ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 19 October 2010

บทวิพากษ์ศาลยุติธรรม: (1) ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย

ที่มา ประชาไท

ชื่อบทความเดิม ศาลยุติธรรม : ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม ;ตอนที่ 1 ความเป็นมาและโครงสร้างผู้พิพากษาของศาลไทย
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตย การเรียกร้องความยุติธรรม ได้เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงแห่งกระบวนการยุติธรรม ตัวตนที่มี 2 มาตรฐาน เมื่อกล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมย่อมหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงศาลไม่พ้น ศาลซึ่งเป็นส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรม ในอดีตการโจมตีกระบวนการยุติธรรมได้ยกเว้นศาลไว้ให้อยู่ในฐานะเป็นที่ยอมรับ ในความเป็นกลาง ในความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ปัจจุบันส่วนยอดของกระบวนการยุติธรรมกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด
บทความนี้มุ่งแสดงถึงโครงสร้างอันเป็นสาเหตุแห่งความเป็น 2 มาตรฐาน ของศาล
การ วิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องทำความรู้จักเข้าใจถึงสิ่งนั้นก่อน และการทำความเข้าใจก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ ความเป็นมาก่อนเป็นอันดับแรก ในตอนแรกนี้จึงจะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของศาลไทย ศาลยุติธรรม
จากนั้นจะกล่าวถึงโครงสร้างผู้พิพากษา และเปรียบเทียบกับระบบของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาในท้ายที่สุด
ในทางรัฐศาสตร์ถือว่า รัฐไทย ก่อกำเนิดขึ้นในสมัย ร.5 แห่งยุครัตนโกสินทร์ ศาลไทย ตลอดจนระบบกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน ในสมัยนั้นรัฐไทย ตกอยู่ภายใต้สนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่มหาอำนาจตะวันตก โดยไม่เว้นแม้แต่สหรัฐอเมริกา-มหามิตรในปัจจุบันนี้ หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น-ประเทศในเอเชีย ก็ได้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือรัฐไทยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจากสมัย ร.4 ที่มุ่งรักษาอาณาจักรให้พ้นจากการยึดครองของมหาอำนาจตะวันตก จึงได้ยอมทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบเช่นนี้ การจะแก้ไขยกเลิกสนธิสัญญานี้จึงต้องเริ่มจากการปรับปรุงระบบกฎหมายและระบบ ศาล ให้เป็นที่ยอมรับของต่างชาติก่อน ซึ่งได้เริ่มต้นและเสร็จสมบูรณ์ในสมัย ร.5 นี้เอง
สิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือ สนธิสัญญาที่ระบุให้คนของชาตินั้นไม่ต้องขึ้นศาลไทยเมื่อกระทำผิดในไทย แต่ให้ขึ้นศาลของประเทศตนแทน
ในเบื้องต้น ร.5 ได้ส่งเจ้าชายพระองค์หนึ่งไปเรียนกฎหมายที่ประเทศอังกฤษ คือ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เมื่อจบการศึกษากลับมา พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งศาลขึ้น โดยใช้ระบบกล่าวหาเช่นเดียวกับที่ใช้ในประเทศอังกฤษตามที่พระองค์ทรงศึกษามา พร้อมทั้งร่างกฎหมายต่างๆ กฎหมายที่สำคัญคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายลักษณะอาญา(ภายหลังถูกยกเลิกและใช้ประมวลกฎหมายอาญาจนทุกวันนี้) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีในศาลสำหรับคดี แพ่ง) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(วิธีดำเนินคดีในศาลสำหรับคดีอาญา ตลอดจนการสอบสวน การควบคุมผู้ต้องหา การออกหมายจับ กล่าวโดยสรุป เป็นวิธีดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นตำรวจจนจบคดีที่ศาลฎีกา)
