โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
การชุมนุม "ฟ้องฟ้า" ของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นเรื่องที่น่าสำเหนียกแก่กลุ่มชนชั้นนำที่ร่วมกันชักใยการเมืองไทยอยู่ใน เวลานี้
จำนวนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากเกินคาดของทุกฝ่าย แม้แต่ของผู้จัดการชุมนุมเอง การจราจรถูกปิดไป "โดยปริยาย" โดยไม่มีใครเจตนา แต่เกิดขึ้นจากจำนวนคนที่เข้าร่วมมากเกินคาด
คุณฌอน บุญระคง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นโฆษกยืนยันว่า คนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมโดยสมัครใจและเกิดขึ้นอย่างไม่ได้วางแผนมาก่อน ทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ทั้งทางลับหรือเปิดเผยจากคุณทักษิณ ชินวัตร โดยสิ้นเชิง คุณฌอนประเมินว่า เกือบทั้งหมดของผู้ชุมนุมคือคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ภาพข่าวในทีวีและหน้าหนังสือพิมพ์ดูจะส่อไปในทางเดียวกับการประเมินของคุณ ฌอน คำให้การของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นก็ตรงกัน
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่รัฐบาลได้ตัดสินใจมาแต่ต้นแล้วว่า จะปล่อยให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองที่ "ไม่นำไปสู่การจลาจล หรือการละเมิดกฎหมาย" แปลว่า จะใช้อำนาจตามตัวอักษรใน พ.ร.บ.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ากิจกรรมทางการเมืองนั้นอยู่ในวิสัยที่ผู้มีอำนาจ "คุม" อยู่หรือไม่ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือสะเทือนอำนาจของตนเองมากน้อยเพียงไร
ท่าทีอย่างนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในบรรดาผู้ถืออำนาจของบ้านเมืองทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในเวลานี้ (อันมิได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่แยกออกเป็นหลายกลุ่มมาก) ยอมรับว่า จะต้องประคองตัวอยู่ท่ามกลางพลังสองชนิด คือพลังของอำนาจดิบอันมี พ.ร.บ.ฉุกเฉินและกองทัพเป็นฐาน กับพลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน (ซึ่งมักเรียกกันว่า "ประชาธิปไตย") ระหว่างพลังทั้งสองนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดล้มอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างราบคาบ จะประคองโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันให้อยู่รอดต่อไปได้ ก็ต้องสร้างสมดุลให้ดีระหว่างอำนาจทั้งสอง
แต่เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก เพราะสังคมไทยไม่ได้หยุดนิ่งกับที่ หากเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนเร็วในบางมิติด้วย จนบางครั้งอำนาจที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังเวลานี้คาดไปไม่ถึง
เช่นการชุมนุมของชาวเสื้อแดงในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน ดังที่กล่าวมาเป็นต้น
การตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างเหี้ยมโหดในเดือน พฤษภาคม ตามมาด้วยการไล่ล่าและปิดปากกลุ่มเสื้อแดง คือการใช้พลังของอำนาจดิบเพื่อลดทอนกำลังของพลัง "ประชาธิปไตย" ลง ด้วยความหวังว่าอำนาจที่ไม่ถูกตรวจสอบในช่วงนี้ จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ถืออำนาจพอที่จะเผชิญกับการเลือกตั้ง และการกลับมาของบรรยากาศประชาธิปไตยได้ใหม่ สมดุลก็จะกลับมาเอง
แต่ผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่มีการจัดตั้งกันอย่างรัดกุมนัก บวกกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของผู้คนในภาคเหนือ-อีสาน ทำให้ไม่อาจแน่ใจได้ว่า การเลือกตั้งจะส่งนักการเมืองกลุ่มเก่ากลับคืนสู่ตำแหน่งได้อีก ไม่ว่าการเลือกตั้งจะมาเมื่อไร จากนี้ไปจนถึงปลายปีหน้า
