สร้อยแก้ว คำมาลา ผ่านเรื่องราวจากปากคำของสามัญชนคนเสื้อแดงถึงความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนของพวกเขา
หญิงวัยกลางคนผมยาว
เธอ นั่งกอดเข่าต่อหน้าพระพุทธรูป เป้หนึ่งใบพิงหลัง หลังเหตุการณ์การยุติเวทีชุมนุมของคนเสื้อแดง เสียงระเบิดเอ็มเจ็ดสิบเก้าที่ลงข้างเวทีทำให้เธอและเพื่อนที่ร่วมชุมนุม ต่างพากันหาที่หลบภัย ตัวเธอวิ่งหนีเข้ามาในวัดนี้เพียงคนเดียว ส่วนเพื่อนร่วมหมู่บ้านที่มาด้วยกันต่างกระจัดกระจายหนีไปคนละทิศละมุม ไม่รู้ว่าใครไปอยู่ไหนบ้าง
ร่างกายเธอเหนื่อยล้า หัวใจเธออ่อนแรง แม้อยากร้องไห้ แต่เธอไม่มีน้ำตา
วิหาร ที่เธออาศัยอยู่กว้างขวางเหลือคณา ทว่าก็ไม่เพียงพอจะบรรจุผู้คนซึ่งต้องการที่พึ่งได้ทั้งหมด คนจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ข้างนอก ที่อยู่ข้างในส่วนใหญ่คือคนชรา เด็ก ผู้หญิง รวมกันอยู่หลายร้อยคนทั้งนั่งทั้งนอนเรียงราย
ทว่าเธอรู้สึกราวกับไม่มีใครอยู่ตรงนั้นเลย
“มันเงียบเหมือนไม่มีใครอยู่แม้สักคน ฉันไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย นอกจากนานๆ ครั้งจะมีเสียงเด็กร้องไห้ และเสียงไอของคนแก่”
ไม่มีใครพูดอะไรออกทั้งนั้น ภาพที่ทุกคนเห็น สิ่งที่ทุกคนได้ยินก่อนนี้ มันบอกให้รู้ว่า ความตายมันเดินทางเข้ามาใกล้แค่ปากประตูวัดเท่านั้นเอง
ไม่มีใครพูดอะไรออกทั้งนั้น ภาพที่ทุกคนเห็น สิ่งที่ทุกคนได้ยินก่อนนี้ มันบอกให้รู้ว่า ความตายมันเดินทางเข้ามาใกล้แค่ปากประตูวัดเท่านั้นเอง
“ตอนที่อาสาพยาบาล ถูกยิง มีคนมากระซิบบอกว่าเดี๋ยวทหารจะเข้ามายิงพวกเราในวิหาร ฉันมองไปที่พระพุทธรูป บอกว่าไม่เป็นไร ตอนนี้ฉันนั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าจะตายต่อหน้าพระพุทธรูป ฉันก็พร้อมตายแล้ว”
หญิงวัยกลางคนผมสั้น
“เราไม่ต้องทำอะไรหรอก ตอนนี้ทำอะไรมันก็จับ มันก็ยิง แต่เอางี้สิ ต่อไปเมื่อไหร่ที่เราไม่เห็นด้วย ให้เราออกจากบ้านมาพร้อมๆ กัน ออกบ้านและมาปรบมือพร้อมๆ กัน เคยได้ยินไหม ปรบมือจนกำแพงป้อมเมืองมันทลาย”
หญิงหน้ามันขายกล้วยทอด
“ที่ รับรู้ว่าเช้าวันที่ ๑๙ พฤษภา มันต่างจากทุกวันคือ เราจะเห็นมอเตอร์ไซค์พาคนเจ็บเข้ามาเยอะมาก เดี๋ยวก็มา เดี๋ยวก็มา เราถึงรู้ว่าข้างนอกมันมีการยิงกันหนัก เพราะเราไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น สัญญาณโทรศัพท์มือถือเราก็ถูกตัด”
“ไม่คิดหนีหรือ?”
“ไม่! ไม่คิดเลย คิดอย่างเดียวกูจะสู้จนนาทีสุดท้าย แต่ก็ระวังตัวตลอด ไปหลบอยู่ใต้เสาสะพานรถไฟฟ้า เพราะพวกมันอยู่ข้างบนกันเต็มเลย ไปหลบตรงนั้นจะปลอดภัย”
“นึกว่าเห็นคนเจ็บแล้วจะใจฝ่อ...”
“ไม่ ไม่เลย แต่เราสงสารคนเจ็บ เช้าวันนั้นมันเยอะมาก เดี๋ยวมา เดี๋ยวมา แล้วพวกมอเตอร์ไซค์นี่มันขี่กันเก่งมาก มันไม่กลัวโดนยิงกันเลย มันจะมีคนขับหนึ่งคน คนเจ็บซ้อนตรงกลาง และอีกคนประกบท้าย มันต้องเข้ามาส่งคนเจ็บที่โรงพยาบาล วิ่งรถกันอยู่ตลอด”
“แล้วตอนที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม ทำยังไง”
“ก็หนีไปอยู่ในวัด”
“รู้สึกว่าแพ้...?"
ส่ายหน้าแทนคำตอบ เงียบอยู่นาน กล้ำกลืน
“เราพยายามเต็มที่แล้ว เราไม่ได้ทำผิดอะไร ทุกวันนี้ถึงน้อยใจว่าเราผิดอะไร ทำไมถึงมายิงเรา”
หญิงขายเครื่องสำอาง
“ตอนนั้นพี่เขาบอกว่าให้เข้ามากรุงเทพฯ มาช่วยกัน เราก็นั่งรถไปกัน แต่ไปไม่พ้นจังหวัดตัวเอง ถูกสกัดจับ เขาไม่ให้เราไป”
"ถาม ว่าทุกวันนี้ความยุติธรรมมันอยู่ตรงไหน คนสีหนึ่งทำอะไรก็ผิด คนอีกสีหนึ่งทำอะไรก็ถูก เราไม่ได้โง่ แต่เรารับไม่ได้กับสองมาตรฐาน”
“ใน หมู่บ้านตอนนี้มีทหารเข้ามาจัดกิจกรรมอะไรไม่รู้ มาพูดมาบรรยาย เราไม่ได้ไปฟัง กลัว ตอนนี้หลายคนที่เคยไปร่วมชุมนุมไม่กล้าอยู่บ้าน กลัวถูกจับ พวกญาติๆ บอกว่าทางการเขารู้หมดว่าไปชุมนุม เพราะใครที่ทำบัตร นปช.แดง มันจะบันทึกข้อมูลไว้ในคอมฯ เขาบอกว่าพวกทหารยึดเครื่องคอมฯ ของแกนนำไป เลยรู้หมดว่าใครไปร่วมชุมนุม”
“แต่จะบอกอะไรให้ คนทั้งจังหวัดเนี่ย ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นพวกเราหมด ก็คอยดูละกัน”
ชายมีแผลเป็นบนใบหน้า
“ตอนกลับมาใหม่ๆ ผมพูดกับใครไม่ได้ไปสามสี่วัน คิดขึ้นมาเมื่อไหร่ มันก็จุก”
หญิงผู้มีบ้านอยู่ตีนเขา
“ป้าทำอะไรไม่ได้เป็นเดือน ไม่ขายของ ไม่ออกไปหาใคร เก็บตัวอยู่ในบ้าน”
ชายเครายาว
“ตอนออกจากวัด เขาแจกลูกอมมาให้สองเม็ด ผมไม่ได้ไปรับ พอขึ้นรถ เธอหันมาเห็นผม เธอก็ยื่นลูกอมมาให้ผมเม็ดหนึ่ง เธอรู้ว่าผมเป็นเบาหวาน ผมขาดน้ำตาลไม่ได้”
“เราอยู่อำเภอเดียวกัน ก่อนนี้เราเคยเห็นหน้าแต่ไม่เคยรู้จักกัน แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็ได้พูดคุย รู้จักกัน เห็นใจกัน”
“รถ เมล์ของกทม. พาเราวิ่งออกไป รถวิ่งผ่านลานเซ็นทรัลเวิลด์ ผ่านสยาม ที่ถูกไฟไหม้ แล้วทุกคนที่นั่งในรถก็พากันร้องไห้ ร้องไห้ด้วยกันทั้งคันรถ”
ชายขากระเผลก
“ผมโชคร้ายที่วันที่19 ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วย”
“ทำไมถึงคิดว่าโชคร้าย ไม่คิดว่าโชคดีหรือที่รอดมาได้..?”