ในส่วนระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความนี้ อาจารย์ผมบางท่านเคยวิเคราะห์ว่า เป็นกฎหมายของระบบไต่สวน ซึ่ง ต้องให้อำนาจแก่ศาลในฐานะผู้ไต่สวนค้นหาความจริง แต่โดยที่บ้านเราใช้ระบบกล่าวหาซึ่งศาลต้องวางตัวเป็นกลาง ให้คู่ความ 2 ฝ่ายต่อสู้คดีกันด้วยพยานหลักฐานให้ศาลตัดสิน ทำให้กฎหมายให้อำนาจศาลมากเกินควร
นอก จากระบบกฎหมายที่ขัดแย้งกับระบบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้คือ ข้อหา ละเมิดอำนาจศาล โดยเฉพาะข้อหาดูหมิ่นศาล-เป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดอำนาจศาล-เป็นกฎหมายของ ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชโดยแท้ กล่าวคือ ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราช กษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดทั้ง 3 อำนาจ ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ การตั้งศาลเป็นเพียงการแบ่งงานของกษัตริย์ในการตัดสินคดี ให้องค์กรที่ตั้งขึ้นทำงานแทนเท่านั้น ศาลในยุคนั้นจึงมีลักษณะเป็นองค์กรหนึ่งหรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานให้แก่กษัตริย์ ทำงานแทนกษัตริย์ ศาลจึงมีสภาพเป็นตัวแทนกษัตริย์ กษัตริย์ที่ใครผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ศาลจึงต้องทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และต้องมีบทบัญญัติห้ามละเมิดอำนาจศาลรวมถึงห้ามดูหมิ่นศาล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่ทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
พร้อม กับการก่อตั้งศาลและระบบกฎหมายดังกล่าว พระองค์เจ้ารพี ได้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมาย ขึ้นในศาล เปิดสอนกฎหมายเพื่อผลิตนักกฎหมายป้อนให้เป็นผู้พิพากษาของศาล(ในทางกฎหมาย ได้อธิบายว่า ผู้พิพากษา ไม่ใช่ศาล แต่โดยที่ศาลเป็นองค์กรที่ทำงานโดยผู้พิพากษา ผู้พิพากษากับศาลจึงแยกจากกันไม่ออก) การสอนกฎหมายบรรยายโดยผู้พิพากษาทั้งหมด
การปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของอำนาจฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ
เมื่อ อ.ปรีดี พนมยงค์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง(ปี 2495 จอมพล ป.ได้เปลี่ยนชื่อธรรมศาสตร์โดยตัดคำว่า “วิชา” และคำว่า "และการเมือง" ออก) เมื่อปี 2477 การสอนกฎหมายได้ย้ายมาที่ธรรมศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายของศาลจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "เนติบัณฑิตยสภา" พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษาว่า ต้องผ่านการอบรมกฎหมาย ของสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา(นอกเหนือจากการจบกฎหมายจาก มหาวิทยาลัย) ซึ่งเรียกกันว่า "จบเนติบัณฑิต" อันเป็นระบบที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การอบรมกฎหมายของเนติ ใช้ผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาที่เกษียณ เป็นอาจารย์ผู้บรรยาย ที่สำคัญหลักสูตรกฎหมายของเนติใช้แนวทางการตีความกฎหมายตามแนวคำพิพากษาศาล ฎีกา(เรียกสั้นๆว่า ฎีกา)
ผู้ ที่มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา นอกจากต้องจบเนติ(อ่านว่า "เน" หรือ "เน-ติ" ก็ได้ แต่ทั่วไปจะอ่านว่า "เน")แล้ว จะต้องมีคุณสมบัติอื่นอีก คือ
1. มีอายุ 25 ปีขึ้นไป
2. มีประสบการทำงานอย่างน้อย 2 ปี ในอาชีพที่กำหนด เช่น ทนายความ อัยการ นิติกร สำหรับอาชีพทนายความ นอกจากมีอายุงาน 2 ปีแล้ว ยังได้กำหนดให้ต้องว่าความอย่างน้อย 20 คดี(เพื่อป้องกันการทำใบอนุญาตทนายความโดยไม่ได้ทำงานจริง-ส่วนนี้ยังมี ปัญหาในทางปฏิบัติที่จะกล่าวต่อไป)