อันที่จริง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของชนชั้นนำ ไทย ว่ากันไปแล้วโครงสร้างอำนาจเคยดำรงรักษาตนเองไว้ได้อย่างราบรื่นภายใต้ รัฐบาลหลายแบบ และพรรคการเมืองที่เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลได้หลายพรรค พรรคการเมืองต่างๆ นั้นก็หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นสมาชิกในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเอง พรรค ทรท.เองก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ เพียงแต่เป็นกลุ่มของชนชั้นนำที่กำลังจะใช้ความสำเร็จทางการเมืองไปรวบอำนาจ ทั้งหมดไว้ภายใต้การนำของตนแต่ผู้เดียว ผิดกติกาของการต่อรองอำนาจในหมู่ชนชั้นนำไทย ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง และไม่มีกลุ่มใดได้อำนาจนำไปอย่างเด็ดขาด แม้แต่กลุ่มที่มีโอกาสสร้างเครือข่ายได้กว้างขวาง ก็ยังต้องยืดหยุ่นให้แก่กลุ่มอื่นบ้างเป็นครั้งคราว
พรรคทายาทของ ทรท.ต่างหากที่เป็นปัญหามากกว่า ไม่ใช่เพราะกลุ่มนี้เป็นคนหน้าใหม่จากที่อื่นและปราศจากโครงข่ายโยงใยกับชน ชั้นนำกลุ่มอื่นเสียเลย (คุณสมัคร, คุณสมชาย, คุณยงยุทธ, คุณปลอดประสบ, พลเอกชวลิต ฯลฯ เป็นใคร? ก็คนหน้าเก่าในแวดวงทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?) แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมต่างหาก ที่ทำให้พรรคทายาทต้องไปเกาะเกี่ยวกับฐานมวลชน
ทั้งๆ ที่พรรคเหล่านี้หาได้มีความพร้อมจะเล่นการเมืองที่มีฐานมวลชนแม้แต่น้อย
และเพราะไปเกาะเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่มีฐานมวลชน ทำให้พรรคทายาททั้งหลาย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่อาจยืดหยุ่นในการต่อรองกับชนชั้นนำกลุ่มอื่นได้ ดังเช่นที่พรรคการเมืองไทยมักทำได้เสมอมา ยิ่งพรรคเพื่อไทยขาดการนำที่ชัดเจน ก็ยิ่งทำให้ยากที่จะผนวกพรรคเพื่อไทยเข้ามาในโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำ และด้วยเหตุดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างอำนาจได้มาก
ทุกกลุ่มชนชั้นนำเวลานี้ ดูเหมือนได้ตัดสินใจไปแล้วว่า อย่างไรเสียพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาอันใกล้นี้
ผบ.ทบ.คนใหม่ซึ่งสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ต่อเนื่องถึง 4 ปี คงจะหวั่นไหวต่อการมี รมว.กลาโหมที่ไม่ได้เป็นมิตรต่อตน อย่าลืมว่าการปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคมจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นั้น ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจังและเที่ยงธรรมใดๆ แม้นายทหารผู้สั่งการอาจไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพราะกระทำอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน แต่ยังมีความรับผิดชอบทางการเมืองและสังคมซึ่งไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครอง ด้วยการยกเหตุเพียงเท่านี้ก็สามารถ "แขวน" ผบ.ทบ.เสียได้ไม่ยากนัก
สายที่วางกันเอาไว้ตลอดเส้นในกองทัพจะขาดรุ่งริ่งอย่างไร กองทัพทั้งกองทัพนั่นแหละที่ไม่อาจรับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ได้
นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยรู้จักการเมืองไทยดีพอที่ทำให้ไม่อยากไป ยุ่งกับกองทัพ แต่พรรคเพื่อไทยจะมีทางเลือกอื่นหรือ มวลชนจำนวนมากที่เผชิญการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดจะยอมให้พรรคเพื่อไทยขาย ทิ้งกระนั้นหรือ
