกสารหลักฐานที่พิสูจน์ได้กลับตรงกันข้าม

1. ประเทศไทยไม่เคยตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้สงคราม เพราะคุณูปการของขบวนการเสรีไทย ทำให้เราสามารถประกาศสันติภาพได้ในวันที่ 16 สิงหาคม ค.ศ.1945 และท่านปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นได้ประกาศในนามของประชาชนชาวไทยว่าการประกาศสงคราม ของไทยต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ รัฐบาลไทยต่อมาได้กำหนดให้วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย และได้มีงานเฉลิมฉลอง แต่ต่อมาในยุคเผด็จการครองเมือง และยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ วันชาติ 24 มิถุนายน และ วันสันติภาพ 16 สิงหาคม ถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของประชาชน จนกระทั่งในวันที่ 10 มิถุนายน 2545 จึงได้มีคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ที่ตั้งอยู่ ณ สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม (อ่านเพิ่มเติมได้จาก คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 171/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์) และต่อมาได้มีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันสันติภาพไทย ทุกวันที่ 16 สิงหาคม เป็นประจำทุกปีจนกระทั่งปัจจุบัน (2553)

2. ที่วิมลพรรณ เขียนว่าไทยถูกฝ่ายสัมพันธมิตร บังคับให้ส่งข้าวไปชดใช้ค่าสงครามถึงปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน นั้น ความจริงไม่ใช่ปีละ 1ล้าน 5 แสนตัน แต่เป็นจำนวนทั้งหมด 1.5 ล้านตัน ไม่ใช่ต่อปี (ให้ครบ 1.5 ล้านตันเมื่อไรก็จบกัน)

แต่สุดท้ายแล้วในวัน ที่ 1 พฤษภาคม 1946 อังกฤษยอมปรับปรุงสนธิสัญญาข้อนี้เป็นให้ไทยขายข้าวในราคาถูกให้อังกฤษ 1.2 ล้านตันแทนการให้เปล่า โดยความสามารถของรัฐบาลไทยในขณะนั้น (ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี) ที่ได้ทำการเจรจาเป็นผลสำเร็จสรุปว่าไทยต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเปล่าๆทั้งหมด เพียง 150,000 ตัน เท่านั้น (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก-หนังสือไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ของดิเรก ชัยนาม

- วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจข้าวในภาคกลางกับผลกระทบต่อสังคมไทย ช่วงพ.ศ.2460-2498 ของ ธรรมรักษ์ จำปา

- หนังสือการวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495 (2527) ของดร.กนต์ธีร์ ศุภมงคล

- เว็บไซด์ฐานข้อมูลการเมืองการปกครองสถาบันพระปกเกล้าฯ)
เอกสาร หลักฐานสำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ หนังสือแจกในงานศพของนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งท่านได้บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับปัญหาเรื่องนี้ไว้ด้วยตัวเอง ว่าดังนี้

“......... ก็พอดีวันหนึ่ง จะเป็นวันที่เท่าใดข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่อยู่ในระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้โทรศัพท์เชิญข้าพเจ้า (นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น)ให้ไปพบที่ทำเนียบท่าช้าง เมื่อข้าพเจ้าไปถึงก็ได้ส่งโทรเลขของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ให้ข้าพเจ้าอ่าน ซึ่งมีความเป็นทำนองหารือมาว่า หากประเทศไทยจะเสนอให้ข้าวแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรสัก 1,200,000 ตัน หรือ 1,500,000 ตัน (จะเป็นจำนวนไหนข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่แน่ใจว่าเป็นจำนวนหนึ่งใน 2 จำนวนนี้) โดยไม่คิดมูลค่าจะได้หรือไม่ เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรี เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านข้อความในโทรเลขดูตลอดแล้ว ก็วิตกกังวลมาก เพราะว่าการให้ข้าวโดยไม่คิดมูลค่าเป็นจำนวนมากเท่ากับการขายข้าวส่งออกนอก ประเทศของเราในยามปกติตลอดปี มันเท่ากับเป็นค่าปรับสงครามนั่นเอง เพราะจะเป็นเงินมหาศาลสำหรับประเทศไทย คือจะเป็นเงินไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท และนอกจากนั้นแล้วข้าวจำนวนนี้จะมีพอให้หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ เพราะในระหว่างสงครามนั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถส่งข้าวไปขายยังต่างประเทศดังเช่นยามปกติก็ตาม แต่ทหารญี่ปุ่นก็ได้มากว้านซื้อเอาไปหมด ข้าพเจ้าจึงขอนำเรื่องไปหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องก่อน นายปรีดี พนมยงค์จึงกล่าวว่า เรื่องนี้เราจะต้องรีบตอบ กว่าจะสอบสวนอาจจะเสียเวลานาน ฉะนั้นขอให้ข้าพเจ้าตกลงว่า ไหนๆอังกฤษและอเมริกาก็ทราบเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และไหนๆม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็ได้เสนอให้เขาไปแล้วก็ควรตอบไปว่า เห็นควรรับได้ในหลักการ ส่วนเรื่องจำนวนที่จะให้นั้น จะได้ตกลงพิจารณาในภายหลังจะได้หรือไม่? ข้าพเจ้าเห็นด้วย จึงยอมตกลงที่จะให้มีโทรเลขตอบไปเช่นนั้น”