มีข้อสังเกตอีกอย่าง คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นพนักงานอัยการ เป็นคุณสมบัติเดียวกับผู้มีสิทธิสมัครสอบผู้พิพากษา
จากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิสมัครสอบ ไม่จำเป็นต้องมาจากทนายความ หรืออัยการ เฉกเช่นประเทศต้นตำรับศาลที่รับมา
เมื่อ สอบผ่านแล้ว จะได้รับการบรรจุเป็น "ผู้ช่วยผู้พิพากษา" และต้องเข้าอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การอบรมภาคทฤษฎีนี้ ไม่เคยมีการเปิดเผยกับคนนอกว่ามีการอบรมอะไรบ้าง แต่ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีการสอน "วิชาเขียนคำพิพากษา"ด้วย ส่วนการอบรมภาคปฏิบัติ จะส่งผู้ช่วยผู้พิพากษาไปฝึกงานกับผู้พิพากษาระดับหัวหน้าคณะในศาลใหญ่ใน กรุงเทพ คือ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลแพ่งธนบุรี และศาลอาญาธนบุรี
หลังผ่านการอบรมทั้ง 2 ภาคดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นผู้พิพากษา จนกว่าจะได้รับการ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้ง" ก่อน เมื่อได้รับโปรดเกล้าแล้ว จะถูกส่งไปเป็นผู้พิพากษาศาลเล็ก คือศาลแขวง และต้องไปเริ่มต้นชีวิตการเป็นผู้พิพากษาจากเมืองที่ห่างไกลกรุงเทพฯ เมื่ออายุงานเพิ่มขึ้นก็จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง โดยไปประจำศาลที่ใหญ่ขึ้นอย่างศาลจังหวัด และค่อยๆขยับย้ายเข้าใกล้กรุงเทพฯมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป ผู้พิพากษาก็มีการเลื่อนตำแหน่งไม่ต่างจากข้าราชการพลเรือนทั่วไป
การ จัดสอบคัดเลือกผู้พิพากษา การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งผู้พิพากษา ตลอดจนการพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่ผู้พิพากษา เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดหนึ่ง ชื่อ คณะกรรมการตุลาการ หรือที่เรียกย่อว่า กต. กต.ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่ยังดำรงตำแหน่งทั้งหมด ส่วนใหญ่ของ กต. เป็นกต.โดยตำแหน่ง มีกต.บางส่วนที่เป็นผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษา และประธานศาลฎีกาเป็นประธานกต.โดยตำแหน่ง
จาก ประวัติความเป็นมาของศาลและโครงสร้างของผู้พิพากษาดังกล่าว ศาลไทยเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยผู้ทรงอำนาจเด็ดขาดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช สัญลักษณ์ตลอดจนรูปแบบพิธีการของศาลและผู้พิพากษายังคงเดิมเฉกเช่นเมื่อ เริ่มตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการ"กระทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" การ "โปรดเกล้าพระราชทานแต่งตั้งผู้พิพากษา" หรือแม้แต่บทบัญญัติว่าด้วยการ ดูหมิ่นศาล อีกทั้งโครงสร้างของผู้พิพากษาก็เป็นโครงสร้างของข้าราชการประจำ ไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงถึงประชาชน หรือชี้ว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจนี้เลย ประชาชนไม่มี และไม่เคยมี ส่วนร่วมในการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้พิพากษา การสอบคัดเลือกผู้พิพากษาไม่แตกต่างอะไรกับการสอบเข้ารับราชการของข้าราชการ พลเรือนอื่นๆเลย
ที่ สำคัญ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา ระบบการสอบคัดเลือก ระบบการเลื่อนตำแหน่ง ล้วนแต่สร้างให้เกิดเครือข่ายที่ผู้พิพากษาระดับสูงหรือระดับบริหาร สามารถแทรกแซงการทำงานของผู้พิพากษาได้ รวมทั้งสร้างทัศนคติร่วมของผู้พิพากษาของศาลทั้งระบบ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป