ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 4 October 2010

บทเรียนจากเหตุการณ์6ตุลาซึ่งสังคมไทยไม่ยอมรับรู้

ที่มา Thai E-News



หมายเหตุไทยอีนิวส์:ถอด ความจาก ปาฐกถา"บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลาซึ่งสังคมไทยไม่ยอมรับรู้" ในพิธีเปิดประติมานุสรณ์ 6ตุลา โดย ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2543 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว


ผมมี 2 ประเด็นใหญ่ที่จะขอกล่าวในวันนี้

ประการแรก บทเรียนจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งดูเหมือนว่าสังคมไทยไม่ยอมเรียนรู้

ประการที่สอง ขอกล่าวอีกสักครั้งถึงสังคมไทยจัดการอย่างไรกับประวัติศาสตร์บาดแผล

1. บทเรียนทางประวัติศาสตร์

คง มีบทเรียนมากมายที่เราน่าจะได้คิดได้เรียนรู้ แต่ในวันนี้ผมขอเน้นเพียงประการเดียว ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของโศกนาฏกรรมเมื่อปี 2519 และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมีส่วนผลักดันหรือถ่วงรั้งอนาคตของเรา

บท เรียนสำคัญที่จะกล่าวถึงนี้ ยังเรียนรู้กันไม่พอ รัฐ กลไกรัฐ ผู้ครองอำนาจ และคนไทยจำนวนมากมหาศาล ไม่ยอมตระหนักเรียนรู้อย่างจริงจัง จนเกิดความรุนแรงเมื่อพฤษภาคม 2535 อีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าสังคมไทยยังใส่ใจเรื่องนี้น้อยเหลือเกิน

นั่นคือ สังคมไทยไม่เปิดพื้นที่ให้แก่ความแตกต่างขัดแย้งกับรัฐ (ไม่ใช่รัฐบาล) รวมถึงความคิดอุดมคติที่แหวกกรอบ นอกคอก ผิดแผกจากขนบความเชื่อทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ขัดแย้งกับรัฐและสถาบันหลักของสังคมไทย

เราไม่รู้จักจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐ อันเกิดจากความคิดที่แตกต่างและความคิดนอกคอก และพวกนอกคอก

เรา ไม่ตระหนักว่า ความคิดที่แตกต่างขัดแย้งกับรัฐจนถึงนอกคอก เป็นทรัพยากรอันมีคุณค่า อาจจะไม่ใช่สำหรับปัจจุบัน แต่สำหรับอนาคตของสังคมไทย

อุปสรรคต่อการเปิดใจให้กว้างในระดับรากฐานของสังคมวัฒนธรรมไทย มีอยู่ 2 ประการที่จะเน้นในที่นี้

อุปสรรค ประการแรก เรายึดมั่นถือมั่นในความสามัคคีอย่างผิดๆ และเกินขอบเขต เราพอใจกับการคิดเหมือนๆ กันไปหมดในเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ในโรงเรียนประถมจนถึงรัฐสภา อ้างความสามัคคีจนพร่ำเพรื่อ เพื่อกำราบกดปราบความคิดที่แตกต่าง ผลักไสความคิดแหวกแนวสร้างสรรค์ ให้กลายเป็นความคิดนอกคอก

นี่เป็นความสามัคคีอย่างหยาบๆ ไม่ซับซ้อน จึงต้องใช้กำลังอำนาจอย่างดิบ ไม่ซับซ้อนในการควบคุมกล่อมเกลาให้ผู้คนอยู่ในกรอบความคิดตามมาตรฐานที่รัฐ ต้องการ

นี่คือความสามัคคีอย่างตื้นเขิน ที่อาจใช้ได้กับสังคมหุ่นยนต์ หรือครอบครัวเล็กๆ ที่มีพ่อบ้านรู้ดี เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว

แต่สำหรับสังคมที่ใหญ่โตซับซ้อน นี่คือ ทรราชในนามของความสามัคคี

อุปสรรค ประการที่สอง ต่อการเปิดใจกว้างในระดับรากฐานของสังคมวัฒนธรรมไทย คือ การยึดมั่นถือมั่นในประโยชน์ของชาติอย่างผิดๆ และเกินขอบเขต

ผล ประโยชน์ของชาติ ส่วนรวม และเสียงข้างมาก กลายเป็นความชอบธรรมสูงสุด อำนาจรัฐราชการ และนักการเมืองอ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาติ ส่วนรวม และเสียงข้างมาก เพื่อใช้อำนาจบาตรใหญ่ ทำร้ายผู้ที่เห็นผลประโยชน์ของชาติต่างออกไป ทำร้ายเสียงข้างน้อย ปฏิเสธสิทธิของเสียงข้างน้อย

เราจึงมีคนในชาติจำนวนมหาศาล ที่ตกเป็นเหยื่อของผลประโยชน์แห่งชาติ

ใน เมื่อประชาชนทุกคน เป็นเสียงข้างน้อยในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ ประชาชนจึงมีโอกาสเสมอภาคกันที่จะกลายเป็นเหยื่อของการกระทำ “เพื่อส่วนรวม”

ตัวอย่าง : เสียงส่วนใหญ่ในหมู่บ้านที่พ่อตาผมอยู่ คัดค้าน กทม. ที่จะทำถนนข้ามคลอง อันจะทำลายความสงบร่มรื่นของบ้านแถนนั้น กทม.บอกว่าเพื่อส่วนรวม

และที่เรารู้กันดี ชาวบ้านแม่มูนไม่เอาเขื่อนไฟฟ้า แต่ขอลำน้ำ พันธุ์ปลา และชีวิตปกติ รัฐบาลทุกชุดบอกว่าเพื่อส่วนรวมต้องสร้างเขื่อน

โครงการ รัฐที่ไม่เคยให้ประชาชนร่วมตัดสินใจ มักอ้างผลประโยชน์ของชาติและส่วนรวม กำราบปิดปากผู้คัดค้านซึ่ง (แหงๆ ) ไม่ใช่ประชากรส่วนข้างมากของประเทศ ทั้งๆ ที่ “ส่วนรวม” และ “ชาติ” ที่อ้างกันนั้น หาตัวตนไม่ได้ เป็นแค่การอ้างอำนาจชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยแบบผิดๆ

เพราะประชาธิปไตย ไม่ใช่ใบอนุญาตให้เสียงข้างมากบดขยี้ทำร้ายและทำลายเสียงข้างน้อย

ผลประโยชน์ของชาติหรือส่วนรวม ไม่ใช่อำนาจชอบธรรมที่จะทำลายวิถีชีวิตของประชาชนที่เหลือวิถีชีวิตที่ต่างไปจากที่รัฐบงการ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กลายเป็นระบอบและกระบวนการที่รัฐใช้อำนาจบาตรใหญ่ ในนามของส่วนรวมและผลประโยชน์ของชาติ

ในแง่นี้ การเมืองไทยยังไม่ก้าวพ้นจากยุคสฤษดิ์มาสักเท่าไรเลย

เพราะว่านี่คือทรราช ในนามผลประโยชน์ของชาติ

ความ คิดและวาทกรรมว่าด้วยความสามัคคีและผลประโยชน์ของชาติ เอื้ออำนวยการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อกำราบปราบปรามความคิดที่แตกต่างขัด แย้งกับรัฐ เพื่อผลักไสอุดมคติความคิดแหวกแนวให้กลายเป็นพวกนอกคอก อันตราย

เราไม่ควรหยุดอยู่แค่การยอมรับความแตกต่างความนอกคอก

เราควรตระหนักยิ่งไปกว่านั้นว่า ความแตกต่างจนถึงความนอกคอกคือทรัพยากรอันมีค่าต่อการเปลี่ยนแปลง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะ ความคิดที่แตกต่าง จนถึงแหวกแนวนอกคอก ล้วนเป็นฐานทางภูมิปัญญา ฐานความรู้ วัฒนธรรมที่สังคมสามารถเลือกใช้ในภาวะต่างๆ กันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

