18 ก.ย.53 สืบเนื่องจากข่าวที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกระบุว่ามีการกล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชนhttp://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20100909/352224/news.html เครือข่ายสันติประชาธรรมในฐานะที่กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูลในนาม "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมย.-พค. 53 (ศปช.)" ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเพื่อตอบโต้คำกล่าวของพลเอกอนุพงษ์ว่าไม่สอดคล้องกับ ข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเรียกร้องให้พลเอกอนุพงษ์รับผิดชอบต่อคำกล่าวดังกล่าว โดยเปิดเผย ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพและ ศอฉ. ต่อสาธารณชน อนุญาตให้องค์กรอิสระและสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศเข้าไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งสัมภาษณ์นายทหารระดับล่างที่ร่วมในปฏิบัติการณ์ได้อย่างอิสระ ปราศจากการคุกคาม
จดหมายเปิดผนึกของกลุ่มสันติประชาธรรมต่อพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา
อนุสนธิจากการที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.กล่าวว่าทหารไม่ได้ยิงประชาชน และยังท้าทายให้มีการแสดงหลักฐานพิสูจน์ เครือข่ายสันติประชาธรรมเห็นสมควรสร้างความกระจ่างต่อสังคมดังต่อไปนี้
1. นับ แต่การสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ หลักฐานที่แสดงว่าทหารได้ใช้อาวุธหนักยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงนั้นได้ ปรากฏต่อสาธารณชนมากมาย ทั้งที่เป็นรายงานของผู้สื่อข่าวต่างชาติ, คำให้สัมภาษณ์ของพยานบุคคล, ภาพถ่าย, คลิปวิดีโอ แต่ดูเหมือนพลเอกอนุพงษ์ไม่ได้สนใจติดตามข้อมูลเหล่านี้เลย ฉะนั้น ในที่นี้ เราจึงขอเสนอข้อมูลบางส่วนเพื่อให้ท่านได้พิจารณาว่าทหารยิงประชาชนจริงหรือ ไม่
รายงาน ใบอนุญาตสังหาร (License to Kill) ขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ที่ระบุว่า:
- นาย แบร็ด ค็อกซ์ นักข่าวหนังสารคดีเล่าว่า “มีการยิงอย่างหนักมาจากฝั่งทหาร พวกเสื้อแดงตอบโต้ด้วยระเบิดขวดและระเบิดที่ทำขึ้นเอง” (หน้า 5) ขณะที่นักข่าว นสพ.เดอะเนชั่นที่ถูกยิงบาดเจ็บเล่าว่า “อยู่ ๆ พวกทหารก็ใช้กระสุนจริง ตอนแรกผมนึกว่าพวกเขาแค่ยิงเตือน แต่พวกเขายิงเข้าใส่อย่างไม่ยั้งด้วยปืนออโต้ (automatic weapon) ผมเริ่มวิ่งเพื่อหาที่ซ่อน อีกนิดเดียวผมก็จะถึงที่กำบัง แต่ผมก็ถูกยิง” (หน้า 13)
- หัว หน้าสำนักข่าวต่างชาติแห่งหนึ่งกล่าวว่า “เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่ากฎการใช้กำลังของกองทัพไทยคือ อนุญาตให้ทหารยิงใส่พลเรือนคนไหนก็ได้ที่อยู่ในเขตคนเสื้อแดง ไม่ใช่แต่เฉพาะคนที่มีอาวุธ ผมเห็นผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงหลายคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการยิงของทหาร เรายังไม่ได้รับความเห็นจากเจ้าหน้าที่ทหารในเรื่องกฎการใช้กำลังเลย (หน้า 12)
นอกจากนี้ ยังมีคำให้สัมภาษณ์ของนายวสันต์ แสงรัศมี อาสากู้ชีพและชาวบ้านที่อยู่ภายในวัดปทุมวนารามคืนวันที่ 19 กันยายน ที่ยืนยันว่าพวกเขาเห็นทหารยิงใส่ประชาชน หรือแม้แต่เมื่อครั้งที่พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. นำเสนอคลิปวิดีโอผ่านสื่อมวลชน ที่แสดงการยิงของทหารสองนายจากตึกร้างแห่งหนึ่ง แล้วทหารนายหนึ่งตะโกนว่า “ล้มแล้ว ล้มแล้ว” ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าทหารได้ใช้กระสุนจริงยิงใส่ประชาชน
