โดย สุษม ศุภนิตย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีที่กองทุนฟื้นฟูฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจด ทะเบียนนิติกรรมการโอนที่ดิน ถนนรัชดาภิเษกให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะนิติกรรมเป็นโมฆะ
ปรากฏว่า มีความเห็นที่แตกต่างหลายแนวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย 7.5% รวมเป็นเงินจำนวน 823 ล้านบาทเศษเพราะเป็นลาภมิควรได้
นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องนิติกรรมเป็นโมฆะเพราะผิดกฎหมายตาม มาตรา 411ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลทำให้ไม่สามารถเรียกคืนเงินที่ชำระโดยผิดกฎหมายได้อันเป็นข้อยกเว้นหลัก ลาภมิควรได้
นักกฎหมายอาญาเห็นว่า กรณีเป็นความผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเงินที่จ่ายเป็นค่าที่ดินเป็น ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ต้องถูกยึดเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
แต่เหตุผลในคำพิพากษาของศาลแพ่งมิได้อาศัยหลักกฎหมายดังกล่าว
น่าสังเกตว่า หลักกฎหมายลาภมิควรได้ที่ปรับใช้ในคดีนี้มิได้สอดรับกับผลของคดีหลักตามคำ พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันเป็นต้นเหตุของการฟ้องคดีเพิกถอนนิติกรรมในคดีนี้
แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเห็นว่า คุณหญิงพจมานมิได้มีความผิดและในคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างสุจริต
แต่ปัญหาน่าคิดอยู่ที่ว่า ถ้านิติกรรมซื้อขายที่ดินต้องห้ามตามกฎหมายที่ประสงค์จะควบคุมผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง(พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2542) จนเป็นเหตุให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ต้องโทษจำคุก 2ปี การปรับหลักกฎหมายในคดีของศาลแพ่งควรถือเอาข้อเท็จจริงในคดีแรกเป็นสำคัญ ซึ่งผลควรเป็นว่า
1.นิติกรรมการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะไม่มีผล ผูกพันในทางกฎมายถือว่า มิได้เกิดขึ้น มิใช่ถือว่า ให้กลับคืนสู่ที่เดิม เพราะในทางกฎหมายไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นในระหว่างโจทก์และจำเลย
ดังนั้นเมื่อไม่มีนิติกรรมก็มิใช่กรณีผิดนัด ผิดสัญญาจึงมิใช่การคืนหนี้เงินที่มีดอกเบี้ย7.5% เพราะผิดนัดตามมาตรา 224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด
2. เมื่อนิติกรรมเป็นโมฆะเพราะผิดกฎหมายเข้าลักษณะลาภมิควรได้อันเป็นกฎหมายที่ ใช้ในกรณีที่มีการได้และเสียทรัพย์ไปโดยมิได้รู้ว่าการได้และเสียนั้นไม่อาจ อ้างเอาไว้ได้ตามกฎหมาย
กฎหมายให้ความเป็นธรรมด้วยการคืนสิ่งที่ได้มาแก่กันเฉพาะกรณีที่ มิใช่การทำผิดข้อห้ามตามกฎหมายและ พิจารณาความสุจริตของคู่กรณีเป็นสำคัญ หากต่างก็สุจริตให้คืนทรัพย์เท่าที่ยังคงเหลือ ส่วนดอกผลของทรัพย์ที่ได้มาต้องคืนให้เจ้าของทรัพย์เมื่อถูกเรียกคืน
ในคดีนี้หากโจทก์(กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินผู้ ขายที่ดิน)ไม่อ้างมาตรา 411 ในคำฟ้องและต่างสืบได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต่างสุจริต(อันเป็นประเด็นที่น่าคิดอย่างยิ่ง) กรณีก็ไม่ใช่หนี้เงินตามมาตรา224 แต่อย่างใด
ศาลแพ่งเห็นว่า เป็นเรื่องคืนเงินตามมาตรา412 แต่ มิได้ปรับบทมาตรา 415 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเรื่องการคืนดอกผล ในกรณีนี้ดอกผลของเงินคือดอกเบี้ยที่มิใช่ดอกเบี้ย7.5%เพราะผิดนัดแต่อย่าง ใดเพราะมิใช่เรียกให้ใช้ค่าเสียหายเพราะผิดสัญญา
ดังนั้นที่ถูกก็กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯน่าจะคืนดอกเบี้ยเงินค่าที่ดิน ที่รับไว้ตามอัตราตลาดในขณะที่ถูกเรียกคืนคงมิใช่คิดง่ายๆ คือ7.5%
3. เหตุผลของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯในการยอมคืนเงินแก่คุณหญิงพจมานโดยไม่ อุทธรณ์ตามที่ออกประกาศแถลงให้ทราบ หากพิจารณาด้วยหลักกฎหมายดูเหมือนจะมิได้ใช้กฎหมายเล่มเดียวกันกับที่สอนใน โรงเรียนกฎหมายในเมืองไทย แม้จะมีการอ้างความเห็นของอัยการฝ่ายคดีแพ่งก็ตาม คงไม่มีข้อสันนิษฐานเป็นประการอื่น
นอกจากจะต้องสรุปว่า อาจถึงเวลาต้องปิดโรงเรียน หรือคณะนิติศาสตร์หรือมิฉะนั้นก็ฉีกตำรากฎหมายทิ้งให้รู้แล้วรู้รอดไป เพราะเราไม่ใช้กฎหมายเป็นหลักในการแก้ปัญหา กลายเป็นว่า หรือนักกฎหมายกลับเป็นปัญหาเสียเอง
--------------------------------------------------
หมายเหตุ
มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือ ศีลธรรมอันดี ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่
มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่งท่านว่า ต้องคืนเต็มจำนวนนั้น เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
มาตรา 415 บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่
ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่เรียกคืนนั้น