“ไม่เลย ผมโชคร้ายที่ไม่ได้อยู่เหตุการณ์ ผมจะบอกให้นะ ผมอายุ ๖๔ ปีแล้ว ผมสนใจการเมืองมาตลอดชีวิต แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา, หรือพฤษภา 35 ผมแค่รับรู้ แต่ไม่ได้เข้าร่วม เพราะผมอยู่ในวัยทำงาน บางครั้งมีเหตุให้ไปเมืองนอกบ้าง อยู่ไกลสถานที่ชุมนุมบ้าง”
“ขอโทษนะคะ คุณลุงทำอาชีพอะไรคะ”
“ผมทำงานในสายการบิน ตอน 14 ตุลา ผมเห็นข่าวจากต่างประเทศ เพื่อนชาวต่างชาติมาบอกว่า นี่ ยู บ้านยูมีเรื่องแล้ว แต่ครั้งนี้ผมย้ายบ้านมาจากกรุงเทพฯ มาอยู่ต่างจังหวัด การอยู่ต่างจังหวัดมันทำให้เราได้รู้ข้อมูลอะไรเยอะกว่าการอยู่ในกรุงเทพฯ เสียอีก”
“ผม ไปร่วมชุมนุมทุกครั้งที่มีการจัดตั้งเวทีในจังหวัด และครั้งนี้ผมก็ไปตั้งแต่วัน ๑๒ มีนาคม แต่ที่ผมรอดชีวิตมาได้ เพราะก่อนวันที่ 19 พ.ค. ผมกลับมาเอารถ รถผมประสบอุบัติเหตุครั้งหนึ่ง ตอนกลับมาพักผ่อนช่วงเดือนเมษา ลูกๆ ต้องเอารถเข้าอู่ให้ แล้วผมก็นั่งรถโดยสารกลับไปกรุงเทพฯ เอง”
“พอ รถซ่อมเสร็จ ผมก็กลับมาจะเอารถ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ 19 พฤษภา เสียก่อน ผมเป็นคนโชคร้าย ที่เหตุการณ์ทางการเมืองทุกครั้งผมไม่ได้เข้าร่วมด้วยเลย มีครั้งนี้แหละที่เข้าร่วม แต่ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. ด้วย”
“ก่อน นี้ผมไปทุกวัน ส่วนใหญ่จะอยู่แถวพารากอน พวกการ์ดหนุ่มๆ เขาจะตั้งป้อมกันที่นั่น เราก็ไปช่วยเขาด้วย มีอยู่คืนหนึ่ง มีข่าวว่าทหารจะเข้ามา พวกหนุ่มๆ มันวิ่งไปข้างหน้ากันหมด และหันมาบอกผมกับคนแก่อีกคน คนนั้น 80 กว่าแล้ว ว่าอยู่ที่นี่แหละ ไม่ต้องไป”
“ผมก็นึกในใจ มันก็คงจะอย่างนั้นแหละ แค่จะถือบ้องไม้ไผ่วิ่งไปกับเขา เราก็ยกบ้องไม้ไผ่ไม่ไหวแล้ว”
“ที่ พารากอนจะมีผมกับลุงรวยนี่แหละ แก่สุด ก็มองลูกหลานมันสู้ไป เราก็นั่งคุยกัน ตอนนั้นบอกกันว่าถ้าพวกทหารมันมาถึงก็ปล่อยให้มันฆ่าตามสบายเถอะ เพราะจะให้วิ่งหนีก็คงหนีไม่ทันหรอก”
“แต่คืนนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรร้ายแรง”
“กลับมาบ้านนี่คิดถึงลุงรวยมาก ไม่รู้แกเป็นยังไงบ้าง เรานั่งด้วยกันสองเฒ่าเกือบทุกคืน”