ข้าว จำนวน 1.2 ล้านตัน หรือ 1.5 ล้านตัน ที่จะให้แก่สัมพันธมิตรฟรีๆนั้น เป็นข้อเสนอของม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และได้ปรากฏอยู่ในความตกลงสมบูรณ์แบบข้อ 14(ความตกลงสมบูรณ์แบบ เป็นข้อตกลงที่ไทยลงนามกับอังกฤษเมื่อ 1 มกราคม 2489 โดยรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เพื่อชดเชยค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษภายใน 1 กันยายน 2490) แต่ต่อมาเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้แก้ปัญหานี้จากการให้ฟรีเป็นการซื้อขาย ดังปรากฏข้อเท็จจริงอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สามัญ) ครั้งที่ 33 วันที่ 2 พฤษภาคม 2489

ข้าพเจ้า ไม่ทราบว่า วิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ไม่ได้ค้นคว้าหาข้อมูลให้รอบด้าน หรือจงใจบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังเข้าใจผิด ข้าพเจ้าไม่ได้มีอคติต่อวิมลพรรณ เป็นการส่วนตัว แต่ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเขียนยืนยันสัจจะ ตามหลักฐานข้อเท็จจริงเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือน เพราะหนึ่งเป็นหน้าที่ของลูกที่จะสานต่องานเผยแพร่สัจจะของผู้เป็นพ่อ และสองเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้รักสัจจะทุกคนที่ต้องช่วยกันเผยแพร่ความจริง นี้ออกไป เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาค้นคว้าของเยาวชนในอนาคต

ในกรณี หนังสือออกใหม่ของเธอ เรื่องเอกกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าได้ค้นคว้าหาข้อมูลหลักฐานเอกสารมากมาย โดยเฉพาะกรณีสวรรคตของรัชกาลที่8 ตอนหนึ่งของหนังสือเล่ม 2 หน้า 29 บอกว่า

“..... การสอบสวนชันสูตรพระบรมศพของ ตำรวจในครั้งแรกก็ทำอย่างหยาบๆไม่ได้พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนตั้งแต่แรก เมื่อจะมีการแถลงการณ์ให้เป็นที่รับทราบของประชาชน นายปรีดี พนมยงค์ ถามหลวงนิตย์ว่า แถลงว่าสวรรคตเพราะพระนาภี (ท้อง) เสียได้หรือไม่ หลวงนิตย์ฯตอบว่า ไม่ได้

หลวงเชวงศักดิ์สงครามถามว่า เพราะโรคหัวใจได้ไหม หลวงนิตย์ปฏิเสธอีก จะออกแถลงการณ์ว่า ในหลวงปลงพระชนม์เอง กรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงคัดค้าน รับสั่งให้แถลงการณ์ตามที่เป็นจริง นายกรัฐมนตรี (นายปรีดี พนมยงค์) จึงแถลงการณ์ว่า “เป็นอุบัติเหตุ” ซึ่งกรมขุนชัยนาทฯและพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ได้คัดค้านหรือห้ามการสืบสวนตาม กฏหมาย โดยอ้างว่าขัดกับประเพณีแต่อย่างใด”