ข้อมูล ที่นำเสนอข้างต้นนี้ เป็นเพียงส่วนน้อยนิดที่ทางเครือข่ายสันติประชาธรรมได้รวบรวมขึ้นมา ทางเครือข่ายยินดีส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ท่านผบ.ทบ. หากท่านร้องขอมา
2. ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่พลเอกอนุพงษ์ท้าทายให้มีการพิสูจน์ก็คือ ความรับผิดชอบของท่านในฐานะผบ.ทบ. ที่ว่า “หาก มีตรงไหนที่เราสั่งให้ยิงประชาชน ให้เอามาได้เลย ผมรับผิดชอบเอง ตั้งแต่แม่ทัพภาค ผู้บัญชาการกองพล จนถึงพลทหารที่ถือปืน ท่านลองไปดูว่า มีคำสั่งให้ทหารยิงหรือไม่ เราไม่เคยสั่งเช่นนั้น...หากมีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นวาจานำมายืนยันได้ ผมจะรับผิดชอบทุกอย่าง" (กรุงเทพธุรกิจ. 9 ก.ย.53) คำพูดดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า พลเอกอนุพงษ์กำลังบอกกับสังคมว่า หากมีหลักฐานที่แสดงว่าทหารยิงเข้าใส่ประชาชนจริง ก็ไม่ใช่เป็นคำสั่งจากท่าน แต่เป็นการตัดสินใจของบรรดานายทหารระดับล่างโดยพลการ ฉะนั้น ความผิดทั้งหลายย่อมตกอยู่กับนายทหารระดับล่าง ไม่ใช่ผู้บัญชาการทหารบก เพราะท่านไม่เคยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยิง
อนึ่ง เราใคร่เรียนให้ท่านทราบว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจอมพลถนอม-ประภาสมีคำสั่งให้ยิงประชาชน หรือในเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2535 ก็ไม่ปรากฏหลักฐานทำนองเดียวกันจากพลเอกสุจินดา คราประยูร แต่ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งให้ทหารเคลื่อนพลพร้อมอาวุธหนักออกจากที่ตั้งเพื่อ จัดการกับการชุมนุมของประชาชน แล้วเกิดการตายและบาดเจ็บจากฝีมือของกองทัพ คนเหล่านั้นจักต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้ การกล่าวว่า “หาก มีคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นวาจานำมายืนยันได้ ผมจะรับผิดชอบทุกอย่าง” จึงไม่ต่างกับที่นักการเมืองในอดีตเคยเล่นลิ้นว่า “ให้เอาใบเสร็จมาแสดง” ว่าตนคอรัปชั่น
จึง เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ใหญ่ในสังคมจะใช้วิธีเล่นคำกับปฏิบัติการทาง ทหารที่นำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ถึง 92 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน และปัดความรับผิดชอบไปให้กับทหารระดับล่าง
3. เพื่อ แสดงความบริสุทธิ์ใจและความกล้าหาญของพลเอกอนุพงษ์ที่ยินดีให้มีการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบทบาทของกองทัพในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.และ 19-20 พ.ค.2553 พลเอกอนุพงษ์ และผบ.ทบ.คนต่อไป จะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของกองทัพและ ศอฉ. ต่อสาธารณชน อนุญาตให้องค์กรอิสระและสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศเข้าไปตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว รวมทั้งสัมภาษณ์นายทหารระดับล่างที่ร่วมในปฏิบัติการณ์ได้อย่างอิสระ ปราศจากการคุกคาม
ท้าย ที่สุดนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมเองก็ปรารถนาที่จะเห็นสังคมไทยกลับคืนสู่ความ ปรองดองเช่นกัน แต่ความปรองดองที่แท้จริงจะเกิดไม่ได้ หากผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมยังไม่ได้รับความยุติธรรม และความยุติธรรมจะเกิดไม่ได้ หากความจริงยังเป็นแค่มายาภาพดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
เครือข่ายสันติประชาธรรม
18 กันยายน 2553