ฉะนั้นถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องเข้ามาจัดการกับกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปีกว่าในตำแหน่ง ไม่ได้ทำให้โอกาสทางการเมืองของประชาธิปัตย์ดีขึ้นมากนัก แม้เศรษฐกิจของทุนระดับใหญ่ (ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นของต่างชาติเสียมากมาย) ส่งสัญญาณเงยหัวเพราะการส่งออกที่ดีขึ้น แต่เงินไม่ได้กระจายไปถึงผู้คนมากนักนอกจากข้าราชการซึ่งจะได้ปรับเงินเดือน ยิ่งกว่านี้ความแตกร้าวในสังคมยิ่งหนักมากขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงแต่อย่างใด คาถาล้มเจ้านั้นปลุกไม่ขึ้น ทำให้ต้องใช้มาตรการปิดหูปิดปากประชาชนอย่างหนาแน่นเหมือนเดิม (ทั้งโดยเปิดเผยและโดยลับ) ทำให้ประชาชนที่เชิดชูเจ้าพลอยเดือดร้อนไปด้วย และเริ่มวิตกว่าการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองเช่น นี้ ผลเสียย่อมตกอยู่แก่ตัวสถาบันเองมากกว่า
นายทุนเดือดร้อนกับการชะลอตัวของการลงทุน เพราะนโยบายที่ไม่ชัดเจน และบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่สงบ นับวันก็เห็นได้ชัดขึ้นว่าไม่สามารถฝากผลประโยชน์และอนาคตของตนไว้กับพรรค ประชาธิปัตย์ได้
ฝ่ายนิยมเจ้าอย่างสุดขั้วมองเห็นแต่ความอ่อนแอของประชาธิปัตย์ เพราะไม่อาจปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างได้ผล ไม่ว่าในทางเทคโนโลยีหรือในทางกฎหมาย (หรือนอกกฎหมาย)
ท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ นักการเมืองประชาธิปัตย์ก็รู้ดีว่าไม่ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ หากหลุดจากรัฐบาลในครั้งนี้ โอกาสที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งอีกคงริบหรี่ไปอีกนาน
ควรกล่าวด้วยว่า ในท่ามกลางอนาคตที่ดูไม่ราบเรียบของชนชั้นนำนี้ ชนชั้นนำก็แตกแยกกันเองอย่างหนักด้วย ตามปกติชนชั้นนำก็ประกอบขึ้นจากหลายกลุ่มอยู่แล้ว แต่เวลานี้แม้ในกลุ่มเดียวกันก็แตกแยกกันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นในกองทัพ, ฝ่ายนิยมเจ้า, ตำรวจ, นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล, นักวิชาการ, คนในวงการตุลาการ ฯลฯ จึงยิ่งทำให้ชนชั้นนำไทยในขณะนี้ไม่พร้อมจะผนึกกำลังกันเข้ามาต่อรองความ เปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดีนัก
และนี่คือที่มาของข่าวการรัฐประหาร
เพราะดูเหมือนเป็นคำตอบเดียวที่ชนชั้นนำบางกลุ่มมีอยู่ในกระเป๋า เพราะไปคิดว่ารัฐประหารจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาทุกอย่าง นับตั้งแต่ความแตกร้าวภายในของชนชั้นนำเอง, การดำเนินนโยบายที่ทันท่วงทีต่อความเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก, ฟื้นฟูสมดุลทางการเมืองระหว่างพลังดิบและพลัง "ประชาธิปไตย" กลับคืนมาได้อย่างมั่นคง, ให้อำนาจที่ค่อนข้างเด็ดขาดมากขึ้นแก่ชนชั้นนำที่จะประคับประคองการเปลี่ยน ผ่านของสถาบันทางการเมืองและวัฒนธรรมทุกสถาบัน ฯลฯ
รัฐประหารอาจเคยทำอย่างนั้นได้สำเร็จ แต่รัฐประหารครั้งสุดท้ายทำไม่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะตัวบุคคลที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เท่ากับว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว รัฐประหารไม่สามารถผนวกพลังใหม่ของประชาชนระดับล่างให้เข้ามาร่วมอยู่บนเวที การเมืองอย่างเสมอภาคได้ รัฐประหารทำให้เกิดความแตกร้าวในสังคมหนักขึ้น รัฐประหารทำให้ชนชั้นนำที่เคยอยู่แต่เบื้องหลังถูกดึงมาร่วมในการปะทะขัด แย้งกันเบื้องหน้า รัฐประหารไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจำเริญมากขึ้น หรือการแบ่งปันทรัพย์สินดีขึ้น ฯลฯ
รัฐประหารครั้งใหม่ก็จะให้ผลอย่างเดียวกัน และอาจเลวร้ายกว่า เช่นความแตกร้าวในกองทัพซึ่งแสดงออกให้เห็นได้แต่เพียงระเบิดไม่กี่ลูก ก็จะกลายเป็นระเบิดกันทุกวัน และวันละหลายครั้ง อำนาจรัฐอาจไม่ถูกท้าทายที่ราชประสงค์ แต่อาจถูกท้าทายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศ ฉะนั้นแม้ไม่มีศาลากลางใดถูกเผา แต่ศาลากลางอาจกลายเป็นศาลาวัด คือไม่มีอำนาจเหลือให้ทำอะไรได้สักอย่างเดียว พลังใดจะแพ้หรือชนะเดาไม่ถูก แต่จะไม่เหลือระเบียบทางการเมืองและสังคมใดๆ ไว้ให้ใครนำมาปะติดปะต่อกลับขึ้นมาใหม่ได้อีกเลย
ฉะนั้น ถ้าคิดผิด ก็คิดใหม่ได้ เพราะรถถังยังไม่ได้เติมน้ำมัน