ความคิดที่แตกต่าง มักช่วยให้เห็นข้อบกพร่องขีดจำกัดของความคิดกระแสหลัก

บ่อยครั้ง ความคิดแตกต่างและแหวกแนวเกิดจากมุมมองที่มาพร้อมกับกระแสใหม่ๆ พลังเศรษฐกิจสังคมใหม่ๆ

ความ แตกต่างแหวกแนว จึงเป็นคลังภูมิปัญญาแก่สังคมจนถึงกับเป็นทางเลือกต่างๆ นานา เมื่อกระแสหลักไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

การกำจัดและจำกัดความคิดที่แตกต่าง จึงเป็นการปิดหูปิดตาตัวเอง ปิดทางเลือกสำหรับอนาคต

ดัง นั้น นอกจากจะยอมรับความแตกต่างและนอกคอกแล้ว การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้ที่คิดแตกต่าง และพวกแหวกแนวนอกคอก จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เป็นพลังทางสังคมท่ามกลางอิทธิพลใหม่ ๆ

ยิ่ง ไปกว่านั้น การปะทะทางความคิด ยังจะช่วยให้สังคมเติบโต มีวุฒิภาวะทางปัญญา รู้จักวิจารณ์ เลือก รับ ลอก ปอก ทิ้ง อิทธิพลใหม่ๆ จากภายในและภายนอก “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” คือ ภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการเผชิญอิทธิพลภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้

สังคม ใดที่ทำให้ผู้คนคิดไปในทางเดียวกันจนเกินไป สามัคคีอย่างตื้นเขิน เปรียบเสมือนปลูกพืชพันธุ์เดียวในพื้นที่มหึมาซึ่งอาจให้ผลพวงมหาศาลในชั่ว ระยะสั้น แต่ยากที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน และอาจพินาศราบเรียบ เมื่อเผชิญแมลงหรือโรคภัยใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก

เมื่อ 4 ปี ก่อนในงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา เราย้ำกันว่า ใครจะเป็นสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร เป็นอดีตที่เราไม่จำเป็นต้องปิดบัง แต่กลับควรดีใจที่เราเกิดมาจริงจัง ไม่งอมือ ไม่เสียชาติเกิด

วันนี้ ผมอยากจะขอย้ำไปอีกขั้นว่า เราต้องเปิดโอกาสแก่ความคิดอันหลากหลาย ให้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคมโดยสันติ

ใครจะยังคงเป็นสังคมนิยม เป็นคอมมิวนิสต์ ก็ไม่เห็นจะเป็นไร

รัฐไม่มีสิทธิทำร้าย ทำลายพวกเขา หากเห็นแก่อนาคตของสังคมไทย

ใน เมื่อความแตกต่างเป็นสิ่งจำเป็น เราจึงต้องรู้จักจัดการกับความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งกับรัฐ

ขอย้ำว่าความสามัคคีจะต้องไม่หมายถึง ความไม่ขัดแย้งกัน

ความสามัคคี ควรจะหมายถึงภาวะที่ความขัดแย้งปะทะความคิดกันอย่างสันติ ไม่มีการทำร้าย และทำลายความแตกต่าง

ไม่มีการฆ่า จำกัด ในนามของความสามัคคี หรือผลประโยชน์ของชาติ

การจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐ หมายถึง

วิธี การ เทคนิค การต่อรอง ประนีประนอม กระบวนการเจรจาหาข้อยุติ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย และสังคมไทยยังขาดกลไกเหล่านี้อย่างยิ่ง ปล่อยให้ชาวบ้านรออยู่หน้าทำเนียบมา 2-3 เดือนแล้วตีชาวบ้าน แล้วยังกล่าวหาซ้ำว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย เป็นคนอื่น หรือทำให้ประชาพิจารณ์เป็นแค่ประชาสัมพันธ์ แต่นี่กลับยังเป็นการจัดการในระดับเทคนิค

ที่สำคัญอย่างยิ่งในเบื้องต้น คือวัฒนธรรมทางการเมือง ที่รัฐยอมรับฟังตอบสนอง และให้มีส่วนร่วม

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เจ้าของความชอบธรรมแต่ผู้เดียว รัฐและรัฐบาลทำพลาดตัดสินใจผิดเสมอๆ เป็นสิ่งปกติ

รัฐ จึงจำต้องรับฟัง ตอบสนอง และให้ความคิดที่แตกต่าง ประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับรัฐ มีส่วนร่วมในวันตัดสินใจทางการเมือง ระบบการเมืองของสังคมไทยต้องการอำนาจรัฐที่กระจายกว่านี้ เล็กกว่านี้ อำนาจน้อยกว่านี้ เปิดพื้นที่ให้แก่ความแตกต่างหลากหลาย มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองง่ายกว่านี้

ภาวะเช่น นี้ รัฐจึงจะตอบสนองความคิดแตกต่างหลากหลายดีกว่านี้ และจึงจะลดโอกาสที่จะเกิดการทำร้ายและทำลายพวกคิดแตกต่างขัดแย้งกับรัฐ และพวกนอกคอกทั้งหลาย


2. ว่าด้วยประวัติศาสตร์บาดแผล

การ จัดการกับความแตกต่างหลากหลายอย่างผิดๆ ประการหนึ่งที่เกี่ยวพันกับกรณี 6 ตุลา คือ การจัดการกับประวัติศาสตร์อย่างผิดๆ คับแคบ และไม่คิดถึงประโยชน์ต่อลูกหลาน

สังคมไทยมีวิธีจัดการกับอดีตที่ไม่อยากจดจำ หรือจำไม่ลง กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ 2 วิธี

ประการแรก ปฏิเสธมันเสีย ทำเป็นว่าอาจารย์ปรีดี ไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่าความหมายใดๆ มากว่า 50-60 ปี

ทำเป็นว่าไม่มีอาชญากรรมของรัฐ เมื่อ 6 ตุลา 2519

เรา มาวันนี้ เพื่อจารึกความทรงจำต่อการฆาตกรรมหมู่ดังกล่าว ผมขออภัยที่จะกล่าวว่ามีประวัติศาสตร์บาดแผลอีกหลายกรณีที่ถูกลืมเลือนเสีย ยิ่งกว่า 6 ตุลาเสียอีก

6 ตุลา เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับช่างไฟฟ้า 2 คนถูกแขวนคอ เราไม่ค่อยนึกกันแล้วว่าเขาคือใคร ครอบครัวของเขาอยู่ที่ไหน เกิดอะไรขึ้นกับเขา

6 ตุลา เป็นการปิดฉากการเคลื่อนไหวสังคมนิยมในเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทย แต่การปราบปรามกระแสสังคมนิยม มีมาก่อน 6 ตุลา เราไม่ค่อยนึกถึงอาจารย์บุญสนอง บุณโยทยาน กัน อีกแล้ว จนป่านนี้ไม่มีใครรู้ชัดว่าใครทำ หรือแค่ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ก็ยังไม่ชัด เราเคยฉุกใจคิดไหมว่าอาจารย์ทัศนีย์ ภรรยาของอาจารย์บุญสนอง ยากลำบากขนาดไหนกับการประคับประคองครอบครัว 25 ปีที่ผ่านมา

อยากทราบ ลองไปค้นหาดูเอาสิครับ

แต่ อาจารย์บุญสนองเป็นแค่ 1 ในบรรดาผู้นำขบวนการกรรมกร ชาวไร่ชาวนา ผู้นำนักศึกษา ที่ถูกปลิดชีวิตไปทีละคนๆ รวมหลายสิบหรือกว่าร้อยคน พวกเขาทุกคนมีครอบครัว มีพ่อแม่-เมียผัว-พี่น้อง-ลูกหลาน ซึ่งไม่เคยได้คำตอบเลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เขารัก

สังคมไทยไม่จดจำ ไม่สนใจหาคำตอบ ไม่สอบสวน ไม่หาความยุติธรรม

คุณเคยคิดไหมว่าในระยะเดียวกันนั้น มีการสังหารหมู่ที่ตกอยู่ในความเงียบสนิทเสียยิ่งกว่า 6 ตุลา?

เชื่อ กันว่าการสังหารหมู่คราวนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องการเมือง จะใช่หรือไม่ก็ตาม การที่อำนาจรัฐสังหารประชาชนตายไปกว่า 70 กว่าคนกลางเมืองหลวง ไม่ใช่เรื่องที่เราควรปล่อยลืมไปราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“กรณีจลาจลพลับพลาไชย” ถูกผลักไสออกไปนอกความทรงจำของเรา เพียงเพราะว่ากันว่าเป็นการก่อความวุ่นวายของแก๊งอั้งยี่ชาวจีน

ณ พ.ศ.2543 คุณยังเชื่ออย่างนั้นอยู่หรือ?

ในนามของส่วนรวม ความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติเราไม่อยากเผชิญความจริงว่ามีเรื่องเหล่านี้อยู่

เรา รักษาประวัติศาสตร์ของชาติให้ดูสวยงามน่าภูมิใจอยู่ได้ด้วยการผลักใสประวัติ ศาสตร์บาดแผลทั้งหลาย ให้กลายเป็น “เรื่องเก่า ๆ ที่ไม่รู้จะขุดขึ้นมาหาเรื่องกันทำไม”

“ประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิ ใจของชาติ” คือยากล่อมประสาทสำรับใหญ่ที่ชวนให้เราหลงใหลกับตัวตนอันสวยหรู ประวัติศาสตร์แบบด้านเดียวคือ อวิชชาที่ทำให้เรายึดมั่นกันหนักเข้า ถือมั่นกันให้แน่นเข้าไปอีก ยิ่งนานก็ยิ่งหลงลืม ไม่รู้จักตัวคน

ลอง นึกดูว่า ถ้าหากจู่ๆ คนที่คุณรักเป็นลูก เมียผัว พี่น้อง ของคุณดับสูญไปเฉยๆ อย่างอธิบายไม่ได้ ตำรวจไม่สอบสวนคนร้ายไม่เคยถูกลงโทษ ไม่เคยมีคำอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น แถมกลไกรัฐยังโฆษณาว่า เขาเป็นพวกหนักแผ่นดิน เสียชาติเกิด เป็นอั้งยี่กุมารจีน

24-25-26 ปีผ่านไป และอาจตลอดกาลนาน คุณต้องเฝ้าบอกตัวเองทุกวันทุกคืนว่า คนที่คุณรักไม่ใช่คนเลวอย่างที่ถูกกล่าวหา


เก็บความทรงจำนั้นไว้กับตัวเอง ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเปิดเผยให้คนอื่นรู้

ถ้าหากสักวันหนึ่ง สาธารณชนยอมรับและบอกคุณว่า ใช่-คนที่คุณรักเป็นคนดี และเราจะช่วยกันหาความกระจ่างว่าเกิดอะไรขึ้น

วันนั้นจะเป็นวันที่งดงามที่สุดในชีวิตของคุณ

นี่จึงไม่ใช่เรื่องการแก้แค้น ความสะใจไม่ช่วยสะสางบาดแผล

ความ อิ่มเอมใจที่รู้ว่าคนที่เรารัก เป็นที่ยอมรับจดจำของผู้คนอย่างถูกต้อง หลุดออกจากเงาของความเงียบ ความภูมิใจที่เราสามารถเล่าเรื่องของเขาในแบบที่เรารู้จัก ให้คนอื่นได้ฟังอย่างเปิดเผย ไม่ต้องเก็บซ่อน ลังเล อิหลักอิเหลื่อ ได้แขวนรูปของเขาไว้ในที่โอ่อ่าเปิดเผย เพื่อให้คนถาม แล้วเราจะได้เล่าเรื่องของเขาอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นี่ต่างหากคือความยุติธรรมที่พึงปรารถนา