ส่วน ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ข้าพเจ้าคิดเอาเองว่าจริง แต่เป็นข้อเท็จจริงตามคำให้การของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯซึ่งตามประวัติกล่าวว่า เป็นผู้ใกล้ชิดกับสมเด็จพระราชชนนี และสมเด็จพระราชบิดามาช้านาน เป็นผู้ที่เชื่อถือได้ว่ามีความจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคุ้นเคยกับในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสองพระองค์

นายแพทย์หลวงนิตย์ เวชวิศิษฏ์ได้ให้การไว้ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2492 ดังนี้

“ขณะ ที่ขึ้นไปถวายบังคมนั้น พลโทพระศิลปศัสตราคม เป็นผู้ที่ร้องไห้ดังๆ ซึ่งใครๆในที่นั้นเหลียวไปดู แล้วพระรามอินทราจะพูดกับนายกรัฐมนตรีหรือใครจำไม่ได้ว่าใคร่จะขอชันสูตรพระ บรมศพ แต่กรมขุนชัยนาทฯห้ามมิให้กระทำ

เกี่ยวกับแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังนั้น นายทวี บุณยเกตุได้จดบันทึกไว้โดยละเอียดว่าใครมีความเห็นอย่างไร

กรมขุน ชัยนาทฯในฐานะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ได้ปรารภกับท่านหญิง แก้ว (มจ.อัปภัสราภา เทวกุล) เป็นการส่วนพระองค์ว่า “เรื่องนี้ (หมายถึงกรณีสวรรคต)ต้องให้ท่านนายก (ท่านปรีดี) ช่วย”

ต่อ มาเมื่อนายกรัฐมนตรีและคนอื่นๆเข้าไปที่พระที่นั่งพระบรมพิมานแล้ว และปรึกษากันว่าจะแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงเหตุแห่งกรณีสวรรคตว่าอย่างไร

ขณะ นั้นกรมขุนชัยนาทฯกำลังประทับยืนอยู่ที่อัฒจันทร์บันไดใหญ่ได้ออกความ เห็นว่า “สวรรคตเพราะประชวรพระนาภี”พร้อมกับเอานิ้วชี้ที่ท้องของพระองค์เองเป็นการ ออกท่าทาง

ต่อความเห็นของกรมขุนชัยนาทฯดังกล่าวนี้ ท่านปรีดีฯไม่เห็นด้วยและมีความเห็นแย้งว่า พระองค์สวรรคตโดยมีบาดแผลและเสียงปืนที่ดังขึ้นก็มีคนได้ยินกันมาก ฉะนั้นจะแถลงการณ์ว่า สวรรคตเพราะประชวรพระนาภีไม่ได้

ในที่สุดจึง ได้มีแถลงการณ์ออกมาว่าเป็นอุปัทวเหตุ โดยได้รับความเห็นชอบจากพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดังปรากฏในบันทึกของกรมตำรวจลงวันที่ 9 มิถุนายน 2489 และได้นำมาเปิดเผยต่อมหาชนในการเปิดอภิปรายทั่วไป ในสมัยรัฐบาลธำรงนาวาสวัสดิ์ ดังหลักฐานในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ระหว่างวันที่ 23-27 พฤษภาคม 2490 มีความตอนหนึ่งว่าดังนี้

“วันนี้ เวลา 15 น.มีพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ อาทิ พระวรวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ พระองค์เจ้าวรรณ พระองค์เจ้าธานี กับท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอีกหลายท่าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปชุมนุมกันพิจารณารายงานของอธิบดีกรมตำรวจ เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนกรณีสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างชุมนุมดังกล่าว อธิบดีกรมตำรวจได้ทูลขอประทานความเห็นของสมเด็จกรมขุนชัยนาท ได้รับสั่งว่า สำหรับพระองค์ท่านเองทรงเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุจริงดังแถลงการณ์ของทาง ราชการ เหตุผลที่ชี้เช่นนั้นก็เพราะพระองค์ทราบว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระแสงปืนมาก และเคยเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระชากพระแสงปืนและทรงหันลำกล้องเอา ปากกระบอกมาทางพระพักตร์ เพื่อส่องดูลำกล้องและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่าปืนประบอกนี้ไกอ่อน ลั่นง่าย จึงบันทึกไว้ พ.ต.ท. (ลิมอักษร)”

ซึ่งหลัก ฐานนี้ข้าพเจ้าคัดลอกมาจากหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของนายสุพจน์ ด่านตระกูลผู้เป็นบิดา ถ้าคำให้การของหลวงนิตย์ฯตามที่คุณพ่อนำมาเขียนไว้นั้นไม่ตรงตามข้อเท็จจริง หลวงนิตย์ฯน่าจะทำการฟ้องร้องว่าคุณพ่อหมิ่นประมาท เขียนความเท็จเสียนานแล้ว เพราะขณะที่หนังสือของคุณพ่อออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2517 หลวงนิตย์ฯยังมีชีวิตพำนักอยู่บ้านเลขที่ 813 ซอยธนาคารศรีนคร ถนนเพชรบุรี ประตูน้ำ และคุณพ่อของข้าพเจ้าก็ไม่ใช่บุคคลร่อนเร่พเนจร แต่มีหลักแหล่งอยู่อาศัยที่แน่นอน และหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือใต้ดินหากพิมพ์จำหน่ายวางแผงตามท้องตลาดโดย ทั่วไป ถ้าหลวงนิตย์คิดจะติดตามหาตัวคุณพ่อข้าพเจ้านั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ตรงกันข้ามหลวงนิตย์ฯกลับให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์พิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2517 ว่า

“ผมขอชมเชยหนังสือปกขาว (ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต) ของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล ที่เขียนไว้ในหน้า 103-108 เกี่ยวกับลักษณะของพระบรมศพ เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ทั้งๆที่ส่วนตัวของผมเองก็ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาคุณสุพจน์มาก่อนเลย”

คำชมเชยของนายแพทย์หลวงนิตย์ฯเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่าข้อมูลในหนังสือ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ที่เขียนโดยนายสุพจน์ ด่านตระกูลนั้นเป็นความจริง

และอีกตอนหนึ่งในหนังสือเอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเล่ม 2 หน้า 40 เขียนว่า

หลัง การชันสูตรพระบรมศพแล้ว แพทย์ลงความเห็นว่า สาเหตุใดมีน้ำหนักว่าเป็นไปได้มากที่สุด ปรากฏว่า ประเด็นถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด คือ

ถูกลอบปลงพระชนม์มีน้ำหนักมากที่สุด 16 เสียง

ปลงพระชนม์เองมีน้ำหนักมากที่สุด 14 เสียง

อุปัทวเหตุมีน้ำหนักมากที่สุด 2 เสียง

ใน ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายปรีดี พนมยงค์ได้เรียก นายดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลวงอดุลย์เดชจรัส และ นายดอล ที่ปรึกษาการคลัง ไปพบ นายปรีดีบอกนายดิเรกว่า ได้ทราบว่ามีการยุยงแพทย์ฝรั่งให้เล่นการเมืองนอกเหนือหน้าที่แพทย์ ทั้ง 4 คน คือ นายปรีดี นายดิเรก หลวงอดุลย์เดชจรัส และนายดอล เห็นพ้องต้องกันว่า แพทย์ควรทำหน้าที่ชันสูตรพระบรมศพอย่างเดียวไม่ควรออกความเห็นเรื่องสาเหตุ นายปรีดีได้ใช้ให้นายดิเรก และนายดอลไปแจ้งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยทราบ ในที่สุดแพทย์กองทัพอังกฤษจึงได้ขอถอนความเห็น โดยนายแพทย์ไดร์เบิร์ก(ซึ่งได้รับเชิญร่วมชันสูตรพระบรมศพ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน) แจ้งแก่พระยาดำรงแพทยาคุณว่าจำต้องถอนความเห็นเพราะเป็นทหารต้องปฏิบัติตาม วินัย

และรศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันอังคารที่ 28 กันยายนว่า ผู้เขียน (วิมลพรรณ)ได้ค้นข้อมูลจากลอนดอน ได้ข้อสรุปว่า ได้มีการโทรเลขจากสถานทูตอังกฤษในไทยไปยังลอนดอน ประเทศอังกฤษเรื่องการเจรจาขอให้แพทย์อังกฤษงดออกความเห็นการชันสูตรพระบรม ศพ ตรงนี้คือหลักฐานใหม่ที่คนไทยจะได้รู้

ผู้อ่านหนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ มาถึงตอนนี้อาจจะตื่นเต้นตามรศ.ดร.สุเนตร ไปด้วยถ้าไม่เคยอ่าน คำให้การของหลวงนิตย์ฯในหนังสือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ของนายสุพจน์ ด่านตระกูล ถ้าอ่านแล้วจะทราบดีว่า เป็นหลักฐานใหม่หรือไม่ อย่างไร

เพราะคำให้การของหลวงนิตย์ฯต่อศาลสถิตยุติธรรมในฐานะพยานโจทก์ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2492 ว่าดังนี้

“ใน คืนวันที่ 25 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา หรือก่อนหน้านั้นนิดหน่อย ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากทำเนียบท่าช้างว่า นายกรัฐมนตรีต้องการพบข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไปที่ทำเนียบทันที ไปถึงทำเนียบเข้าใจว่าเป็นเวลาไม่เกิน 21 นาฬิกา พบท่านนายกรัฐมนตรี ท่านได้ต่อว่าข้าพเจ้าว่าทำไมแพทย์ชันสูตรพระบรมศพแล้วจึงต้องออกความเห็น ด้วยว่า กรณีเกิดจากอย่างใดอย่างหนึ่งในสามอย่างนั้น ตามธรรมดาที่ปฏิบัติกันกันในเมืองไทยนี้ แพทย์จะแสดงความความเห็นได้แต่เพียงว่า การตายเกิดจากอะไร แผลเข้าทางไหนออกทางไหน ถูกอวัยวะสำคัญหรือไม่อย่างไร จึงทำให้ตายเท่านั้น การที่แพทย์ออกความเห็นเลยไปเช่นนี้น่าจะไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าจึงเรียนตอบว่า ไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น ท่าน พูดต่อไปว่า แพทย์ฝรั่งที่เชิญมาร่วมชันสูตรพระบรมศพนั้นก็ทำเกินหน้าที่ของแพทย์ไปด้วย และเป็นการนอกเหนือจากข้อความในหนังสือที่เชิญมาชันสูตรพระบรมศพและท่านได้ ปรารภต่อไปว่า ก็ควรจะให้แพทย์ฝรั่งทราบว่าที่ออกความเห็นเช่นนั้นไม่ถูก ควรจะถอนความเห็นไปเสีย และได้สั่งให้นายดิเรก ชัยนามในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งถูกเรียกไปด้วย ให้ไปจัดการเรื่องนี้กับฝรั่งต่อไป ข้าพเจ้ากลับจากทำเนียบเวลาประมาณ 22-23 นาฬิกา เมื่อข้าพเจ้ากลับมาแล้ว นายดิเรกจะยังอยู่หรือไปก่อนแล้วข้าพเจ้าจำไม่ได้

รุ่งขึ้นวันที่26 เดือนเดียวกันนั้นได้มีการประชุมคณะกรรมการแพทย์ตามนัดที่โรงพยาบาล จุฬาลงกรณ์ เริ่มประชุมเวลา 9.30 นาฬิกา เท่าที่จำได้มีกรรมการแพทย์มาประชุมครบเหมือนวันก่อน พอเปิดประชุมพันเอกไดรเบอร์กก็แถลงต่อที่ประชุมว่า เขามีความเสียใจในฐานะเป็นนายแพทย์อยู่ในกองทัพอังกฤษ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีสวรรคตจะเกี่ยวข้องในทางการเมือง และได้ทราบจากเอกอัครราชทูตอังกฤษว่าที่กระทำไปนั้นไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะ ฉะนั้นเขาขอถอนความเห็นของเขา ที่เป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่า เนื่องจากท่านนายกรัฐมนตรีให้นายดิเรก ชัยนามไปจัดการ และนายดิเรก ชัยนามคงพูดกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ ที่พันเอกไดรเบอร์กขอถอนความเห็นนี้ ขอถอนความเห็นของนายแพทย์กองทัพอังกฤษทั้งคณะ คือรวมทั้งพันโทรีสและร้อยเอกคุปต์ด้วย ในหน้ากระดาษความเห็นที่มีขีดฆ่านั้น ใครขีดฆ่าไม่ทราบ