“ทุก ครั้งที่ผมออกจากบ้าน ผมสั่งกับลูกๆ ผมไว้หมดแล้วว่า ถ้าพ่อเป็นอะไรไปไม่ต้องกังวลนะ เรื่องศพอะไรไม่ต้องไปจัด เพราะผมคิดว่าถ้าผมตาย ศพคงหาไม่เจอหรอก น่าจะถูกเก็บ”
“ลูกๆ ผมบางคนไปอยู่อเมริกา บางคนอยู่กรุงเทพฯ มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา หมดห่วงแล้ว การต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ผมถึงเข้าร่วมได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเป็นกังวล ถ้าจะตายก็พร้อมตายแล้ว ก็แก่ขนาดนี้แล้ว”
“ผมเป็นโรคหลายโรค อาหารการกินผมกินร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ผมจะเตรียมอาหารของผมไปเอง”
“คุณ รู้ไหม ประเทศเรานี่ไม่เคยปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบสักครั้ง เราต้องผ่านการปกครองแบบประชาธิปไตยกันก่อน แล้วเราถึงจะเข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการ จากนั้นถึงจะเป็นระบอบคอมมิวนิสต์”
“คอมมิวนิสต์คืออะไรรู้ไหม...?”
“เรา คนไทยเข้าใจคำว่าคอมมิวนิสต์กับผิดๆ เยอะมาก ประเทศรัสเซีย หรือจีนอะไรนี่มันยังไปไม่ถึงระบอบคอมมิวนิสต์สักครั้ง ในโลกนี้ยังไม่เคยมีประเทศไหนปกครองแบบคอมมิวนิสต์ได้เลย เพราะมันจะต้องผ่านระบบประชาธิปไตยกันก่อน ผ่านจุดสูงสุดของระบบทุน ซึ่งมันมากับประชาธิปไตย แล้วก็มาถึงรัฐสวัสดิการ”
“จากนั้นถึงจะเป็นคอมมิวนิสต์ได้”
“คอมมิวนิสต์ คืออะไร คอมมิวนิสต์คือยูโธเปีย คือยุคพระศรีอาริย์ ไงล่ะ คือสังคมที่ไม่มีชนชั้น มี ความเสมอภาค มีความเท่าเทียม”
............
ขณะนั่งเขียน พวกเขาทั้งหมดล่องลอยอยู่ในห้วงคำนึงนึก--- สีหน้า แววตา น้ำเสียง หลายถ้อย หลายความ ยังกระจ่างชัด บางขณะฉันน้ำตาซึม
เหตุการณ์ผ่านพ้นวินาทีเฉียดตายของ หลายคนมันฝังลึกเกินกว่าคนสามัญที่ห่างไกลประสบการณ์เช่นนี้จักเข้าถึงได้ และยิ่งหากไร้ความเมตตาเพื่อจะเข้าใจ เห็นใจ ตลอดจนถึงการปลอดซึ่งอคติต่อพวกเขาว่าถูกจ้างมาเป็นเครื่องมือของอดีตนายกฯ หรือเป็นความโง่งมงายของพวกเขาเอง
นั่นคงยากเกินไปที่จะเข้าใจ
ว่าทำไม พวกเขายังคงสู้ และไม่มีวันลืม 19 พฤษภา 2553