ในความเห็นของผม นี้คือภารกิจ ความมุ่งหมายของการชำระสะสางประวัติศาสตร์บาดแผลที่ถูกลืมเหล่านั้น ทุกกรณี

การปฏิเสธอดีตที่ไม่น่าพิสมัย คือการหลอกตัวเอง

ถ้าคนรุ่นหลังไม่ไยดีกับกรณี 6 ตุลา ก็เพราะคนรุ่นก่อนปลูกฝังวัฒนธรรมปิดหูปิดตาตัวเอง แล้วส่งทอดไปยังลูกหลาน

วิธีจัดการประวัติศาสตร์บาดแผลประการที่สอง คือ แปลงความหมายของอดีตนั้น ให้กลายเป็นแบบที่พอจะกล้อมแกล้มกลืนได้ลงคอ

จริงอยู่ อดีตมีหลายความหมายหลายคุณค่า ตามแต่มุมมองของคนร่วมสมัย และมุมมองย้อนหลังจากปัจจุบัน

นี่คือ ภาวะปกติของมนุษย์

ดังนั้น จึงเปิดโอกาสให้แก่การแปลและแปรความหมายของอดีตให้สอดคล้องกับความต้องการจดจำของปัจจุบัน

ขบวน การนักศึกษาช่วง 6 ตุลา คือกลุ่มคนที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นฝ่ายซ้าย ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงราก จำนวนมากตระหนักดีว่า ตนต้องการสังคมนิยม (ไม่ว่าเขาจะเข้าใจมันอย่างไร ถูกหรือผิดก็ตามที) จำนวนไม่น้อยสนใจ พอใจและนิยมคอมมิวนิสต์ ทั้งในฐานะความคิดและที่มาในรูปของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

ไม่ว่าความคิดของเขาจะถูกหรือผิด เมื่อมองจากวันนั้นหรือวันนี้ ความคิดของพวกเขาไม่ใช่เรื่องน่าเกลียดน่ากลัว

พวกเขา-พวกเรา-ไม่ใช่ศัตรูประชาชน

ฝ่ายซ้าย ชาวสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ มีตัวตนในสังคมไทย จะถูกผิด ดีเลว จะชอบหรือเกลียดฝ่ายซ้ายก็ตามที

เราไม่มีสิทธิ์และไม่ควรปฏิเสธอดีตของฝ่ายซ้าย

ผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยวันนั้นและวันนี้ มิได้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามมาตรฐานที่รัฐและสังคมไทยตีกรอบไว้อย่างน่าอึดอัด

แล้ว ไง? จับเขาแล้ว ฆ่าเขาแล้ว เราจะปฏิเสธหรือทำเป็นว่าคนเหล่านั้นคิดเหมือนคนอื่นๆ ที่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ตามแบบที่รัฐบงการงั้นหรือ?

เราไม่ยอมให้เขามีอดีต อย่างที่เขาปรารถนาจะเป็นอีกงั้นหรือ?

24 ปีผ่านไป ณ สถานที่เดียวกับที่เขาจากไป ผมคิดว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากเคารพในเกียรติ และชื่นชมกับความคิดอุดมคติ ตัวตนที่เขาเป็น ไม่ว่าเขาจะเป็นนักศีลธรรม นักสู้ที่รังเกียจความอยุติธรรม เป็นอนาธิปัตย์ที่ไม่ชอบอำนาจรัฐทุกชนิด เป็นซ้ายสำนักไหน เป็นสังคมนิยมค่ายใด หรือเป็นผู้นิยมพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตาม

24 ปีผ่านไปแล้ว ณ ธรรมศาสตร์ที่เดิมแห่งนี้ ไม่มีที่ไหนจะเหมาะสมเท่านี้อีกแล้ว ที่พวกเราทุกคนที่มีส่วนทำให้อนุสรณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้น จะเดินหน้าเป็นธงนำให้แก่สังคมไทยอีกครั้ง

คราวนี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ความทรงจำอันหลากหลาย ซึ่งรวมถึงให้เกียรติแก่ฝ่ายซ้ายชาวสังคมนิยม ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมของรัฐไทย เปิดพื้นที่ให้แก่อดีตที่สังคมไทยไม่ปรารถนาจะยอมรับ

เพื่อกระตุ้น เตือนสังคมไทยว่า อนาคตของสังคมอยู่ที่การเปิดอ้อมแขนต้อนรับความแตกต่างขัดแย้งกับรัฐ และให้พวกเขามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเปิดเผยและสันติ

ต่อสู้กับความคับแคบและอำนาจนิยม ที่มักปรากฏตัวในนามของความสามัคคี ผลประโยชน์ของชาติ และชาติ ศาสน์ กษัตริย์

6 ตุลาแบบนี้ ในความหมายนี้ดูรุนแรงเกินกว่าจะรับได้ แต่ผมมั่นใจว่าเพื่อนที่เสียสละไปเมื่อ 24 ปีก่อน ณ ที่แห่งนี้ คงยินดีจะอยู่ชายขอบของประวัติศาสตร์ไทย อยู่ในความทรงจำของคนอย่างเราๆ ที่เคารพในความคิดอุดมคติของเขา ตัวตนของเขา

ผมมั่นใจว่า เพื่อนเราที่จากไปแล้ว อยากอยู่ในความทรงจำของเราอย่างที่เขาเป็น

ถ้า หากความทรงจำเช่นนี้ ยากเย็นเหลือเกินที่จะให้สังคมไทยยอมรับได้ ก็เป็นภารกิจที่ต้องต่อสู้จนกว่าสังคมไทยจะใจกว้าง ไม่ใช่ปฏิเสธ หรือดัดแปลงเขา ให้เข้าพอดีกับความคิดที่สังคมไทยกล้อมแกล้มกลืนลงคอ

วีรกรรมที่ถูกผลักไสไปอยู่ในปริมณฑลของความเงียบ มีคุณค่ามากกว่าวีรกรรมอันโด่งดังมากมายในประวัติศาสตร์ไทย

ขอบพระคุณทุกท่าน และวิญญาณทุกดวงที่บันดาลใจให้ผมพูดในสิ่งที่อยู่ในใจออกมา

********


รำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519

โครงการ กำแพงประวัติศาสตร์ เชิญประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมรำลึก 34 ปี 6 ตุลาคม 2519 ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์ (บริเวณประตูทางเข้าฝั่งหอประชุมใหญ่) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีกำหนดการดังนี้


07.00-07.30 น. พิธีตักบาตร ณ สวนประติมากรรมประวัติศาสตร์: ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

08.00-09.00 น. พิธีกรเชิญ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวเปิดงาน พิธีวางพวงมาลา ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลาคม 2519 และกล่าวสดุดี ประกาศเจตนารมณ์ 34 ปี 6 ตุลา โดยตัวแทนฝ่ายต่างๆ ดังนี้

- คณะกรรมการญาติวีรชนเดือนตุลา
- อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลาคม
- เครือข่ายเดือนตุลา
- สหภาพและสหพันธ์แรงงาน
- สมัชชาคนจน / และสหพันธ์ชาวนา
- นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ประธานสภานักศึกษาธรรมศาสตร์
- เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

09.00-09.30 น. บทกวี และนาฏลีลา รำลึกวีรชน 6 ตุลา

09.30-11.00 น. ปาฐกถา หัวข้อ “ความรุนแรงและอำนาจรัฐ” โดย อาจารย์ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์

11.00-12.30 น. ประวัติศาสตร์บอกเล่าผ่าน วีดิทัศน์ 6 ตุลา: ความรุนแรงและอาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์

หมายเหตุ:รายละเอียดของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ติดตามได้ที่ http://www.2519.net/