ในคราวประชุม วันที่ 25 พันเอกไดรเบอร์กได้รับว่า จะเรียบเรียงรายงานการประชุมเป็นภาษาอังกฤษแล้วพิมพ์แจก ในวันที่ 26 ก็ไม่ได้ขอถอนหรือของดแต่อย่างใด คงขอถอนเฉพาะความเห็นเท่านั้น รุ่งขึ้นวันที่ 27 ก็ส่งบันทึกมาให้ (โจทก์ขอให้พยานดูบันทึกรายงานการประชุมภาษาอังกฤษที่ดร.ไดรเบอร์กเรียบ เรียง พยานดูแล้วรับรองว่าถูกต้อง).....”

จากคำให้การ ของหลวงนิตย์ฯ ต่อศาลสถิตยุติธรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า หลวงนิตย์ฯ ผู้เป็นแพทย์ส่วนพระองค์รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และดำรงตำแหน่งเป็นถึงอธิบดีกรมการแพทย์ยังมีความคิดเห็นตรงกับท่านปรีดีฯ ว่าไม่ควรจะออกความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ได้ชันสูตรแต่ต้นมือไม่มีโอกาสได้เห็นท่าทางพระบรมศพโดยตนเอง ไม่ได้เห็นวัตถุของกลาง จึงควรออกความเห็นได้เฉพาะบาดแผลเท่านั้น

และ การที่ท่านปรีดีฯได้แสดงความเห็นว่าขอให้นายแพทย์กองทัพอังกฤษถอนความ คิดเห็นไปเสียนั้น ไม่ใช่ให้ถอนเฉพาะแพทย์อังกฤษ แต่รวมถึงนายแพทย์คนไทยทุกคนด้วย และเป็นการกระทำที่เปิดเผยตามขั้นตอนทั่วไป คือให้นายดิเรก ชัยนาม ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นเป็นผู้ไปชี้แจง มิใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนเป็นหลักฐานใหม่ที่เพิ่งค้นพบแต่อย่างใด

การ ที่ข้าพเจ้าหยิบยกคำให้การของหลวงนิตย์ฯ มาแสดงเพราะหลวงนิตย์ฯเป็นแพทย์คนแรกที่ได้เห็นพระบรมศพ และที่สำคัญเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้ถวายการรักษาพยาบาลแก่ราชตระกูล มหิดลอย่างใกล้ชิด ฉะนั้นคำให้การของหลวงนิตย์ฯย่อมเป็นคำให้การที่เป็นความสัตย์ และต้องยึดประโยชน์ในการสืบสวน สอบคดีเป็นหลัก ไม่มีเหตุผลใดที่หลวงนิตย์ฯผู้จงรักภักดีจะให้การเป็นเท็จ

คุณ พ่อของข้าพเจ้าได้เขียนตอบโต้ผู้ฝ่าฝืนสัจจะ บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 ไม่น่าเชื่อว่าจนปี พ.ศ.2553 คุณพ่อของข้าพเจ้าได้ละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ข้าพเจ้าผู้เป็นบุตรยังต้องมาเขียนชี้แจงความจริงในเรื่องเดียวกันอยู่อีก อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเชื่อเหมือนที่คุณพ่อของข้าพเจ้าเชื่อมาตลอดชีวิตว่า

สัจจะยังคงเป็นสัจจะ และไม่มีผู้ใดสามารถทำลายล้างสัจจะแห่งคดีประวัติศาสตร์นี้ไปได้.

*******
ข่าวเกี่ยวเนื่อง:เปิดข้อมูลใหม่กรณีสวรรคต..? และ"ข้อมูลเชิงลึก"ที่ต้องอ่าน